JJNY : อนาคตดี๊ดี...ซี้จุกสูญ ย่ำแย่!! อาชีวะเอกชนโอด สอศ.ไม่ดูแล เจอแย่งเด็ก-เก็บ 'ภาษี' เพียบ

กระทู้คำถาม
นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยกรณีโรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบจากจำนวนเด็กที่ลดลง และนักเรียนทยอยลาออก จนอาจต้องเลิกจ้างครู และบางแห่งถึงขั้นต้องยกเลิกกิจการ ว่า ขณะนี้ไม่ใช่เพียงแค่โรงเรียนเอกชนเท่านั้นที่พบปัญหา สถาบันอาชีวศึกษาเอกชน มีปัญหา เเละอุปสรรคเยอะมาก ตั้งแต่ย้ายเข้าอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จากเดิมสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนไม่ได้รับการยอมรับจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ เพราะคิดว่าเป็นคู่แข่ง

“เมื่ออาชีวะเอกชนมาอยู่ในสังกัด สอศ.พบเจอแต่ปัญหา วิทยาลัยอาชีวะเอกชนกว่า 400 แห่ง ไม่ได้รับความสนใจ อีกทั้ง ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ดูแลเป็นการเฉพาะ อาศัยเพียงการอ้างอิงกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนเท่านั้น เด็กเข้ามาเรียนลดลง เพราะต้องเเข่งขันเเย่งเด็กจากวิทยาลัยอาชีวะของรัฐ ส่งผลให้วิทยาลัยอาชีวะเอกชนบางแห่งต้องปิดตัวลง แม้คุณภาพอาจสู้อาชีวะของรัฐไม่ได้ แต่อยากจะร้องเรียนให้รัฐอุดหนุน และส่งเสริมจริงๆ ไม่ใช่ช่วยแต่ลมปาก ทำอย่างไรจะลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ได้ อยากให้การปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

นายอนุพงค์ มกรานุรักษ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ และรองประธานคณะมนตรีปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน กล่าวว่า ตั้งแต่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 8/2559 เรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ประกาศให้อาชีวะเอกชนรวมอยู่ภายใต้ สอศ.ผ่านมากว่า 2 ปี อาชีวะเอกชนประสบปัญหารอบด้าน และไม่ได้รับการดูแล ไม่เหมือนตอนที่ยังอยู่ใน สช.

นายอนุพงค์กล่าวอีกว่า ปัญหาที่สถานศึกษาอาชีวะเอกชนเจอ เช่น แม้รัฐบาลจะมีนโยบายให้เด็กมาเรียนสายอาชีพมากว่าเดิม แต่ปัจจุบันพบว่าโรงเรียนสายสามัญที่มีนักเรียนจบชั้น ม.3 ไม่ยอมปล่อยให้นักเรียนเลือกโรงเรียนเอง เพราะต้องการกั๊กไว้เรียนต่อในชั้น ม.4 อีกทั้ง ที่ผ่านมาอาชีวะเอกชนไม่มีสิทธิเข้าไปแนะแนวนักเรียนในโรงเรียนรัฐต่างๆ แต่ถ้าเป็นอาชีวะรัฐจะมีสิทธิเข้าไปแนะแนวได้ และนอกจากจะไม่ส่งเสริมอาชีวะเอกชนแล้ว ยังถูกเรียกเก็บภาษีอีกด้วย ทั้งภาษีโรงเรือน ภาษีท้องถิ่น ภาษีอื่นๆ จำนวนมาก ขณะที่อาชีวะรัฐไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้

“เด็กที่เข้าเรียนอาชีวะเอกชนลดลงทุกปี มีหลายที่เริ่มเลิกจ้างครู แต่ไม่ใช่ปัญหามากนัก เพราะโดยปกติเมื่อรัฐเปิดสอบครูผู้ช่วย จะมีครูลาออกเพื่อไปสอบอยู่เเล้ว แต่ปัญหาที่เผชิญอยู่ขณะนี้ ทำให้มีอาชีวะเอกชนบางแห่งปิดตัวลง หรือแม้กระทั่งขายกิจการ เพราะสู้ต่อไปไหว” นายอนุพงค์ กล่าว

นายอนุพงค์กล่าวอีกว่า แม้จะมีปัญหารอบด้าน แต่แก้ไขได้ไม่ยาก อยากเรียกร้องภาครัฐขอความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เช่น สิทธิของเด็กต้องไม่เสียหาย ไม่ใช่เด็กเรียนของรัฐได้อย่างหนึ่ง เรียนของเอกชนได้อย่างหนึ่ง ทำอย่างไรให้เด็กเรียนที่ไหนได้สิทธิเท่าเทียมกัน และขอความเท่าเทียมในการตรวจสอบทั้งสถานศึกษาของรัฐ และเอกชน โดยใช้คณะกรรมการชุดเดียวกัน และมาตรฐานเดียวกัน ให้มีตัวแทนจากจากภาครัฐ ภาคเอกชน และคนกลางจากหน่วยงานภายนอกวงการการศึกษา หากทำได้เช่นนี้ จะลดข้อครหา และสร้างการยอมรับจากอาชีวะเอกชนมากขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่