ทุนโอดอส ทุน 1 อำเภอ 1 ทุน - โอกาสเดียว เปลี่ยนชีวิต

บทความ เรื่อง โอดอส โอกาสเดียวเปลี่ยนชีวิต
ตัวอย่างความสำเร็จของผู้ที่ได้รับทุน 1 อำเภอ 1 ทุน (ODOS) เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจไปให้น้องๆ นักเรียนในต่างจังหวัด ให้ขยันศึกษาเล่าเรียน และมีทัศนคติที่ดีในการต่อสู้ชีวิต เหมือนกับ คนต้นเรื่อง ในบทความนี้
https://prachatai.com/journal/2018/06/77274

โอดอส  โอกาสเดียวเปลี่ยนชีวิต

หนึ่งในนโยบายพื้นฐานของทุกรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ  ก็คือ  การขยายและสร้างโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษาที่ดี  มีคุณภาพ  และมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ  รวมทั้งผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศอีกด้วย  หรือมองอีกมุมหนึ่ง  การศึกษาเป็นหนทางหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงและขยับสถานภาพทางสังคมให้สูงขึ้นในรูปแบบที่ง่ายและเร็วที่สุด  เพราะเมื่อได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นแล้วก็ย่อมมีช่องทางและโอกาสหารายได้ที่สูงขึ้นตามไปด้วย  และหากได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลไปศึกษาต่อยังต่างประเทศแล้ว  สามารถการันตีได้เลยว่า  อนาคตอันเรืองรอง , ความก้าวหน้า  และความสำเร็จในอาชีพการงานนั้นวางรออยู่เบื้องหน้า  อีกทั้งยังสามารถผลักดันตนเองให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนชั้นนำของประเทศได้โดยง่าย  ภายใต้คำเรียกขานว่า  “นักเรียนนอก”

ทุนการศึกษาอันเป็นที่ใฝ่ฝันของนักเรียนที่มีการแข่งขันแย่งชิงกันมาก  เช่น  ทุนเล่าเรียนหลวง , ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย , ทุนรัฐบาล (ก.พ.) ที่จัดสรรให้ตามความต้องการของกระทรวง  กรม  หรือหน่วยงานของรัฐ  เป็นต้น  แต่ผู้ที่สอบชิงทุนได้ส่วนใหญ่มักจะมาจากครอบครัวชนชั้นกลางขึ้นไป  และก็มาจากโรงเรียนขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงซึ่งกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น  อีกทั้งภาครัฐเองก็ได้ลงทุนและทุ่มเททรัพยากรทางการศึกษาในเขตกรุงเทพฯ มากกว่าส่วนภูมิภาคมาตั้งแต่ในอดีตเช่นกัน  ทำให้โรงเรียนเหล่านั้นมีความพร้อมทั้งอาจารย์ที่เก่ง  มีบรรยากาศความเข้มข้นทางวิชาการ  มีสื่อการเรียนการสอนที่ครบครัน  และสถานที่ที่เอื้ออำนวย  พร้อมทั้งมีโรงเรียนกวดวิชาให้เลือกมากมาย  แต่สำหรับนักเรียนในต่างจังหวัดหรือในชนบทแล้ว  การสอบชิงทุนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝัน  และไกลเกินเอื้อมที่จะไปถึง  หรือเป็นไปไม่ได้เลยแม้แต่จะคิด  ความฝันที่ใกล้เคียงและเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับเด็กเรียนดี  ก็คือ  การสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ปี พ.ศ. 2547  รัฐบาลพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น  ได้ให้ความสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา  จึงเกิดนโยบายขยายโอกาสด้วยการมอบทุนการศึกษาต่อต่างประเทศให้กระจายไปยังเขตชนบท  ภายใต้ชื่อโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน  (One District One Scholarship : ODOS หรือ โอดอส)  โดยจะให้ทุนแก่เด็กนักเรียนมัธยมปลายจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอทั่วประเทศ  เพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาตรีในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก  และในช่วงแรกนั้นได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล  จากการขายหวยออนไลน์  และเลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัว

แนวคิดพื้นฐานของรัฐบาลในสมัยนั้น  เชื่อมั่นว่า  การศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรด้วย  ดังนั้นหากมีการลงทุนจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  รวมทั้งกระจายไปยังต่างจังหวัดแล้ว  จะเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่มีมาเนิ่นนานได้  เช่น  แก้ปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ , ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม  เป็นต้น  และเมื่อปัญหาปากท้องได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธีแล้ว  ก็จะเป็นรากฐานที่แข็งแรงและมั่นคงสำหรับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

