ก็มันเป็นความจริงนี่คะ หนูจะพูด … “ควรจะพูดความจริงไหม” บทเรียนที่ 16 ของน้องเฟิร์น

บ่ายวันหนึ่ง …

มีเรื่องมาขึ้นศาล ซึ่งตำแหน่งผู้พิพากษาก็ไม่พ้นพ่อ
หลังจากสืบสวนกระบวนความแล้ว ประเด็นมามาลงเอยที่ประโยคที่พ่อใช้เป็นหัวเรื่องบทเรียนบทนี้ของหนูนั่นแหละ

…. “หนูจะพูด ก็มันเป็นความจริงนี่คะ”

เอาล่ะ พ่อจะไม่เล่ารายละเอียดของกรณีที่เถียงกัน และ ผลการตัดสินของพ่อในวันนั้น เพราะมันไม่ได้สำคัญไปกว่าเรื่องที่พ่อติดใจ ต้องทำการบ้านมาสอนหนู

… เราควรพูดความจริง(ทุกครั้ง)ไหม

ถ้าควรพูด อะไรเป็นปัจจัยที่หนูควร ควรตอบตัวเองให้ได้ (โดยไม่เข้าข้างตัวเอง) ก่อนที่หนูจะตัดสินใจพูด “ความจริง”

พ่อลองไปค้นคำตอบที่ว่านี้ จากหลายๆสำนักความคิด หลายปรัชญา และ ศาสนา ทั้งฝ่ายตะวันตก และ ตะวันออก เพื่อที่จะมีแนวทางที่น่าจะดีที่สุดให้หนูถือปฏิบัติได้

… ก่อนที่หนูจะพูดความจริงออกไปนั้น ให้ไล่ถามตัวเองเป็นข้อๆตามนี้นะลูก ถ้าตอบว่าใช่ทุกข้อ แล้วค่อยบอก หรือ พูดความจริงนั้น

1. เรื่องที่จะพูดนั้น จริงหรือไม่ ถ้าไม่จริง ก็จบ หนูก็ไม่ต้องพูด

2. หนูมีเจตนาดีต่อคนที่หนูจะบอกไหม ถึงเรื่องบางเรื่องมันจะจริง แต่ถ้าหนูมีเจตนาที่จะทำร้ายความรู้สึกเขา หนูก็ไม่ควรพูด การใช้ความจริงเป็นอาวุธไปทำร้ายจิตใจคนอื่น โดยตั้งใจ หรือ รู้ทั้งรู้ ไม่ได้ทำให้หนูพ้นความผิดบาปหรอกนะ

3. ถ้าเรื่องนั้น จริง และ หนูมีเจตนาดีแล้ว คำถามต่อมาคือ ความจริงนั้นมีประโยชน์ต่อคนๆนั้นไหม ถ้ามันไม่มีประโยชน์ ก็อย่าพูดเลยดีกว่า แน่นอนว่า ถ้ามีแต่โทษจากการพูดความจริงออกไป แบบนี้ ต่อให้เรื่องนั้นเป็นความจริง และ ต่อให้หนูหวังดีตั้งใจดี ก็ยิ่งไม่ควรพูด

4. ตอนนั้นเป็นเวลาที่สมควรพูดไหม เช่น คนๆนั้น กำลังเหนื่อย หิว อารมณ์เสีย เศร้า ดีใจ กลุ้มใจ วิตกกังวล ฯลฯ ก็ไม่ควรพูดตอนนั้นๆอีก รอไปก่อน สิ่งนี้เราเรียกว่า “กาลละ” หนูจะต้องรู้ว่าเมื่อไรควรหยุดพูด

5. ตอนนั้นคนๆนั้นเขาอยู่ในสถานที่ หรือ สภาพแวดล้อมที่ เหมาะสม หรือ สมควรไหม เช่น พูดต่อหน้าคนที่เขาไม่อยากให้รู้เรื่องที่พูด เพราะจะกลายเป็นการฟ้อง หรือ การทำให้เสียหน้า อับอาย ควรรอไปก่อน รอให้เขาอยู่ในสถานที่หรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น อยู่คนเดียว สิ่งนี้เราเรียกว่า “เทศะ” … เมื่อรวมกับข้อก่อนหน้าเป็นสิ่งที่พ่อสั่งสอนเสมอว่า หนูต้องรู้จัก “กาละเทศะ” ซึ่งหมายถึง เวลา และ สถานที่

จริงๆแล้ว เรื่องนี้พ่อก็ได้สอนหนูไว้แล้วหลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น แต่พ่อก็อยากจะบันทึกไว้อีก เผื่อว่าหนูลืม และ เผื่อไม่มีพ่ออีกต่อไป ไม่มีพ่อที่ คอยบ่น คอยบอก คอยสอน คอยเตือน

