น้องโดนเพื่อน Cyber bully ตั้งแต่ ป.๖ จนตอนนี้ย้าย รร แล้วก็ยังไม่หยุด รู้ตัวคนทำแต่จับไม่ได้ ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดกับน้องสาวของเราค่ะ น้องเราโดนเด็กคนนึงตามจองล้างจองผลาญ ตั้งแต่ ป.๖ จนตอนนี้ ม.๑ ย้ายโรงเรียนแล้วก็ยังไม่เลิก แถมยังไปปลุกปั่นให้เด็กคนอื่นที่อยู่โรงเรียนเดียวกับน้องร่วมมือด้วยค่ะ

เด็กคนนี้ใช้ fb และ ig ปลอมเที่ยวไปตามด่าคนโน้นคนนี้ แกล้งสวมรอยเป็นเด็กคนอื่นให้ครูและเพื่อน ๆ เข้าใจผิดว่าเด็กคนอื่นทำ แรก ๆ ขู่ขโมยของไปซ่อน และก็ลงมือขโมยของของน้องเราไปโยนทิ้งที่หน้าต่าง ขโมยของเพื่อน ๆ ไปห้องให้วุ่นวาย และหลัง ๆ ก็มีขู่ว่าจะเอามีดมาแทงน้องสาวเรากับเพื่อนอีกคน

fb ปลอมมันมีหลายอันมาก พอโดนรีพอร์ตมันก็เอาอันใหม่มาตามรังควานต่อ

มันแอบถ่ายรูปข้อมูลส่วนตัวของเราและแม่ไป มีเลขบัตรปปช ที่อยู่และเบอร์โทรพร้อม และขู่ว่าจะเอาไปใช้ในทางไม่ดีทำให้เรากับแม่ต้องเดือดร้อน

ถ้าถามว่ารู้ตัวคนทำไหม รู้ค่ะ เด็กคนนี้เคยมาต่อยหน้าน้องเราในวันปัจฉิมฯ ที่ห้องน้ำ รร เก่า แต่น้องสาวเราไม่มีพยาน และเด็กคนนี้ก็ปากแข็งมาก โกหกเก่ง ไม่ยอมรับอย่างเดียว ขนาดไปแจ้งความทั้งที่สถานีตำรวจ เรียกพ่อแม่มาคุยก็ยังไม่ยอมรับ แจ้งความกับ ปอท แล้ว แต่เรื่องก็เงียบไป

จนย้ายมาโรงเรียนใหม่ มันก็ยังไม่เลิก เอาเฟสปลอมมาตามด่า แล้วบอกว่ามีเพื่อนอยู่โรงเรียนใหม่น้อง จะให้มาตามทำร้าย

เราบอกน้องว่าไม่ต้องตอบแชท ไม่ต้องไปสนใจ มันก็ตามไประรานเฟสน้องชายเราแทน น้องชายเราไม่ตอบมันก็ตามไปก่อกวนเฟสเพื่อนของน้องชายเราแทน (น้องชายและน้องสาวเรียน รร มัธยมที่เดียวกัน)

ตอนแรกมันทำคนเดียว แต่ตอนหลังมันมาพูดในเชิงว่ารู้ความเคลื่อนไหวของน้องเราตลอด จนสุดท้ายเรารู้ว่ามันไปยุเด็กอีกคนที่อยู่ รร เดียวกับน้องเราให้ร่วมมือด้วย

มีต่อค่ะ
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 31
ในกรณีนี้หมอคิดว่าเด็กอาจจะมีความเครียดจากเรื่องนี้พอสมควร จริงๆผู้ปกครองน่าจะพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กเลยก็ดีค่ะ จะได้ช่วยประเมินและอาจจะเชื่อมโยงกับทีมสหวิชาชีพในการช่วยเหลือ

ส่วนอันนี้ตอบในกรณีกว้างๆค่ะ ว่าผู้ปกครองควรทำอย่างไรถ้าลูกหลานถูก Cyberbullying

ผู้ปกครองควรพูดคุยและรับฟังลูกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยจากการถูกกลั่นแกล้ง ให้ลูกรู้ว่าผู้ปกครองจะปกป้องและคุ้มครองลูกอย่างดีที่สุดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะหยุดการกลั่นแกล้งไม่ให้เกิดขึ้นอีก ผู้ปกครองควรตั้งสติให้ดี อย่าตระหนกตกใจจนทำอะไรไม่ถูก

ที่สำคัญอย่าพูดในทำนองที่ว่า การกลั่นแกล้งที่เกิดเป็นเรื่องเล็ก หรือพูดในลักษณะเข้าใจผู้กระทำการกลั่นแกล้งจนเหมือนแก้ต่างให้ผู้กระทำการกลั่นแกล้ง ตรงนั้นไม่ได้ทำให้ลูกสบายใจขึ้นแต่ยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าผู้ปกครองไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของปัญหา

ต้องเก็บหลักฐานของการกลั่นแกล้ง เช่น รูปภาพ ข้อความ บทสนทนาต่างๆ เกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง  หลักฐานต่างๆ สามารถนำมาใช้ได้ในกระบวนการสอบสวนเรื่องราว เก็บรายละเอียดอื่นๆ เช่น สถานที่ ความถี่ของการกลั่นแกล้ง ความรุนแรง ความเกี่ยวข้องของบุคคลที่สาม พยานรับรู้เหตุการณ์ ฯลฯ

ผู้ปกครองควรติดต่อกับครูหรือผู้บริหารโรงเรียนให้รับทราบเรื่อง เพื่อช่วยเหลือร่วมมือกัน เพราะเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ที่โรงเรียน บรรยากาศในโรงเรียนที่ปลอดภัยเป็นความรับผิดชอบและต้องอาศัยการช่วยเหลือของครูอาจารย์

