เตรียมตัวเรียนต่อป.ตรีและป.โทเยอรมนีด้วยตัวเอง เชิญทางนี้จ้า

ใครที่กำลังสนใจเรียนต่อปริญญาตรีและปริญญาโทที่เยอรมนี เรามีข้อมูลมาแบ่งปันค่ะ

แนะนำตัวนิดนึงนะคะ เราชื่อแอน จบป.ตรีที่ไทย กำลังเรียนต่อป.โทสายภาษาที่เยอรมนี เราเองเคยช่วยน้อง ๆ เตรียมตัวมาต่อปริญญาตรีที่เยอรมนีอยู่บ้าง เลยพอจะรู้ข้อมูลสำหรับป.ตรีด้วย

ถ้าใครต้องการเรียนต่อที่เยอรมนี ที่นี่มีทั้งแบบภาคอินเตอร์และภาคปกติ เราขอเน้นแต่ภาคปกตินะคะ นั่นหมายความว่า คุณ ๆ น้อง ๆ จะต้องรู้ภาษาเยอรมันค่ะ!!!

เน้น ต้องเก่งทีเดียวเลย

เพราะฉะนั้นกระทู้นี้ คงจะเหมาะกับคนที่พอจะรู้ภาษาเยอรมันอยู่บ้างนะคะ หรือใครที่มุ่งมั่นจริง ก็ต้องใช้เวลาเตรียมตัวกับภาษา อย่างน้อยเป็นปี (ๆ) แน่นอน
และสิ่งที่ต้องมีขั้นพื้นฐาน --> เงินค่ะ ใครไม่มีทุน ต้องมีเงินนะคะ ตกประมาณเดือนละ 30,000 บาทค่ะ รวมทุกอย่างแล้ว มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีทุนให้ค่ะ แต่ขั้นตอนก็พอๆกับขอทุนในหน้าเว็บ DAAD หรือมีเงินมาสักก้อน แล้วมาหางานทำก็ได้นะคะ วีซ่านร.ทำงานได้ไม่เกิน 120 วันสำหรับ full-time และ 240 วันสำหรับ part-time

ตอบคำถามที่เจอบ่อยก่อน --> เยอรมนีเรียนฟรีจริงมั้ย

คำตอบคือไม่มีค่าเทอมค่ะ มีแค่ค่าธรรมเนียมเทอมละ 8000 - 10,000 แตกต่างกันแล้วแต่มหาลัย ค่าใช้จ่ายต่อเดือนก็ตามที่พิมพ์ไป ตกที่ประมาณ 30,000 บาท ตรงนี้รวมทุกอย่างที่ต้องจ่ายแล้วนะคะ กำเงินไปเดือนละ 30,000 บาท อยู่ได้สบาย ๆ ค่ะ
แต่! ตอนนี้รัฐ Nordrhein-Wesfalia ที่เราอยู่ กำลังมีนโยบายเก็บค่าเทอมนะคะ (นโยบายการศึกษาต่างกันในแต่ละรัฐค่ะ)

เรามาดูการเรียนต่อป.ตรีก่อนนะคะ
1. ระดับภาษา B1
   ส่วนใหญ่ต้องสอบผ่านระดับ B1 เป็นอย่างน้อย ถ้าผ่าน B2 ได้ จะดีกว่า แต่เชื่อเถอะค่ะ แค่ B1 ก็หืดขึ้นคอแล้ว
   การสอบ B1 สอบที่ Goethe นะคะ ข้อสอบก็จะคล้าย ๆ IELTS ก็คือมีพัง พูด อ่าน เขียน ต้องผ่านที่ 60% ทุกสกิลนะ สอบเสร็จต้องรอผลกี่วัน กี่สัปดาห์ เราลืมแล้วค่ะ อย่าลืมเผื่อเวลาตรงนี้ด้วยนะคะ
   คำแนะนำสำหรับการสอบ ไม่มีอะไรมาก ทำข้อสอบรัว ๆ เลยค่ะ ไม่ต้องนั่งอ่านแต่แกรมม่านะ มีอะไรไม่เข้าใจ หลังไมค์มาได้ค่ะ ยินดีช่วยตรวจข้อสอบเขียนฟรีค่ะ สนับสนุนคนที่เรียนด้วยตัวเอง

