‘นาซา’ เตรียมแผน ส่ง ‘ผึ้งหุ่นยนต์’ สู่ดาวอังคาร

NASA

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา มอบหมายให้ทีมวิจัย 2 ทีม ศึกษาวิจัยและออกแบบหุ่นยนต์ขนาดเล็ก ที่นาซาเรียกว่า “มาร์ส บี” หรือ “ผึ้งดาวอังคาร” เพื่อจัดส่งไปปฏิบัติหน้าที่บนดาวอังคาร

นาซาประกาศโครงการนี้ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ และโครงการนี้ยังคงเป็นแผนระยะเริ่มต้นอยู่มาก อย่างไรก็ตาม นาซาเชื่อว่าผึ้งหุ่นยนต์เหล่านี้สามารถใช้ทดแทนการจัดสร้างยานหุ่นยนต์เพื่อสำรวจพื้นผิวหรือยานโรเวอร์ลำใหม่ๆ สำหรับส่งขึ้นไปใช้สำรวจดาวอังคาร เนื่องจากโรเวอร์ ไม่เพียงเคลื่อนไหวได้เชื่องช้า ยังมีขนาดเทอะทะและราคาในการจัดสร้างแพงมหาศาล

ในขณะที่ผึ้งดาวอังคาร ที่เป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กซึ่งสามารถบรรจุเซ็นเซอร์ไว้ในตัวได้เป็นจำนวนมากนั้น เคลื่อนที่ได้เร็วกว่า และครอบคลุมพื้นที่ในการสำรวจได้มากกว่า ในขณะที่ราคาในการจัดสร้างและจัดส่งขึ้นไปยังดาวอังคารต่ำกว่ามาก

หุ่นยนต์ขนาดเล็กหรือ ไมโครบอท ของนาซานี้ ถูกบรรยายเอาไว้ว่าเป็น “หุ่นบินได้” โดยการกระพือปีก ขนาดเท่ากับผึ้ง บัมเบิลบี ซึ่งเป็นผึ้งท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา แต่มีปีกขนาดเท่ากับปีกของจั๊กจั่น ซึ่งหมายความว่าไมโครบอท บินได้ของนาซาดังกล่าวนี้ อาจมีขนาดลำตัวยาวราว 4 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดโตเต็มที่ของบัมเบิลบีสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด ในขณะที่ขนาดปีกของจั๊กจั่นนั้นก็คาดการณ์ได้ลำบากเนื่องจากมีความแตกต่างกันหลากหลายตั้งแต่ความยาว 3 เซนติเมตร เรื่อยไปจนถึง 6 เซนติเมตรได้เลยทีเดียว

เหตุผลสำคัญที่ทำให้การใช้หุ่นยนต์ขนาดเล็ก ที่บินได้ในการสำรวจบนดาวอังคารนั้นสืบเนื่องจากดาวอังคารมีแรงโน้มถ่วงต่ำ โดยเปรียบเทียบกับโลกแล้วดาวอังคารมีแรงโน้มถ่วงที่ดึงดูดวัตถุลงสู่พื้นเพียง 1 ใน 3 ของแรงดึงดูดของโลกเท่านั้นเอง ซึ่งทำให้การใช้หุ่นยนต์บินได้มีความเป็นไปได้และสามารถทำงานได้ดีกว่าบนโลก แม้ว่าบรรยากาศบนดาวอังคารเบาบางกว่าบรรยากาศโลกมากก็ตาม

เครดิตมติชนออนไลน์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่