ถ้าหากว่า "เจ้าสาวในสายลม" ของ ว.วินิจฉัยกุล ถูกนำมาทำเป็นละคร ?

เรื่องย่อ

“โอ๊ย! ขำ สุภาพบุรุษ...เออ! ใช่ สุภาพบุรุษเลยพูดไม่ได้

เธอพูดถูกแล้ว จำไว้ก็แล้วกัน สุภาพบุรุษเขาไม่กล้าบอกผู้หญิง

ว่าผมไม่เอาคุณแล้วนะครับ”

ชลัยหน้าร้อนวาบ หล่อนเข้าใจความหมายของรสสินี

ความเข้าใจนั้นเท่ากับถูกตบหน้าฉาดใหญ่

“พี่ปรียังไงก็เลือกฉัน ฉันเป็นคนที่เขาจะแต่งงานด้วย”

รสสินีลุกขึ้นยืน สีหน้าบอกอารมณ์เบื่อหน่ายที่จะพูดด้วย

“ก็ยังไม่ได้แต่งไม่ใช่หรือ เอาละ พูดกันไปก็ไม่รู้เรื่อง

เลิกพูดดีกว่า โมโหกันเปล่า ๆ นี่แน่ะชลัย ตัวจะดิ้นยังไงก็ดิ้นไปเถอะ

เราก็เข้าใจนะว่าตัวอยากเป็นเจ้าสาวเต็มทน ถ้าไม่แต่งเดี๋ยวก็ไม่มีโอกาสอีก

แต่เราจะบอกให้เอาบุญ ชีวิตมันไม่ได้จบแค่วันแต่งงาน

ก่อนแต่งเขายังมีคนอื่น แต่งแล้วมีทางเหรอเขาจะมีตัวคนเดียว

หรือจะนอนกอดทะเบียนสมรสเอาไว้ เห็นคุ้มค่าก็ตามใจ”

.

บันทึกหลังอ่าน

.

หากคุณกำลังหานิยายจากนักเขียนชั้นครู ที่เล่าเรื่องได้อย่างรวมสมัย และมีขนาดไม่หนาไม่บางมาก กำลังพอดี อ่านรวดเดียวจบ เราก็ขอแนะนำเรื่องนี้... “เจ้าสาวในสายลม” ผลงานเรื่องล่าสุดของ ว.วินิจฉัยกุล

.

“เจ้าสาวในสายลม” เปิดเรื่องด้วยการพบกันโดยไม่ได้ตั้งใจของสองสาว (อดีต) เพื่อนรัก ในปี 2560 จะนั้นจึงค่อยย้อนอดีตไปยังปี 2520 ผ่านความทรงจำของนางเอกของเรื่อง “ชลัย” เรื่องราวชีวิตเธอ ผู้หญิงธรรมดาที่ผิดหวังในรักครั้งแรก ต้องฝ่าฟันอุปสรรค ปัญหานานัปการกว่าจะพบความสุขในรักที่แท้จริง รักที่เป็นของเธอ

.

หากอ่านงานระยะหลังของว.วินิจฉัยกุล ครบทุกเรื่องที่ออกใหม่ เรามักจะพบประเด็นหรือพล็อตเรื่องบางส่วนที่คล้ายคลึงหลายเรื่องติดกัน ซึ่งกลายเป็น “ขนบ” ของผู้เขียน ในเรื่องนี้เช่นกัน ด้วยเนื้อเรื่องที่ทำให้เรานึกถึงกลิ่นอายเรื่องก่อนๆ ของผู้เขียน เช่น นางเอกมีผู้ชายหลายคนเข้ามาพัวพันในเรื่องความรัก (ชายแพศยา, ความฝันครั้งที่สอง) บ่อยครั้งที่นางเอกของผู้เขียน “สตรอง” เมื่อผู้ชายไม่ดีก็พร้อมจะสลัด (เจ้าบ้านเจ้าเรือน, มาลัยสามชาย) หรือนางร้ายมักจะเป็นตัวละครลักษณะเดียว สวยเย้ายวนใจชาย และมาเพื่อแย่งชิงผู้ชายของนางเอก (ราตรีประดับดาว,จุดดับในดวงตะวัน, มาลัยสามชาย)

.