2. Studienkolleg
ที่เยอรมนี นร.ต่างชาติทุกคนต้องเข้าเรียน Studienkolleg 1 ปี ก่อนที่จะเข้าเรียนป.ตรีได้ เพื่อปรับความรู้พื้นฐาน
เพราะฉะนั้นเวลาจะสมัครเรียน ต้องสมัคร Studienkolleg ก่อน เราเข้าใจว่า Studienkolleg จะ co กับมหาวิทยาลัยนะคะ ประมาณว่า นร.ส่วนใหญ่ที่จบจาก Studienkolleg ที่นี่ ก็มักจะเข้ามหาลัยนั้นนี้ อาจจะมากกว่า 1 มหาลัย
และเนื่องจากที่เยอรมนีมีนโยบายการศึกษาต่างกันในแต่ละรัฐ ใบผ่านของ Studienkolleg บางที่อาจจะไม่ได้รับการรับรองในบางมหาลัยนะคะ เช็คดี ๆ ก่อนเลือกเข้าเรียนน้า
- การสมัครเรียน -
แต่ละ Studienkolleg จะสมัครต่างกัน คือ สมัครมหาลัยโดยตรง หรือผ่าน Uni-assist (คล้ายเอเย่นคนกลาง) นะคะ เช็คทางหน้า website ของ Studienkolleg นั้น ๆ อีกทีนึงนะคะ
   -- Uni-assist จะต้องส่งเอกสารไปให้เค้าตรวจก่อน และปิดรับสมัครก่อนการรับสมัครตรงนะ (อย่างของป.โทเรา ปิดรับเอกสารพค.ค่ะ ส่วนสมัครตรง ปิดรับ 15 กค.ค่ะ) เสียตังค่าสมัครตามจำนวน Studienkolleg ที่ต้องการสมัคร ไม่แน่ใจว่าครั้งละเท่าไหร่นะคะ ลองเช็คกับทางหน้าเว็บอีกทีค่า
   -- สมัครผ่าน Studienkolleg นั้น ๆ โดยตรง ดูในหน้าเว็บว่าสมัครยังไง ใช้เอกสารอะไรบ้าง
สมัครเสร็จแล้ว หลายที่ต้องสอบก่อนเข้าเรียนด้วยนะ (สอบที่ Studienkolleg นั้น ๆ ก่อนเปิดเทอม 2-3 สัปดาห์มั้งนะคะ ตรงนี้ลืม ๆ) วิชาที่สอบจะแบ่งไปตามคอร์ส(สายวิทย์ สายศิลป์ ประมาณนี้ เยอรมันจะเรียน T-Kurs, M-Kurs, W-Kurs) เราไม่แน่ใจเท่าไหร่ แต่น้องที่เราช่วยดูเรื่องการสมัคร น่าจะสอบแค่เลข กับภาษาเยอรมันค่ะ (สอบเป็นเยอรมันล้วนนะคะ) แอบกดดันกันนิดนึง น้องมันสอบไม่ผ่านค่ะ Facepalm เพราะฉะนั้นสมัครได้แล้วต้องนั่งอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้าด้วยนะ แต่ถ้าเอกชน ไม่มีสอบเข้า แต่เสียตังค่าเรียนค่ะ หลักแสนค่ะ
- เอกสารที่ใช้สมัครเรียน -
ที่เราเคยช่วยน้องเตรียมนะคะ อันนี้เป็น Studiencolleg ชื่อ Cologne prep class (เอกชน เสียตังค่าเรียน) และ Studiencolleg ที่ Bochum เอกสารก็มี ใบสมัคร (โหลดจากเว็บของ Studienkolleg นั้น ๆ) ใบจบม.6, transcript, motivation letter, ใบรับรองจากครูผู้สอน, และที่สำคัญที่สุด ใบผ่านระดับภาษาอย่างน้อย B1 (ถ้าได้ B2 จะดีมาก) แต่ละ Studienkolleg อาจจะต้องการต่างกัน เช็คดูอีกทีนะคะ อาจจะมีขอ Portfolio ด้วย
*เอกสารทุกอัน ต้องเอาไปรับรองความถูกต้องที่สถานทูตนะคะ แนบใบสมัครหรือหน้าเว็บของ Studienkolleg ที่สมัครไปด้วย ไม่ต้องเสียตังค่ารับรอง (เฉพาะคนที่ไปเรียนต่อนะคะ สำหรับวีซ่าแต่งงาน เสียตังค่ะ) ถ้าไปเร็ว ได้เอกสารคืนภายในวันนั้นเลยค่ะ รับรองหลายฉบับทีเดียวได้
  ** ส่วนเอกสารที่เป็นภาษาไทย ต้องแปลโดยนักแปลจากในหน้าเว็บของสถานทูตเท่านั้นค่ะ โทรเช็คราคาหลาย ๆ เจ้านะคะ เราเตือนคุณแล้วนะ สาวแว่น
เอกสารครบแล้ว ส่ง DHL ไปโลดค่า

