การทำสัญญาบ้านเช่า รัดกุม ป้องกันคนชั่ว หัวหมอ

กระทู้สนทนา
ผู้เช่า ฟ้อง ผู้ให้เช่า บุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ และลักทรัพย์ แต่ (เงิบ) เพราะเขียนสัญญาอย่างรัดกุม จึงเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ให้เช่าที่ต้องศึกษา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12265 - 12266/2556

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์

นางปิยมน คงกวินกานต์ กับพวก โจทก์ร่วม

บริษัทเอ็ม บี เค พร็อพเพอร์ตี้ส์ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กับพวก จำเลย



ป.วิ.อ. มาตรา 43, 49, 186(9)

ป.อ. มาตรา 335, 358, 365

ป.พ.พ. มาตรา 538



สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีข้อความระบุชัดเจนว่ามีกำหนดอายุของสัญญาเช่าเป็นเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาเช่าทุกฉบับมีข้อตกลงในข้อ 7.9 ว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม ผู้เช่าจะต้องออกจากสถานที่เช่าทันที ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองสถานที่เช่า ขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้โดยปราศจากความรับผิดใด ๆ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2544 ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการต่อสัญญาเช่าหรือทำสัญญาเช่ากันใหม่ การที่จำเลยที่ 1 กับพวกกลับเข้าครอบครองพื้นที่เช่าโดยใช้ไม้กระดานปิดกั้นและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ในที่อื่นและพร้อมกับปิดประกาศ ณ บริเวณพื้นที่เช่าชั้นที่ 1 และชั้นที่ 3 ว่า สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามข้อตกลงแห่งสัญญาเช่า การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และฐานทำให้เสียทรัพย์ สำหรับข้อหาลักทรัพย์ ได้ความจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ว่ามีการรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ที่ลานจอดรถชั้นที่ 3 และโกดังชั้นที่ 6 บางส่วนนำไปไว้ที่ทิ้งขยะชั้นล่าง แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยทั้งหกเอาไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 กับพวกรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าก็เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้เพื่อให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน และยังอ้างด้วยว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญาถือว่าจำเลยทั้งหกขาดเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

อนึ่ง ตามฟ้องโจทก์ขอคืนของกลางตามบัญชีทรัพย์ที่ตรวจพบแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีคำสั่งเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์เป็นของโจทก์ร่วมที่ 1 จึงให้คืนแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 และ 186 (9) ส่วนการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์อื่น ๆ เมื่อจำเลยทั้งหกไม่ได้กระทำผิด จึงไม่มีหน้าที่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์

แถม ข้อสัญญานี้อีกข้อ จะทำให้ไม่ผิดลักทรัพย์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5465 - 5466/2555



จำเลยเช่าห้องชุดจากผู้ร้อง สัญญาเช่าข้อ 19 ที่มีข้อความว่า "ในกรณีผู้เช่าไม่ขนย้ายทรัพย์สินหรือสิ่งของต่างๆ ของผู้เช่าออกจากสถานที่ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่การเช่าสิ้นสุดลง ผู้เช่ายินยอมให้ผู้ให้เช่าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้ โดยผู้ให้เช่าจะแจ้งให้ผู้เช่ามารับคืนภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้เช่าได้รับหนังสือแจ้ง หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวผู้เช่าไม่ติดต่อขอรับคืน ให้ทรัพย์สินของผู้เช่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า" เป็นกรณีจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าตกลงสละกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ให้เช่า ไม่มีลักษณะที่ผู้ร้องได้เปรียบจนเกินสมควรและไม่มีกฎหมายบัญญัติห้าม สัญญาข้อนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่