ฟุตบอลโลกในไทย "เงียบเหงา" ระยังตายยกรัง โดย มิตร กัลยาณมิตร

http://www.share2trade.com/index.php?route=content/content&path=9&content_id=2936

.....กลายเป็นบทเรียนสอนใจ และทำให้ RS เข็ด ไม่ขอยุ่งกับฟุตบอลโลกอีกอีกต่อไป ไม่แค่นั้น รายอื่นๆ ต่างก็ขยาดด้วยเช่นเดียวกัน เพราะคนจ่ายเงินซื้อ กับคนขอฟรี ต่างไม่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะทุกคน ทุกช่องอยากได้ แต่ไม่อยากจ่ายตังค์ เกมเลยโอเวอร์ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ....

#TRUE #ดูฟรีฟุตบอลโลก #บอลโลก2018 #AMARIN #RS #ฟีฟ่า #กสทช #กสท
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ฟุตบอลโลกในไทย "เงียบเหงา" ระวังตายยกรัง

    ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่คนทั่วโลกรอคอย กับการแข่งขันกีฬาที่ต้องยอมรับว่า มีคนชมมากที่สุดในโลก นั่นคือ "มหกรรมฟุตบอลโลก" ครั้งนี้เวียนมาอีกรอบ "รัสเซีย เวิลด์คัพ 2018" หลายคนเชื่อว่า จะยังคงได้รับความสนใจจากทั่วโลก แม้จะมีหลากหลายปัญหาซ่อนอยู่ ไม่ใช่แค่ในเมืองไทยเท่านั้น แม้แต่ FIFA หรือ "สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ" เอง ก็มีปัญหาไม่ได้แตกต่างกัน เรียกได้ว่าหืดขึ้นคอก็ว่าได้ เพราะ 2 ครั้งก่อนหน้า ปรากฎว่า รายได้จากผู้สนับสนุนหายไปกว่าครึ่ง

    เรื่องนี้ "สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ" หรือ ฟีฟ่า ก็ยอมรับว่า การดึงดูดให้ผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์รายใหญ่หันมาให้ความสนใจฟุตบอลโลกในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และมีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรค เพราะมีตัวแปรหลายเรื่อง แต่สุดท้ายยังไงก็ต้องจัด เนื่องจากเป็นทำเนียมปฏิบัติ และแฟนลูกหนังก็กำลังจดจ่อ รอคอยการมาถึงของฟุตบอลโลก แต่ที่ว่าแย่ไปกว่านั้นคือ ปัญหาภายในของฟีฟ่าเองนั่นแหละ ทำให้วันนี้วิ่งหาสปอนเซอร์ยากเย็นเหลือเกิน เมื่อดูจากการดำเนินงานในปี 2016 ปรากฎว่า ฟีฟ่า ขาดทุนสูงถึง 369 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังเสียสปอนเซอร์เดิมไปถึง 34 ราย ทั้งที่พวกเขาก่อนหน้านั้น คือผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันฟุตบอลโลก และข่าวที่ทราบกันดีว่าปัญหาเดียวนั่นคือการ "คอร์รัปชั่น" นั่นเป็นเรื่องราวที่รู้กันถ้วนหน้า

    ในบ้านเรา การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบที่แล้ว ก็เจอปัญหาไม่ได้แตกต่างกัน ครั้งนั้นทำให้ RS ที่หวังจะฟันกำไรจากค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกที่ตัวเองซื้อมาผ่านกล่องเซ็ทท็อปบล็อค ก็ต้องเกิดอาการ "เซ็งเป็ด!!" หงายเงิบไปตามๆ กัน เพราะ กสท. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์)และ กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) พร้อมใจกันประสานเสียงบอกว่า RS จะต้องดำเนินการฉายฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายสดๆ ทั้ง 64 นัดทางฟรีทีวีเท่านั้น