แต่ในความเหมือนยังคงมีความต่าง รายละเอียดปลีกย่อย ความรู้สึกที่ได้หลังการอ่าน แก่นเรื่อง ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อนั้นต่างกัน เราจึงอ่าน “เจ้าสาวในสายลม” ได้อย่างสนุกและเข้าใจสารที่ผู้เล่าเรื่องต้องการสื่อ

.

“เจ้าสาวในสายลม” ดำเนินเรื่องผ่านความทรงจำของ “ชลัย” เริ่มต้นในปี 2520 เธออายุ 20 ปี เป็นผู้หญิงผิวเข้ม ที่หน้าตาธรรมดา ไม่มีอะไรโดดเด่น ยิ่งเมื่อเธอเป็นเพื่อนสนิทกับ “รสสินี” ที่ขาว สวย น่ารัก ร่าเริง เป็นจุดสนใจแก่ชายทุกคน ก็ยิ่งทำให้ชลัยดู “ไม่สวย” ยิ่งกว่าเดิม

.

รักครั้งแรกของชลัย เธอเป็นฝ่ายรักเขาก่อน ผู้ชายที่แสนดี ผู้ชายที่จริงใจ...ผู้ชายที่แอบรักเพื่อนสาวของเธอข้างเดียว ทันทีทันใดที่รสสินีตัดสินใจเลือกผู้ชายที่เธอคิดว่าดีกว่า ชลัยเป็นคนเดียวที่อยู่เคียงข้าง “ปริเยศ” และด้วยความที่บอกเล่าผ่านชลัย เราจึงมองเห็นความน่ารักของพี่ปรี ความทะเล้น ความอารมณ์ดี จึงเข้าใจว่าทำไมชลัยถึงรักผู้ชายคนนี้ ช่วงชีวิตของชลัย เธอไม่เคยนึกถึงความรักมาก่อน ด้วยความเกิดมาไม่สวย ครอบครัวฐานะยากจน โตมาในสลัม เป้าหมายสูงสุดของเธอมีเพียงการทำงาน ขยันขันแข็ง เพื่อมีเงินหาเลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงน้องทั้ง 4ชีวิต

.

แต่ปริเยศเข้ามาทำให้โลกของเธอเป็นสีชมพู เชื่อว่าคนอ่านจะต้องหลงรักเขาไปพร้อม ๆ กับชลัย จนกระทั่งวันที่โลกสีชมพูของเธอกลายเป็นสีหม่นในพริบตา เมื่อรสสินีหย่ากับสามี ใจของปริเยศก็กลับไปอยู่ที่เพื่อนสาวแสนดีของเธอดังเดิม วิวาห์ที่จะถึงในเร็ววันก็พังภินท์ไปต่อหน้าต่อตา หมดสิ้นพร้อมกับความรักที่พี่ปรีมีให้ชลัย และในที่สุดชลัยจึงกลายเป็น “เจ้าสาวในสายลม” ความฝันในการเป็นเจ้าสาวสูญสลายไปในพริบตา

.

ด้วยความที่เรื่องไม่หนามาก การดำเนินที่รวดเร็ว กระชับ ความรู้สึกขณะอ่านจึงได้หลายอารมณ์มาก จากที่รักปริเยศ ทันทีทันใดก็กลายเป็นกลับกลายเกลียดจากผู้ชายแสนดีก็กลายเป็นผู้ชายที่โง่เขลาและเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ

.

ฉากหลังของเรื่อง ดำเนินในช่วงปี 2520-2525-2535 แต่เนื้อหายังคงร่วมสมัย เพราะขึ้นชื่อว่า “ความรัก” บาดแผล รอยร้าวจากความรัก ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าใด ก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม อ่านแล้วให้ความรู้สึกว่าเป็นเรื่องของคนใกล้ตัว ฉากที่สำคัญอีกแห่งคือ ร้านตัดชุดเจ้าสาว เปิดเรื่องที่นี่ และมีเหตุการณ์สำคัญมากมายที่ชลัยประสบพบเจอที่นี่

.

