[รีวิวหนัง] App War แอปชนแอป | มาแสดงความรู้สึกหลังดูกันครับ [สปอย]


App War | แอปชนแอป


บทนำ + เรื่องย่อ


บอมบ์ กับ จูน สองหัวหน้าทีมทำแอปหน้าใหม่ที่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการประกวด Startup เวทีไหนมาก่อนเลย วันหนึ่งพวกเขาได้เจอกันโดยบังเอิญ เมื่อได้ทำความรู้จักกันมากขึ้นก็พบว่าต่างคนต่างก็ชอบอะไรหลายๆ อย่างเหมือนกัน จนคุยกันถูกคอ และเกิดเป็นความรู้สึกดีๆ ขึ้น ค่ำคืนนั้นทำให้บอมบ์ได้แรงบันดาลใจและปิ๊งไอเดียแอป แอปหนึ่งขึ้นมา แต่หลังจากเปิดตัวแอปได้ไม่นาน ก็มีอีกแอปหนึ่งเปิดตัวในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งไอเดียและคอนเซปต์ของแอปคล้ายของเขาจนแทบจะเรียกได้ว่า “ก๊อบ” กันออกมาทีเดียว และเมื่อสืบถึงตัวเจ้าของแอป ก็พบว่า แอปนั้นเป็นของ จูน นั่นเอง


ทั้งบอมบ์และจูนได้เจอกันอีกครั้ง แต่เป็นในฐานะคู่แข่ง เมื่อต่างคนต่างก็เชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นเจ้าของไอเดียแอปนี้ และไม่มีใครยอมรับว่าตัวเองเป็นฝ่าย “ก๊อบ” แถมเวลาของการแข่ง Startup ครั้งใหม่ก็กำลังจะมาถึง และครั้งนี้มันคือการเดิมพันด้วยอนาคตของทั้งสองทีม โดยมีการระดมทุนระดับร้อยล้านเป็นเดิมพัน ทั้งสองทีมต่างต้องเอาตัวรอด พวกเขาเริ่มคิดวิธีตุกติก ยิ่งเวลาดำเนินไป แผนการล้วงลับแอปคู่แข่งของทั้งสองต่างก็เริ่มเลยเถิด และอยู่นอกเหนือการควบคุมมากขึ้นทุกขณะ


รีวิว
(จะขอแบ่งการรีวิวเป็น 2 Part ครับ คือ Part ของเนื้อเรื่องการทำ App ในธุรกิจ Startup ของหนัง และ Part ของเนื่อเรื่องของหนังจริงๆ)



Part 1 : App | Startup


เนื่องจากในปัจจุบันนั้นการที่จะประกอบกิจการอะไรแล้วประสบผลสำเร็จนั้นก็มีหลายสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ถ้าจะพูดถึงในวงการ Programmer หรือคนทำโปรแกรม หรือ App นั้นๆ คำว่า Startup ค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างมากเพราะ มันคือธุรกิจที่สร้างจากกลุ่มคนไม่กี่คนจนสามารถเติบโตได้อย่างมหาศาล (คงไม่ต้องยกตัวอย่างเพรามีเยอะมากในปัจจุบัน) และแน่นอนว่าทุกคนต่างมีไอเดียต่างๆมากมายที่อยากทำ หรือทำผลงานออกมาในรูปแบบของโปรแกรมหรือแอป แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินทุนทำมันได้

ดังนั้นเงินทุนจึงจำเป็นอย่างมากในการสร้างสรรค์ผลงานออกมา ไม่ว่าจะต้องใช้ไปกับการจ้างคนออกแบบ จ้างคนเขียนโปรแกรม หรือแม้กระทั่งการใช้จ่ายเพื่อเป็นสื่อในการโปรโมท ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีกิจกรรมหรืองานอีเวนท์เกี่ยวกับ Startup อยู่บ่อยๆ โดยภายในงานเหล่านี้แหละที่จะเป็นโอกาสให้คนที่มีไอเดียแต่ไม่มีเงินทุน สามารถออกมานำเสนอไอเดียของตนเอง เพื่อชิงทุนต่างๆจากผู้ประกอบการต่างๆ หรือจากบริษัทต่างๆได้