    คนทำธุรกิจ ซื้อลิขสิทธิ์มา ก็หวังจะได้กำไรจากการจ่ายเงินในครั้งนี้ ปรากฎว่า เจอกฎที่ว่าของ กสทช. ก็ต้องสู้กันสุดฤทธิ์ก่อนจะพึ่ง "ศาลปกครองสูงสุด" และได้ตัดสินให้อาร์เอสเป็นผู้ชนะคดี ได้จัดการถ่ายทอดสดตามโปรแกรมเดิมที่วางแผนไว้ คือ มีถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี 22 นัด ส่วนที่เหลือจะถ่ายทอดสดทางกล่องบอลโลก ที่ทาง RS จะออกวางจำหน่าย แต่ กสทช. ก็ไม่ได้น้อยหน้า มีมติใช้เงิน 427 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์จากอาร์เอส เพื่อให้มีการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีครบทั้ง 64 นัด เป็นอันว่า "จบเกม" แต่กว่าจะได้เงินจาก กสทช.ก็หืดจับอยู่เหมือนกัน

    กลายเป็นบทเรียนสอนใจ และทำให้ RS เข็ด ไม่ขอยุ่งกับฟุตบอลโลกอีกอีกต่อไป ไม่แค่นั้น รายอื่นๆ ต่างก็ขยาดด้วยเช่นเดียวกัน เพราะคนจ่ายเงินซื้อ กับคนขอฟรี ต่างไม่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะทุกคน ทุกช่องอยากได้ แต่ไม่อยากจ่ายตังค์ เกมเลยโอเวอร์ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

    นี่คือเหตุผลที่การจุดกระแสฟุตบอลโลกครั้งนี้ทำได้ลำบาก คือ "จุดไม่ติด" เพราะปกติแล้ว ช่วงเวลามหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก คือหนึ่งในช่วงที่คนไทยจะคึกคักกันเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมสนุกภายใต้แคมเปญต่างๆ รวมถึงการส่งทายผลผู้ชนะเพื่อชิงโชคจากสื่อสิ่งพิมพ์หัวสี ปีนี้ดูเงียบ ทั้งที่เขาจะเริ่มฟาดแข้งกันแล้ว บรรดาร้านค้าต่างๆ ก็ดูเงียบๆ รวมไปถึงทีวีช่องต่างๆ ก็พากันทำกันแบบเสียไม่ได้

    ว่ากันตามตรง อันนี้ไม่เกี่ยวกันกับรอบนี้ ไม่มีทีมดังๆ “อิตาลี” เพราะไม่ได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกที่กำลังจะเตะขึ้นที่รัสเซีย รวมไปถึงยักษ์ใหญ่ที่โลดแล่นในฟุตบอลโลกมานานทั้ง “เนเธอร์แลนด์” และ “สหรัฐอเมริกา” ก็ไม่ได้เข้ารอบมาฟาดแข้งกับเขาด้วยเช่นกัน เพราะทีมเหล่านี้ก็ไม่ได้มีแฟนๆ หนาแน่นเท่ากับ บราซิล อังกฤษ เยอรมัน

    สุดท้ายก็จบตรงที่ การซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้ เอกชนไม่ได้สนใจ เพราะหลังจากบาดเจ็บจากรอบที่แล้วมา ก็เลยทำให้ทุกคนเข็ดกันไปหมด ทั้งๆ ที่เวลาการถ่ายทอดสดครั้งนี้ จะอยู่ระหว่างเวลา 16.00 น. ถึง 01.30 น. ของวันรุ่งขึ้น ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมต่อการทำตลาดของแบรนด์ต่างๆ ไม่เหมือนกับครั้งอื่นที่ส่วนใหญ่จะเตะกันดึกมากจนมีแต่คนที่ชื่นชอบฟุตบอล หรือคนที่ลุ้นติดปลายนวมเฝ้ารอรับชมเท่านั้น