ชอบการสร้างตัวละคร “ชลัย” ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีความรู้สึก มีจิตใจ ถึงแม้จะเกิดมาไม่สวย เกิดมาจน แต่เธอมี “ครอบครัว” ที่ดี พ่อแม่ที่สอนแต่สิ่งดี ๆ ให้เธอ ต่อให้จะลำบากยากจนแค่ไหน แต่เราสำผัสได้ว่าครอบครัวนี้อบอุ่นมาก ชลัยโชคดีที่เกิดมามีพ่อแม่ที่ดี มีน้องทั้งสี่คนที่ดี ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้เธอ ทำให้ชลัยซึมซับคำสอนเหล่านี้ กลายเป็นคนขยันขันแข็ง ตั้งใจทำงาน แม้บางครั้งความผิดหวังในรัก จะทำให้เธอ “เสียสูญ” ไปบ้าง ทั้งการเสียศูนย์จากการเสียสติ และเสียสูญจากการยอมเสียศักดิ์ศรี แต่เธอก็ลุกกลับขึ้นมายืนได้ด้วยลำแข้งของเธออีกครั้ง

.

ช่วงที่ชลัยเพิ่งผิดหวังในรักหมาดๆ ผู้เล่าเรื่องทำให้เรารู้สึกสงสารและเห็นใจเธอมาก ความรักทำให้เธอทำได้ทุกอย่าง เสียศักดิ์ศรี ง้องอน อ้อนวอนให้เขากลับมา แต่สุดท้าย... “แต่คนจะไปก็ต้องไป รักเท่าไหร่แต่ฉันคงทำได้แค่นี้” ถ้าอ่านเรื่องนี้ไปแล้วฟังเพลง ความเจ็บปวด ของ ปาล์มมี่ ไปด้วย จะอินมาก-ก-ก-ก

.

เพื่อชูคาแรคเตอร์ของชลัยทั้งความดีของเธอ และความน่าสงสารให้คนอ่านได้เห็นใจ ผู้เล่าเรื่องจึงได้สร้างตัวละครขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง เป็นตัวละครคู่ขนาน เป็นตัวละครคู่เปรียบกับชลัย นั่นคือ “รสสินี” เพื่อนสนิทของชลัย ที่พรั่งพร้อมด้วยรูปสมบัติ หน้าตาสะสวยสะดุดตาเย้ายวนใจชาย ฐานะครอบครัวที่ถือว่ามั่นคงกว่าชลัย รสสินีมีในสิ่งที่ชลัยไม่มี ทว่าสิ่งดี ๆ ที่ชลัยมี ก็หาไม่เจอจากตัวรสสินีเช่นกัน ความงามเพียงภายนอก ทว่านิสัยที่เอาแต่ใจตัวเอง เห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ ทำให้ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไร ความงามของเธอก็ยิ่งถูกมองข้าม กลายเป็นความน่ารังเกียจ ทั้งนี้อยู่ที่การเลี้ยงดูจริง ๆด้วยการที่มารดาและพี่สาวประคบประหงม ใจอ่อนกับความน่ารักของรสสินี จึงไม่ต่างอะไรจากการ “รังแก” รสสินี ทำให้เจ้าหล่อนกลายเป็นคนเช่นนี้

.

ช่วงครึ่งแรก การเล่าเรื่องเป็นอะไรที่พอจะเดาได้ ว่าเหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้น แต่ความโดดเด่น ความน่าสนใจคือการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกของชลัยด้วยถ้อยคำธรรมดา แต่เมื่อร้อยเรียงกันแล้ว ทำให้เรารู้สึกสงสารและเห็นใจเธอมาก เรียกได้ว่าคอดราม่าไม่ควรพลาดเรื่องนี้

.

แต่โชคชะตาก็ไม่ได้ใจร้ายกับชลัยมากนัก เพราะช่วงครึ่งหลัง หลังจากที่ชลัยตัดสินใจหนีความเจ็บปวดนี้ไปไกลถึงระนอง ที่นั่นก็ทำให้เธอได้พบกับความรักครั้งใหม่

.