จากเนื้อเรื่องนั้นในส่วนของทีม Inviter นั้นมี Co-Founder ทั้งสามคนที่เริ่มคิดไอเดียและสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาซึ่งแต่ละคนก็มีความถนัดกันแต่ละอย่างอยู่แล้ว โดยในส่วนของ บอมบ์ เป็นคนเขียนโปรแกรมหรือที่เรียกสั้นๆว่า เขียนโค๊ด และจากที่สังเกตบอมเองก็เป็นคนตัดสินใจต่างๆภายในทีมมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเลือกสี เลือกดีไซน์ หรือรวมไปถึงแผนการทำงานต่างๆ ทางด้าน ไต๋ เป็น Designer โดยงานที่ไต๋ทำนั้นก็ค่อนข้างเฉาะเจาะจงอย่างเห็นได้ชัด และ บิ๊ว เป็นนักการตลาดและเป็นคนคอยนำเสนอผลงานในงานต่างๆ


ถ้าจะให้เปรียบเทียบกับความเป็นจริงก็ค่อนข้างจะตรงพอสมควรเพราะการที่จะสร้างผลงานแอปขึ้นมาหนึ่งแอปนั้น บางครั้งมันก็ไม่ใช่ว่าจะทำคนเดียวได้หมดทุกอย่าง หรืออาจจะทำคนเดียวได้แต่ก็ต้องแข่งกับเวลา บางครั้งก็ต้องแบ่งหน้าที่กับคนอื่น บางครั้งก็ต้องจ้างคนเข้ามาในทีมเพื่อสร้างสรรค์ผลงานต่างๆให้ตรงตามเป้าหมาย ตรงตามเวลา


และในบางครั้งงานที่ทำ งานที่ออกแบบหรือจินตนาการก็ไม่สามารถมีสิทธิ์มีเสียงในที่นั้นๆได้ เหมือนดั่งเช่นที่ ไต๋ เคยเสนออะไรใหม่ๆให้บอมบ์ แต่ถูกบอมบ์ปฏิเสธ แน่นอนมันเป็นความผิดหวัง มันเป็นความน้อยใจและเสียใจในระดับพอสมควร และถ้ามันเป็นแบบนั้นบ่อยๆขึ้น พอได้มีโอกาสที่จะได้พบเจอคนใหม่ๆ ได้เจอคนที่มองผลงานเราว่ามันว๊าว มันเจ๋ง เราก็มักดีใจและมีใจให้กับอีกสิ่งใหม่นั้นแน่นอน ซึ่งมันเป็นธรรมดาอยู่แล้วเหมือนที่ไต๋ได้รับคำชมจากจูนที่อยู่ทีม Amjoin


ในชีวิตจริงมีหลายครั้งที่เราทุกคนมักตั้งคำถามกับตัวเองและกับสิ่งที่ทำอยู่จนเกิดคำถามตามมามากมาย เหมือนดั่งเช่นที่ บอมบ์ พระเอกของเรื่องได้ลาออกจากการทำงานประจำเพื่อมาสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง หลายๆครั้งที่คนที่มีความคิดแบบบอมบ์ เช่น เราจะอยู่แบบนี้ตลอดไปไม่ได้, เรามีความฝันที่ยิ่งใหญ่, เราทำอะไรแล้วใครก็ไม่สนใจเราเลย, เราสำคัญจริงๆหรอ ซึ่งสุดท้ายแล้วคนส่วนใหญ่นั้นเมื่อคิดได้แบบนี้ ก็มักจะวกกลับมาที่จุดเดิมคือ Comfort Zone คืออยู่แบบนี้ไม่ลำบากก็พอแล้ว มีเพียงไม่กี่คนหรอกที่จะกล้าทำจริงๆเหมือนที่บอมบ์ทำ


