BEC เมื่อยักษ์ผอมเพราะจมไม่ลง (โดย อีหล่าน้อย เว็บ Share2Trade)

กระทู้ข่าว
http://www.share2trade.com/index.php?route=content/content&path=9&content_id=3561
    เป็นเวลานานมาก อาจจะตั้งแต่เข้าเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนเลยก็ว่าได้ จนนักลงทุนส่วนใหญ่ลืมไปแล้วว่า บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC เคยขาดทุนครั้งสุดท้ายเมื่อไตรมาสไหน และปีไหน  ก่อนจะมาปรากฏขึ้นในไตรมาสแรกสองของปีนี้ติดต่อกันอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

    ในช่วงไตรมาสแรกการขาดทุนอาจจะเป็นประเด็นทางเทคนิค แต่ไตรมาสสองที่ขาดทุนต่อเนื่อง บ่งบอกสัญญาณลบชัดเจน

    ที่สำคัญ ราคาหุ้นเมื่อ 5 ปีก่อนที่เคยสูงกว่า 75.00 บาท วานนี้ร่วงลงมาทำนิวโลว์ที่ระดับต่ำกว่า 7.00 บาท พร้อมคำถามว่าพ้นจุดต่ำสุดหรือยัง

    ชะตากรรมของผลประกอบการ และ ราคาหุ้น ที่เป็นขาลงเช่นเดียวกัน ทำให้ปีนี้ถือเป็นปีต่ำสุดของ BEC ยักษ์ใหญ่ทางด้านสื่อโทรทัศน์ ผู้ที่เคยสร้างความมั่งคั่งและตำนานของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ภายใต้สัมปทานยาวนานหลายทศวรรษของ อสมท.

    ความถดถอยของรายได้ และกำไรของ BEC เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งเข้ากับ 2 ปรากฏการณ์ของวงการสื่อโทรทัศน์ไทยได้แก่

    - อายุสัมปทาน อสมท.นาน 30 ปี(ครั้งสุดท้ายที่อนุมัติในสมัยรัฐบาลพอเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) ของโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกที่เคยเป็นเกราะกำบังอันอบอุ่นที่จะหมดอายุลง ในต้นปี 2563 ซึ่งคงจะไม่มีการต่ออายุกันอีก เพราะย่างสู่ยุคดิจิทัล

    - ใบอนุญาตประกอบการโทรทัศน์ดิจิทัลที่มากมายถึง 20+4ใบที่กสทช.กระจายไปให้แก่ผู้ประกอบการต่างๆ ทำให้ตลาดมีลักษณะ"เปิดหีบแพนโดร่า"ในตำนานกรีก เพราะเกิดอุปทานล้นเกิน ส่งผลต่อรายได้จากค่าโฆษณาที่ลดลงอยางมีนัยสำคัญ ทั้งรายใหม่รายเก่า

    รายได้และกำไรที่ถดถอยลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอย่างรวดเร็วของBEC ทำให้ฐานะทางการเงินของกิจการเปลี่ยนไป จากที่เคยมีส่วนผู้ถือหุ้นมากกว่าหนี้สินต่อเนื่อง เริ่มเปลี่ยนมาเป็นมีหนี้สินมากกว่าส่วนผู้ถือหุ้นชัดเจน

    อัตรากำไรสุทธิที่เคยสูงกว่า 25% ถดถอยลงมาเหลือแค่ 0.54% เมื่อสิ้นงวดปีก่อน และติดลบในช่วงหลังสิ้นไตรมาสสองปีนี้ จึงสะท้อนมาที่ราคาหุ้นชัดเจน

    ท่ามกลางความยากลำบากนี้ ยังมีเรื่องวุ่นวายเมื่อต้นปีนี้อีก เมื่อเกิดสภาพ"น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ"ในกลุ่มมาลีนนท์ ที่เป็นตระกูลผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ เพราะผลพวงของความพยายาม"ล้างบ้านลดต้นทุน" ทำให้มีข้อกล่าวหาว่า ใครบางคนในตระกูลทำการก่อ"ผลประโยชน์ทับซ้อน"โดยเข้ามีเอี่ยวในบริษัทที่รับงานช่วงต่อจากโทรทัศน์ช่อง3 เป็นการรับประโยชน์มิบังควรทำให้กลุ่มครอบครัวนายประวิทย์ มาลีนนท์(ถือหุ้นรวมทั้งหมด 5.88% ถือโดยลูกสาวและลูกชายทั้งหมด 4 คนได้แก่ อรอุมา , วัลลิภา , วรวรรธน์ และ ชฎิล ถือหุ้นคนละ 1.47%)ต้องอำลาแยกทางไป"สร้างดาวคนละดวง" แม้ว่าจะไม่กระทบกับอำนาจหรือโครงสร้างการบริหาร แต่ก็มีผลทางลบต่อภาพลักษณ์และราคาหุ้นพอสมควรทีเดียว

    ตามมาด้วยตัวเลขขาดทุนสุทธิในไตรมาสสองของปีนี้ ที่ส่งผลให้นักวิเคราะห์ทุกสำนักมีมุมมองชิงลบ ปรับลดราคาเป้าหมายใหม่ หรือแนะ"ขาย" หรือ "ถือ" เท่านั้น