นอกจากนั้นการจัดการปัญหาการกลั่นแกล้งอาจต้องประชุมพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กที่กระทำการกลั่นแกล้ง ซึ่งในกรณีนี้อาจต้องให้ครูอาจารย์ในโรงเรียนช่วยเหลือในการจัดการประสานให้

ติดต่อกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อการของความร่วมมือในการจัดการลบข้อมูลที่ไม่เหมาะสม เพราะการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์เป็นการละเมิดกฎเกณฑ์พื้นฐานของการใช้อินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์อยู่แล้ว

ถ้ามีความจำเป็นและข้อสงสัยว่าลูกอาจมีปัญหาทางสุขภาพจิต ควรให้ลูกได้รับการประเมินและดูแลรักษาทางจิตใจจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพราะเด็กและวัยรุ่นที่ถูกกลั่นแกล้งจะมีอาการทางสุขภาพจิตได้บ่อยๆ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น

ในกรณีที่มีการสงสัยว่าจะมีการข่มขู่ทำร้ายร่างกายร่วมด้วย ควรแจ้งตำรวจ เพื่อป้องกันภัยอันตรายที่อาจเกิดกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของลูก
ความคิดเห็นที่ 34
ส่วนในแง่ของโรงเรียน (อันนี้เผื่อสำหรับคนอ่านที่เป็นคุณครูนะคะ)

การป้องกัน

-ให้ความรู้กับครูและนักเรียนในเรื่องความรับผิดชอบในการใช้อินเทอร์เน็ตและรู้เท่าทันในเรื่องอันตรายจากการใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงมารยาทในการใช้อินเทอร์เน็ต

-นักเรียนจำเป็นต้องทราบว่าการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องที่ผิด มีกฎที่ชัดเจนว่านักเรียนที่กลั่นแกล้งคนอื่นเป็นการผิดระเบียบวินัยของโรงเรียน โรงเรียนควรมีมาตรการป้องกันและจัดการอย่างจริงจังในเรื่องนี้และสื่อสารกับนักเรียนและครู รวมถึงผู้ปกครองนักเรียนด้วย

-ในห้องเรียนมีการพูดคุยกันในประเด็นเกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสมและรู้เท่าทันเพื่อให้ทุกคนเข้าใจและเน้นในเรื่องการเคารพสิทธิของกันและกัน ไม่กลั่นแกล้งกัน

-มีการร่วมมือกันเป็นทีมระหว่างครูและผู้ปกครองในการป้องกันอันตรายจากการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ เช่น จัดการอบรมให้ความรู้กับครูและผู้ปกครอง มีการพบปะระหว่างครูและผู้ปกครองเพื่อพูดคุยถึงเรื่องต่างๆของนักเรียนรวมถึงเรื่องการกลั่นแกล้งรังแกด้วย

-สร้างบรรยากาศที่ดีในโรงเรียนเพื่อป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งรังแก การปลูกฝังเรื่องของความเห็นใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดในมุมมองของคนอื่นที่ถูกกลั่นแกล้ง

-มีช่องทางให้นักเรียนสามารถแจ้งเรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ได้ เช่น โทรศัพท์สายด่วน อีเมล ข้อความทางเฟซบุ๊กเพจของหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลในโรงเรียน เป็นต้น

การจัดการเมื่อเกิดการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์แล้ว

-มีความเข้าใจและรับรู้อาการและอาการแสดงเบื้องต้นเมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ เพราะบางครั้งนักเรียนไม่ได้แจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบเรื่องนี้ เช่น ปัญหาการเรียน อาการซึมเศร้า วิตกกังวล ฯลฯ

-หากโรงเรียนทราบว่ามีเหตุการณ์การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์เกิดขึ้นกับนักเรียน สิ่งสำคัญคือต้องมองเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและจริงจัง ทำให้เด็กที่ถูกกระทำรู้สึกว่าครูเข้าใจและเอาใจใส่ความรู้สึก และรับรู้ได้ว่าเขาจะได้รับความช่วยเหลือและทำให้เด็กมีความมั่นคงปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจ

-สืบหาหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง เช่น รูปภาพ ข้อความ แจ้งให้นักเรียนที่ถูกกระทำว่า ก่อนที่จะลบข้อความหรือรูปภาพ ฯลฯ ที่เกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง ให้บันทึกรูปหน้าจอให้ชัดเจนเพื่อเป็นหลักฐานของการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้น บอกเด็กว่าอย่าเพิ่งลบทิ้งไปก่อน

-แจ้งให้ผู้ปกครองของนักเรียนที่ถูกกระทำและนักเรียนที่กระทำการกลั่นแกล้งทราบเหตุการณ์ จุดประสงค์คือ ร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือเด็กให้ป้องกันไม่ให้การกลั่นแกล้งเกิดขึ้นอีกในอนาคต

-สำหรับนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้ง ควรสังเกตและพูดคุยกับนักเรียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รับฟัง และให้กำลังใจ ในกรณีที่สงสัยว่านักเรียนอาจมีภาวะทางสุขภาพจิตบางอย่างที่อาจเป็นผลกระทบจากการกลั่นแกล้ง ควรแนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็กไปรับการประเมินช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

-สำหรับนักเรียนที่กระทำการกลั่นแกล้ง การควรจัดการให้เรียนรู้ผลของการกระทำ ซึ่งอาจจะไม่ใช่การลงโทษอย่างเดียว หลักการสำคัญคือ ให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจผลเสียที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง ในกรณีที่จำเป็นควรให้เด็กไปรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินหาสาเหตุทางจิตใจหรือภาวะทางจิตเวชบางอย่างที่อาจต้องการการดูแลรักษาเฉพาะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่