หนีคดี ไม่ดีนะ 4.0 หมายจับ'ทักษิณ'ใบที่4! คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์

4 ก.ค. 61 - เมื่อเวลา 9.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ องค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาครั้งแรกคดีหมายเลขดำ อม.3/2551 ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

กรณีการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้รัฐบาลเมียนมาร์ วงเงิน 4,000 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตรา 3% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ โดยคดีนี้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2551 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2551 ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาครั้งแรก แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ (ยศขณะนั้น) ไม่มา จึงให้จำหน่ายคดีชั่วคราวและออกหมายจับ โดยต่อมาหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2560 ทำให้คดีที่จำเลยหลบหนีการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ สามารถนำกลับมารื้อฟื้นพิจารณาต่อไปได้ลับหลังจำเลย

วันนี้ ป.ป.ช.โจทก์เดินทางมาศาล ส่วนฝ่ายจำเลยไม่มีผู้ใดมาศาล

องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาแล้วเห็นว่า นายทักษิณ จำเลยที่ 1 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่เดินทางมาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือแจ้งเลื่อน มีพฤติการณ์ควรเชื่อว่าหลบหนี จึงให้ออกหมายจับ กำหนดไว้ 3 เดือน หากไม่สามารถจับกุมได้ ศาลมีอำนาจให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยในการต่อสู้คดี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 ให้โจทก์ติดตามผลการจับกุมพร้อมรายงานให้ศาลรับทราบ
ส่วนที่จำเลยไม่มาศาลในการพิจารณาครั้งแรกให้ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 33 จึงให้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 31 ต.ค. 2561 เวลา 9.00 น. โดยให้โจทก์ยื่นบัญชีพยานหลักฐานก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 14 วัน และให้ส่งหมายแจ้งให้จำเลยทราบ หากไม่มีผู้รับให้ปิดหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้เป็นการออกหมายจับใบที่ 4 ในการให้ติดตามจับกุมนายทักษิณเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี หลังการรื้อฟื้นคดีของนายทักษิณขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยก่อนหน้านี้ประกอบด้วยคดีออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรสามิต, คดีร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯ กับกลุ่มกฤษดามหานคร และคดีฟื้นฟูทีพีไอ.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่