ว๊าว! จุฬาฯ พัฒนา "แก้วกระดาษ" ย่อยสลาย 100% ได้ใน 4 เดือน


"แก้วกระดาษ" ย่อยสลาย 100% ใช้ทดแทนแก้วพลาสติกภาย ในรั้วมหาวิทยาลัย
แก้วกระดาษแบบใหม่ จะส่งผลให้ราคาเครื่องดื่มในโรงอาหารเพิ่มขึ้นแก้วละ 2 บาท ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
แต่หากมีการนำแก้วส่วนตัวมาใช้ ก็จะลดราคาในส่วนนี้ลง เป็นทางเลือกให้กับผู้ซื้อ
เตรียมเริ่มทดลองใช้ภายใน 7 โรงอาหารส่วนกลางของมหาวิทยาลัย
ก่อนขยายผลให้ครบ 17 โรงอาหารทั่วมหาวิทยาลัย ภายใน 3 เดือน
ตั้งเป้าลดขยะจากแก้วพลาสติกได้มากกว่า 2 ล้านใบต่อปี


จุฬาฯ ผนึก GC พัฒนาแก้วกระดาษย่อยสลาย 100% ใน 4 เดือน สานเป้าโครงการ Zero Waste
เตรียมนำร่องบังคับใช้ 10 ก.ค.นี้ ก่อนขยายทั่วมหาวิทยาลัยใน 3 เดือน

นายวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเตรียมเดินหน้าโครงการ Chula Zero Waste ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยครั้งนี้ได้ร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในการพัฒนาแก้วกระดาษที่สามารถย่อยสลายได้ 100% เพื่อใช้ทดแทนแก้วพลาสติกภายในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเริ่มนำร่องในวันที่ 10 ก.ค.2561

สำหรับการใช้งานครั้งแรกนี้ จะเริ่มมีการทดลองใช้ภายใน 7 โรงอาหารส่วนกลางของมหาวิทยาลัย ก่อนขยายผลให้ครบ 17 โรงอาหารทั่วมหาวิทยาลัย ภายใน 3 เดือน ซึ่งประเมินว่าจะสามารถลดขยะจากแก้วพลาสติกได้มากกว่า 2 ล้านใบต่อปี โดยที่ผ่านมาได้มีการให้ข้อมูลและทำความเข้าใจทั้งในส่วนของผู้บริหาร ผู้ค้าในโรงอาหาร ตัวแทนนิสิตนักศึกษา ซึ่งพบว่าทุกฝ่ายให้การตอบรับค่อนข้างดี

ทั้งนี้ ในส่วนของตัวผลิตภัณฑ์แก้วกระดาษ ประกอบด้วย 1.กระดาษชนิดพิเศษที่สามารถย่อยสลายได้ 2.สารเคลือบไบโอพลาสติกประเภท PBS ซึ่งผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 3.หมึกพิมพ์น้ำมันถั่วเหลือง (Soy Ink) โดยจากการทดสอบทำปุ๋ยหมัก พบว่าแก้วแต่ละใบสามารถย่อยสลายจนหมดได้ภายใน 4-6 เดือน หรือหากตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ไว้ตามโคนต้นไม้ก็สามารถย่อยสลายได้ภายในเวลาไม่เกิน 12 เดือน

นายวรุณ กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างดินหลังย่อยสลายแก้วกระดาษไปทดสอบ พบว่านอกจากจะไม่มีสารพิษตกค้างแล้ว ยังทำให้ดินมีคุณภาพมากกว่าดินทั่วไป แม้จะไม่ถึงระดับปุ๋ย แต่นับว่าอยู่ในระดับสารปรับปรุงดิน อย่างไรก็ตามความสำคัญคือการจัดการอย่างครบวงจร หรือ Closed-loop เพื่อให้แก้วที่ผลิตจากกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพนี้ ย่อยสลายจนหมดไปตามเจตนารมณ์

“แก้วกระดาษและพลาสติกชีวภาพไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ยังขาดคือการจัดการอย่างครบวงจร แม้จะมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้มากขึ้น แต่หากจัดการไม่ถูกต้องจนในที่สุดขยะเหล่านี้หลุดรอดลงทะเล มันก็จะไม่ย่อยสลายและกลายเป็นปัญหาเหมือนเดิม ดังนั้นทางจุฬาฯ จะมีการรวบรวมแก้วที่ใช้แล้วเพื่อกลับมาทำปุ๋ยหมักทั้งหมด และคาดหวังให้เป็นโมเดลการจัดการขยะในสังคมต่อไป” นายวรุณ กล่าว

นายวรุณ กล่าวอีกว่า ภายหลังการใช้แก้วกระดาษแบบใหม่นี้ จะทำให้ราคาเครื่องดื่มในโรงอาหารเพิ่มขึ้นแก้วละ 2 บาท ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่หากมีการนำแก้วส่วนตัวมาใช้ก็จะลดราคาในส่วนนี้ลง เป็นทางเลือกให้กับผู้ซื้อ ซึ่งถ้าการทดลองใช้สำเร็จ ก็จะขยายผลไปยังพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนอื่นๆ เช่น ถุงพลาสติก และหลอด ที่ปัจจุบันยังมีต้นทุนสูงมากเกินไป

“ที่ผ่านมาโครงการ Chula Zero Waste ได้มีการเก็บค่าถุงพลาสติกตามร้านค้าในมหาวิทยาลัยใบละ 2 บาท พบว่าสามารถลดการใช้ลงได้ถึง 90% ซึ่งการลดขยะที่ดีที่สุด คือลดการใช้นั่นเอง ส่วนตัวเชื่อว่าความสำคัญอยู่ที่การสร้างจิตสำนึก หากเราสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้ลดขยะได้ จิดตสำนึกคนก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น” นายวรุณ กล่าว

ศ.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร ผู้อำนวยการ PETROMAT กล่าวว่า ความร่วมมือกับ GC ในการทำแก้วไบโอพลาสติก PBS ครั้งนี้ นับว่าสามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์หลักของประเทศ ทั้งไทยแลนด์ 4.0 ที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม และนโยบาย new S-curve ในส่วนของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชึวภาพและเคมีชีวภาพ

ศ.ปราโมช กล่าวว่า ขณะเดียวกันแก้วมีวัสดุหลักมาจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ ยังช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น อีกทั้งในเรื่องของ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งที่ผ่านมาแม้วัสดุประเภทไบโอพลาสติกจะเกิดขึ้นมานาน แต่อาจยังไม่เคยเห็นเคสที่ทำสำเร็จอย่างจริงจัง เพราะไม่ได้มีการจัดการอย่างครบวงจร

ขอบคุณข่าวจาก
https://greennews.agency/?p=17453
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่