#สติปัฏฐานสี่# ตอนที่ ๑ ลิงติดตัง (พระไตรปิฎก)


#สติปัฏฐาน# ขอบุญกุศลทั้งหมดทั้งปวงจงถึงแก่สรรพวิญญาณของท่านทั้งหลายผู้จากไปในช่วงนี้ ไม่ว่าในน้ำ บนดิน หรือกลางอากาศ ขอบุญและแสงสว่างในธรรมนำทางทุกท่านไปสู่สุขคติอันงดงามให้ท่านได้สมปรารนาในทิพยวิมานอันน่ารื่นรมย์ด้วยเทอญ
ขอให้โค๊ชและน้องหมูป่าทั้งหมดออกมาได้อย่างปลอดภัย ทีมช่วยเหลือทุกท่านปลอดภัย ผลบุญรักษาด้วยเทอญ

ขออนุโมทนากับคุณซาร่า วิภาวินผู้นำพระธรรมนี้มาแบ่งปัน

ตอนที่ ๑ ลิงติดตัง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยาก ขรุขระ ไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิง ทั้งของหมู่มนุษย์มีอยู่ ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยากขรุขระ เป็นที่เที่ยวของฝูงลิงเท่านั้น ไม่ใช่ของหมู่มนุษย์มีอยู่

ภูมิภาคแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ราบเรียบ น่ารื่นรมย์ เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิงทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่ ณ ที่นั้น พวกพรานวางตังไว้ในทางเดินของฝูงลิงเพื่อดักลิง ในลิงเหล่านั้น ลิงเหล่าใดไม่โง่ ไม่ลอกแลก ลิงเหล่านั้น เห็นดังนั้น ย่อมหลีกออกห่าง

ส่วนลิงใดโง่ ลอกแลก
ลิงตัวนั้นเข้าไปใกล้ตังนั้น เอามือจับ มือก็ติดตัง
มันจึงเอามือข้างที่สองจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือออก
มือข้างที่สองก็ติดตังอีก

มันจึงเอาเท้าจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองออกเท้าก็ติดตังอีก
มันจึงเอาเท้าข้างที่สองจับด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองและเท้าออก
เท้าที่สองก็ติดตังอีก มันจึงเอาปากกัด ด้วยคิดว่าจักปลดมือทั้งสองและเท้าทั้งสองออก ปากก็ติดตังอีก

ลิงตัวนั้นถูกตรึง ๕ ประการอย่างนี้แล
ได้แต่นอนถอนใจว่าเราถึงความพินาศแล้ว อันพรานจะพึงกระทำได้ตามความปรารถนา
พรานแทงลิงตัวนั้นแล้วจึงนำไปกระทำตามความปรารถนา

ดูกรภิกษุทั้งหลายเรื่องลิงเที่ยวไปในถิ่นอื่น อันมิใช่ที่ควรเที่ยวไป ย่อมเป็นเช่นนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในอารมณ์
อื่น อันมิใช่โคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร มารได้ช่อง มารจักได้อารมณ์

ก็อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ คืออะไร?
คือ กามคุณ ๕ กามคุณ ๕ เป็นไฉน?
คือ รูปที่พึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
เสียงที่พึงรู้ด้วยหู ... กลิ่นที่พึงรู้ด้วยจมูก ... รสที่พึงรู้ด้วยลิ้น ... โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกายอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ คืออารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อัน
เป็นโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร มารจักไม่ได้ช่อง

ก็อารมณ์อันเป็นของบิดาตนอันเป็นโคจรของภิกษุ คืออะไร? คือ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน?

(๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อม พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ, มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้.
(๒) เธอ ย่อม พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ, มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้.
(๓) เธอ ย่อม พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ, มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก เสียได้.
(๔) เธอ ย่อม พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ, มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.

**************************************
มักกฏสูตรว่าด้วยอารมณ์อันมิใช่โคจร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

ขอเชิญอ่านพระสูตรบทเต็มได้ที่
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=19&A=4019&Z=4049

ขอเชิญอ่าน "สติปัฏฐานสี่" ตั้งแต่ตอนที่ ๑ ได้ที่
http://toncoon.com/community/index.php?topic=2040.0

ขออนุโมทนาสามารถเผยแผ่เป็นธรรมทานได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
ขอสงวนสิทธิ์ในการจัดจำหน่าย

**************************************

ขอนุโมทนากับผู้ช่วยรวบรวมพระธรรมและผู้ตรวจทานทุกท่านนะคะ
ขอท่านทั้งหลายเจริญในธรรม มีธรรมเป็นที่ไป มีธรรมดำเนินไป มีธรรมนำทางไป
บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงขอจงถึงแก่ ท่านอ.พันธุม คีริวัต คุณแม่เสาวลักษณ์ เที่ยงธรรม ตลอดถึงบิดามารดาครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ ผู้ถูกเบียดเบียนของข้าพเจ้าและทุกท่านที่ศึกษาพระธรรมร่วมกัน ขอพวกเราทั้งหลายจงเจริญแต่กุศลปิดหนทางอบาย ได้เวียนว่ายเพียงในเฉพาะสุคติภูมิ ไม่พบเจอกับทุคติวินิบาตนรกอีกตลอดทุกภพทุกชาติตราบถึงวันแห่งพระนิพพานด้วยเทอญ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่