ช่วงครึ่งหลังการเล่าเรื่องสนุกกว่าครึ่งแรก น่าสนใจและเดาทางไม่ถูก ว่าชีวิตของชลัยจะเป็นอย่างไรต่อไป ความรักของเธอกับ “สรวง” นายจ้างของเธอ ก็เริ่มมาจากความเป็นลูกจ้าง ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง พูดจาเอ็งข้าตามประสาคนที่สนิทกันนำมาสู่ความเข้าใจกันและกัน เป็นความรักที่แม้จะไม่หอมหวาน สวยงามราวกับเทพนิยายเหมือนรักครั้งแรก แต่เป็นรักที่มั่นคง ยาวนาน รักของสรวงที่เกิดจากความดีในจิตใจของชลัย เป็นความงามชนิดที่ว่าหากใช้เวลามองเพียงชั่วครู่ ย่อมไม่มีทางสัมผัสได้

.

ชอบความสัมพันธ์ของชลัยกับหนูดาวน้อย (ลูกสาวนายสรวง) ไม่แปลกใจว่าทำไมหนูน้อยคนนี้ถึงยอมรับ “พี่น้ำ” ให้กลายเป็นแม่เลี้ยงได้ จุดพีคที่สุดสำหรับเรา คือเหตุการณ์ยื้อยุดฉุดกระชากระหว่างชลัยกับภรรยาของสรวง ชลัยผู้ไม่ยอมให้น้องดาวน้อยออกไปกับแม่ผู้อารมณ์ร้าย ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสรวงจึงมอบทั้งหัวใจให้กับผู้หญิงธรรมดา ๆ คนนี้ (แอบกระซิบก่อนว่า นางเอกเราไม่ได้ทำผิดศีลธรรม ไม่ได้แย่งสามีใครแน่นอนจ้า)

.

สุดท้ายแล้ว “เจ้าสาวในสายลม” ก็เป็นนิยายอีกเรื่องที่อ่านจบแล้ว จะได้แนวทางที่ดีในการดำเนินชีวิต ดังเช่นชลัย ผู้หญิงที่กลายเป็น “เจ้าสายในสายลม” แต่เมื่อเหตุการณ์ร้าย ๆ เกิดขึ้นแล้ว ก็ขอให้มันพัดผ่านไปกับสายลมนั้นเช่นกัน อย่างไรคนเรายังต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป หากคิดดีทำดี มีสติเป็นเครื่องมือนำทางชีวิต ท้ายสุดแล้วย่อมพบคนที่ดีเป็นคู่ชีวิต

.

ดอกกุหลาบมีทั้งความหอมหวานและหนามแหลมคม...ความรักก็เช่นกัน จดจำความงดงาม ความหอมหวานของความรักไว้ในใจ

.

ส่วนหนามแหลม ก็ลิดรอนออกไปเสียให้หมด เพื่อมิให้มันบั่นทอนหรือทำร้ายจิตใจเรา




ถ้าหากว่า "เจ้าสาวในสายลม" ของ ว.วินิจฉัยกุล ถูกสร้างเป็นละคร ดูจากเว็บ https://www.bloggang.com/m/mainblog.php?id=aumsom&month=02-04-2018&group=6&gblog=26

เป็นแนวแฟนตาซีหลงยุคของสองสาว (อดีต) เพื่อนรัก ที่ไปยุคเมื่อ 40 ปีก่อน ยุครุ่นพ่อรุ่นแม่สมัยหนุ่มๆสาวๆ

ตัวละคร

- ชลัย (ตามบทเป็นผู้หญิงผิวเข้ม หน้าไม่สวย หน้าธรรมดา ถ้าช่อง 3 น้ำตาล พิจักขณา หรือ ซิปปี้ ศิรินทร์ ,ถ้าช่องวัน นุ่น ศิรพันธ์ หรือ จุ๋ย วรัทยา , ถ้าช่อง 7 ปุ๊กลุค ฝนทิพย์ )

- รสสินี

- ปริเยศ

- สรวง (พระเอก เป็นนายจ้างของชลัย เป็นพ่อม่ายลูกติด อายุ 30 กว่า ถ้าช่อง 3 โป๊ป หรือ เคน ธีรเดช, ถ้าช่องวัน ป้อง ณวัฒน์ หรือ ตุ้ย ธีรภัทร, ถ้าช่อง 7 เวียร์ ศุกลวัฒน์ หรือ เอส กันตพงษ์)

- หนูดาวน้อย (ลูกสาวของสรวง)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่