DTAC จะไปรอดมั๊ย กับ TDD (โดย มิตร กัลยาณมิตร เว็บ Share2Trade)

กระทู้ข่าว
http://www.share2trade.com/index.php?route=content/content&path=9&content_id=2966
    ปัจจุบันคนใช้บริการมือถือ แทบไม่ได้สนใจว่า แต่ละค่ายจะใช้เทคโนโลยีอะไรในการพัฒนาการให้บริการ แม้จะมีการพูดถึงเทคโนโลยีกันเยอะ แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ทุกคนต้องการมากที่สุดคือ สัญญาณแรงครอบคลุมทั่วพื้นที่ โทรเข้าออกง่าย ไม่ No Service คุยไปสัญญาณไม่หลุด อยู่ในตึกสัญญาณยังมี อินเทอร์เน็ตเข้าใช้งานได้ โหลดง่ายๆ ลื่น ตามที่โฆษณาเอาไว้ ขอเพียงแค่ใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ไร้ปัญหาแค่นั้นแหละที่พวกเราต้องการ
    โจทย์ง่ายๆ แค่นี้เอง แต่ทำไมค่ายมือถือถึงได้พยายามสร้างความเชื่อมั่นด้วยเทคโนโลยีกันนัก นั่นเป็นเพราะต้องการสร้างความเข้าใจ ให้ผู้ใช้บริการมั่นใจใน "ชื่อเสียง" และการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี หรือ ต้องการเรียกภาพลักษณ์ขององค์กรนั่นเอง
    เรื่องดราม่าของ DTAC ที่ไม่เข้าประมูลคลื่น 1800 MHz ของตัวเอง หลังหมดสัญญาสัมปทาน ทำให้มีข้อสงสัยเรื่อง "ซิมดับ" เพราะหาก กสทช.ไม่มีมาตรการเยียวยา อาจจะส่งผลกระทบไปถึงผู้ใช้บริการ แต่ท้ายที่สุดแล้ว กสทช.ก็เลือกที่จะเรียกร้องให้ ลูกค้าของ DTAC ย้ายค่าย เป็นการดัดหลัง ที่ไม่ยอมเข้าร่วมประมูลคลื่น แต่กระนั้น ในมุมของผู้คุมกฎ ควรจะทำตัวเป็นกลาง ไม่ควรมาตั้งข้อลำเอียง และเลือกปฏิบัติ เนื่องจากเป็นสิทธิ์ของผู้ให้บริการ หรือโอเปอเรเตอร์ ที่เขาจะเลือกเอง ว่าต้องการทำธุรกิจแบบไหน หรือต้องการใช้คลื่นแบบไหน ไม่ใช่ต้องตามใจผู้คุมกฎ เพราะในตลาดต้องมีการแข่งขัน จึงต้องปล่อยให้อำนาจตัดสินใจเป็นของเอกชน และผู้ใช้บริการว่าจะเลือกใช้บริการของใคร ไม่ใช่ให้ผู้คุมกฎมาชี้นำ ว่าไม่ควรเป็นค่ายนี้ ค่ายนั้น
    กลับมาทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีกันบ้าง ถือเป็นการให้ความรู้กับท่านผู้อ่าน มีข่าวออกมาเรียบร้อยแล้วว่า DTAC เป็นพันธมิตรกับ TOT เพื่อใช้สิทธิใช้คลื่น 2300 MHz อย่างเป็นทางการ และเป็นจุดเริ่มต้นของการให้บริการ 4G-LTE TDD บนคลื่นดังกล่าว ทำให้ช่วงนี้ จำต้องเร่งติดตั้งเสาและอุปกรณ์รับสัญญาณสำหรับรองรับคลื่น 2300 MHz เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานที่จะเปิดให้บริการในพื้นที่ 37 จังหวัดแรกในปีนี้ และเจ้า TDD (Time Division Duplex) มันคืออะไร?