และไม่ว่าจะเป็นทีมไหน ทั้ง Inviter หรือ Amjoin ก็ตาม หนังเรื่องนี้ออกมาบอกให้เห็นว่าการที่เราจะประสบความสำเร็จในวงการ Startup นั้น ไม่ได้มีกันบ่อยและไม่ได้มีกันเยอะ มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำสิ่งที่เราคิดว่าไอเดียของเรานั้นมันเจ๋งแค่ไหน ผูกขาดตลาดแค่ไหน ดีแค่ไหนในสายตาคนที่ประสบความสำเร็จมาก่อนเรา เหมือนดั่งคำพูดที่ได้กล่าวไว้ในหนังคือ 90% จะล้มเหลว 8% ก็ไม่รู้ว่จะไปรอดหรือเปล่า และจะมีเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จในวงการนี้


ถ้าจะให้พูดจริงๆในความเห็นส่วนตัวนั้น 2% ของการประสบความสำเร็จนั้น ถ้าเรามองว่ามันมี “แค่ 2%” เราก็ไม่มีทางสำเร็จตั้งแต่แรกแล้ว แต่ถ้าเราพยายาม ไม่ย่อท้อ แล้วมองว่ามันมี “ตั้ง 2%” สำหรับใครหลายๆคนแล้วก็ประสบความสำเร็จไประดับหนึ่งแล้ว ในวงการของ IT นั้น งานพวกนี้ต้องใช้ใจทำเป็นอย่างมาก รวมถึงความคิดที่ทันต่อโลก ความคิดสร้างสรรค์ และความอดทน เพราะนอกจากจะต้องแข่งเพื่อให้ทันต่อความต้องการของผู้ใช้แล้ว ยังต้องคอยแข่งกับคู่แข่งที่มีแนวคิดคล้ายๆเราอีกหลายครั้ง



Part 2 : ตัวหนัง


ในส่วนของเนื้อเรื่องของหนังนั้นเป็นเนื้อเรื่องที่เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยเห็น เคยคุ้นจากเรื่องอื่นที่มีความคล้ายกันมาก่อนแล้ว คือมีตัวละครสองฝ่ายพยายามจะเอาชนะกันด้วยบางสิ่งที่พวกเขาทำเหมือนกัน คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว เรื่องทั่วไปก็ตาม แต่ในเรื่อง App War นั้นได้พยายามทำหนังให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้นโดยการพยายามพาผู้คนไปรู้จักกับธุรกิจในวงการไอทีให้มากขึ้น ในที่นี้หนังก็จะโฟกัสไปในเรื่องของการทำ Application ซึ่งแน่นอนว่าโดนใจชาวเขียนแอปทุกคนไม่มากก็น้อย


หนังค่อนข้างมีศัพท์เฉพาะทางโปรแกรมเมอร์พอสมควร แต่ก็ไม่ได้เยอะมากเกินไปจนคนทั่วไปดูไม่รู้เรื่อง โดยแก่นของหนังที่ต้องการจะสื่อจริงๆนั้นคือโมเดลการทำธุรกิจต่างๆของคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นเจ้านายตัวเอง ไม่อยากทำงานออฟฟิซ จึงต้องมาเริ่มทำกิจการของตัวเอง รวมถึงการเสื่ยงเพื่อที่จะทำตามฝันของตัวเอง ทำตามเป้าหมายของตัวเอง สุดท้ายแล้วก็รวมไปถึงความสำเร็จและความผิดหวังต่างๆนานา ที่คนในยุคปัจจุบันนั้นต่างขวนขวายจะทำมัน

ซึ่งสิ่งนี้แหละมันจะสะท้อนให้คนยุคก่อนๆเห็นว่าคนยุคนี้เค้าพยายามจะทำอะไรกัน เพื่ออะไรกัน และหลายๆครั้งที่สิ่งที่คนยุคนี้ทำนั้นมันเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ว่า ไม่จำเป็นต้องทำตามแบบแผนของคนยุคก่อนเสมอไปดั่งเช่นที่จูนพยายามจะพิสูจน์ให้พ่อเห็นว่าคนยุคนี้เขาทำอะไรกัน


