คนที่ชอบเหม่อลอย ของขึ้นง่าย เกิดจากอะไร?

คนที่ชอบเหม่อลอย ของขึ้นง่าย เกิดจากอะไร?

    บางคนชอบเหม่อลอย บางคนชอบคิดโน้น คิดนี่ อยู่ดีๆ น้ำตาก็ไหล ชอบคิดนึกถึงอดีต ความทรงจำเก่าๆ ทำไมเราถึงต้องเป็นคนขี้ยัวะ ขี้โมโห โกรธง่าย ชอบโดนเขาหลอก กลั่นแกล้ง ยืมเงินแล้วไม่คืน ชอบเจ็บป่วยไม่สบาย เข้าโรงพยาบาลบ่อย ฯลฯ นั่นแสดงว่าเราต้องมีสัญญาอะไรไว้สักอย่างหนึ่งแน่นอน เป็นต้น ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อตัวเราเอง

    จึงขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ ชัดเจน คือ เอาเชือกผูกไว้ที่มือ รัดให้แน่นๆ แล้วให้คนมาดึงเชือก

    เชือก ก็คือ สัญญาต่างๆ เป็นสัญญาทางสายไหนก็แล้วแต่ว่ากันไป

    ถ้าเชือกสัญญาเส้นไหนกระตุกเราต้องไปตามสัญญานั้นไหม? คิดเอาง่ายๆ ฉะนั้น เราไม่ต่างอะไรกับหุ่นเชือด

    เชือก คือ สัญญา หมายถึง วิบากกรรมต่างๆ

    สัญญา คือ ข้อผูกพันธ์ ในอดีตที่ผ่านมา หรือขณะปัจจุบันที่จะเป็นไปในอนาคต

    ยกตัวอย่าง เชือกเส้นที่ ๑ เป็นสัญญาวิบากผัวเก่า
    เชือกเส้นที่ ๒ เป็นสัญญาวิบากผัวใหม่
    เชือกเส้นที่ ๓ เป็นสัญญาวิบากเรากับแม่
    เชือกเส้นที่ ๔ เป็นสัญญาวิบากเรากับพ่อ
    เชือกเส้นที่ ๕ ชอบรังแกสัตว์

    สมมติว่า ตอนนี้วิบากผัวเก่ามาหาเรา เชือกเส้นที่หนึ่งก็จะกระตุก และเชือกเส้นที่ ๒ ก็ดึงอีก เชือกเส้นที่ ๓ ก็ดึงอีก ตัวเรานั่งอยู่ตรงกลางของเชือกทุกเส้น ถ้าสัญญาต่างๆ เชือกทุกเส้นมาดึงเรามารุมเร้าพร้อมๆ กัน เราจะตายไหม?

    แล้วตอนนี้เราจะเอายังไง พอเส้นไหนดึงเราก็จะเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามีเชือกผูกรัดดึงไว้ อย่างนี้แหละ เขาเรียกว่าวิบากกรรม เพราะเขาเคยก่อวิบากกรรมกันไว้ เคยก่อสัญญากันไว้ ถึงจะมีเชือกมัดเอาไว้ พอเชือกเส้นไหนดึง เราก็จะเกิดอารมณ์ตัวนั้นขึ้นมา

    ผัวเก่าเคยมาทะเลาะกับเรา อดีตตัวนี้ดึงให้เราไปคุ้นคิด ย้ำคิดอยู่อย่างนี้ พอเราได้ยินชื่อผัวเก่า เราก็รู้สึกอารมณ์ไม่ดี บางครั้งชื่อคนอื่นที่คล้ายคลึงก็ยังทำให้คำนึงถึงได้ สมมติว่า เราไปเห็นผัวเก่าเราขับมอเตอร์ไซค์ให้สาวสวยซ้อน เราก็จะคิดไม่ดีแล้ว เชือกเส้นนี้ก็จะกระตุกใหญ่เลย

    ฉะนั้น เราก็ต้องแก้เชือกมัดสัญญาเก่าอันเป็นผัวอดีตของเรา เราต้องเคลียร์กรรมสายนี้ของเรา แต่ถ้าเรายิ่งเอายิ่งผูกก็ยิ่งแน่น เราผูกอีกปมหนึ่ง ผูกอีกปมหนึ่ง หลายๆ ปม ยิ่งนานวันก็ยิ่งรัดแน่นมากขึ้นเท่านั้น

    แต่พอตกกลางคืน เราสวดมนต์ เราบอกว่า จะไม่เอาแล้วผัวเก่า ทุกอย่างไม่เอาแล้วนะ เราพูดได้แต่ปาก พอเหตุการณ์ครั้งนี้สงบลง กาลเวลาผ่านไป ถ้ามีเหตุการณ์หนึ่งที่มากระตุ้นเตือนความจำของเรา เราก็จะฉุกคิดขึ้นมาได้