    ในเชิงกลยุทธ์ทางด้านเทคนิค DTAC ให้ความสำคัญทั้งเทคโนโลยี TDD และ FDD (Frequency Division Duplex) เปรียบไปแล้วเหมือนรถไฮบริด สามารถเติมน้ำมันก็ได้ ใช้ไฟฟ้าก็ได้ เป็นการนำสองเทคโนโลยีเข้ามาไว้ด้วยกัน โดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องดูว่าอะไรเป็น FDD หรือ TDD ความสำคัญมากไปกว่านั้นคือ DTAC ถูกปะยี่ห้อ Telenor ทำดีก็เสมอตัว ทำแย่ก็ส่งผลต่อชื่อเสียง ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมา DTAC แทบไม่ได้ทำอะไรมาก จนกระทั่งมาได้คลื่น 2300 MHz
    FDD คืออะไร? FDD ย่อมาจาก Frequency Division Duplex หลักการทำงานคือ การแบ่งคลื่นส่ง (Downlink ) และคลื่นรับ (Uplink) แยกออกเป็นคนละช่วงความถี่ทำให้สามารถรับและส่งได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้การส่งสัญญาณสามารถทำได้ต่อเนื่อง ไม่มีการดีเลย์ และมือถือส่วนใหญ่ในท้องตลาดก็จะรองรับ FDD กันอยู่แล้ว และยังสามารถรองรับคลื่น low band อย่าง 800 MHz และ 950 MHz ไปจนถึง high band อย่าง 1800 MHz และ 2100 MHz ได้เลย แต่ข้อเสียของ FDD คือ คลื่นความถี่ที่เอามาใช้นั้นต้องมีคลื่นคู่ Downlink และ Uplink อย่างละเท่าๆกัน ไม่สามารถแบ่งใช้อย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่าได้ ทำให้อยู่ในบริเวณที่คนใช้งาน Download เยอะๆ ก็ปรับคลื่นให้ใช้สำหรับ Downlink มากขึ้นก็ทำไม่ได้
    ส่วน TDD จะแตกต่างกัน หลักการทำงาน TDD หรือ Time Division Duplex คลื่นส่ง และคลื่นรับ จะใช้คลื่นเดียวกัน แต่ว่าแบ่งช่วงเวลาในการรับ-ส่งข้อมูลแทน ใช้ตัวส่งและรับตัวเดียวกัน ไม่เหมือน FDD ชุดส่งหนึ่งชุด ชุดรับหนึ่งชุด แต่ TDD อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณเป็นตัวเดียวกัน จึงใช้วิธีการสลับการรับ-ส่งตามช่วงเวลา สามารถที่จะปรับขนาด Bandwidth ของการรับ-ส่งข้อมูลได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ใช้งาน แต่ข้อเสียคือ "มือถือ" ที่รองรับส่วนใหญ่ จะเป็นเครื่องรุ่นที่ค่อนข้างใหม่ และใช้ได้เฉพาะบนคลื่น High Band เช่น 2300MHz, 2600MHz อย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งระยะคลื่น High Band จะมีระยะครอบคลุมที่แคบกว่า ติดตั้งเสาหนึ่งต้น อาจจะไปได้ 1 กิโลเมตร ต่างจาก Low Band ที่เสานึงส่งสัญญาณได้ไกลถึง 1.7-2 กิโลเมตร ทำให้การตั้งเสาสัญญาณนั้นต้องตั้งในระยะที่ถี่กว่า ขยายสัญญาณให้ครอบคลุมยากกว่านั่นเอง
    ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อเปรียบเทียบกับถนนที่รถวิ่ง ช่วงเช้าๆ เราจะเห็นถนนรถวิ่งไปกลับ ในชั่วโมงเร่งด่วน ถนนขากลับโล่งมาก อีกฝั่งขาไปหนึ่งติดยาว และมีเกาะกลางถนนขั้นกลาง ทำให้รถไม่สามารถไปวิ่งบนถนนขากลับ แล้วเปลี่ยนเป็นขาไปได้ เพราะไม่สามารถขยับเกาะกลางถนนได้ (น่าจะมองเห็นภาพออก) การใช้อินเตอร์เน็ต เราจึงหงุดหงิด ที่เวลาเจอรถติด อินเตอร์เน็ทก็จะหมุนติ้วๆ เพราะฝั่งดาวน์โหลดคนใช้เยอะ ฝั่งอัพโหลดคนใช้น้อย แต่ถ้าเป็น TDD ระบบจะปรับอัตโนมัติ ทำให้ไม่มีปัญหา และยังมี "แบนด์วิดท์" (bandwidth) คลื่น 2300 MHz ที่กว้างถึง 60 MHz ถือเป็นถนนผืนเดียว ที่กว้างกว่าทุกคลื่นความถี่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
    คลื่น 2300 MHz ที่ DTAC ใช้ Bandwidth กว้างถึง 60 MHz เมื่อเทียบกับประเทศเกาหลี จีน และญี่ปุ่น ถือกว้างกว่าประเทศเหล่านั้นเสียอีก และที่สำคัญคือเป็นผืนเดียวกัน ไม่มีการแบ่งคลื่นเหมือนกับในช่วงของ 1800 MHz และ 2100 MHz การนำเทคโนโลยี 4G-LTE TDD มาใช้กับคลื่นดังกล่าว จะทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการดาวน์โหลดข้อมูล
    ปัจจุบัน น่าจะมีเกือบ 40 ประเทศทั่วโลก ที่เริ่มให้บริการเครือข่ายบนเทคโนโลยี TDD โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ซึ่งแนวโน้มการเติบโตของ TDD ค่อนข้างดีมาก เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นได้ดีกว่า และมีการนำเอาคลื่นความถี่สูงมาใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
    ที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เพื่อต้องการสื่อสารถึงความรู้เรื่องโทรคมนาคมให้กับท่านผู้อ่าน เพื่อรู้เท่าทันเทคโนโลยี และชัดๆ เมื่อวานนี้ที่ผมได้ใช้มือถือค่าย DTAC ดูการถ่ายทอดฟุตบอลโลกช่วงเวลา 19.00 ผ่านมือถือ 2 ค่าย คือ TRUE และ DTAC เปรียบเทียบกัน บนพื้นที่ของ TRUE คือ บน "ฟอร์จูนทาวเวอร์" พระราม 9 ปรากฎว่า ไม่สามารถใช้มือถือ TRUE ดูออนไลน์การถ่ายทอดสดได้ และถ้าสัญญาณก็ไม่ HD หลุดนิ่งเป็นเวลานาน แต่พอใช้ดีแทค "บนแอฟเดียวกัน TRUE ID TV" ปรากฎว่าสัญญาณภาพเป็น HD ลื่นไหล ไม่สะดุด (อาจจะไม่เกี่ยวกับ TDD หรือ FDD ก็ได้)
    ภายใต้สถานการณ์ที่ว่า ใครทำได้ดีกว่า ก็จะได้รับการชื่นชม ไม่ได้เชียร์ DTAC แต่แค่อยากบอกถึงเทคโนโลยีในปัจจุบัน ว่าทำไมถึงต้องคลื่น 2300 MHz และทำไมถึงไม่เข้าประมูลคลื่น 1800 MHz เพราะการออกแบบเครือข่าย โดยใช้คลื่นความถี่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ประชาชนได้ประโยชน์ ซึ่งมาจากเทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆ ที่ทั่วโลกกำลังให้ความนิยม และอนาคตอาจจะนำไปสู่การให้บริการ 5G ก็เป็นไปได้ด้วยเช่นกัน


บทความ DTAC ซิมดับ หรือไม่?http://www.share2trade.com/index.php?route=content/content&path=9&content_id=2957
/////////////////////
ขอบคุณบทความจาก www.facebook.com/Share2Trade/
http://www.share2trade.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่