สังคมส่วนรวมจะเกิดการพัฒนาศักยภาพอย่างรวดเร็วก็ต่อเมื่อมีการแบ่งปันโอกาสอย่างเสมอภาค  เช่น  การมอบโอกาสที่หาได้ยากให้แก่เด็กนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน  โดยเฉพาะเด็กที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์  รวมทั้งเด็กด้อยโอกาสในชนบท  เมื่อเด็กเก่งในชนบทได้รับโอกาสอันดีเช่นนี้แล้ว  ก็สามารถแสดงศักยภาพที่ซ่อนเร้นที่คนในสังคมระดับบนในกรุงเทพฯ มองไม่เห็นและไม่เคยให้โอกาสได้แสดงออก  และปัจจุบันนักเรียนทุนกลุ่มนี้ได้กลายมาเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ  ดังนั้นนโยบายสาธารณะเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันจึงควรเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างชาติ

จำนวนนักเรียนในโครงการทุนโอดอส  มีดังนี้
รุ่น    ปี พ.ศ.    จำนวนนักเรียนที่ได้รับทุน (คน)
1    2547                      921
2    2549                      915
3    2555                      689
4    2556                      568
        รวมทั้งหมด         3,093
ที่มา : www.odos.moe.go.th

และนี่คือ  หนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จของโครงการที่พลิกผันชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งจากดินสู่ดาว
“...คุณปุ๊ก (นามสมมติ) หญิงสาววัยเพียง 30 ปีต้นๆ  ผู้เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ  เด็กสาวต่างจังหวัดในสายตาคนเมืองกรุง  ศิษย์เก่าจากโรงเรียนประจำอำเภอพระยืน ในจังหวัดขอนแก่น  เป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนโอดอสรุ่นที่ 2 ไปศึกษาต่อปริญญาตรี ณ ประเทศญี่ปุ่น  ปัจจุบันทำงานเป็นล่ามและผู้ช่วยผู้บริหารชาวญี่ปุ่นในบริษัทนำเข้า-ส่งออกแห่งหนึ่งย่านบางนา...”

เธอเล่าให้ฟังว่า  “...จากเด็กหญิงผู้กำพร้าคุณพ่อมาตั้งแต่เล็ก  และต้องอยู่ในอุปการะของคุณลุงคุณป้า  อีกทั้งต้องช่วยทางบ้านทำงานหารายได้พิเศษมาตลอด  เมื่อใกล้เรียนจบมัธยมปลายแล้ว  ทางบ้านตัดสินใจวางแผนอนาคตไว้ให้  โดยตั้งใจจะส่งเรียนพยาบาล  เนื่องจากเป็นอาชีพที่มั่นคงและมีงานทำที่แน่นอน  แต่เมื่อโอกาสมาถึงในจังหวะที่เหมาะสม  ด้วยโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนของรัฐบาล  และด้วยความเป็นเด็กกิจกรรมที่มีผลการเรียนดีอยู่ในเกณฑ์ตามเงื่อนไขที่ทุนกำหนด  จึงเกิดความพยายาม  วิริยะอุตสาหะ  มุ่งมั่น  ตั้งใจที่จะสอบชิงทุนโอดอสมาให้ได้...”

“...และเช่นเดียวกับนักเรียนทุนโอดอสอีกหลายคนที่ในระหว่างเรียนก็ต้องทำงานหารายได้พิเศษเพื่อส่งเงินกลับไปช่วยเหลือทางบ้าน  รวมทั้งส่งน้องๆ เรียนหนังสืออีกด้วย  จึงถือได้ว่าเธอเป็นเสาหลักคนหนึ่งของครอบครัวเลยทีเดียว...”

“...ด้วยความสามารถทางภาษา  ทำให้คุณเอได้ทำงานใกล้ชิดเป็นทั้งล่ามแปลภาษา  และได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบการแปลเอกสารและหนังสือสัญญาต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร  ดังนั้นจึงได้รับผลตอบแทนทางรายได้ที่มากกว่าคนทั่วไปในวัยเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยในประเทศ  ส่งผลให้สามารถดูแลคนรอบข้างและผู้มีพระคุณได้มากขึ้น  รวมทั้งเริ่มสร้างฐานะให้มีความมั่นคงในระดับหนึ่ง  หรืออาจกล่าวได้ว่า  เธอได้ลงมือปั้นดินให้เป็นดาวด้วยมือของตัวเอง , เจียระไนเพชรด้วยแรงกายแรงใจและความมุมานะบากบั่น  เพราะเธอเชื่อว่า  ความพยายามอยู่ที่ไหน  ความสำเร็จจะอยู่ที่นั่น  คนเราต้องมีทัศนคติเชิงบวกที่ดีต่อชีวิต  ต้องมีกำลังใจ  มีความหวังและศรัทธาต่อตัวเองเสมอ...”

“...ความยากลำบากในอดีตจะเป็นแรงผลักดันให้ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและอดทน  ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมได้ด้วยมือของตัวเอง  อย่ายอมแพ้หรือท้อถอย  หรือหมดกำลังใจไปเสียก่อนที่จะประสบความสำเร็จ  ทุกคนต้องหาความถนัดของตัวเองให้พบและทำให้ดีที่สุด  อย่าคาดหวังหรือพึ่งพาโชคชะตาที่ฟ้าลิขิตมากเกินไป และอย่าน้อยใจต่อชาติกำเนิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เพราะทุกความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง  เธอจึงขอส่งต่อแรงบันดาลใจและเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเดินตามหาความฝัน  และไขว้คว้ามันด้วยมือของตัวเอง...”