    นี่แหละ เราพูด เราไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ เราต้องมาดึงเอาปมเหตุออก เราต้องมาคิดว่า เราจะไปแค้นผัวเก่าของเราทำไม ทำแล้วได้อะไรขึ้นมา เราต้องปลงกับสิ่งต่างๆ นี้ออกคืนสู่ธรรม เราปลงได้แล้ว ก็เหมือนกับเราแกะเชือกออกมาได้แล้ว นั่นแหละ ก็จะกลายเป็นเราอโหสิกรรมให้ ก็จะไม่เป็นการจองเวรอาฆาตพยาบาทซึ่งกันและกัน

    การปลง ก็คือ รู้แล้ว เข้าใจแล้ว ซึ้งแล้ว วางลงได้ หรือจะทำต่อ หรือไม่ทำ

    แต่ถ้าหากว่ามีความคิดผัวเก่าเข้ามา เราก็ต้องมาคิดตัวปลงเข้าไปช่วยในการคิดแก้ไข เหตุเกิดจากอะไร เราจะไม่เอาเหตุนั้นไว้แล้ว เราไม่เอาเหตุที่ไม่ดีอย่างนี้ เราก็ต้องฝึก

    ที่เราบอกว่าแก้เชือกออกนี้ หมายถึง การฝึกฝน ถ้าเราไม่ฝึกแก้เชือก เราเอาแต่จองใหม่ๆ มันก็จะมัดแน่นขึ้นทุกที ถ้าเราแก้ เราจะแก้ทีละปมละ เราจะแก้ปมนี้แล้ว ปมนี้ก็จะหลวมขึ้น พอเราแก้มากขึ้นต่อเนื่องเรื่อยๆ ปมนี้ก็จะหลุดออก นี่แหละ คือการแก้กรรมจริงๆ แก้ที่วิบากกรรมจริงๆ ถ้าไม่เช่นนั้น ปากเราว่าจะไถ่ถอน จะไม่เอาสิ่งที่ไม่ดี แต่เราไม่ยอมฝึกฝน แล้วเราจะแก้ได้อย่างไร? ไม่มีทางแน่นอน

    ถ้าเราแก้ทีละเส้น ก็จะสบายทีละเส้น

    ทีนี้ เราสามารถผูกเชือกเส้นใหม่ได้ล่ะ เช่น ผูกสายธรรมะ ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็จะช่วยเรา ใครจะดึงไปไหนพระพุทธเจ้าก็จะช่วยเรา เราก็จะไม่ไปสุดโต่ง เช่น ความคิดผัวเก่าเข้ามา แต่ความคิดนี้ก็จะไม่ดึงเราไปมาก คิดไม่นานก็หาย แม้จะโดนดึงก็จะมีหลัก หลักยิ่งแน่นสัญญาที่ไม่ดีต่างๆ มาดึงก็ไปได้นอยลง แป๊บเดียว

    ถ้าหากว่าเราเชือกผูกเรา เชือกในสิ่งที่ไม่ดี สัญญาความทรงจำที่ไม่ดีต่างๆ เราจะไม่เอาสายที่ไม่ดีนี้แล้ว

    พอถึงตอนนี้เราเกิดสัมมาทิฏฐิแล้ว ว่าเราไม่เอาสัญญาในสิ่งที่ไม่ดีนี้แล้ว ต่อไปก็จะเป็น "มรรค" คือวิธีข้อปฏิบัติ วิธีที่จะเอาออก คือ เราต้องมาดูว่า ในเมื่อมันไม่มีประโยชน์ ต้องมาดูต้นเหตุว่ามันอยู่ตรงไหน เช่น ปมที่เราไปแค้นเขา เราก็จะเลิกแค้น เชือกที่มัดข้อมือเราก็จะเริ่มคลายปมใช่หรือไม่? ถ้าเราไม่เลิกแค้น เชือกนี้ก็จะมัดตัวเราไปเรื่อยๆ ปมก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าแค้นไปไม่มีประโยชน์ แค้นไปก็มีแต่เดือดร้อน แล้วเราแค้นไปทำไม เราเลิกแค้น ปมก็จะหละหลอมแล้ว สิ่งที่ทำให้ปมหละหลอมก็คือธรรมะ ธรรมะที่จะมาแก้ปม ธรรมะ คือ รู้ความจริงว่าไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษส่งให้เรา เราก็จะแก้ปมเรื่อยๆ  เชือกที่มัดมือเราก็หลวมขึ้นเรื่อยๆ เวลาเชือกดึงเรา มันก็จะเบา จนในที่สุดก็จะหลุด

