รางวัลรพีพร ครั้งที่ ๖ ปี ๒๕๖๑



ประกาศออกมาแล้ว สำหรับรางวัลรพีพร ครั้งที่ ๖ ปี ๒๕๖๑ มอบให้แก่ นายสมคิด สิงสง  นักเขียนรุ่นใหญ่ยุค 14 ตุลาคม 2516  จากจังหวัดขอนแก่น

โดยมีพิธีมอบรางวัล ในงานวันเพ็ญศรี-รพีพร  ประจำปี  ๒๕๖๑  ในปีนี้จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑  ณ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  ซอยกรุงเทพ-นนทบุรี  ๓๓   ที่ผ่านมา  เรามาทำความรู้จักกับรางวัลทางวรรณกรรมนี้กันดีกว่า




                    
“รางวัลรพีพร”  


ความเป็นมา

    สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดนักเขียนและงานเขียนอันทรงคุณค่า  เป็นศูนย์กลางให้นักเขียนได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน  อันนำไปสู่การรู้จักรักสนิทและผูกพันกันฉันพี่น้องในวงการเดียวกัน   ดูแลและแบ่งปันทุกข์สุขซึ่งกันและกัน  สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑   สืบเนื่องมาจากการรวมตัวของนักเขียนอาวุโสนำโดยนายสุวัฒน์ วรดิลก  เพื่อรับขวัญนายเลียว ศรีเสวก หรือ “อรวรรณ” ซึ่งหายจากการป่วยหนัก  การรวมตัวครั้งนั้นจึงได้ก่อเกิดเป็น “ชมรมนักเขียน ๕ พฤษภา” และนำไปสู่การจัดตั้งเป็นสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยในปี ๒๕๑๔  มีนายอุทธรณ์ พลกุล เป็นนายกสมาคมฯคนแรก การถือกำเนิดของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจึงสืบเนื่องมาจากจุดประสงค์ที่จะช่วยเหลือเพื่อนนักเขียนด้วยกันเป็นประการสำคัญ

    สืบเนื่องมาจากความคิดของนายสุวัฒน์ วรดิลก หรือ “รพีพร” ซึ่งยังมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเพื่อนนักเขียนอยู่เสมอมา  นายสุวัฒน์ วรดิลกได้เก็บรวบรวมเงินที่ได้มาจากน้ำใจของมิตรสหายในการจัดงานวันเกิดแต่ละปี และจากการจัดกิจกรรมต่างกรรมต่างวาระ เป็นกองทุนสะสมเรื่อยมา  นอกจากที่ใช้ไปในการมอบรางวัลศรีบูรพาแต่ละปีแล้ว จนกระทั่งปีพ.ศ. ๒๕๔๕ เมื่อมีทุนมากพอ  คณะนักเขียน นำโดยนายประยอม ซองทอง  นายธัญญา ชุนชฎาธาร นางชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นอาทิ  จึงได้รับมอบหมายจากนายสุวัฒน์ วรดิลก  ให้จัดตั้งเป็น “มูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน”ขึ้น  และในปีพ.ศ. ๒๕๔๗ ผู้รักใคร่ใกล้ชิดนายสุวัฒน์ วรดิลกและนางเพ็ญศรี พุ่มชูศรี  ได้ร่วมกันจัดงาน “ชีวิตเหมือนละคร ๕๐ ปีเพ็ญศรี-รพีพร”ขึ้น  ได้ทุนเข้ามูลนิธิฯได้จำนวนหนึ่ง  
มูลนิธินี้ นายสุวัฒน์ วรดิลก  ให้จุดมุ่งหมายไว้แต่ต้นว่า    เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือเพื่อนนักเขียนต่อไปอย่างต่อเนื่อง  แต่เนื่องจากมูลนิธิเป็นองค์กรที่มิได้จัดกิจกรรมด้วยตนเอง  การมอบทุนรพีพร หรือรางวัลรพีพรจึงอยู่ในความดำริเรื่อยมา และก่อนนายสุวัฒน์ วรดิลก จะถึงแก่กรรม ก็ได้ให้ความคิดในเรื่องการมอบรางวัลรพีพรไว้อย่างชัดเจนว่า  ขอให้เป็นการสนับสนุนนักเขียนรุ่นใหม่เพื่อให้เขาสามารถสร้างงานเขียนได้อย่างมีคุณภาพโดยไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการครองชีพมากนัก
    

มูลนิธิรพีพร เพื่อสวัสดิการนักเขียนนำโดยนายประยอม ซองทอง และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นำโดยนางชมัยภร  แสงกระจ่าง  จึงได้ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการสมาคมและคณะกรรมการมูลนิธิฯ  เพื่อร่วมกันดำเนินการให้ความปรารถนาของนายสุวัฒน์ วรดิลก ปรากฏเป็นรูปธรรม   โดยกำหนดตั้งเป็น “รางวัลรพีพร” ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงและประกาศเกียรติคุณนายสุวัฒน์ วรดิลก เจ้าของนามปากกา “รพีพร”ให้เป็นที่ยืนยงสืบไป
วัตถุประสงค์

๑.    เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่นายสุวัฒน์ วรดิลกหรือ รพีพร ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ นักประพันธ์ผู้สร้างสรรค์งานเพื่อวงวรรณกรรมไทยตลอดมา
๒.    เพื่อให้นักเขียนผู้ได้รับรางวัลสามารถสร้างสรรค์งานได้เต็มกำลังความสามารถ  
๓.    เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่นักเขียนและแวดวงวรรณกรรมในการสร้างสรรค์งานเพื่อสังคม
๔.    เพื่อช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันระหว่างนักเขียนในแวดวงวรรณกรรม


หลักเกณฑ์ผู้สมควรได้รับรางวัล

๑.    เป็นนักเขียนคุณภาพ  มีผลงานเป็นที่รู้จักในวงการพอสมควร
๒.    มีผลงานที่แสดงชัดเจนว่าเป็นผู้สร้างสรรค์งานเพื่อสังคม  มิใช่เพื่อความบันเทิงถ่ายเดียว
๓.    เป็นนักเขียนอิสระ  


รางวัล

    ๑.เงินทุนเพื่อการเขียนหนังสือ  โดยไม่มีเงื่อนไข  ๑๐๐.๐๐๐.๐๐ บาท ( หนึ่งแสนบาทถ้วน)
    ๒.โล่จารึกลายเซ็นนามปากกา “รพีพร” ตราสัญลักษณ์ “มูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน และตราสัญลักษณ์สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

การดำเนินงาน

    ๑.ให้มีกรรมการร่วมกันระหว่างสองสมาคมฯในการคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัล
        ๒.ให้มูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน สนับสนุนเงินรางวัล สำหรับโล่รางวัลให้เป็นรูปลายมือชื่อ “รพีพร”  มีประธานมูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน  และนายกสมาคมนักเขียนฯลงลายมือชื่อด้วยกัน
        ๓.ให้จัดการมอบรางวัลขึ้นในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม  ของทุกสองปีโดยเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นไป


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

คำแถลงจากกรรมการมูลนิธิรพีพรถึงรางวัลรพีพร โดยชมัยภร  แสงกระจ่าง  ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์







แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่