มาในด้านของงานการออกแบบและโปรดักชั่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงาน โลเคชั่นรวมไปถึงการออกแบบเสื้อผ้าหน้าผมเป็นอะไรที่ตรงกับคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการใช้ชีวิต ความคิด ตรรกะต่างๆที่พยายามจะสื่อให้เห็นว่านี่คือยุคปัจจุบันแล้วนะ มันไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนๆแล้ว ซึ่งถือว่าชอบมากๆตรงส่วนนี้


และที่ชอบที่สุดคือในด้านความสัมพันธ์ของตัวละคร ที่เจาะลึกลงไปว่าในบางครั้งเรารู้สึกว่าเราอาจเป็นคนเดียวหรือเปล่าที่เป็นแบบนี้ ชอบแบบนี้ ทำแบบนี้  กินแบบนี้ แต่เมื่อเราได้ลองเปิดใจหรือได้เจอคนที่ชอบอะไรเหมือนๆกัน กินอะไรเหมือนๆกัน ไปที่ไหนเหมือนๆกัน มันจะสามารถเปลี่ยนมุมมองของเราไปได้มากมายแค่ไหน และยังรวมไปถึงแรงผลักดันต่างๆ แต่ในทางกลับกันสิ่งเหล่านี้ก็อาจสร้างศัตรูให้เราได้ในเวลาเดียวกัน รวมไปถึงการต่อสู้กับจิตสำนึก ความถูกผิด บวกกับความสัมพันธ์ของตัวละครที่ถูกสถาณการณ์บีบให้แคบเรื่อยๆ จากใสๆ กลายเป็นเทาๆ ดำดิ่งไปสู่ความหมองและอึดอัด

นอกจากความความสัมพันธ์ที่ว่ามาแล้วนั้นหนังยังเพิ่มความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนเข้ามาด้วย เพราะในการทำงานต่างๆนั้นความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงาน เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะขัดแย้งกันแค่ไหน ไม่เข้าใจอะไรกันแค่ สิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จไม่เฉพาะแต่แค่ในวงการนี้เท่านั้น คือการมีคนร่วมทางหรือเพื่อนที่ดี เพราะคนเหล่านี้จะคอยพยุงเราและเคียงข้างเราไปจนสำเร็จได้




เป็นหนังที่มีคุณภาพมาก ในแง่ของบท การนำเสนอ การสร้างคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนสุดๆ หนังนำพาเราไปรู้จักกับธุรกิจ Startup โดยผ่านมุมมองของตัวละคร ทำให้เราได้เห็นถึงปัจจัยในการอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ความคิดของคนรุ่นใหม่ที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ความเสี่ยงเมื่อต้องแลกกับบางสิ่งที่ดีอยู่แล้ว รวมไปถึงความยากลำบากในการสร้างสรรค์ผลงานแอปขึ้นมาแอปนึงว่ากว่าจะออกมาได้นั้นต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง

โดยหนังก็ไม่ทิ้งส่วนของความสัมพัธ์ของตัวละครเช่นกันว่าบางครั้งความรู้สึกของคนเมื่อเราได้เจอคนที่ชอบอะไรเหมือนๆกัน ได้พบปะพูดคุยกับคนใหม่ๆนั้น มันเป็นอย่างไร มันสามารถทำให้เรามีแรงบัลดาลใจทำอะไรได้ตั้งมากมายมหาศาล รวมไปถึงก็อาจทำให้เราสร้างศัตรูได้ในเวลาเดียวกัน และที่ดีที่สุดเลยหนังยังบอกถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนด้วยกันเองเป็นอะไรที่ดูแล้วชอบมากในตรงนี้

สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะทำอะไร โอกาสแพ้จะเยอะแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่เสี่ยงลงมือทำ นั่นคือโอกาสแพ้ 100%


ให้คะแนน 8/10   




Keep Going - App War OST

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ




มาแชร์ความรู้สึกหลังดูกันครับ ^^


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่