    สมมติว่า ถ้าเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง เรากับผัวเก่า เคยฟังเพลงด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกัน แล้วไปได้ยินเสียงเพลงที่เคยฟังด้วยกันแล้วมีความสุข เราจะทำยังไง ก็จะทำให้หวนคิดถึงอดีต เลยทำให้ความแค้นนี้กลับมาคืน

    เราต้องมาคิดอย่างนี้ว่า ในเมื่อเหตุการณ์นั้นๆ มาหวนให้เราคิดถึง แล้วเราจะเอาไหมล่ะ? ต้องตอบใจตัวเอง ถ้าเราเอาก็กลายเป็นว่าเราผูกปมเพิ่ม สมมติว่าเราฟังเพลงนั้นแล้วเราแค้น จองเวร อาฆาตพยาบาทผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าเราไม่เอาเราก็จะเคลียร์ปมนี้ เราต้องกลับย้อนกลับมาคิดว่า นี่เป็นเรื่องของเรา เป็นเพลงของเขา เราไม่เอาแล้ว เวลานี้เป็นอดีตแล้วเราไม่เอาแล้ว เราก็จะเคลียร์ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเราก็จะหลุดออกจากวิบากกรรมนี้ เชือกแห่งสัญญานี้ก็ส่วนเชือก เราก็ส่วนเรา ผัวเก่าก็ส่วนผัวเก่า ส่วนตัวเราก็ส่วนตัวเรา วิบากนี้ไม่สามารถมาทำร้ายเราได้แล้ว ไม่มีอิทธิพลต่อเรา

    ถ้าไม่อย่างนั้น เราได้ยินชื่อผัวเก่าของเราก็จะกระอักกระอวนแล้ว จะตายแล้ว ต่อให้เหตุการณ์มาหลายร้อยเหตุการณ์เราก็จะเฉยๆ

    นี่แหละ เราแก้ที่ต้นเหตุ คือ เหตุไม่ผูกแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะเป็นวิบากกรรมให้เป็นปมแก่เราได้

    เหตุ คือ เราไปผูกใจเจ็บโกรธแค้นที่จะเอาคืนเขา ถ้าเราไปแก้ตัวนี้ได้เราก็จะสบาย

    ตกลงใครผูกใครกันแน่ เราผูกตัวเองทั้งนั้น ผูกขึ้นมาไปเรื่อยๆ เป็นการจองจำตัวเอง นิดเดียวก็จะเป็นจะตายแล้ว ลงโทษตัวเองไหม?

    ยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง

    สมมติว่า เชือกมัดที่แขนเรา เปรียบเสมือนวิบากกรรมแต่ละชาติ เราก็จะเอาความเป็นอุปโลกน์กลบไว้ ก็จะกลบไปเรื่อย ความไม่ถูกต้องต่างๆ ความชั่วต่างๆ ก็จะกลบให้หนาขึ้น พอเกิดเรื่องตรงนี้ มีสัญญาวิบากกรรมมากระตุกเรา เราก็มาดูที่มือของเราไม่เป็นอะไร เพราะมองไม่เห็น แต่เชือกที่รัดมือเรานั้น เรามีความรู้สึกเจ็บปวดมาก ข้างในเจ็บแต่ดูข้างนอกเหมือนไม่มีอะไร

    เช่น ทำไมเราถึงต้องชอบปวดหัว ปวดเอว ปวดขา ไมเกรน กินยาอะไรก็ไม่หาย นี่แหละเป็นโรคกรรมบัง บังไปหมดเลย

    แล้วเราจะมองเห็นเชือกนี้ผูกที่มือเราได้อย่างไง เราต้องอาศัยผู้รู้ ครูบาอาจารย์ ถ้าผู้ไม่รู้ก็จะบอกว่าไม่มี ตรงนี้มีปมตรงไหน เขาก็จะไม่รู้ ยิ่งเราไปกินเจ สวดมนต์ ไหว้พระ ตลอดทั้งวัน ก็ไม่หายแน่นอน เพราะเหตุนั้นยังอยู่ ก็จะกลายเป็นกลบเกลื่อนไปเรื่อย ถ้าเชือกเส้นนี้ดึงแรงๆ เราก็จะเจ็บปวด เพราะข้างในจะเคลื่อน แต่ข้างในไม่มีอะไร นี่แหละ เรียกว่าโรคกรรมบัง บางคนปวดหัวอยู่นั่นแหละ หาสาเหตุไม่เจอ บางคนก็ปวดใจอยู่นั่นแหละ ไปหาหมอ หมอท่านก็บอกว่าไม่เป็นอะไร หาหมอกี่คนก็ไม่หาย เพราะท่านไม่รู้ว่าข้างในนั้นมีอะไร เดาไม่ออกว่าข้างในนั้นมีอะไร แต่ถ้าผู้ที่เขามีญาณ มีความชำนาญก็จะมองออกว่าข้างในนั้นติดอะไร มันจะเหนือกว่ากันเอ็กซเรย์ เพราะว่ามันเหนือกรรมได้ เอ็กซเรย์มันทะลุกรรมไม่ได้ เราต้องมาแก้กรรม เราแก้กรรมเส้นเชือกนี้ก็จะเปิดออกมา เราก็แก้ได้แล้ว

