วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ... อ.จอมทอง เชียงใหม่




ความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา ที่บันทึกในตำราพื้นเมืองโบราณ กล่าวว่า
มนุษย์ทุกคนมีพระธาตุเจดีย์ ประจำปีเกิดของตน

เมื่อวิญญาณลงมาจากแถน ...  ผู้ส่งให้มาเกิด ... จะมาพักชั่วคราวอยู่ที่เจดีย์ประจำปีเกิด ก่อนปฏิสนธิในครรภ์มารดา
เมื่อได้เวลา วิญญาณก็จะไปสถิตย์อยู่ที่กระหม่อมของบิดาเป็นเวลา 7 วัน แล้วจึงเคลื่อนสู่ครรภ์มารดา ... เกิดออกมา

เมื่อสิ้นอายุขัยแล้ว
ดวงวิญญาณก็จะกลับไปอยู่ที่พระธาตุประจำตัวของตน ก่อนกลับไปเกิดในภพภูมิตามบุญกรรมที่ต่างทำมา
ถ้าได้ไปกราบไหว้สักครั้งหนึ่งในชีวิต จะมีอานิสงส์ให้เมื่อตายแล้ว วิญญาณจะอยู่ที่พระธาตุเจดีย์ ไม่ต้องเร่ร่อนไปทุคติ
และยังช่วยสะเดาะเคราะห์ ขจัดอุปสรรคของชีวิต ขณะที่มีชีวิตอยู่

พระธาตุเจดีย์วัดศรีจอมทองวรวิหาร เป็นพระธาตุประจำปีชวด หรือ ปีหนู ตั้งอยู่ใน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่




ตึกเก่าหลังคากระเบื้องดินขอตรงข้ามวัด  




โรงหนังเก่า




ซุ้มประตูโขง




วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารตั้งอยู่บนเนินดิน เรียกว่า ดอยจอมทอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20
จากลักษณะของศิลปกรรม เป็นหลังพุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งเป็นยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่




ในสมัยพุทธกาลมีเมืองหนึ่งชื่อ อังครัฏฐะ ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับดอยนี้
พญาอังครัฎฐะทราบข่าวจากพ่อค้าที่มาจากอินเดีย ว่า
พระพุทธเจ้าได้บังเกิดในโลกแล้ว และประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ในประเทศอินเดีย
จึงตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด

เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณ
จึงเสด็จสู่เมืองอังครัฏฐะพร้อมด้วยภิกษุสาวก
มารับอาหารบิณฑบาตจาก พระยาอังครัฏฐะ
ทรงแสดงธรรมโปรดพร้อมทั้งได้ตรัสพยากรณ์ไว้ว่า

เมื่อพระองค์นิพพานแล้ว ธาตุพระเศียรเบื้องขวา... พระทักษิณโมลี ... ของพระองค์
จักมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่ดอยจอมทองแห่งนี้ แล้วเสด็จกลับ

พระยาอังครัฏฐะจึงได้สร้างสถูปไว้บนยอดดอยจอมทอง
ด้วยหวังว่าจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว
มัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราทรงได้พระทักษิณโมลีธาตุไว้
แล้วได้ถวายพระบรมธาตุแด่พระมหากัสสปะเถระ
ให้อาราธนาพระบรมธาตุให้เสด็จไปยังดอยจอมทอง
ประทับอยู่ในโกศแก้วอินทนิลภายในเจดีย์ทองคำ
ที่พญาอังครัฎฐะได้สร้างถวายไว้




พ.ศ. 218 พระเจ้าอโศกมหาราช เสด็จสู่ดอยจอมทอง
ทรงได้สั่งขุดคูหาให้เป็นอุโมงค์ใต้พื้น สร้างสถูปทองคำไว้ภายในคูหา
หล่อพระพุทธรูปทั้งเงินและทอง ตั้งไว้รอบสถูป