3. วีซ่า
หลังจากได้คอนเฟิร์มมหาลัยแล้ว รีบติดต่อขอคิวทำวีซ่านะคะ (ทางที่ดีเช็คคิวแต่เนิ่น ๆ เลย) เราจำไม่ได้ว่าใช้เวลาทำวีซ่ากี่วัน (ต้องส่งเอกสารไปให้ทางเยอรมันเช็ค ขอด่วนน่าจะไม่ได้นะคะ เผื่อเวลาด้วยเด้อ)
4. หลังเรียน Studienkolleg
ไม่ใช่ว่าเข้าเรียน Studienkolleg แล้วจะได้ต่อมหาวิทยาลัยเลยนะคะ จะต้องมีสอบจบด้วย
ตรงนี้น้องที่รู้จักไม่ผ่านกันหลายคนเลย ส่วนใหญ่ติดวิชาภาษาเยอรมันกันค่ะ ถ้าสอบซ่อมแล้วยังไม่ผ่าน เปลี่ยนไปเรียนอินเตอร์หรือรอสอบใหม่ปีหน้าเท่านั้น!!
-------------------------------------------------------
ตัดมาที่ต่อป.โทกันบ้างนะคะ
1. เลือกสายเรียนต่อ
เราเรียนจบเอกเยอรมันมา และต้องการเรียนต่อป.โทเยอรมัน เพราะฉะนั้นการเลือกสายของเราไม่ค่อยมีปัญหานะคะ แต่มีหลายคนที่ต้องการเปลี่ยนสายป.โท ขอบอกให้เช็คดูดี ๆ นะ เพราะที่เยอรมนีค่อนข้างเน้นให้เรียนตรงสาย เช็ครายวิชาจาก Transcript เลยทีเดียว
  เล่านิดนึงว่า เราต้องการเรียน German linguistic เราอีเมลไปคุยกับมหาวิทยาลัยที่ Bochum เค้าตรวจ Transcript เราคร่าว ๆ แล้วบอกว่า เราเรียนวิชาหลักภาษามาน้อยมาก น่าจะเหมาะกับป.ตรี (ย้ำ ป.ตรี!!!) มากกว่า ตอนนั้นเราใจแป้วเลย จะได้เรียนมั้ยเนี่ย สุดท้ายก็ได้เรียนเอกนี้ที่มหาวิทยาลัยอื่นค่ะ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งหมดหวังซะทีเดียว ลองอีเมลไปคุยกับมหาวิทยาลัยหลาย ๆ ที่ดูนะคะ

