ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตในบุคคลต่างๆ ๕ ประการ

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๒
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

อาฆาตวรรคที่ ๒
              ๑. อาฆาตวินยสูตรที่ ๑
     [๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการ
ทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑
ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ
ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด
ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น ดังนี้ ๑
ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้ ฯ
                   จบสูตรที่ ๑

๒. อาฆาตวินยสูตรที่ ๒
     [๑๖๒] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโส  ภิกษุ
เหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ธรรม
เป็นที่ระงับความอาฆาต ซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน
คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความ
ประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้
อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์
ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้
อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์แต่ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้
อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่
บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึง
ระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้
อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ และย่อมได้ทางสงบใจ ย่อมได้ความเลื่อมใส
โดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใน
บุคคล ๕ จำพวกนั้น

บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความ
ประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า
ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรเห็นผ้าเก่าที่ถนน เหยียบให้มั่นด้วยเท้าซ้าย เขี่ยออกดูด้วยเท้าขวา
ส่วนใดเป็นสาระ ก็เลือกถือเอาส่วนนั้นแล้วหลีกไป แม้ฉันใด บุคคลใด เป็นผู้มีความ
ประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ความประพฤติทางกาย
ไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ส่วนความประพฤติทางวาจา
บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตใน
บุคคลนั้นอย่างนี้

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ (แต่)
เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไรเหมือน
อย่างว่า สระน้ำที่ถูกสาหร่ายและแหนคลุมไว้ บุรุษผู้เดินทางร้อนอบอ้าวเหนื่อยอ่อน ระหาย
น้ำ เขาลงสู่สระน้ำนั้น แหวกสาหร่ายและแหนด้วยมือทั้งสองแล้ว กอบน้ำขึ้นดื่มแล้วพึงไป
แม้ฉันใด บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติ
ทางกายบริสุทธิ์ ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจในส่วนนั้น
ในสมัยนั้น ส่วนความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจในส่วนนั้นในสมัย
นั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนี้อย่างนี้

ดูกรอาวุโสทั้งหลายบุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ย่อมได้ทางสงบใจ
ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควรภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือน
อย่างว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโค บุรุษผู้เดินทางร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน ระหายน้ำ เขา
พึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโคนี้ ถ้าเราจักกอบขึ้นดื่มหรือใช้ภาชนะตักขึ้น
ดื่มไซร้เราก็จักทำน้ำนั้นให้ไหวบ้าง ให้ขุ่นบ้าง ให้ไม่เป็นที่ควรดื่มบ้าง ถ้ากระไรเราพึงคุกเข่า
ก้มลงดื่มอย่างโคดื่มน้ำแล้วหลีกไปเถิด เขาคุกเข่าก้มลงดื่มน้ำอย่างโคดื่มน้ำแล้วไป แม้ฉันใด
บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่
ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์
ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แม้ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์
ส่วนใดของเขา ภิกษุก็ไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แต่การได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใส
โดยกาลอันสมควรส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับ
ความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้  

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกาย
ไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใส
โดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า บุรุษ
ผู้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนักเดินทางไกล แม้ข้างหน้าเขาก็มีบ้านอยู่ไกล แม้ข้างหลังเขาก็มี
บ้านอยู่ไกล เขาไม่พึงได้อาหารที่สบาย (ถูกโรค) เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำ
ทางไปสู่บ้าน บุรุษบางคนผู้เดินทางไกลพึงเห็นเขา บุรุษนั้นพึงเข้าไปตั้งความการุณความเอ็นดู
ความอนุเคราะห์ในเขาว่า โอ คนๆ นี้พึงได้อาหารที่สบาย เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร
และผู้นำทางไปสู่บ้าน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า คนๆ นี้อย่าถึงความพินาศยิ้ม
ณ ที่นี้เลย แม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติ
ทางวาจาไม่บริสุทธิ์และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร
ภิกษุพึงเข้าไปตั้งความการุณ ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ในบุคคลแม้เห็นปานนี้ว่า โอท่าน
ผู้นี้พึงละกายทุจริตแล้ว อบรมกายสุจริต พึงละวจีทุจริตแล้ว อบรมวจีสุจริต พึงละมโนทุจริต
แล้ว อบรมมโนสุจริต ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ท่านผู้นี้เมื่อตายไปแล้ว อย่าเข้าถึง
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์
ย่อมได้ทางสงบใจ และย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาต
ในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า สระน้ำที่มีน้ำใส มีน้ำอร่อยดี มีน้ำเย็น มีน้ำขาว มี
ท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ดาระดาดไปด้วยต้นไม้พันธุ์ต่างๆ บุคคลผู้เดินทางร้อนอบอ้าว เหนื่อย
อ่อน ระหายน้ำ เขาพึงลงสู่สระน้ำนั้น อาบบ้างดื่มบ้าง แล้วขึ้นมานั่งบ้าง นอนบ้าง ที่ร่มไม้
ใกล้สระน้ำนั้น แม้ฉันใด บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติ
ทางวาจาบริสุทธิ์ย่อมได้ทางสงบใจ และย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร แม้ความ
ประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แม้ความประพฤติทาง
วาจาบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้นแม้การได้ทางสงบใจ ได้ความ
เลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัย ฉันนั้น
ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เพราะอาศัยบุคคลผู้เป็นที่น่า
เลื่อมใสโดยประการทั้งปวง จิตย่อมเลื่อมใส ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาต
ซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้แล ฯ
                   จบสูตรที่ ๒
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่