🍇~มาลาริน~ชาวสวนขำแย่..เมื่อนักตำราอาหารต่างชาติ..แยกไม่ออกระหว่างทุเรียนกับขนุน คุณเคยรับประทาน มะละกะ หรือยังคะ..?


"มาร์ธา สจวร์ต"แยกไม่ออกระหว่าง"ขนุน"กับ"ทุเรียน



ชาวเน็ตพากันล้อเลียนบทความบนเวบไซต์นิตยสารออนไลน์ของ มาร์ธา สจวร์ต เจ้าแม่ไลฟ์สไตล์และตำราอาหาร ที่แยกไม่ออกถึงความแตกต่างระหว่างทุเรียน และขนุน

บทความเรื่องการปรุงอาหารด้วยขนุน ในหมวด Strive บนเวบไซต์ marthastewart.com แนะนำเคล็ดลับการใช้ขนุนแต่กลับใช้ภาพทุเรียนประกอบ พร้อมโปรยหัวว่า ผลไม้เขตร้อนชนิดนี้ มักปลูกในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเนื้อผลไม้ที่สามารถนำมาใช้แทนเนื้อสัตว์ได้อย่างวิเศษ

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื้อขนุนดิบได้รับความนิยมอย่างมากในการใช้เป็นอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ เพราะนำไปฉีกเป็นเส้นได้ง่ายคล้ายกับหมูฝอย แต่เนื้อทุเรียนต่างจากเนื้อสัตว์มาก ไม่เคยได้ยินว่านำมาใช้แทนกันได้

ชาวเน็ตสังเกตเห็นความผิดพลาดบนเวบไซต์ของพิธีกรหญิงผู้ทรงอิทธิพลวัย 77 ปี และแสดงความเห็นในเชิงขำขัน ไปจนถึงการขอให้หาทีมเขียนบทที่หลากหลายขึ้น เพื่อเลี่ยงความผิดพลาด ขณะที่บางคนแนะให้พิธีกรรายการอาหารและไลฟ์สไตล์คนดังเดินทางมาที่ประเทศแถบนี้ เมื่อได้กลิ่นทุเรียนแล้ว จะได้ไม่จำผิดพลาดอีก

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวต่างชาติสับสนหรือไม่เข้าใจ เกี่ยวกับอาหารประจำถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา “เกรก วอลเลซ” เชฟชื่อดังชาวอังกฤษ วิจารณ์ผู้เข้าแข่งขันรายการ มาสเตอร์เชฟ ซึ่งเกิดในมาเลเซียว่า ไก่ในแกงเรินดัง ไม่กรอบ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไก่ต้องไม่กรอบ เพราะไก่ในแกงเรินดังต้องเคี่ยวกับสมุนไพรเป็นเวลานาน แต่ต่อมา วอลเลซอ้างว่า ตั้งใจหมายถึงการปรุงไก่เรินดัง ยังไม่เข้าที่




http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/812819


'มะละกะ'ผลไม้คล้ายลางสาดและไม่ใช่ลองกอง



12 ก.ย.61-  ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่ ลูกมะละกะ ผลไม้ชื่อดังประจำอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา ออกสู่ท้องตลาด ให้ผู้ที่ชื่นชอบได้ลิ้มชิมรส ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่มีรูปร่างของผลคล้ายกับลองกองและลางสาด ซึ่งคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนก็จะไม่สามารถแยกไม่ได้เลย แต่เมื่อได้ลองลิ้มชิมรสชาติของมันแล้ว ก็จะรู้ได้เลยว่าแตกต่างกับลองกองและลางสาดอย่างชัดเจน เพราะมะละกะ มีความหวานแบบเย็นๆ เนื้อแห้ง เคี้ยวหนึดๆคล้ายกับวุ้นมะพร้าวหรือเยลลี่  ปอกเปลือกออกมาแทบจะไม่มียาง ทำให้ได้รับความนิยมในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก แต่ผลผลิตมีน้อยจนต้องมีการสั่งจองในช่วงที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด  และทำให้มีราคาสูงกว่าลองกองและลางสาด


นายประวุฒิ  ลิ่มอ้อ อายุ 46 ปี เกษตรกร ที่บ้านบางลาน ม.5 ต.โคกเคียน  อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา กล่าวว่า ต้นมะละกะที่พ่อแม่ปลูกไว้ 5 ต้นน่าจะมีอายุมากกว่า 50 ปี เพราะเมื่อตนเองจำความได้ก็มีอยู่แล้วภายในสวนผลไม้ใกล้บ้าน ชาวบ้านในพื้นที่ก็มีกันบ้านละ 4-5 ต้น ไม่ได้มีการปลูกเป็นสวนเหมือนกับลองกองหรือลางสาด นอกจากความแตกต่างในเรื่องของรสชาติแล้ว ในส่วนของลำต้นและใบก็ต่างกัน เปลือกลำต้นของมะละกะจะขรุขระกว่าลองกองและลางสาด ใบมีลักษณะมลกว่าและใหญ่กว่า ส่วนระยะเวลาจากออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวก็พอๆกัน ผลจะเป็นช่อเหมือนกัน แต่มะละกะผลจะร่วงหลุดจากช่อง่ายกว่ามากทำให้ที่วางขายกันอยู่มักจะไม่ค่อยมีเป็นช่อๆ ปัจจุบันยังไม่มีเกษตรกรรายใดทำเป็นสวนมะละกะโดยเฉพาะ แต่จะปลูกแซมในสวนผลไม้อื่นเท่านั้น สำหรับปีนี้ช่วงผลผลิตออกใหม่ๆขายได้กิโลกรัมละ 90 บาท ล่าสุดกิโลกรัมละ 30-50 บาท


นายสราวุฒิ ธนาเจริญสกุล นายอำเภอตะกั่วป่า กล่าวว่า มะละกะ เป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับลางสาดและลองกอง เริ่มปลูกครั้งแรกที่บ้านบางลาน ต.โคกเคียน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยเล่ากันว่ามีชาวอำเภอตะกั่วป่านำเมล็ดมาจากประเทศอินโดนีเซียมาเริ่มปลูก จากนั้นก็ได้มีการขยายพันธุ์ไปปลูกในพื้นที่ใกล้เคียง แต่ไม่ได้มีการปลูกเพื่อการค้า ทำให้มีกันบ้านละไม่ถึง 10 ต้น คาดว่ามีพื้นที่ปลูกรวมกันไม่ถึง 5 ไร่  เนื่องจากเป็นผลไม้ที่แปลกมีรสชาติและเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทางอำเภอตะกั่วป่าเตรียมจะส่งเสริมให้มีอนุรักษ์ และปลูกเพิ่มขึ้นให้เป็นผลไม้ประจำอำเภอตะกั่วป่า อีกชนิดหนึ่ง

https://www.thaipost.net/main/detail/17387


พักการเมืองสักกระทู้ค่ะ

อ่านเรื่องเบาๆก่อนนอนกันนะคะ

คร่อกฟี้คร่อกฟี้คร่อกฟี้คร่อกฟี้คร่อกฟี้คร่อกฟี้คร่อกฟี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่