ประวัติศาสตร์มลายู ตอนที่ 1 : ยุคโบราณ - มลายูก่อนอิสลาม

ประวัติศาสตร์มลายูของกระทู้นี้จะกล่าวถึงเฉพาะเรื่องราวในคาบสมุทรมลายูเท่านั้น จะไม่มีการพูดถึงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมาเลเซียตะวันออก หรือ เกาะบอร์เนียวโดยตรง ดังนั้นเนื้อหาในกระทู้นี้จึงเน้นเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับคาบสมุทรมลายูเท่านั้น



เมืองลังโกง (Lenggong) แหล่งค้นพบการตั้งถิ่นฐานที่เก่าแก่ที่สุดของมาเลเซีย


เชื่อกันว่ามนุษย์ปัจจุบันเริ่มเข้ามาอยู่ในคาบสมุทรมลายูประมาณหลายหมื่นปีแล้ว โดยมีหลักฐานว่า กลุ่ม Homo erectus ได้ตั้งถิ่นฐานมานานถึงล้านปี ขณะที่มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานโดยมนุษย์ยุคปัจจุบันประมาณหมื่นปีที่แล้ว ตามหลักฐานทางโบราณคดี เชื่อกันว่ากลุ่มชนชาติ Negrito เป็นชนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ในคาบสมุทรมลายู โดยกลุ่ม Negrito มีถิ่นฐานอยู่ในหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ คาบสมุทรมลายู และยังกระจายไปถึงบริเวณหมู่เกาะของฟิลิปปินส์อีกด้วย โดยมีหลักฐานว่าได้ปักหลักอยู่ในคาบสมุทรมลายูประมาณ 11,000 ปีแล้ว ปัจจุบันกลุ่ม Negrito คือ กลุ่มมันนิ (ซาไก) ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่ม Senoi ปักหลักถิ่นฐานเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อน และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มมลายูพื้นเมือง (Melayu Asil) หรือกลุ่ม Proto Malay ได้ปักหลักมาเมื่อประมาณพันปีก่อนคริสตกาล และกลายเป็นกลุ่มที่มีวิวัฒนาการกลายมาเป็นชาวมลายูในปัจจุบัน
.
ต่อมาชาวมลายูได้เริ่มก่อตั้งบ้านเมืองและรับอิทธิพลการปกครองจากราชวงศ์ปัลลวะ (Pallava Dynasty) มา มีการกล่าวถึงคาบสมุทรว่า สุวรรณทวีป (ดินแดนทองคำ) หรือ มลายาทวีป (ดินแดนภูเขา) โดยในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 2 และ 3 ได้มีหลายรัฐมลายูตั้งอยู่ในบริเวณทางตะวันออกของคาบสมุทร หนึ่งในรัฐที่เป็นที่รู้จักที่สุดก็คือ อาณาจักรลังกาสุขะ (หรือ ลังกาสุกะ) และยังมีอาณาจักรบางส่วนตั้งอยู่บริเวณทางฝั่งตะวันตกอีกด้วย และได้ทำการค้าขายกับทั้งอินเดียและจีน โดยมีหลักฐานของจีนกล่าวถึงอาณาจักรปาหังเก่า และอาณาจักรกังกานครา (Gangga Negara) ต่อมาคาบสมุทรมลายูตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัยในช่วงศตวรรษที่ 7 ถึง 13 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปาเล็มบังในปัจจุบัน และให้เหล่ากษัตริย์ในคาบสมุทรมลายูต้องสาบานเป็นอาณาจักรบริวารต่อกษัตริย์ศรีวิชัยเพื่อผลประโยชน์ของอาณาจักร นอกจากนี้ อาณาจักรศรีวิชัยกับอาณาจักรโจฬะได้เป็นพันธมิตรกันและได้ค้าขายกันในช่วงรัชสมัยพระเจ้าราชาราชาโจฬะที่ 1 แต่เมื่อถึงยุคพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 1 ได้ทำการรุกรานบรรดาเมืองของศรีวิชัย โดยในปี 1025 และ 1026 พวกโจฬะได้ทำลายอาณาจักรกังกานคราลง และนครรัฐกฑารัม หนึ่งในอาณาจักรของชาวมลายู ก็ได้ถูกพวกโจฬะยึดครองและสร้างอิทธิพลไว้มากมายทั่วคาบสมุทร และได้ยึดเส้นทางค้าขายไว้ ก่อนที่ภายหลัง กฑารัมจะถูกอาณาจักรลิกอร์ (หรือ ตามพรลิงค์) ถูกยึดครองเพื่อเป็นฐานในการตีศรีลังกา
.
ตามหลักฐานของหลวงจีนอี้จิง เคยกล่าวถึงพระพุทธศาสนาเมื่อครั้งยังรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้ไว้ว่า "บรรดาเหล่ากษัตริย์ในหมู่เกาะมหาสมุทรใต้นี้ ต่างเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนา และประพฤติพระองค์อยู่ในสุจริตธรรม ในเมืองป้อมปราการโภคา (ปาเล็มบัง) มีพระภิกษุสงฆ์ถึง 1,000 กว่ารูป ซึ่งได้ตั้งมั่นที่จะศึกษาและประพฤติดีประพฤติชอบ พวกท่านล้วนเสาะหาศึกษาทุกวิชากระบวนความมาเช่นเดียวกับที่มีในอาณาจักรมัธยประเทศ (อินเดีย) แม้องค์กษัตริย์และพิธีกรรมต่างๆก็มิได้ต่างกัน หากนักบวชจีนต้องการที่จะไปทิศตะวันตกเพื่อได้ยินได้เห็นนั้น ควรจะต้องอยู่ที่สัก 2 ปี และปฏิบัติธรรมให้เคร่งครัด แล้วจึงไปยังมัธยประเทศได้" โดยมีหลักฐานกันว่า ประชาชนในยุคนั้นต่างรับวัฒนธรรมอินเดียใต้และมีวัฒนธรรมพุทธมหายาน-ฮินดู อย่างชัดเจน (มีหลักฐานบางส่วนอยู่ที่เมืองไชยา สุราษฎร์ธานี)

