FA Thailand Introductory Course จุดเริ่มต้นแห่งการเป็นโค้ชอาชีพ

กระทู้สนทนา
House of Thai Football ครั้งนี้ จะมาอธิบายถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อการพัฒนาวงการฟุตบอล ซึ่งก็คือ "โค้ช" นั่นเอง

ประเด็นสำคัญ

ไอซ์แลนด์ ใช้เวลา 15 ปี ในการสร้างและพัฒนาผู้ฝึกสอนเพื่อนำไปถ่ายทอดทักษะฟุตบอลที่ถูกต้องแก่เยาวชน จนทีมชาติสามารถผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลยูโรและฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้สำเร็จ
ซึ่งสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก็มี FA Thailand Introductory Course หรือคอร์สปรับพื้นฐานสำหรับโค้ชฟุตบอลที่เปิดสอนฟรี สำหรับใครก็ตามที่อยากเป็นโค้ชอาชีพสามารถเรียนได้
สำหรับคนที่จบหลักสูตรดังกล่าว จะสามารถเข้าร่วมอบรม AFC 'C' Coaching Certificate Course เพื่อรับใบอนุญาตผู้ฝึกสอนระดับ ซี ไลเซนส์ ได้ต่อไป
ในยุคที่ฟุตบอลได้กลายเป็นกีฬาอาชีพ ทำให้หลายคนเกิดความสนใจที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเกมลูกหนัง ซึ่งนอกจากการเป็นนักฟุตบอลแล้ว งานโค้ช ก็ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง

และการอบรมหลักสูตร FA Thailand Introductory Course ก็ถือเป็นใบเบิกทางสู่เส้นทางผู้ฝึกสอนอย่างเป็นทางการ เพราะหลักสูตรดังกล่าวเปรียบเสมือนการปรับพื้นฐานโค้ชตามมาตรฐานเอเอฟซี เพื่อก้าวไปสู่ระดับที่สูงขึ้นอย่าง ซี, บี, เอ และโปร ไลเซนส์ ต่อไป

ซึ่งบรรดาโค้ชที่เป็นครูฝึกสอนตามโรงเรียนหรือท้องถิ่น ก็สามารถเข้ารับการอบรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยทางสมาคมฯ ได้ตระเวณจัดหลักสูตรไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ


Introductory Course ใครๆ ก็เรียนได้

สำหรับโค้ชท้องถิ่นที่ไม่มีทุนทรัพย์ ก็เข้าถึงโอกาสการเป็นผู้ฝึกสอนระดับอาชีพ ด้วยการเข้าอบรมหลักสูตร FA Thailand Introductory Course ได้ฟรี เพราะสมาคมฯ เล็งเห็นความสำคัญของโค้ช หากโค้ชได้รับการสอนที่ถูกต้องตามมาตรฐานนานาชาติ พวกเขาก็จะสามารถถ่ายทอดไปยังเด็กๆ และเยาวชน ให้มีความรู้ความเข้าใจในทักษะฟุตบอลที่ถูกต้อง

เหมือนอย่างเช่นประเทศไอซ์แลนด์ ที่ได้ไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรก พวกเขาริเริ่มสร้างโค้ชอย่างจริงจังตลอด 15 ปีที่ผ่านมาจึงจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจดังกล่าว โดยในปี 2016 ที่สร้างประวัติศาสตร์ไปเล่นฟุตบอลยูโรรอบสุดท้าย พวกเขามีโค้ชที่จบหลักสูตรจากยูฟ่า 600 คน จากประชากรทั้งหมด 335,000 คน เท่ากับว่า ทุกๆ 558 คน จะมีโค้ชระดับไลเซนส์ 1 คน

โดยคอร์ส FA Thailand Introductory จะมีระยะเวลาการอบรม 5 วัน และได้ตระเวณจัดมาแล้วทั่วทุกภูมิภาค เพื่อจะได้กระจายองค์ความรู้ให้ทั่วถึงทุกจังหวัด และที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับด้วยดีมาตลอด มีผู้เข้าอบรมไม่น้อยกว่าคลาสละ 20-30 คน ซึ่งตลอดปี 2016 และ 2017 ที่ผ่านมา มีผู้จบหลักสูตรนี้รวมแล้ว 420 คน ด้วยกัน

ซึ่งผู้ที่มีประกาศนียบัตรผ่านการอบรมหลักสูตรโค้ชเบื้องต้น สามารถนำความรู้ไปสอนเด็กๆ ในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาทักษะเยาวชนให้เป็นไปตามมาตรฐานของเอเอฟซีครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ หรือจะต่อยอดเพื่ออบรม ซี ไลเซนส์ ได้


พื้นฐานสำคัญสู่ ซี ไลเซนส์

หากเปรียบ FA Thailand Introductory Course เป็นใบเบิกทาง การอบรม AFC 'C' Coaching Certificate Course ก็ถือเป็นเส้นทางเริ่มต้นสู่การเป็นโค้ชระดับอาชีพอย่างจริงจัง เนื่องจากโค้ชระดับ ซี ไลเซนส์ จะสามารถเป็นผู้ฝึกสอนในระดับ ออมสิน ลีก (ไทยลีก 4) ได้แล้ว ยังเปิดอะคาเดมี่สอนฟุตบอลได้อีกด้วย

