B H U T A N in the Rain : รีวิวการเที่ยวภูฏานช่วงหน้าฝนกับ ก ล้ อ ง ฟิ ล์ ม คู่ใจ (รีไรท์)

ต้องขอเปรยก่อนว่า นี่เป็นการไปภูฏานครั้งแรก และจับพลัดจับผลูได้ไปเที่ยวในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ว่างก่อนจะไม่ว่างอีกนาน ..แต่ถึงจะใช้เวลาอยู่บนแผ่นดินภูฏานไม่กี่วัน แต่กลับมาแล้วบอกเลยว่า...ถึงกับโหยหาอยากกลับไปอีกอยู่ทุกๆ วันเลยทีเดียว



ฟิล์ม : ประตูทางเข้า Punakha Dzong



เหตุผลที่ชื่อกระทู้เป็น ภูฏานช่วงหน้าฝน (อย่าลืมออกเสียงว่า พู-ตาน !) ก็เพราะความจริงแล้ว ช่วงเวลาเหมาะสมสำหรับการไปภูฏานจริงๆ คือช่วงฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วง ช่วงเดือน 3-5 และ 9-11 ส่วนเดือน 6-8 จะเป็นฤดูร้อน ถึงจะเรียกฤดูร้อนแต่ก็มีมรสุมอยู่เรื่อยๆ ทำให้ท้องฟ้าที่ควรจะสีฟ้าเต็มไปด้วยเมฆฝนอยู่บ่อยๆ
..แต่เนื่องจากเราว่าว่างแค่ช่วงปลายเดือนกรกฏาเท่านั้น ประจวบเหมาะกับมีตารางทัวร์ช่วงนั้นเลยพอดี เราจึงแพ็คกระเป๋าไปกันอย่างไม่รีรอ เพราะการได้พิชิตวัดทักซัง (Taktsang) หรืออีกชื่อคือ Tiger’s nest นั้นเป็นหนึ่งใน Bucket list ของเราที่คิดว่า ต้องไปดูภาพของวัดทักซังที่ตั้งอยู่บนชะง่อนผานั้นให้ได้สักวันหนึ่ง (ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพสวยๆ ที่คนไปภูฏานแล้วมักถ่ายกลับมาให้ได้ดูอยู่เสมอนั่นเอง แบบแค่เห็นก็หลงรักเข้าแล้ว 555) แต่ก็คิดไว้บ้างแล้วแหละว่า คงไปพิชิตวัดทักซังสักครั้งหนึ่งครั้งเดียวในชีวิตก็พอนะ เพราะค่าทัวร์ไปเหยียบแผ่นดินภูฏานมันแพงแสนแพงเหลือเกิน


ฟิล์ม : ทักซังที่เราเฝ้าใฝ่ฝัน



ในส่วนของรายละเอียด ตารางเดินทาง ขอไม่เขียนอะไรมากเนอะ เพราะก็เป็นตารางเดินทางแบบง่ายๆ 5 วัน 4 คืน เน้นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของภูฏานที่มีคนรีวิวมาอยู่บ้างแล้ว สามารถเสิร์จหากันได้ทั่วไป  และเป็นเมืองท่องเที่ยวใกล้ๆ อย่าง Paro-Thimphu-Punakha เมืองท่องเที่ยวใกล้สนามบินนั่นเอง


อย่างที่เกริ่นไว้ว่า การเดินทางไปในครั้งนี้ เป้าหมายจริงๆ คือไปที่วัดทักซังในวันที่ 4
แต่.. พออยู่ไปเข้าวันที่ 2 พวกเราก็ถึงกับลืมวันลืมคืนกันเลยทีเดียว (ลืมแบบลืมจริงๆ ลืมถึงขนาดต้องถามกันว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ของการเดินทางแล้วกันแน่ 555) เพราะทุกสถานที่ที่เราไป ผู้คน ถนนหนทาง ล้วนเป็นภาพแปลกตา และสวยงามสำหรับเราไปหมด ตั้งแต่ขึ้นเครื่องที่สุวรรณภูมิ ก็มีชุดประจำชาติ ทั้งชาย และหญิง เดินกันขวักไขว่ให้บริการบนเครื่อง ตอนลงที่สนามบินพาโร (Paro International Airport) ก็มีศิลปะแบบภูฏานตามผนัง หน้าต่าง เสา และประตู ให้ได้ชมอย่างสวยงาม อีกทั้งมองฝั่งนึงเป็นอาคารสนามบิน อีกฝั่งเป็นภูเขาขนาบข้าง มองเลยไปยังเห็นเมืองเป็นบ้านเล็กใหญ่ (ใหญ่แต่ก็ไม่เกิน 5 ชั้นนะ เดี๋ยวจะมาอธิบายต่อว่าทำไม) ไล่ระดับอยู่ตามเชิงเขา และที่ราบอันน้อยนิด


