แกัปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน


คุณพ่อคุณแม่หลายคนมักปวดหัวเรื่องของลูก ๆ ที่บ้านทะเลาะกัน จนหงุดหงิดหัวใจ ปัญหานี้เจอได้บ่อยและเกือบทุกครอบครัวที่มีลูกสองคนขึ้นไปต้องพบเจอเป็นเรื่องแสนธรรมดา

ถ้าพ่อแม่กำลังวางแผนจะมีลูกมากกว่าหนึ่งคน ควรเว้นช่วงลูกให้ห่างกันประมาณ 3 ปี เพื่อที่จะได้ไม่เหนื่อยเกินไปนัก และสามารถแบ่งเวลาการดูแลลูก  ๆ ได้อย่างไม่ลำบากเกินไป ลูกคนโตก็โตพอเข้าใจอะไรได้มากขึ้น ไม่ต้องคอยดูแลตลอด ถ้ามีลูกติด ๆ กัน คนหนึ่งกำลังหัดเดินซนได้ที่ อีกคนเพิ่งคลอดต้องคอยป้อนนมเปลี่ยนผ้า พอคุณแม่เหนื่อยอารมณ์ก็จะไม่ดี บางทีพาลลงที่ลูกคนโต อาจกลายเป็นปัญหาอิจฉาน้องตามมาได้

ในช่วงที่ตั้งครรภ์ให้บอกลูกคนโตได้รับรู้ว่า อีกไม่กี่เดือนเขากำลังจะมีน้องเล็ก ๆ ซึ่งน้องคนนี้เป็นน้องของเขา เพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นพี่ที่ต้องช่วยแม่ดูแลน้อง ลองให้พี่สัมผัสและรู้สึกถึงน้องในท้อง เช่น เวลาน้องเตะ และรับรู้ไปเรื่อย ๆ ตามความเข้าใจของลูกว่าตอนนี้น้องอยู่ในท้องแม่ เขาก็เคยอยู่มาเหมือนกัน และแม่ก็ดูแลเขาอย่างดี กินอาหารที่ดีและมีประโยชน์ เหมือนกับที่ทำกับน้องนี้แหละ  

คุณแม่อาจใช้นิทานที่เล่าเรื่องการมีน้องอีกคน นิทานจะมีรูปประกอบให้เห็นชัดเจน รวมถึงเรื่องราวที่สนุกจะทำให้เด็ก ๆ สนใจและเข้าใจง่ายขึ้น และควรให้ลูกมีโอกาสรับรู้การเตรียมตัวของพ่อแม่สำหรับน้องที่จะเกิดมา เช่น พาไปด้วยเวลาไปซื้อของใช้เด็กอ่อน ให้ช่วยเลือกเท่าที่ได้ ของเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เลือกสีเสื้อผ้า สีถุงเท้า ของเล่น เวลาตั้งชื่อน้องที่จะเกิดมา ก็ให้อยู่ด้วย ลูกคนโตจะรู้สึกถึงความเป็นพี่ รู้สึกถึงความผูกพันว่าเป็นพี่ของน้อง

เวลาที่น้องเกิดมาใหม่ ๆ บางทีลูกอาจจะมีปฏิกริยาบ้าง เพราจะรู้สึกว่าต้องถูกแบ่งความรักเอาใจใส่ไปให้น้อง ให้สังเกตและพยายามให้ความเอาใจใส่ลูกคนโตตามสมควร ถ้าแม่ต้องดูน้อง ก็ให้พ่อมาเล่นกับลูกอีกคน และเมื่อแม่มีเวลาก็ให้ใช้เวลากับลูกมาก ๆ แสดงความรัก กอด หอมแก้ม แต่ก็ไม่ใช่ชดเชยด้วยการตามใจให้สิ่งของ

เมื่อลูก ๆ โตขึ้นมาหน่อย เล่นด้วยกันอาจทะเลาะกันบ้าง ถ้าไม่รุนแรงให้พ่อแม่ดูห่าง ๆ คอยให้เขาจัดการด้วยตัวเองก่อน ถ้าเล็กน้อยไม่เป็นไรเดี๋ยวก็เลิก แต่เข้าไปห้ามเมื่อมีทะเลาะรุนแรง เช่น ตี เตะ ขว้างของใส่กัน จับแยกและบอกว่า ทำแบบนี้ต้องหยุดเล่น ไม่ตีกันค่อยมาเล่นกันใหม่  