โดยค่าใช้จ่ายระดับ ซี ไลเซนส์ ในเมืองไทยอยู่ที่ 27,000 บาท ซึ่งรวมค่าวิทยากร, ค่ายูนิฟอร์ม, ค่าอาหารและที่พักแล้ว ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ตกอยู่ประมาณ 4,000-5,000 ริงกิต (ราว 32,000-40,000 บาท) ขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 650 ดอลล่าร์สิงคโปร์ (ราว 17,000 บาท) ไม่รวมค่าลงทะเบียนและค่าประกัน และเวียดนามอยู่ที่ 230 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 7,900 บาท) ไม่รวมค่าอาหารและที่พัก

มาดูที่บรรดาชาติใหญ่ๆ ของทวีปกันบ้าง ออสเตรเลียค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 1,050 - 1,650 ดอลล่าร์ออสเตรเลีย (ราว 27,000 - 42,000 บาท) ขณะที่ญี่ปุ่น ค่าอบรมคอร์สระดับ ซี ไลเซนส์ จะแตกต่างกันตามแต่ละจังหวัด ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดคานางาวะที่เสียค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 51,880 เยน (ราว 15,000 บาท) ไม่รวมค่าลงทะเบียน ส่วนจีนจะอยู่ที่ 1,500 หยวน (ราว 7,500 บาท) ไม่รวมค่าที่พัก ขณะที่เกาหลีใต้อยู่ที่ 900,000 วอน (ราว 27,000 บาท)

“เราต้องการทำให้ทุกอย่างเป็นมืออาชีพ ซึ่งเงินที่คุณนำมาลงกับความรู้นั้น ในที่สุดมันก็จะคืนทุนให้กับคุณ คุณจ่ายไปแค่ครั้งเดียว แล้วคุณก็จะได้ผลกำไรระยะยาวกลับมา” มร. ลิม คิม ชอน อดีตวิทยากรผู้ฝึกสอนของเอเอเอฟซี ที่ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นรองประธานฝ่ายพัฒนาเทคนิคให้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงเหตุผล

“มันทำให้คุณมีความน่าเชื่อถือ ถ้าหากคุณเปิดอะคาเดมี มันจะส่งผลให้มีเด็กๆ สนใจเข้ามาเรียนมากขึ้น ถ้าคุณเป็นโค้ชที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสมาคมฯ มันก็จะทำให้คุณได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์มาสอนเด็กๆมากขึ้น และถ้าเกิดอะไรขึ้น ทางสมาคมฯก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้”

“จริงๆผมอยากให้สาธารณชนรู้ว่าการที่โค้ชขึ้นทะเบียนไว้กับสมาคมฯเป็นเรื่องดี ไม่ว่าจะเป็นโค้ชสโมสรหรือเปิดอะคาเดมี่เอง”

“หากประกาศนียบัตรที่ได้ไม่มีลายเซ็นจากประธานเอเอฟซี มันก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์ฟุตบอลใดๆ”

สำหรับการเรียน ซี ไลเซนส์ นั้น ใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 14 วัน โดยเน้นไปที่การพัฒนาเทคนิคและเบสิคขั้นต้น โค้ชที่เรียนจะถูกสอนเรื่องการออกแบบและดูแลการซ้อม รวมถึงการตั้งเป้าหมายในการซ้อมขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเตะเยาวชน ซึ่งมีทั้งการสอนแบบภาคสนาม ทดสอบให้คุมซ้อมและคุมทีม เพื่อดูว่าแต่ละคนมีวิธีการทำงานอย่างไร โค้ชที่ผ่านการอบรมก็จะมีความเข้าใจในเรื่องของทฤษฎี, แทคติก, กฎ กติกา, การซ้อม และหลักการคุมทีมในระดับเบื้องต้น


ปัญหาที่พบ

โดยที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้มีการจัดอบรม AFC 'C' Coaching Certificate Course ไปแล้ว 17 หลักสูตร ซึ่งมีบางกรณีพบว่าผู้สมัครเข้าอบรม มีใบประกาศนียบัตรผ่านหลักสูตรอบรมโค้ชเบื้องต้นที่ไม่ได้รับการรับรองจากสมาคมฯ และเอเอฟซี

เนื่องจากวิทยากรหรือ “Instructor” ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิ์ในการสอนคอร์สต่างๆ จากองค์กรลูกหนังของทวีปนั่นเอง

“สิ่งที่พบจากการตรวจสอบ มักจะเกิดจากมีผู้ที่จบคอร์สที่เกิดขึ้นในอดีต ที่อาจจะไม่ได้รับการรับรอง หรือ บันทึกไว้ โดยเอเอฟซี ซึ่งจริงๆผู้ที่จะเป็น Instructor ไม่ว่าจะเป็นคอร์สใดก็ตามต้องมีการอัพเดทความรู้อย่างน้อยทุกๆ 2 ปี” ลิม คิม ชอน กล่าวเสริม