    และเท่าที่ทราบ "ทรู วิชั่นส์" ได้เซ็นสัญญากับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันทั้งหมด โดยมีผู้ให้การสนับสนุนรวม 7 ราย ที่จะร่วมลงขันรายละ 200 ล้านบาท นำโดย กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ฯ โดยมี "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. เป็นผู้ผลักดันให้ดีลนี้ประสบความสำเร็จ พร้อมๆ กับผู้สนับสนุน ประมาณ 8-9 ราย

    ทำให้ภาพวันนี้ของฟุตบอลโลก ตกไปอยู่กับช่องทีวีดิจิตอลแค่ 3 ช่อง คือ ช่อง ทรู4ยู ช่อง 24  ช่องอมรินทร์ทีวี และช่องททบ.5 งานนี้ "ผู้บาดเจ็บ" คือผู้สนับสนุน เพราะต้องจ่าย 200 ล้านบาทต่อราย แต่กระแสเงียบ และมีเวลาแค่ 1-2 เดือน กับงบที่ว่า แถมยังไม่กระจายไปตามช่องต่างๆ แต่ผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจะเป็นทรู เพราะเป็นสื่อที่มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งฟรีทีวี, เพย์ทีวี, โมบาย ทีวี และดิจิตอล มีเดีย ขณะที่รายอื่นๆ มีแค่ อมรินทร์ทีวี พอได้บ้าง แต่การต่อยอดธุรกิจการสร้างแบรนด์ ทรูได้เต็มๆ

    ความเงียบครอบงำ เพราะทีวีช่องอื่นๆ เมื่อไม่มีการถ่ายทอดในช่องของตัวเอง จะทำไปเพื่ออะไร เพราะทำไป คนก็ไปดูช่องที่ถ่ายทอดอยู่ดี แต่พอเป็นกระแส ไม่ต้องลงทุน ก็พอได้ งานนี้เลยทำให้เงียบ และเงียบมากๆ ร้านค้า ร้านอาหาร สินค้า และบริการต่างๆ ที่เตรียมสร้างแคมเปญออกมาล่อซื้อผู้บริโภค และ Social Impact กระแสสังคมที่จะเกิด ก็ไม่ทันแล้ว เพราะเรื่องนี้ต้องวางแผนอย่างน้อย 4-5 เดือน แต่นี่เพิ่งสรุปได้ไม่นาน

    บทเรียนครั้งสำคัญ ฟุตบอลมันคือ "ธุรกิจ" ไม่ใช่กิจการสาธารณกุศล คนซื้อลิขสิทธิ์ เขาก็อยากได้กำไร การแย่งกันด้วยราคาแพงๆ เพราะต้องการเห็นกำไร ถ้ายังทำกันแบบนี้รับรองได้ เหนื่อยกันไปตามๆ กัน บรรดาผู้สนับสนุนทั้งหลายก็ต้องหืดขึ้นคอ เพราะจ่ายเงินแล้ว ก็ต้องใช้ให้คุ้มค่า แต่ก็ต้องไปดูด้วยว่า ทำได้แค่ไหน ไม่ใช่จะทำได้ทุกอย่าง เพราะมันก็มีกฎของฟีฟ่าด้วยเช่นกัน

    ว่ากันตามตรง ปีนี้ เป็นอีกปีที่เอกชนต้อง "เจ็บ" กับฟุตบอลโลกกันอีกรอบ คนชมมีความสุขอยู่แล้ว สบายๆ แต่คนจ่ายคงต้องนั่งอมทุกข์ และถ้าปลุกกระแสไม่ได้ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายไม่ได้ จะยิ่งทุกข์ เพราะเหล้าเบียร์ สสส. และภาคีเครือข่าย จ้องตาเป็นมัน ทำอะไรหล่อแหลม "โดนแน่ๆ" บอกแล้วงานนี้ "ทรู" ได้เต็มๆ

    เป็นไงละครับ กระแสฟุตบอลโลก 5555 ลองจับตากันดู นอกจากทรูแล้ว จะตายกันยกรังมั๊ยครับ
/////////////////////////////
ขอบคุณบทความจาก www.facebook.com/Share2Trade/
http://www.share2trade.com
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่