Paro international airport



...คิดดู นี่ขนาดแค่ก้าวแรกขึ้นเครื่องจนเหยียบสนามบินก็สวย และมีมุมให้น่าหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปอยู่ตลอด จะไม่ให้ถึงกับลืมวันลืมคืน เข้าใจว่าวันที่สามแล้วทั้งๆ ที่พึ่งจะเข้าวันที่สองได้ยังไงกัน 555


Bhutan airlines



เรื่องของภาพประกอบในกระทู้นี้ ภาพฟิล์มในกระทู้มาจากการถ่ายเอง ภาพกล้องมือถือทั้งถ่ายเองและยืมภาพจากครอบครัวมานิดหน่อย
สำหรับภาพฟิล์มจะเขียนมาร์กไว้ ขอบอกไว้ก่อนว่า มุมกล้องและแสงอาจยังไม่เป๊ะ เพราะก็พึ่งหัดเล่นฟิล์มได้ไม่นาน หากมีข้อติชมเสนอแนะใดๆ สามารถเขียนไว้ได้เลยยินดีจะรับฟังอย่างยิ่งเพื่อพัฒนาฝีมือให้ดียิ่งขึ้นไป ยิ้ม


กระทู้ตั้งใจไว้ว่าจะเขียนเป็นแนวประกอบกับประเด็นต่างๆ ที่เราประทับใจในภูฏาน ในเชิงมาเล่าสู่กันฟังละกันนะ ไว้เป็นข้อมูลเผื่อจะมีใคร ทั้งที่เคยไปแล้วและยังไม่เคยไป อยากไปสัมผัสบรรยากาศแบบภูฏานๆ อย่างเราสักครั้ง ยิ้ม



สารบัญ
(1) ปูพื้นข้อมูลประเทศภูฏานจากไกด์ท้องถิ่น
(2) วิธีการเข้าไปท่องเที่ยวภูฏาน
(3) การเดินทางในภูฏาน
(4) Timeline
(5) Happiness is a place
(6) Throwback


*ข้อมูลส่วนใหญ่มากจากไกด์ภูฏานเล่าให้ฟัง ส่วนน้อยจากการทำการค้นคว้าเพิ่มเติม
ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยหนา <3


  

"the Land of Thunder Dragon"
(1) ปูพื้นข้อมูลประเทศภูฏานจากไกด์ท้องถิ่น



ขั้นแรก ขอนำเรื่องราวต่างๆ ที่เราได้ฟังเกี่ยวกับประเทศนี้มาเล่าสู้กันฟังก่อน เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับประเทศนี้มากขึ้น ส่วนผู้อ่านที่รู้จักประเทศนี้ดีอยู่แล้วก็สามารถเสพภาพไว้เป็นอรรถรสให้ได้รำลึกถึงวันคืนเก่าๆ...


ประเทศ “ภูฏาน” ออกเสียงว่า “พู-ตาน” (เราคนหนึ่งล่ะที่ออกเสียงผิดตลอดทริปเลย ก็มันชินนี่นา..) ปัจจุบันอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเหมือนบ้านเรา เป็นประเทศที่มีแนวทางที่เด็ดเดี่ยวและมั่นคงหลายอย่าง เช่น การประกาศว่าจะสนใจเฉพาะค่า GNH หรือ Gross National Happiness เพื่อประชาชนในประเทศที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 820,000 คน (สค. 61) ซึ่งเป็นอะไรที่จะว่าเด็ดเดี่ยวมั่นคงก็ใช่ แต่ก็แฝงด้วยความอินดี้ เพราะเป็นประเทศเดียวในโลกที่กล้าพูด และกล้าทำจริง

เพราะจากการตั้งหลักนี้ทำให้ส่งผลถึงอีกหลายๆ นโยบาย ทั้งการศึกษาฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาตรี ระบบสาธารณสุขฟรี รวมถึงค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด และทุนเรียนต่อต่างประเทศ และการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ทำให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมานานกว่า 40 ปีแล้ว

ปัจจุบันจึงไม่ต้องห่วงเลยว่าไปภูฏานแล้วจะสื่อสารกับคนท้องถิ่นยาก เพราะคนที่นี่พูดอังกฤษเป็นทุกคน แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ก็พูดได้คล่อง จะมีก็แต่คนแก่มากๆ ที่พูดไม่ได้ ก็จะใช้ภาษา Dzongkha ซึ่งเป็นภาษากลางสื่อสารแทน