ทุนโอดอสนี้  เปรียบเสมือนเป็นสะพานเชื่อมโลกอันกว้างใหญ่ให้กับเด็กนักเรียนในต่างจังหวัด , ในถิ่นทุรกันดารที่อยู่ในป่าหรือหลังเขา  ให้มุ่งหน้าไปสู่โลกาภิวัตน์และก้าวออกไปหาประสบการณ์ชีวิต  ด้วยการเรียนรู้โลกใบใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม  เรียนรู้วิถีชีวิตผู้คน  วัฒนธรรม  และประเพณีที่แตกต่าง  พร้อมทั้งศึกษาองค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อนำกลับมาพัฒนาประเทศชาติ  ซึ่งในมุมมองเศรษฐศาสตร์แล้ว  นี่ถือได้ว่า  เป็นผลกระทบภายนอกเชิงบวกจากนโยบายใจกว้างทางการศึกษา  โดยประเมินค่าในรูปผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล  ทั้งในแง่การกระจายรายได้ , การลดความเหลื่อมล้ำ , กระจายความกินดีอยู่ดีไปยังครอบครัวและเครือญาติในต่างจังหวัดของนักเรียนทุนโอดอสทุกคน

แต่ในทางกลับกัน  ถ้านักเรียนกลุ่มนี้ไม่มีโอกาสได้รับทุนโอดอส  ปัจจุบันพวกเขาจะเติบโตขึ้นมามีชีวิตอย่างไร  เรียนจบคณะอะไร  ทำอาชีพแบบไหน  ก็คาดคะเนได้ยากอย่างยิ่ง  พวกเขาอาจจะรับช่วงอาชีพเกษตรกรต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่  หรือรับมรดกสืบทอดความยากจนต่อจากบรรพบุรุษ , รับจ้างทำงานในท้องถิ่นของตนเอง , เข้ารับราชการตามหน่วยงานรัฐ  หรือบากหน้าเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ  เป็นต้น  แต่อนาคตที่หักเหและเบี่ยงเบนออกจากจุดเริ่มต้น  และมุ่งหน้าไปสู่หนทางที่สดใสและดีกว่าเดิมเช่นนี้  นั่นก็เพราะ  การได้รับทุนการศึกษาต่อต่างประเทศที่เปลี่ยนชีวิตไปทั้งชีวิต  ซึ่งในขณะนั้น  แม้แต่พวกเขาเองก็ไม่อาจคาดเดาหรือจินตนาการได้เลยว่า  หากไม่ได้รับทุนดังกล่าวแล้ว  ชีวิต ณ วันนี้จะเป็นอย่างไร

แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่การหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันเช่นนี้  ไม่สามารถยั่งยืนกลายเป็นนโยบายประจำปีงบประมาณได้  ต้องหยุดลงและขาดการต่อเนื่องในการดำเนินงาน  เนื่องจากเกิดการปฏิวัติรัฐประหารมาถึง 2 ครั้ง  ทั้งในปี พ.ศ. 2549 และ 2557  จึงทำให้การจัดสรรทุนโอดอสต้องหยุดชะงักลงโดยไม่ทราบสาเหตุ  มีการเปลี่ยนแปลงแม้กระทั่งชื่อของทุน , เงื่อนไขการรับทุน , ระเบียบหลักเกณฑ์การสมัคร  และแหล่งที่มาของเงินทุนไปจากเดิมด้วย  ในขณะที่ทุนอื่นๆ สำหรับนักเรียนในเขตกรุงเทพฯ ยังคงมีอย่างต่อเนื่องตามปกติ  ข้ออ้างสำคัญประการหนึ่งก็คือ  งบประมาณมีไม่เพียงพอที่จะอุดหนุนทุนการศึกษาต่อต่างประเทศจำนวนมากในลักษณะนี้ให้กับลูกหลานชาวบ้านนอกเขตเมืองกรุง

อย่างไรก็ตาม  หากรัฐบาลเปิดโอกาสให้มีทุนการศึกษาต่อต่างประเทศเช่นนี้อีกครั้ง  คนที่เตรียมความพร้อมไว้รอโอกาสจะสามารถไขว้คว้าหาโอกาสนั้นได้ทันที  เพราะเป็นโอกาสเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตของเด็กคนหนึ่งในต่างจังหวัดไปตลอดกาล  ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สามารถพลิกผันชีวิตจากดินไปสู่ดาวเพียงชั่วรุ่นอายุคนหนึ่งเท่านั้น  พร้อมทั้งสามารถนำพาตัวเองและคนรอบข้างให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจนข้นแค้นได้ด้วยการศึกษา  และลิขิตชะตาชีวิตได้ด้วยมือของตัวเอง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่