ซากโบราณสถานในเมืองจัมบี เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย


ในช่วงเวลานั้น ทั้งขอม สยาม และแม้แต่พวกโจฬะได้ทำการยึดครองนครรัฐของมลายูไว้หลายนคร และเมื่ออาณาจักรศรีวิชัยได้เสื่อมอำนาจลงในศตวรรษที่ 12 ก็ทำให้ความสัมพันธ์กับรัฐต่างๆในคาบสมุทรมลายูขาดกันตั้งแต่นั้น หลายๆรัฐทั้งในคาบสมุทรและเกาะสุมาตราได้ปกครองกันเอง ก่อนที่ในเวลาต่อมา การเข้ามาของศาสนาอิสลามจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของดินแดนแถบนี้ไปตลอดกาล
.
หนึ่งในอาณาจักรมลายูที่ถือว่ามีความสำคัญถือว่ามี 2 อาณาจักร คือ อาณาจักรกฑารัม และ อาณาจักรปัตตานี โดยตามตำนานมะโรงมหาวงศ์ หรือ ฮิกายัต เมอะโรง มหาวังสะ กล่าวว่า กฑารัมสถาปนาโดยมะโรงมหาวงศ์ ผู้สืบเชื้อสายจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งเป็นชาวฮินดู (สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นเชื้อสายของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชในอินเดีย) ล่องเรือมาจากกรุงโรมเพื่อจะค้าขายกับจีน แต่เรือถูกพญาครุฑยักษ์ทำลายจนหมดสิ้น ทำให้ต้องระหกระเหินไปที่หุบเขาบูจัง และสถาปนาเมืองกฑารัมที่นั้น ภายหลังได้ทรงสละราชสมบัติให้มะโรงมหาโพธิสัตว์ และเสด็จกลับกรุงโรม แต่เชื่อกันว่าพระองค์สิ้นพระชนม์กลางทาง ภายหลังได้มีการสืบต่อหลายๆรุ่นจนกระทั่งถึงพระองค์มหาวงศ์ หรือ ดุรบาราชาที่ 2 ในเวลานั้น ชาวมลายูส่วนใหญ่นิยมนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน (บางส่วนอ้างว่านับถือฮินดูควบคู่ไปกับพุทธมหายาน) แต่ในเวลาต่อมาดุรบาราชาที่ 2 ได้เข้ารีตเป็นอิสลามพร้อมทรงเปลี่ยนพระนามเป็น สุลต่าน มุดซาฟา ชาห์ ประชาชนได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามและเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐสุลต่านเกดะห์ตั้งแต่นั้น ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ส่วนฝั่งตะวันออก หรือรัฐปัตตานี ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามในศตวรรษที่ 15 เชื่อว่าเปลี่ยนมานับถือเมื่อได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสุลต่านมะละกา ก่อนที่จะถูกราชวงศ์กลันตันยึดครองไป และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาก
.
เนื่องจากประวัติศาสตร์มลายู เรื่องของชนชาติมลายูในช่วงก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะในบริเวณคาบสมุทร เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนและไม่ค่อยมีเวลาที่ชัดเจนตรงกัน และมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับหมู่เกาะซึ่งอยู่ในฐานะศูนย์กลางอำนาจอยู่บ่อยๆ ทำให้ประวัติศาสตร์มลายูในดินแดนแถบนี้ในช่วงก่อนยุคศาสนาอิสลาม แทบไม่ค่อยมีความสำคัญใดๆต่อประวัติศาสตร์มาเลเซีย สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า การอยู่ในฐานะเมืองเล็กๆหรือเมืองขึ้นของอาณาจักรมลายูในเกาะสุมาตรามากกว่า ทำให้วัฒนธรรมมลายูฮินดู-พุทธที่แท้จริงอยู่รวมกันในเกาะสุมาตรามากกว่า โดยหลักฐานส่วนใหญ่ ระบุไว้เพียงว่า อาณาจักรสำคัญในคาบสมุทรมลายู มีเพียง 2 อาณาจักร คือ อาณาจักรกฑารัม หรือ กะดะห์ในปัจจุบัน และ อาณาจักรลังกาสุขะ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นอาณาจักรปัตตานี โดยมีหลักฐานบ่งชี้ว่า อาณาจักรกะดะห์ มีความเก่าแก่กว่าอาณาจักรมลายูอื่นๆในคาบสมุทร เนื่องจากการค้นพบโบราณสถานที่หุบเขาบูจัง (Bujang Valley) และอีกสาเหตุที่ทำให้ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ของมาเลเซียไม่ถูกจารึกไว้ เนื่องจากเชื่อว่า โบราณวัตถุต่างๆ ล้วนถูกทำลายไปเกือบหมดสิ้นในช่วงที่ศาสนาอิสลามเผยแพร่เข้ามาในคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะมลายูนี้เอง
.
โปรดติดตาม <--ตอนที่ 2:อาณาจักรมะละกา-->
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่