2. เตรียมตัวด้านภาษา
เราจะต่อโทสายภาษา แน่นอนว่า requirement จะโหดกว่าสายอื่นนิดนึง (ประมาณว่าสายอื่น ขาดไป 1 คะแนน อาจจะพอหยวน ๆ) แต่ส่วนใหญ่ที่เขียนไว้หน้าเว็บจะคล้าย ๆ กันหมด คือ ต้องผ่าน C1 หรือ DSH2 หรือ TestDaf (4x4) หรืออื่น ๆ
เราคิดว่าคนที่อยู่ไทยส่วนใหญ่น่าจะเลือกสอบ TestDaf เพราะราคาถูกกว่า C1 ส่วน DSH สอบได้แต่ที่เยอรมนีนะคะ
เราขอเน้นไปที่การสอบ TestDaf เพราะเปิดสอบแค่ 2 เดือนครั้ง และเมื่อเปิดสอบปุ๊บ เต็มภายใน 5 นาที หยั่งกะซื้อตั๋วคอนเสิร์ตแน่ะ เพราะมักจะมีคนจีนมาแย่งที่สอบของเราด้วย แต่ใครที่จองไม่ทัน อย่าลืมเช็คดูเรื่อย ๆ นะคะ บางทีมีคนแคนเซิลก็มี
การสอบ TestDaf มี 4 สกิล ค่ะ แต่ละสกิลจะมีคะแนนที่ 3 4 และ 5 เพราะฉะนั้น TestDaf 4x4 แปลว่า ต้องได้ 4 คะแนนทั้ง 4 สกิล (บางมหาลัยเอา 5 ที่สกิลเขียนก็มี)
เราค่อนข้างปวดหัวกับการสอบ TestDaf เพราะเราสอบไป 3 ครั้ง (ค่าสอบครั้งละ 5000 บาท) เปิดรับสมัครสอบประมาณ 1 เดือน สอบเสร็จรอผล 6 สัปดาห์ ครั้งแรกเมื่อเรารู้ว่าสอบไม่ผ่าน เราสมัครรอบถัดไปไม่ทัน ทำให้รวม ๆ แล้ว เราใช้เวลากับการสอบตั้งแต่ครั้งแรก และรู้ผลครั้งที่ 3 ไปทั้งหมด 1 ปีครึ่งนะคะ

นี่ขนาดเรียนภาษามาโดยตรงนะ เรายังใช้เวลาสอบให้ผ่านซะขนาดนี้ ใครที่กำลังเรียนเยอรมันอยู่ สู้ ๆ ขยันนะคะ

รอบแรกเราได้ 4 ใน 3 สกิล ยกเว้นพาร์ทฟังค่ะ เราอีเมลไปถามมหาลัยนะคะ ว่าเราขาดไป 1 คะแนน เราสมัครเรียนได้มั้ย ยังไงที่มหาลัยก็มีคอร์สภาษาอยู่แล้ว มหาลัยตอบว่า สมัครป.โทไม่ได้ค่ะ ต้องสมัครเรียนภาษาที่มหาลัยก่อน แล้วสอบ DSH ให้ผ่าน ถึงจะค่อยสมัครเรียนป.โทได้

รอบสองเราได้ 5 ที่พาร์ทอ่าน ได้ 4 ที่พาร์ทเขียน แต่ดันได้ฟังกับพูด 3 ถัวเฉลี่ยแล้วก็ยังไม่ผ่านอยู่ดี (บางมหาลัยยอมให้ถัวเฉลี่ยได้ บางมหาลัยไม่ได้นะคะ) รอบนี้เรานั่งมอไซค์โดนฝนเข้าไปสอบค่ะ พอนั่งทำข้อสอบไปสักพัก ก็ปวดหัว ไข้ขึ้น สมองเบลอมาก ก่อนสอบ รักษาเนื้อรักษาตัวกันดี ๆนะคะ

รอบที่ 3 เราพีคค่ะ ได้ 5 ที่ฟัง อ่าน และเขียน และได้ 4 ที่สกิลพูด พาร์ทฟังเราได้ 3 มาตลอด มาครั้งนี้กระโดดไป 5 เลย ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นค่ะ

เน้นอีกครั้งว่าผลสอบรอ 6 สัปดาห์นะคะ นี่ออนไลน์นะคะ
ส่วนผลสอบที่เป็นกระดาษ ไปรับได้ที่ Goethe ค่ะ น่าจะหลังจากบอกผลออนไลน์สักระยะนะคะ *ถ้าใครจะสมัครไม่ทัน แจ้งทางมหาลัยได้ ว่าเราผ่านแล้วนะ รอผลสอบที่เป็นกระดาษอยู่

