ทฤษฏีระบบเปิดของรัฐประศาสนศาสตร์ (Open Systems Theory of Public Administration) .. 17/9/2561 สรายุทธ กันหลง

กระทู้สนทนา

ทฤษฏีระบบเปิดของรัฐประศาสนศาสตร์ (Open Systems Theory of Public Administration) .. 17/9/2561
https://ppantip.com/topic/38065996

เคยเขียนเมื่อหลายปีก่อน คิดว่ายังเป็นประโยชน์อยู่ที่จะนำมาแบ่งปันกันครับ .. Aj Yuth 180917 1822 hrs

ระบบเปิด (open system) เป็นระบบที่มีการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ที่เป็นในรูปของสารสนเทศ พลังงาน หรือการแลกเปลี่ยนวัสดุ เข้าไปและออกมาจากขอบเขตของระบบ ขึ้นอยู่กับศาสตร์ที่ศึกษา ระบบเปิดนี้ตรงข้ามกับระบบปิด (isolated system) ที่ไม่มีการแลกเปลี่ยนพลังงาน วัสดุ หรือสารสนเทศกับสิ่งแวดล้อม

แนวคิดระบบเปิด เริ่มมาจากการใช้อธิบายทฤษฎีสิ่งมีชีวิต (theory of organism) ทฤษฎีความร้อน (thermodynamics) และ ทฤษฎีวิวัฒนาการ (evolutionary theory) ที่เป็นระบบที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและมีการพัฒนาที่จะปรับตน เองเพื่อความอยู่รอดหรือความสมดุล ซึ่งต่อมาได้ใช้เป็นพื้นฐานของการสร้างทฤษฎีสารสนเทศ (information theory) และทฤษฎีระบบ (systems theory) ในปัจจุบันแนวคิดระบบเปิดได้นำมาใช้ประยุกต์ในศาสตร์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (natural sciences) และ สังคมศาสตร์ (social sciences)

ในทางรัฐประศาสนศาสตร์ สามารถอธิบายการบริหารรัฐกิจหรือกิจกรรมทางรัฐประศาสนศาสตร์ได้ด้วยทฤษฎี ระบบเปิด (ตามรูป) ว่า ทั้งปัจจัยนำเข้า (input) และผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย (ultimate outcome) คือ ประโยชน์สาธารณะ (public interests) ในปัจจัยนำเข้าเป็น ความต้องการและการเรียกร้องของพลเมือง (citizens' needs and demands) ส่งมายังกระบวนการ (process) ที่เป็นการบริหารรัฐกิจ ซึ่งก็คือวงรอบของนโยบายสาธารณะ (public policy cycle) คือการก่อกำเนิดของนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ และการประเมินนโยบาย (policy formulation, policy implementation and policy evaluation) ในที่นี้จะเน้นเรื่องการนำนโยบายไปปฏิบัติที่เป็นกระบวนการ (process)

การบริหารรัฐกิจเช่นเดียวกับการบริหารด้านอื่นๆ ในกระบวนการนั้น ผู้บริหารต้องสร้างความกลมกลืนสอดคล้อง (congruence) ระหว่าง มิติที่ดูเสมือนแตกต่างกันให้ดำเนินการไปด้วยกันได้ คือมิติระหว่าง กฎระเบียบและคน (rules and regulations vs. man) และมิติระหว่างความต้องการและทรัพยากร (needs vs. resources) ซึ่งผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์จะเข้าใจลึกซึ้งและปฏิบัติได้ดี

ผลของการนำนโยบายไปปฏิบัติคือ ผลผลิต (output) ที่เป็นรูปธรรม เช่น สร้างถนนได้ถนนที่เป็นสิ่งของ แต่จะมี ผลลัพธ์ (outcome) ที่เป็นนามธรรมหรือไม่ เช่น ความสะดวกสบายในการคมนาคม ความมั่นคงปลอดภัย ก็ต้องพิจารณาดูกันอีกที จากนั้นก็เป็น ผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย (ultimate outcome) ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ (public interests) ว่า สังคมประเทศชาติโดยรวมได้รับผลลัพธ์ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ เช่นเป็นเชิงบวก ถนนที่สร้างนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมเครือข่ายคมนาคมของทั้งประเทศ หรือถนนที่สร้างอาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ เช่นกรณีถนนขึ้นเขาใหญ่ทางปราจีนบุรี ที่ทำให้เกิดการทำลายป่าและสัตว์มากขึ้น

ในกระบวนการ input-process-output-outcome-ultimate outcome นี้ เป็นพลวัตร (dynamic) ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการพัฒนาหรืออยู่รอดด้วยการมีข้อมูลย้อนกลับ (feedback) และ ยังมีระบบย่อยอยู่ซ้อนกันมากมาย ในการเป็นระบบเปิด ระบบฯ นี้มีการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายในและภายนอก ซึ่งก็คือสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และธรรมชาติ หรือเพิ่มด้วยโลกาภิวัตน์ (globalization)

การดำเนินกิจกรรมทางรัฐประศาสนศาตร์ หรืออีกชื่อคือ การบริหารรัฐกิจ มีการดำเนินการภายใต้แนวคิดพาราไดม์ที่นิยมในเวลานั้น ซึ่งในปัจจุบันพาราไดม์ของรัฐประศาสนศาตร์คือ ความเป็นมืออาชีพ ที รปศ. เป็นวิชาชีพหนึ่ง เช่นเดียวกับแพทย์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ (รปศ. คือ รปศ. public administration as public administration paradigm) และในขณะเดียวกันก็มีพาราไดม์ซ้อนกันคือ พาราไดม์ ธรรมาภิบาล (governance paradigm) (Henry, 2010) หรือที่เรียกว่าเป็น พาราไดม์บริการสาธารณะแนวใหม่ (new public service paradigm) (Denhardt, 2011) ที่ผู้ปฏิบัติต้องคำนึงถึง ธรรมาภิบาล ประโยชน์สาธารณะ ความเป็นพลเมือง และค่านิยมประชาธิปไตย (governance, public interests, citizenship, democratic values) ควบคู่ไปกับการทำงานอย่างมืออาชีพด้วย

การบริหารรัฐกิจในปัจจุบัน จึงต้องมีความสอดคล้องกลมกลืน ระหว่าง รัฐ (government) ที่สื่อถึงการควบคุม กับ ธรรมาภิบาล (governance) ที่สื่อถึงการตอบสนองและการมีส่วนร่วมของพลเมือง อีกทั้งการพัฒนาการบริหารจำเป็นต้องสร้างความสอดคล้องกลมกลืนระหว่างทฤษฎี และการปฏิบัติ ซึ่งก็คือ การวิจัย นั่นเอง

อ้างอิง

Denhardt, Janet Vinzant, Denhardt, Robert B. (2011). The new public service : serving, not
steering. 3rd ed. Armonk, NY : M.E. Sharpe.

Henry, Nicholas. (2010). Public administration and public affairs, ed 11th. New York : Pearson/Longman.

Wikipedia (n.d.). Open system (systems theory). Online retrieved July 12, 2011.en.wikipedia.org/wiki/Open_system_%28systems_theory%29
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่