"คนที่จะเป็น Instructor ที่ได้รับการรับรอง จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นกับทางเอเอฟซี ไม่ว่าจะเป็นการอบรมหรือสัมมนา ถ้าขาดหายไปเป็นเวลา 2 ปีก็จะถือว่าไม่อยู่ในสารบบ เช่นเดียวกับโค้ช ที่ต้องทำงานในด้านโค้ชอย่างน้อย 2 ปี หากต้องการจะขยับไปไลเซนส์ที่สูงขึ้น”

โดยปัจจุบันมี Instructor ชาวไทยที่สามารถสอนคอร์ส ซี ไลเซนส์ ที่ได้รับการรับรองจากเอเอฟซีอยู่ 2 คนคือทรงยศ กลิ่นศรีสุข และ สารทูล สิงห์นันท์

“การจะเป็น Instructor ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาต้องลองเข้ามาเป็นผู้ช่วย เรียนรู้งานจากคนเป็น Instructor โดยเป็นผู้ช่วยในคอร์สก่อนไม่น้อยกว่า 3-4 งาน และยังต้องฝึกจัดเองอีก 2-3 งาน จึงจะได้รับอนุญาตจากเอเอฟซีได้ ถ้าคุณจัดดี ผู้เข้าร่วมอบรมแฮปปี้ คุณถึงจะสามารถเลื่อนขั้นจาก Instructor ระดับ ซี ไลเซนส์ เป็น บี ไลเซนส์ ได้ ซึ่งอย่างต่ำก็ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี”

“แต่ถ้าหากจะขยับขึ้นไปสอนระดับ เอ ไลเซนส์ คุณก็ต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี คุณไม่สามารถกระโดดจาก Instructor ระดับ ซี ไลเซนส์ ไป เอ ไลเซนส์ ภายในปีเดียว ขณะเดียวกันหากจะขยับจาก เอ ไลเซนส์ เป็น โปร ไลเซนส์ ก็ต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ซึ่งผมจะต้องประเมินเป็นรายบุคคลว่าใครผ่านไม่ผ่าน รวมแล้วก็ประมาณ 10 ปีพอดี” มร. ลิม อธิบาย


ทิศทางการอบรมโค้ชในเมืองไทย

ในปี 2016 และ 2017 ที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้ทำการจัดอบรมหลักสูตร Introductory Course และ AFC 'C' Coaching Certificate Course รวมทั้งสิ้น 31 หลักสูตร ผลิตโค้ชหน้าใหม่ร่วม 600 คน เพื่อหวังจะให้พวกเขาเหล่านั้นพัฒนาเยาวชนให้ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับเอคโคโน และ บริษัท ช้างอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยเครื่องดื่มตราช้าง จัดฟุตบอลคลีนิค ให้กับบุคคลที่สนใจได้เรียนรู้แนวทางการสอนฟุตบอลแบบ Thailand’s Way เพื่อนำไปเผยแพร่แก่ชุมชน ตามจังหวัดต่างๆ ในวันที่มีการแข่งขัน ช้าง เอฟเอ คัพ เพื่อให้การรับรู้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ก็วางเป้าหมายที่จะมีวิทยากรแบบฟูลไทม์ที่ได้รับการรับรองจากสมาคมฯ และเอเอฟซีให้ได้อย่างน้อยภาคละคน ให้สามารถจัดอบรมโค้ชระดับรากหญ้าได้มากขึ้น เพื่อที่จะป้อนโค้ชฝีมือดีเข้าสู่วงการลูกหนังอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับผลักดันโค้ชระดับ ซี ไลเซนส์ ให้ต่อยอดไปถึง บี, เอ และ โปร ไลเซนส์ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากได้โค้ชที่มีคุณภาพ ฝีเท้าของเยาวชนก็จะดีขึ้นตามไปด้วย อย่างที่ประเทศญี่ปุ่น ครูพละที่ฝึกสอนฟุตบอลระดับมัธยมจะต้องอยู่ในระดับ เอ ไลเซนส์ ขึ้นไป นั่นทำให้มาตรฐานของเด็กที่ผ่านระบบฟุตบอลโรงเรียนกับระบบอะคาเดมี่ของสโมสรแทบไม่ต่างกันเลย

นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่สมาคมฯตระหนักดีว่า การจะพัฒนาวงการฟุตบอลทุกระดับได้นั้น จะต้องพัฒนาโค้ชก่อนเป็นอันดับแรก...


http://fathailand.org/news/2549

กว่าจะได้เด็กคุณภาพ  เราต้องมีโค้ชคุณภาพก่อนนะครับ  
กว่าจะได้โค้ชคุณภาพ ก็กินเวลา นับหลายปีแล้ว

กว่าเด็กที่โตมากับโค้ชคุณภาพ  ก็น่าจะใช้เวลานับ 10 ในการสร้างเลยทีเดียว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่