    BEC รายงานผลประกอบการไตรมาสสองปีนี้ ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 23 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากกำไรสุทธิ 113 ล้านบาทในระเดียวกันปีก่อน และขาดทุนต่อเนื่อง 2 ไตรมาสที่ต่อเนื่องจากขาดทุนสุทธิ 126 ล้านบาทในไตรมาสแรก

    คำอธิบายของฝ่ายจัดการระบุว่าการขาดทุนเกิดจากรายได้ค่าโฆษณาที่ลดลงถึง 12% จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ดีขึ้นจากไตรมาสแรกมาก โดยมีรายได้ที่ระดับ เพราะ 2,399 ล้านบาทเม็ดเงินโฆษณากลุ่ม Traditional channel ยังคงหดตัว -7% แต่ส่วนอื่นดีขึ้น แม้จะไม่เพียงพอ เช่น อัตราการเข้าชม (Utilization rate) เพิ่มขึ้นเป็น 77% จาก 75.6% ในไตรมาสแรก 2) รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% YoY หนุนโดยรายได้ค่าลิขสิทธิ์จากธุรกิจออนไลน์ของ BEC และการออกอากาศคู่ขนานละครเรื่อง ลิขิตรัก ไปที่ประเทศจีนผ่าน Tencent  

    การลดลงของรายได้ ที่ส่งผลต่อกำไรสุทธิ และกำไรต่อหุ้น แต่ละไตรมาส เป็นปัญหาใหญ่ของที่ยังแก้ยาก แม้จะมุมมองเชิงบวกว่า รายได้และกำไรสุทธิจะฟื้นตัวในปี 2018 เป็นต้นไป แต่เป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จำต้องใช้เวลาในการกลับไปเหมือนเดิม

    ยักษ์ที่เคยอ้วนอิ่มหมีพีมัน เมื่อเกิดอาการ"เสียศูนย์"ถึงขั้นผอมโกรก ในช่วงเวลารอการฟื้นตัว แต่ยักษ์ก็ยังคงเป็นยักษ์ เพราะรายได้ต่อไตรมาสแม้จะหดตัวลงแต่ตัวเลขรายได้รวมทั้งปีเกือบ 10,000 ล้านบาทก็ยังเปิดช่องให้ยักษ์ฟื้นตัวกลับมาได้ หากจัดการปัญหาภายในได้ดีและปรับตัวเข้ากับยุคสมัย เพราะแม้จะตกต่ำมากในครึ่งแรกปีนี้ แต่ยักษ์ก็ไม่เคยเป็นอย่างอื่น นอกจากยักษ์  ปมหลักที่. BEC ต้องขบให้แตกก่อนอื่น น่าจะอยู่ที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะ"จมไม่ลง"ชัดเจน ดังจะเห็นจากงบครึ่งแรกของปีมีรายได้รวม 5,227.88 ล้านบาท(หลักมาจากรายได้จากการขายสินค้า(โฆษณา) 4,588.92 ล้านบาท และ รายได้จากการให้บริการ 587.89 ล้านบาท) แต่มีต้นทุนและรายจ่ายรวม 5,317.20 ล้านบาท(ต้นทุนขายสินค้าและ/หรือต้นทุนการให้บริการ 4,461.86 ล้านบาท รองลงไปคือค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 840.14 ล้านบาท และที่ร้ายกว่านั้น ค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เกินจริงมาก 671.48 ล้านบาท) ส่งผลให้ EBITDA ขาดทุนเสียแล้ว และหากไม่มีรายได้พิเศษ เข้ามาเสริมระยะต่อไป สถานการณ์ก็น่าจะขาดทุนต่อไป

    นั่นหมายความว่า โอกาสการเติบโตของรายได้และการฟื้นคืนกำไรของ BEC ในอนาคต จึงต้องเน้นหนักไปที่เงื่อนไขต่อไปนี้ 1) การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเร่งรัด 2) การเปลี่ยนแปลงของรายการโทรทัศน์ ที่สามารถรักษาเรตติ้งทีวีไว้ให้ได้ เพื่อประคองช่วยในส่วนของรายได้จากการโฆษณา 3) เร่งสร้างแหล่งรายได้ใหม่ จากช่องทางออนไลน์ และยาการขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ

    หากทำตามเงื่อนไขข้างต้นได้ครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องแรก คำพูดของนักวิเคราะห์บอกว่าผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จะมีโอกาสเป็นจริง

    ในทางกลับกัน หากการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายหลัก ยัง"จมไม่ลง"ต่อไป (ไม่ว่าจะเป็นเพราะติด"กับดักความสำเร็จของอดีต"หรือฯลฯ )โอกาสจะเห็นการ"ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป" ยากจะเกิดขึ้น

    ยักษ์ผอมเพราะอดอาหาร กับผอมเพราะอมโรค มีการรักษาที่ต่างกัน หากรักษาผิด นอกจากไม่ฟื้นแล้ว อาจถึงขั้นม่องเท่งได้


///////////////////////
////////////////////////////////////
ขอบคุณบทความจาก
www.facebook.com/Share2Trade/
www.share2trade.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่