… หนูจะได้มีคำบ่น คำเตือนของพ่อ อยู่ตลอดไป

รักลูก
… พ่อ

13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

บทเรียนที่ 2 ถึง 15 ของน้องเฟิร์น

http://www.adhd.nongferndaddy.com/adhd/

ความรักก็เหมือนกับทุกๆสิ่งในโลกนี้
… ความรัก เกิดขึ้น คงอยู่ และ ดับไป
… แต่ความรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นมาของความรักนั้น ยังต้องคงอยู่



หมายเหตุ ... น้องเฟิร์น มีลักษณะอย่างหนึ่ง อันเนื่องมาจากความไม่สมบูรณ์แบบของเธอ คือ เธอจะขาดความสามารถในการเชื่อมโยง ตัวอย่าง หรือ เหตุการณ์ ในอดีต แล้วเอามาอนุมานสิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายๆกันในอนาคตได้เหมือนคนปกติอย่างเราๆ ภาษาหรูๆ เราเรียกว่า ขาดความสามารถในการประยุกต์เทียบเคียง (analog)

ตัวอย่างเช่น มักจะชอบพูดแทรก ชอบถามว่าทำไม อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เวลาเกิดสงสัยอะไรขึ้นมา แล้วตามด้วยคำว่า รู้ได้อย่างไร โดยไม่รู้(อย่างสุจริต)ว่าจะทำให้คนที่คุยด้วยอึดอัด รำคาญ ไม่สบายใจ (ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ใกล้เคียงกันที่ทำให้คนเขารำคาญมาแล้วหลายครั้ง) และ อื่นๆอีกมากมาย

พอผมซักถาม ถึงได้เข้าใจว่า ความสามารถในการเทียบเทียงเหตุการณ์ หรือ ประเมินคาดเดาเหตุการณ์ของเธอบกพร่อง

วิธีแก้ที่พอทำได้คือ ต้องสร้างกฏเกณฑ์ที่ง่ายๆโปรแกรมลงไปในสมองเธอ เช่น ห้ามถามว่า ทำไมเกิด 3 ครั้ง แม้ว่าจะยังไม่เข้าใจ ไม่จำเป็นต้องซักให้เข้าใจทุกครั้ง ห้ามถามว่ารู้ได้อย่างไร เพราะจะเป็นการดูถูกผู้ที่ตอบ หรือ เป็นการแสดงความไม่เชื่อ ไม่ไว้ใจผู้ตอบ ให้นับหนึ่งถึงห้าหลังจากคู่สนทนาพูดจบ ก่อนจะพูดอะไรขึ้นมา (ตอนแรกให้นับถึงสาม แต่เธอนับเร็วมาก ไม่เวิร์ค 555)

ข้อดีก็คือ เมื่อเธอเข้าใจกฏเกณฑ์ชุดคำสั่ง และ ฝึกหัด หรือ ซ้อมสักพัก ก็จะได้ผล อารมณ์คล้ายๆหุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์นิดๆ 555 แต่ข้อเสียคือ ผมไม่สามารถเขียนโปรแกรมหรือออกกฏได้ครอบคลุมทุกๆสถานการณ์และกับคนทุกประเภทได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก็ยังดีกว่า ไม่มีชุดคำสั่งโปรแกรมพื้นฐานเป็นแนวทางให้เธอเลย

สำหรับเด็กหรือคนปกติ อาจจะใช้วิธีสอนหรือพูดกว้างๆรวมๆ ก็สามารถประมวลและเข้าใจได้ แต่สำหรับเด็กสมาธิสั้นและบกพร่องหลายๆอย่างรวมๆกันเป็นต้มจับฉ่ายอย่างเธอ ต้องใช้แปลงการสอนแบบคนปกติให้เป็นกฏสั้นๆที่เข้าใจง่ายๆ แล้วให้ท่องจำไปเลย คล้ายๆ check list อะไรทำนองนั้น

เรื่องการพูดความจริงนี้ก็เช่นกัน ผมจึงต้องหาข้อมูลให้รอบคอบก่อนจะป้อนโปรแกรมลงไปในสมองเธอ เพราะถ้าป้อนลงไปแล้ว จะลบยากมาก 555 เธอจะไม่ค่อยรับชุดคำสั่งใหม่ง่ายๆ คือ แก้โปรแกรมได้ แต่จะแก้ยาก จะว่าไปก็คล้ายๆผู้ใหญ่อย่างเราๆเหมือนกันในแง่นี้ 555 ....
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่