เดจาวู: 8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ชวนพิศวง


Getty Images  
ฉันว่าฉันเคยเจอกับเหตุการณ์นี้มาแล้ว

มันคือความรู้สึกที่น่าพิศวง เหมือนกับว่าคุณเคยได้ไป ได้เห็น หรือได้ประสบเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งมาแล้ว ทั้งที่สามัญสำนึกแย้งว่ามันเป็นไปไม่ได้ ความรู้สึกแบบนี้เรียกว่า "เดจาวู" ( Déjà vu)

เดจาวูเกิดจากอะไร และเหตุใดมันจึงเกิดขึ้น?

1. การเดินทางคือปัจจัยกระตุ้นให้เกิดเดจาวู


Getty Images  
สาบานได้ว่าฉันเคยเห็นระเบียงนี้มาก่อน!

คริส มูลิน ผู้เชี่ยวชาญด้าน เดจาวู บอกว่า โดยทั่วไป เดจาวู มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ และผู้คนมักมีความรู้สึกนี้รุนแรงเวลาที่เดินทางไปยังสถานที่ใหม่ ๆ และได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสถานที่ที่เราไม่รู้จักมักกระตุ้นให้เกิด "ความขัดแย้ง" ระหว่างความรู้สึกรุนแรง ว่ามีบางอย่างที่เราคุ้นเคยกับความตระหนักว่านี่ไม่ใช่ความทรงจำ

ผลการศึกษาหลายชิ้นพบหลักฐานบ่งชี้ว่า ยิ่งเดินทางมากเท่าไหร่ก็ยิ่งสัมผัสประสบการณ์เดจาวู มากขึ้นเท่านั้น

2. คนอายุน้อยมักประสบเหตุการณ์เดจาวูได้มากกว่า


Getty Images  
เราปีนเขาลูกนี้มากี่ครั้งแล้วนะ?

คุณจะสัมผัสประสบการณ์เดจาวูบ่อยที่สุดตอนอายุน้อย แต่โดยเฉลี่ยมักไม่เกินเดือนละครั้ง

ความรู้สึกเช่นนี้จะค่อย ๆ ลดลงเหลือครึ่งหนึ่งเมื่อคุณอายุแตะวัย 40-50 ปี และพออายุเข้า 60 ปี โอกาสที่คุณจะได้สัมผัสเหตุการณ์เดจาวูจะเหลือเพียงปีละครั้งเท่านั้น

3. บางคนอาจมีความรู้สึกเดจาวูได้ตลอดทั้งวัน


Getty Images
ความรู้สึกเดจาวูอาจเป็นเรื่องสนุก แต่ถ้าเกิดขึ้นทั้งวันอาจเป็นเรื่องที่ขำไม่ออก

คนส่วนใหญ่มักมีความรู้สึกเดจาวู เกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง และเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ แต่สำหรับบางคน ความรู้สึกนี้อาจกินเวลานานทั้งวันจนกลายเป็นปัญหาใหญ่

ลิซา จากเมืองแมนเชสเตอร์ของอังกฤษ เริ่มสัมผัสเหตุการณ์เดจาวูอย่างต่อเนื่องรุนแรงตอนอายุ 22 ปี และความรู้สึกที่เกิดขึ้นอาจกินเวลาทั้งวัน
◾โรคอัลไซเมอร์: 5 อาการบ่งชี้ที่คุณสังเกตได้
◾ผลวิจัยชี้การผัดวันประกันพรุ่งเป็นเรื่องการจัดการ "อารมณ์" ไม่ใช่ "เวลา"
◾งานวิจัยล่าสุดตอกย้ำ สมองคนสร้างเซลล์ประสาทใหม่ได้ตลอดชีวิต

"บางครั้งฉันตื่นนอนตอนเช้า แล้วเริ่มมีความรู้สึกคุ้นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทันที" ลิซา กล่าว

ความรู้สึกเดจาวู ที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อประสาทสัมผัสทั้งหมดของเธอ

แต่ในที่สุด ลิซาก็ค้นพบว่าความรู้สึกดังกล่าวเกี่ยวข้องกับโรคลมชักชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติเหตุสมองกลีบขมับ (Temporal lobe epilepsy) และได้รับการรักษาในที่สุด

4. เดจาวู เกิดจากจุดกำเนิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติในสมอง


Getty Images  
เดจาวู เกิดจากจุดกำเนิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติในสมอง

ข้อมูลจากเว็บไซต์ หาหมอ ระบุว่า ลมชักเฉพาะที่แบบขาดสติเหตุสมองกลีบขมับ (Temporal lobe epilepsy) นั้นนั้นมีจุดกำเนิดของกระแสไฟฟ้าผิดปกติในสมองส่วนกลีบขมับ (Temporal lobe)

