พานไหว้ครู ทำไมมีรูปแบบแปลกๆที่ไม่ใช่พาน

โลกในยุคปัจจุบันที่ถูกครอบงำด้วยกระแสบริโภคนิยม และระบบทุนนิยม  “พิธีไหว้ครู” ดูจะกลายเป็นเพียงพิธีกรรมที่แสดงความเคารพ  และเชื่อมโยงสายใยแห่งความผูกพันระหว่าง ครูและศิษย์ ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น  เพราะมีหลายสิ่งที่ทำให้มองเห็นได้ว่าการไหว้ครูเป็นสิ่งที่ต้องทำ  ปนเปไปกับการตั้งใจทำ สังเกตได้จากพานไหว้ครูที่มีการประดิดประดอยสร้างสรรค์จนเกินงาม  เกินความพอดี และไม่ได้มีความหมายที่สื่อได้ ผนวกกับความสำรวมในพิธีการที่เป็นความสำรวมระยะสั้นและสำรวมเพราะถูกบังคับทำให้ดูไม่สง่างามสมกับเครื่องแบบนักเรียน   มนต์เสน่ห์แห่งพิธีไหว้ครูจึงดูเสื่อมคลาย  ไม่มีภาพตรึงใจ เช่น ภาพในอดีตที่เด็กๆบรรจงจัดกรวยดอกไม้ และถือมาไหว้ครูด้วยความระมัดระวังไม่ให้ชอกช้ำก่อนถึงมือครู  แต่กลับมีภาพที่ไม่ถูกใจ เช่น  การแข่งขันระดมทุนว่าของใครจะสวยกว่ากัน อย่างขาดการยั้งคิด ที่แย่กว่าก็คือรูปแบบของพานที่ไม่ใช่พานแต่เป็นโตกขนาดใหญ่   ภาพผลไม้ฟักทอง  สับปะรด  หัวแครอทแกะสลัก  ตุ๊กตาเครื่องปั้นดินเผาอ้าปากกว้าง อยู่ในตะกร้า  กระเช้า กระบุง ที่ไม่ใช่พานไหว้ครู  ทั้งที่ได้รับอบรมสั่งสอนไปก่อนแล้วแต่ก็ยังมีให้เห็นทุกปี

                      จากการได้อยู่ในพิธีไหว้ครูมากว่า 40 ปี และในทุกๆปีก็ได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง ได้พบเห็นทั้งสิ่งที่ประทับใจ แลขัดใจ  จึงนำมาบันทึกไว้ เพื่อเป็นการ  รำลึกถึงครู และพิธีไหว้ครูที่ดูง่ายงามในอดีต และคาดหวังให้คนมีครูทุกคนช่วย  กันอนุรักษ์พิธีไหว้ครู และบรรยากาศการไหว้ครูที่ดูงดงาม ให้เป็นพิธีกรรมที่ทำขึ้นเพื่อบูชาครูจากใจที่บริสุทธิ์สดสวย ด้วยการช่วยกันจัดใจใส่พานให้เป็นพุ่มธูปเทียนดอกไม้หลากสีและสิ่งอันมีความหมาย ที่สื่อได้ถึงการไหว้ครู อันเป็นประเพณีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ คือ ดอกมะเขือ  ดอกเข็ม หญ้าแพรก และข้าวตอก ให้เป็นมนต์ขลังเชื่อมโยง ครูกับศิษย์ ประสานถ้อยคำที่เปล่งออกมาจากใจว่า  “ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์ด้วยใจนิยมบูชา  ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพาปัญญาให้เกิดแตกฉาน”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่