ไวรัสตับอักเสบซี ต้านได้...รักษาได้

รู้จักกับ “ไวรัสตับอักเสบซี”
โรคไวรัสตับอักเสบซี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี สามารถติดต่อกันได้หลายวิธี อย่างเช่น ผ่านทางเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือเพศสัมพันธ์ พบโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 1 – 2 ของประชากรไทย โดยพบมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อไวรัสเข้าไปในร่างกายแล้ว มันจะอาศัยอยู่ที่ตับ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีส่วนใหญ่ไม่มีอาการ  มักตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพหรือจากการบริจาคเลือด ผู้ปวยมักจะมีการอักเสบของตับน้อยๆ แต่เรื้อรัง ทำให้เกิดพังผืดในตับ นำไปสู่ภาวะตับแข็งและมีโอกาสเกิดมะเร็งตับในที่สุด

เชื้อไวรัสตับอักเสบซีติดต่อกันอย่างไร ?
1. จากการรับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่
2. การสักหรือเจาะตามร่างกาย
3. การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน โดยเฉพาะผู้ที่ติดยาเสพติด
4. การติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการติดต่อจากมารดาไปสู่ทารก พบได้น้อยมาก
5. ยังไม่มีหลักฐานว่าการรับประทานอาหารร่วมกัน หรือการทำงานด้วยกันตามปกติ จะทำให้ติดต่อได้
การตรวจวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบซี ทำได้โดย
1. การตรวจการทำงานของตับ ซึ่งบ่งถึงการอักเสบของตับ
2. ตรวจหาหลักฐานของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โดยการตรวจ anti-HCV หากให้ผลบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อ และตรวจหา HCV RNA ซึ่งจะบอกถึง
ปริมาณไวรัสซี นอกจากนั้น การตรวจสายพันธุ์ของไวรัสจะมีความสำคัญต่อการเลือกยาและระยะเวลาในการใช้ยารักษา
3. การตรวจพยาธิสภาพของตับ เพื่อประเมินการอักเสบและพังผืดในตับ ทำได้โดยการเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับหรือใช้เครื่องมือพิเศษสำหรับวัดปริมาณพังผืด (ความยืดหยุ่น) ในเนื้อตับ
4. การตรวจ ultrasound และการตรวจเลือดหาสาร alpha-fetoprotein เพื่อประเมินภาวะตับแข็งและมะเร็งตับ

ยาสำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ยาที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์และเป็นมาตรฐานการรักษาในปัจจุบัน คือ ยาฉีด Pegylated interferon สัปดาห์ละ 1 ครั้งร่วมกับการรับประทานยา Ribavirin ทุกวัน โดยได้รับยาต่อเนื่องเป็นเวลา 24 – 48 สัปดาห์ อัตราการตอบสนองอาจสูงถึงร้อยละ 90 ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสที่เป็น

เป้าหมายของการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี
หายขาด ไวรัสตับอักเสบซีหมดไปและไม่กลับมาเป็นอีกภายหลังหยุดยา มีโอกาสหายขาดได้ในบางราย
ลดปริมาณไวรัสตับอักเสบซีลงมาก การอักเสบของตับลดลง ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะตับแข็งและตับวาย ตลอดจนลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ
สิ่งที่คุณทำได้ เพื่อต้าน “ไวรัสตับอักเสบ ซี”
ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ทำได้หรือไม่
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับสร้างภูมิป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี หลักสำคัญคือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ เช่น  หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมหรือเข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการรับเลือดโดยไม่จำเป็น คู่สมรสที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถอยู่ร่วมกันได้ตามปกติ มารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถให้นมบุตรได้
​ที่มาข้อมูล: theworldmedicalcenter

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : http://thaivirusc.com ยิ้ม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่