ฟิล์ม : สะพานไม้ ทางเข้า Punakha Dzong



ฉายา/คำขวัญ ของประเทศภูฏานมีหลากหลายมาก แต่หลักๆ ที่เราจะรู้คือ “the Land of Thunder Dragon” มาจากชื่อของภูฏานในภาษาท้องถิ่น(Dzongkha) “Druk Yul” ซึ่งแปลว่าดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า


ฟิล์ม : ข้างๆ Dochula Pass ณ ความสูง 3100 m. ASL



ถึงแม้ประเทศที่มีเขตชายแดนติดกับภูฏานอย่างจีนและอินเดียจะเจริญไปกว่ามาก แต่ภูฏานกลับมองการไกล ตั้งใจอนุรักษ์ธรรมชาติ ทรัพยากร และวัฒนธรรมไว้เป็นอย่างดี ตัวอย่างจากกฎหมายเกี่ยวกับธรรมชาติ มีทั้งห้ามนำเข้าพันธุ์พืช/สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ก่อนได้รับอนุญาต เพราะที่ภูฏานก็กลัวมากว่าพืชหรือสัตว์แปลกจากต่างประเทศอาจทำลายพันธุ์พืชดั้งเดิมที่มีในประเทศได้ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นเป็นปัญหาในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยก็ด้วย(ผักตบชวา หอยเชอรี่ ฯลฯ) และการประกาศห้ามตัดต้นไม้ยืนต้นทุกต้น หากจะตัดต้องยื่นเรื่อง และทำการปลูกคืนทดแทน 2-3 เท่าของที่ตัดไป รวมถึงต้องรอให้ไม้ต้นใหม่งอกให้ได้ถึงประมาณ 1 เมตร(ถ้าจำไม่ผิดนะจ้ะ) ให้พอที่จะอยู่รอดก่อนถึงจะนับว่าได้ปลูกทดแทนแล้ว
ผลของการทำจริง ทำให้ปัจจุบันมีป่าไม้มากกว่า 70% ของประเทศ ยังคงถูกรักษาทะนุถนอมไว้เป็นอย่างดี



ฟิล์ม : ภาพจากบน Paro Rinpung Dzong มองลงไปยังเมือง Paro



นอกจากนั้นยังมีกฏหมายจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีเพื่อรักษาไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากจนเกินไปจนทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของประชาชนได้ และยังมีกฎหมายทางวัฒนธรรมให้อาคารบ้านเรือนทุกหลัง ต้องประดับด้วยศิลปะภูฏาน และห้ามมีความสูงของอาคารเกินกว่า 5 ชั้น สิ่งปลูกสร้างในภูฏานจึงเต็มไปด้วยศิลปะตามกรอบหน้าต่างประตูรวมถึงเสา และไม่สูงจนเกินไปจนบดบังทัศนียภาพธรรมชาติที่มีให้เห็นทุกที่ตั้งแต่เข้าเขตประเทศ เป็นที่เจริญหูเจริญตาของเหล่านักท่องเที่ยวมากเลยทีเดียว



กฏหมายอีกอย่างที่น่าสนใจคือกฏหมายเกี่ยวกับการจำกัดทางการลงทุนของต่างชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนชาวภูฏานได้มีโอกาสทำธุรกิจก่อนที่จะให้ต่างชาติเข้ามาทำ โดยมีกฏหมายหลายอย่าง ทั้งจำกัดวันทำธุระกิจให้อยู่ในประเทศภูฏานได้ไม่เกิน 7 วัน (ถ้าจำไม่ผิดนะจ้ะ) จำกัดธุรกิจที่ทำไ้ด้ และอีกหลายอย่างเพื่อชาวภูฏาน และเพื่อความสุขของชาวภูฏาน

ดั่งประโยคหนึ่งที่เราจะสามารถพบเห็นได้บ่อยๆ เป็นสะโลแกนว่า “Happiness is a place” ซึ่งจากการได้สัมผัสตลอดการเดินทาง ..มันก็เป็นอย่างที่เขาพูดจริงๆ แหละ ไม่โม้เลย หัวเราะ



**ฉบับนี้เป็นรีไรท์ จากกระทู้ก่อน https://ppantip.com/topic/38019447/ ทั้งรีไรท์ลำดับให้เข้าใจง่ายขึ้น เพิ่มภาพ เพิ่มเนื้อหา และจะเร่งให้จบไม่ค้างคาอย่างกระทู้ก่อนอีกแล้วว ร้องไห้ **
เดี๋ยวมาต่อน้าา จะเร่งให้จบภายใน 3 วัน สัญญา!
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่