พ่อแม่ควรกำหนดกฏกติกาของบ้านเลยว่า บ้านเราไม่ว่าใครก็ห้ามใช้กำลังต่อกัน ห้ามใครตี เตะ ต่อย กัน ฯลฯ หรือ ห้ามพูดคำหยาบ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ทำเพื่อเป็นตัวอย่างด้วย

ถ้าทะเลาะกันไม่มาก ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจก็ได้ผลดี เช่น ถ้าลูกทะเลาะกัน ให้พ่อพาน้องไประบายสี แม่พาพี่ไปเดินเล่น เป็นต้น เลี่ยงอย่าเพิ่งให้เจอกันสักพัก เดี๋ยวก็กลับมาเล่นด้วยกันใหม่ได้

มีบ่อยครั้งที่ลูกชอบให้ตัดสินผิดถูก พ่อแม่ไม่ต้องบอกว่าใครผิดหรือถูก สิ่งที่ทำได้ ให้ใช้คำพูดสะท้อนความรู้สึกของแต่ละคน เช่น “แม่รู้ว่าเอโกรธ ที่น้องทำบ้านเลโก้ที่เอต่อมาทั้งวันล้ม เอคงเสียดายและเสียใจมาก แม่เห็นใจ” แต่อย่าเพิ่งไปพูดว่า น้องไม่ได้ตั้งใจหรอก โกรธทำไม น้องยังเด็ก คำพูดแบบนี้จะยิ่งทำให้คนพี่รู้สึกว่าไม่เข้าใจเขา ควรค่อย ๆ พูดหลังจากที่สะท้อนความรู้สึกแล้วจะดีกว่า เช่น “แม่รู้ว่าเอโกรธมากนะลูก น้องคงไม่ได้ตั้งใจ เดี๋ยวเรามาลองต่อกันใหม่ดีมั้ย แม่จะช่วยด้วย อาจจะสวยกว่าเดิมนะ ไหนชวนน้องมาช่วยกันด้วยดีกว่า”

บางทีลูกจะบอกว่าถ้าพี่หรือน้องได้อะไรเขาก็ต้องได้ด้วย เช่น พี่ได้ค่าขนมมากกว่าน้อง น้องก็อยากได้เท่าพี่ ก็ต้องสอนว่า สิ่งของต่าง ๆ ที่พ่อแม่ให้ล้วนมีเหตุผล อย่างค่าขนมให้เท่ากันก็ไม่ได้ เพราะพี่อายุมากกว่า ชั้นเรียนสูงกว่า ต้องมีกิจกรรม มีงานที่ต้องทำมากกว่า แต่พอน้องโตเท่าพี่แม่ก็จะให้ค่าขนมเท่ากับพี่ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องให้เหมือน ๆ กัน ต้องตามเหตุและผล

สุดท้ายสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง คือ การเปรียบเทียบกันระหว่างพี่น้อง เช่น “ดูอย่างน้องสิ ทำการบ้านแป๊บเดียวเสร็จ ไม่เห็นโอ้เอ้เหมือนเอเลย น้องตัวแค่นี้แต่เก่งว่าเอตั้งเยอะนะ” คำพูดแบบนี้ต้องหลีกเลี่ยง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของความอิจฉากันระหว่างพี่น้อง

พ่อแม่ไม่ต้องกังวลจนเกินไปในเรื่องลูก ๆ ทะเลาะกัน ส่วนใหญ่เด็กทะเลาะกันแล้วก็ลืม เดี๋ยวก็กลับมาเล่นกันใหม่ แต่ควรจะจัดการให้เหมาะสม ทะเลาะกันได้แต่อยู่ในขอบเขต ไม่มีการทำร้ายกัน เมื่อโตขึ้นก็จะเรียนรู้ว่าเรื่องของความขัดแย้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ขัดแย้งแล้วยังอยู่ร่วมกันในสังคมต่อไปได้ นั่นสำคัญที่สุด

บทความโดย หมอมินบานเย็น
จากคอลัมน์ Doctor’s note นิตยสาร Mother&Care

อ่านเพิ่มเติมต่อได้ที่ : https://motherandcare.com/sibling-fight-solving
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่