โดยอาการผิดปกติที่พบจะเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของสมองส่วนกลีบขมับได้แก่ อารมณ์ พฤติกรรม และความจำ เป็นหลัก เช่น ความรู้สึกกลัว ความรู้สึกคุ้นเคยกับสถานที่ (เหมือนเคยไปมาก่อน) ทั้งที่จริงไม่เคยไปมาก่อน ความรู้สึกมีความสุขมาก ซึ่งถ้าเป็นไม่รุนแรงก็ยังรู้ตัวแต่ควบคุมอาการไม่ได้ แต่ถ้าเป็นรุนแรงขึ้นก็จะไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่มีจุดมุ่งหมาย เช่น อาจมีการถูมือไปมา หรือเคี้ยวปากโดยไม่รู้สึกตัว

ส่วนคำอธิบายอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดเดจาวูรวมถึง ทฤษฎีเอกภพคู่ขนาน (Parallel Universe) ที่มาบรรจบกันในช่วงจังหวะที่เกิดเดจาวู ส่วนอีกทฤษฎีเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกลับชาติมาเกิด

5. ระบบ "ตรวจเช็คความเป็นจริง" ในสมองคุณกู้คืนความจริง


Getty Images  
ระบบ "ตรวจเช็คความเป็นจริง" ในสมอง ทำให้ความรู้สึกเดจาวูจบลง

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในสมองคนเรามีระบบการทำงานที่ 2 ในการควบคุมการทำงานของสมองส่วนกลีบขมับ

โดยเรียกระบบนี้ว่า ระบบตรวจเช็คข้อเท็จจริงที่ช่วยให้คนเรารับรู้ว่าเราเข้าใจผิดไปเอง และทำให้ความรู้สึกเดจาวูจบลง

6. คุณอาจคิดว่าคุณหยั่งรู้อนาคตได้...


Getty Images
เวลาที่เดจาวูเกิดขึ้นในหลายจุดของสมองมากกว่าปกติ อาจไปกระตุ้นให้คุณรู้สึกราวกับว่าสามารถรับรู้ได้ล่วงหน้าว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น

คริส มูลิน บอกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบความทรงจำของคุณช่วยเราทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

"นี่คือสาเหตุว่าทำไมเราจึงมีความทรงจำ เพราะมันช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดซ้ำ ๆ และคาดการณ์ได้ถึงสิ่งที่จะเกิดตามมา"

ดังนั้น เวลาที่เดจาวูเกิดขึ้นในหลายจุดของสมองมากกว่าปกติ ก็อาจไปกระตุ้นอารมณ์ และภาพที่ถูกบันทึกไว้ จนทำให้คุณรู้สึกราวกับว่ารับรู้ได้ล่วงหน้าว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นนั่นเอง

7. "จาเมส์วู" ตรงข้ามกับ "เดจาวู"


Getty Images  
"จาเมส์วู" เป็นประสบการณ์ที่เราคุ้นเคย แต่กลับมีความรู้สึกแปลก ๆ

"จาเมส์วู" (Jamais vu) เป็นประสบการณ์ที่เราคุ้นเคย แต่กลับมีความรู้สึกแปลก ๆ เช่น การที่เรามองหน้าคนที่เรารู้จัก แต่จู่ ๆ พวกเขากลับดูเหมือนคนแปลกหน้า

คุณอาจรู้สึกแบบนี้กับตัวหนังสือ เช่น ตอนที่คุณจะเขียนคำ ๆ หนึ่ง แต่ชั่วขณะหนึ่งกลับดูเหมือนว่าคำนั้นไม่ถูกต้อง

คริส มูลิน บอกว่า คุณอาจกระตุ้นความรู้สึกนี้ด้วยการพูดคำที่คุ้นเคยซ้ำ ๆ จนฟังดูไม่มีความหมายและกลายเป็นเพียงเสียง ๆ หนึ่งเท่านั้น

8. นักปรจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ให้กำเนิดคำว่า "เดจาวู"


Historic Images / Alamy Stock Photo
เอมีล บัวรัค บิดาแห่ง "เดจาวู"

เอมีล บัวรัค (Emile Boirac) ใช้คำศัพท์ "เดจาวู" เป็นครั้งแรกในหนังสือ L'Avenir des sciences psychiques ซึ่งหมายความถึง อาการที่รู้สึกว่า เหตุการณ์ที่เพิ่งพบเจอนั้นคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยพบเจอมาแล้ว เป็นประสบการณ์ทางจิต เกิดได้กับทุกคนและทุกเวลา ไม่ว่าหลับหรือตื่น

ปรากฏการณ์นี้มักถูกมองเป็นเรื่องปริศนาเหนือธรรมชาติ

BBC/NEWS/ไทย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่