    นี่แหละเป็นอริยสัจ ของพระพุทธเจ้าที่แก้ไขวิบากกรรม แก้ทุกข์ต่างๆ ได้ นี่แหละคืออริยสัจที่แท้จริง เราต้องไปหาต้นตอเหตุ ไม่ใช่เป็นอริยสัจเอาแต่ทับถมเหตุ มันแก้ไม่ได้ ต้องแก้ด้วยการรู้ต้นตอแห่งเหตุ แล้วแก้ที่ต้นตอแห่งเหตุที่จะแก้ได้

    เพราะว่า บางทีเราก็จะหาต้นตอไม่เจอ มันทีแต่เสริมขึ้นเรื่อยๆ เรายิ่งไปทำดีเพื่อกลบเกลื่อนตรงนี้ ยิ่งทำให้ตรงนี้หายต้นเหตุเจอยากขึ้น เสริมว่าไม่มีๆ ยิ่งถ้าอหังการเกิดขึ้นกับจิตใจตนเองว่า ทำบุญ ทำกุศลมาเยอะแยะ แล้วเหตุตรงนั้นยังอยู่ แล้วไปคิดเอาเองว่าตรงนั้นจะก่อผลไหม? ถ้าเจอเหตุเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะเดือดขึ้นมาทันที

    ถ้าเราไปบำเพ็ญศีล กินเจล่ะ ช่วยแก้ไขได้มั้ย ไม่ได้ เพราะถ้าเราบำเพ็ญศีล หรือกินเจ เพื่อให้เราเกิดกุศล ที่จะมีโอกาส มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปรู้ปัญญา เข้าไปผ่าตัด ถ้าเราไม่ยอม ก็จบ

    เพื่อที่จะรู้ว่ากรรมมันอยู่ตรงไหน เพราะถ้าเราบำเพ็ญ รักษาศีล เพื่อให้เกิดสิทธิที่ว่า ผู้รู้สามารถเอ็กซเรย์เข้าไปได้ คุยกับกรรมได้ ให้เห็นว่าข้างในมีอะไร แต่ถ้าเราไม่บำเพ็ญ เราก็ไม่มีสิทธิ เพราะว่าท่านดูให้ไม่ได้เพราะเราไม่มีสิทธิ์ เรามีสิทธิ์มาถึงจะดูออกว่าเราติดตัวไหน

    เราติดตัวไหน เรารู้แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะมีหัวใจ ๕ แค่ไหน (กตัญญู ศรัทธา เชื่อมั่น หนักแน่น มั่นคง) ถ้ามีก็จะผ่าตัดให้ ถ้าไม่ผ่าตัด ไม่มีทางแน่นอนพันเปอร์เซ็นต์

    ถ้าเขาไม่บำเพ็ญกุศล ไม่มีสิทธิ์แน่นอน ถ้าหากว่าเราไปหาครูบาอาจารย์ถ้าหากว่าเรามีบุญกุศลไม่เพียงพอ ครูบาอาจารย์ก็จะบอกให้เราไปทำบุญที่โน้นที่นี่ ถ้าเราไปทำ ครูบาอาจารย์ถึงจะมีสิทธิ์บอกได้ ถึงแม้ครูบาอาจารย์รู้ก็ไม่มีสิทธิ์บอกได้ เพราะว่าเจ้ากรรมเขาไม่ยอมให้เปิดเผย เราต้องสร้างบุญกุศลให้กับเขา จนกว่าเขาจะยอม ยอมเจรจาความ

    ถ้าอาจารย์คนนั้นเผลอบอกไป ก็ซวยเลย ทำไมอาจารย์ถึงซวย เพราะถูกธรรมลงโทษ

    นี่แหละ เราต้องเจรจากับกรรมก่อน แล้วไปสร้างสิทธิ์ มีสิทธิ์แล้วถึงจะได้รับการเยียวยาแก้ไขได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่