3. การสมัครมหาวิทยาลัย
    เหมือนกับการสมัคร Studienkolleg คือสมัครกับมหาลัยโดยตรงหรือผ่าน Uni-assist นะคะ ย้ำอีกครั้งว่าการสมัครผ่าน Uni-assist เปิดและปิดรับสมัครก่อน เรารอผลสอบภาษานานค่ะ สมัครผ่าน Uni-assist ไม่ทัน และมหาลัยหลายที่ (นับว่าเป็นส่วนใหญ่ยังได้) ต้องสมัครผ่าน Uni-assist นะคะ เช็คได้ทั้งทางหน้าเว็บมหาลัยและเว็บของ Uni-assist เอง ว่ามหาลัยไหนสมัครยังไง
   อยากบอกว่า หน้าเว็บมหาลัยแต่ละที่เนี่ย ยิ่งกว่าเขาวงกตอีกค่ะ กดมันเข้าไป หาสายการเรียน หาวิธีการสมัคร หาเอกสารสมัคร หาขั้นตอนการสมัคร สมัครแล้วส่งเอกสารไปที่ไหน โอ้โห ปวดหัวมากกกกก
  ** ตรง requirement ของคนที่จะสมัครเรียน มักจะมีอยู่ข้อนึง ที่เกี่ยวกับ Hochschulzugangsrecht หรือมีคำว่า anerkannt ตรงนี้หมายความง่าย ๆ ว่า เรามีสิทธิที่จะเรียนป.ตรีหรือป.โทที่นี่รึเปล่า  คนที่จบมหาวิทยาลัยทั่วไปของไทย ไม่มีปัญหานะคะ (เพื่อนเราจบโทจากรัสเซีย เยอรมันไม่รับนะคะ ต้องมาเรียนป.โทใหม่)

4. เอกสารสมัครเรียน
  แต่ละที่ แตกต่างกันไปนะคะ แต่ส่วนใหญ่คล้าย ๆ กันคือ ใบสมัคร(ดาวน์โหลดในเว็บมหาลัยและ/หรือกรอกออนไลน์แล้วปริ้นท์ออกมา) ใบจบและทรานสคริปต์ป.ตรี ใบภาษา บางที่ต้องส่ง motivation letter และ Resume ไปด้วยนะคะ
  มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ต้องส่งใบจบม. 6 ไปให้เค้าดูด้วยนะคะ ใบจบม.6 และทรานสคริปท์ค่ะ แม้จะสมัครเรียนป.โทก็ตาม อันนี้ของใครหายไปแล้ว ติดต่อโรงเรียนโลดค่า เค้าออกใบใหม่ให้ได้ ไม่มีปัญหา
*เอกสารที่ไม่ได้เป็นอังกฤษหรือเยอรมัน ต้องให้นักแปลที่รับรองจากสถานทูตเยอรมันเป็นผู้แปลนะคะ เค้าจะมีตราประทับของเค้า
เมื่อเอกสารเรียบร้อยแล้ว ก็เอาไปรับรองความถูกต้องที่สถานทูตเยอรมันนะคะ แนบใบสมัครของมหาลัยไปด้วย ไม่เสียตังค่า (ถ้าเป็นเอกสารวีซ่าแต่งงาน เสียตังค่ารับรองนะคะ) ถ้าไปเช้า ก็จะได้รับเอกสารคืนภายในวันนั้นค่ะ
** เคยมีน้องคนนึงหลังไมค์มาถามหาเอกสารตัวนึง ที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ไม่ทราบเหมือนกันว่าเพิ่งมีกฎใหม่รึเปล่า เช็คหน้าเว็บมหาลัยดี ๆ นะคะ

5. ขั้นตอนการสมัคร
   แต่ละที่ไม่เหมือนกันนะคะ ยกตัวอย่างของเราเอง เราสมัครไป 3 มหาลัยค่ะ แต่ทั้ง 3 ที่ สมัครไม่เหมือนกันเลย
Bielefeld : สมัครออนไลน์ อัพโหลดเอกสารต่าง ๆ แล้วปริ้นใบสมัครและแนบเอกสารที่รับรองมาแล้ว ส่ง DHL ไปมหาลัยเลยจ้า
Jena : สมัครออนไลน์ อัพโหลดเอกสารออนไลน์ไป แล้วปริ้นท์เฉพาะใบสมัคร ส่ง DHL ไปมหาลัย (ไม่ต้องแนบเอกสารอื่นไปด้วย)
Siegen : ไม่มีสมัครออนไลน์ ส่งเอกสารทั้งหมดไปเยอรมัน

เป็นไงล่ะ น่าปวดหัวดีแท้ อิอิ

พื้นที่ไม่พอ ต่อคอมเมนต์นะคะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่