เอาพระบรมธาตุเจ้าที่จากในสถูปที่พระยาอังครัฏฐะสร้าง
เข้าไปไว้ในสถูปใหม่ในคูหาใต้พื้นดอยจอมทอง ให้เอาก้อนหินปิดปากถ้ำคูหาเอาไว้
และทรงอธิษฐานว่า
ต่อไปข้างหน้า ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินและประชาชน มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ขอให้พระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกมาปรากฏแก่ผู้ชนให้ได้กราบไหว้สักการบูชา"
แล้วพระองค์จึงเสด็จกลับเมืองปาตลีบุตร

พ.ศ.1994
สามีภรรยาคู่หนึ่งชื่อนายสอยและนางเม็ง ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ดอยจอมทอง
เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง
ทั้งคู่ได้แผ้วถางบริเวณยอดดอย
พร้อมทั้งสร้างเจดีย์และพระพุทธรูป ๒ องค์ ไว้บนดอยจอมทอง จึงเรียกว่า วัดศรีจอมทอง

พ.ศ. 2009  สิบเงิน และ สิบถัว
ได้ช่วยกันบูรณะก่อสร้างวัดศรีจอมทองให้เป็นรูปเป็นร่าง มีพระวิหารมุงด้วยคาหลังหนึ่ง
ได้นิมนต์พระภิกษุชื่อ สริปุตต์เถระ มาเป็นเจ้าอาวาส
ท่านเจ้าอาวาสก็ได้ปฎิสังขรณ์วิหารให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น
จากนั้นก็มีเจ้าอาวาสองค์ต่อๆมาได้สร้าง
ปราสาทเฟื่อง และ ระเบียงหน้ามุขหลังวิหาร เพื่อเป็นที่ไว้พระพุทธรูป

ปัจจุบันคือ วิหารเล็ก ๆ เชื่อมต่อทางด้านหลังพระวิหาร







ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ เก็บพระพุทธรูป ยอดพระเจดีย์องค์ก่อน บุษบกพระธาตุ










หน้าบันมุกทางทิศใต้




ก่อกำแพงรอบพระวิหารทั้ง 4 ด้าน
สร้างกุฎิเป็นที่พักอาศัยของพระภิกษุ
สิงห์เฝ้าประตูรั้ววัด





หน้าบันด้านหน้าพระวิหาร




ทวารบาล




บันไดมกรคายนาค




ประตูหน้าวิหาร




ตุงกระด้าง ตุง คือ ธง กระด้าง คือแข็งอยู่นิ่ง ๆ
เป็นวัฒนธรรมที่ล้านนารับมาจากพม่า นิยมสร้างเพื่อสำหรับถวายพระรัตนตรัยอย่างถาวร




พ.ศ. 2042
ตาปะขาวคนหนึ่งอาศัยอยู่ที่วัดนั้นเล่าให้เจ้าอาวาสว่า
เกิดนิมิตฝัน เทวดาได้มาบอกว่าใต้พื้นวิหารบนยอดดอยของวัดนี้ มีพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า
และ
พระบรมธาตุนั้นจักเสด็จออกมาให้ฝูงชนได้กราบไหว้สักการะบูชาต่อไป

พระธัมมปัญโญเถระเจ้าอาวาสจึงได้ทำการอธิษฐานจิตว่า
ถ้ามีจริงดังความฝันนั้น
ขอให้พระบรมธาตุจงได้เสด็จออกมา ในเมื่อข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่นี้เถิด
ขอข้าพเจ้าจงได้ไหว้สักการบุชาพระบรมธาตุนั้น
ถ้าข้าพเจ้ายังไม่ได้เห็นและได้สักการบูชา
ขออย่าให้ข้าพเจ้าสิ้นชีวิตไปเสียก่อนเลย

เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำปีนั้น
พระบรมธาตุเจ้า ก็เสด็จออกจากพระสถูปทองคำ
แสดง ปฎิหาริย์ เป็นมหัศจรรย์ต่าง ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย

ในวันรุ่งขึ้นพระธมมปัญโญเถระกับตาปะขาวก็ได้พบพระบรมธาตุเจ้า
อยู่ในรูพระเกศโมลีของพระพุทธรูป ที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารนั้น
พระบรมธาตุมีขนาดโตประมาณเมล็ดข้าวโพด สันฐานกลมเกลี้ยง
สีขาวนวลเหมือน ดอกบวบ หรือ สีดอกพิกุลแห้ง
จึงได้เก็บรักษากันไว้โดยเงียบ ๆ และ รู้กันเพียงแค่ตาปะขาวและเจ้าอาวาสเท่านั้น

พ.ศ. 2057
มีพระเถระรูปหนึ่งไปยังเมืองพุกามและได้ตำนานพระบรมธาตุมา
เมื่อพิจารณาจากตำนานจึงคะเนว่าพระบรมธาตุน่าจะตั้งอยู่ที่วัดศรีจอมทอง
จึงได้สั่งให้พระอานันทะและปะขาวนักบุญทั้งหลายไปที่วัดศรีจอมทอง
ทำการสักการบูชาดอกไม้ธูปเทียนและให้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า
หากพระบรมธาตุตั้งอยู่ในที่นั้นจริงดังตำนานกล่าว
ขอพระบรมธาตุจงแสดงปฎิหาริย์เป็นอัศจรรย์ต่างๆให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยเทอญ

เจ้าอาวาสเมื่อได้เห็นอาการของคนเหล่านั้นเช่นนั้น
จึงได้นำเอาพระบรมธาตุออกมาแสดงให้ได้เคารพสักการบูชา

พ.ศ. 2060 พญาแก้ว โอรสพญายอดเชียงราย หลานปู่พระเจ้าติโลกเจ้า ผู้ครองนครเชียงใหม่
โปรดให้เจ้าอาวาสจัดการปฏิสังขรณ์ปลูกสร้างพระวิหารหลังหนึ่ง ให้เป็น 4 มุข
ตั้งอยู่ยอดของดอยลูกนี้




ก่อปราสาทหลังหนึ่งให้เหมือนปราสาทอันมีอยู่ในพระอุโบสถวัดโพธารามมหาวิหาร ... วัดเจ็ดยอด ภายในท่ามกลางพระวิหารนั้น
เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจ้า
ให้สุวรรณช่างทองสร้างโกศทองคำเพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ

โครงหลังคาเป็นลักษณะ ... ม้าต่างไหม
คือหลังคาซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น เหมือนกับการต่าง ... บรรทุก ... ไหมบนหลังม้า
เพื่อเดินทางนำไปขายในสมัยโบราณ




พ.ศ. 2110 พระเจ้าบุรงนองเจ้าหงสาวดี ยกทัพมาตีลานนาเชียงใหม่ใว้ในอำนาจ
พ.ศ. 2314 พระบรมธาตุเจ้าก็อันตรธานสูญหายไป
พ.ศ. 2318 สมัยพระเจ้าตากได้มีการรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือออกจากใต้การปกครองของพม่า
พ.ศ. 2322 พระยาวิเชียรปราการ
... พม่าตั้งให้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ แต่ได้เข้ากับเจ้ากาวิละตีเชียงใหม่คืนโดยได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าตาก ...
ได้คิดถึงพระบรมธาตุเจ้าจอมทองที่สูญหายไปแต่ พ.ศ. 2314
จึงได้ให้นายช่างทองสร้างโกศเงินและโกศทองคำ เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ
ให้อำมาตย์ทำพิธีอาราธนาอัญเชิญพระบรมธาตุเจ้า

จนถึงแรม 4 ค่ำ
พระบรมธาตุเจ้า ก็ได้เสด็จมาปรากฏในคูหาปราสาท ตามคำอธิษฐาน

พระยาวิเชียรปราการ
ได้อัญเชิญพระบรมธาตุเข้าไปในเมืองเชียงใหม่
... ได้อัญเชิญพระบรมธาตุจะมีการแวะพักที่วัดต้นแกว๋น หรือวัดอินทราวาสก่อน แต่ไม่แน่ใจว่าเริ่มต้นเมื่อใด ...
ทำการสระสรง และ ถวายทานต่างๆ นาน 7 วัน 7 คืน
แล้วจึงได้อัญเชิญพระบรมธาตุเจ้ากลับคืนไปประดิษฐาน
ไว้ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองตามเดิม

องค์พระธาตุประดิษฐานไว้ในโขงพระเจ้านี้




โบสถ์




หอระฆัง




ศาลาการเปรียญ




ตำนาน เล่าว่า สมัยครูบาปุ๊ด หรือครูบาพุทธิมาวังโส เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 14
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2314 เกิดลมพายุใหญ่พัดเอากิ่งไม้สะหลี คือศรี ... สะหลีภาษาเหนือคือต้นโพธิ์ ในวัดหักลงมา
ครูบาท่านให้นึกตกใจกลัวเพราะสมัยเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ ไม่เคยเกิด
ตกตอนกลางคืนท่าน ก็เกิดนิมิต
ว่ามีเทวดามาบอกว่าเหตุอาเพศเกิดเป็นเพราะท่านไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม โดยเคร่งครัด
ท่านปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นจนผ่านไป 2 เดือน ก็บรรลุธรรมอภิญญาณ สามารถย่นย่อแผ่นดินได้

วันหนึ่ง ท่านไปบิณฑบาต ที่อำเภอแม่แจ่ม แล้วกลับมาฉันที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง
และเช้าเดียวกันมีพ่อค้าวัวชาวแม่แจ่มที่มาซื้อข้าวของที่อำเภอจอมทอง
ยืนยันว่าพบครูบาปุ๊ดเดินออกมาจากป่าบริเวณบ้านหัวเสือ พระบาท ห่างไปประมาณ 7 กิโลเมตร
ในเวลาเดียวกับที่กองเกวียนของพวกเขาหุงข้าวเสร็จพอดีจึงนิมนต์รับบิณฑบาต
ได้ถามว่า
ท่านไปบิณฑบาตที่ไหนมาในป่าอย่างนี้ ท่านตอบว่า ไปบิณฑบาตที่แม่แจ่มมา
... จากจอมทองจะไปแม่แจ่มต้องข้ามดอยอินทนนท์ ...
พ่อค้าวัวถามว่า บ้านอะไร ท่านตอบว่า บ้านสันหนอง พร้อมเปิดฝาบาตรให้พ่อค้าวัวใส่บาตร
พ่อค้าจึงได้เห็นข้าวในบาตร เป็นข้าวสีดำๆ ปลูกมากที่แม่แจ่มเท่านั้น
จึงถามอีกว่า คนลักษณะใดใส่บาตร พระท่านตอบว่า เป็นผู้หญิงคอออม ... คอพอก ปูดโปนออกมา น่าจะคอพอกค่ะ ...

เมื่อพ่อค้าเดินทางกลับบ้านแม่แจ่ม ถามภรรยาว่า ได้ใส่บาตรบ้างไหม
ภรรยาตอบว่า ใส่บาตรพระเดินออกมาจากป่าวันนี้ โดยเอาข้าวกล่ำ ... คือข้าวเหนียวดำ ใส่บาตร
พร้อมอธิบายลักษณะของพระรูปนั้น ซึ่งตรงกันกับพระที่พ่อค้าได้ใส่บาตร
จึงได้รู้ว่าพระรูปนี้มีบุญบารมียิ่งนัก คือปรากฏกาย 2 ที่ในเวลาเดียวกัน

เมื่อครูบาปุ๊ดได้ธรรมอภิญญาณ ชาวบ้านก็มาทำบุญฟังเทศน์ที่วัดมากมาย
ท่านได้เล่าถึงเหตุการณ์ไม้สะหลีหัก
ทั้งหลายจึงตกลงกันว่า ประมาณเดือนเมษายนของทุกปี
จะไปตัดไม้ง่ามมาช่วยกันค้ำกิ่งต้นสะหลีเอาไว้ ไม่ให้หักโค่นยามโดนลมพัด
ประเพณีแห่ไม้สะหลี หรือไม้ค้ำโพธิ์ เข้าวัด จึงมีมานับแต่ พ.ศ.2315 นั้นเอง





แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่