หนึ่งด้าวฯ ขัดใจบทเหลือเกิน กับคำสั่งหยุดยิงปืนใหญ่ที่พระยาตากโดนสั่ง

เอาจริงๆผมไม่เชื่อประวัติศาสตร์จุดนี้เลย ว่าพระยาตากโดนสั่งให้หยุดยิงเนื่องจาก บรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามและบรรดาคนในวัง ตกใจเสียงปืนใหญ่
ผมว่าพระเจ้าเอกทัศน์และบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ในวังคงไม่ตื้นเขินปานนี้หรอกครับ หรือท่านอื่นคิดว่าไงครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 16
เรื่องเกี่ยวกับการห้ามยิงปืนใหญ่นั้น พบหลักฐานลายลักษณ์อักษรในเอกสารชื่อ “จดหมายหลวงอุดมสมบัติ” ซึ่งเขียนในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยหลวงอุดมสมบัติ (จัน) เป็นข้าราชการกรมพระคลังสินค้า ในราว พ.ศ.๒๓๘๐ เกิดกบฏแขกหัวเมืองปากใต้แถบไทรบุรี จึงได้รับมอบหมายจากพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) เจ้ากรมพระคลังสินค้า ให้คอยฟังราชการเกี่ยวกับเมืองปากใต้ที่ได้ปรึกษากันอยู่ในกรุงเทพ แล้วเขียนส่งไปรายงานพระยาศรีพิพัฒน์ซึ่งเป็นแม่ทัพลงไปปากใต้ โดยในจดหมายนี้ได้จดกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้อย่างละเอียดหลายตอน

เรื่องการลดดินปืนลงเพราะกลัวนางสนมตกใจปรากฏอยู่ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติฉบับที่ ๑ ลงวันที่ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๐๐ (๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๘๑) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงทราบเรื่องการศึกที่เมืองปากใต้ที่จัดการกันอย่างไม่เป็นระบบเหมือนไม่มีความรู้ปล่อยให้กบฏกำเริบ จึงตรัสเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสมัยเสียกรุงศรีอยุทธยาครั้งที่สองให้เจ้านายและข้าราชการฟัง

"แล้วทรงตรัสกับกรมหลวงรักษรณเรศว่า ฟังดูการบ้านเมืองข้างปากใต้ทุกวันนี้ ดีแต่คิดหาเงินหาทอง จะเอาผลประโยชน์ใส่ตัวไว้ให้มั่งมีไปเสียหมดเท่านั้นกันเอง การที่จะคิดทำทัพศึกรักษาบ้านเมือง ไว้ชื่อหน้านั้นไม่มีเลย ทำอย่างนี้นานไปการวิชาทัพศึกก็จะเสื่อมสูญไปเสียสิ้น จะหาคนรู้การทัพการศึกก็จะไม่มี จะหมดคนลงทุกชั้น ครั้นหมดคนรู้การทัพการศึกลงแล้วมีคราวทัพศึกมาก็จะคว้าไขว่เปล่าๆ ทั้งนั้น แต่จะหาคนยิงปืนเปนสักคนหนึ่งก็จะไม่มี ลงจนชั้นนี้แล้วที่ไหนจะเปนบ้านเปนเมืองไปได้ มันก็ร่ำเอายับเยินไปเปนบ่าวมันเสียสิ้น

แล้วทรงตรัสเล่าการซึ่งสิ้นคนทำทัพศึกในพงษาวดารลำดับกระษัตรมาจนถึงกระษัตรแผ่นดินกรุงฯ ซึ่งเสียกับพม่า เปนใจความว่าครั้งพม่ายกมาตั้งค่ายอยู่ในวัดแม่นางปลื้มนั้น จะหาคนรู้ยิงปืนเป็นสู้รบกับพม่าก็ไม่มี ศูนย์ทะแกล้วทหารเสียหมด รับสั่งให้เอาปืนปะขาวกวาดวัดขึ้นไปยิงสู้รบกับที่หัวรอ ต่างคนต่างก็ตื่นตกใจเอาสำลีอุดหูกลัวเสียงปืน จะดังเอาหูแตก ว่ากล่าวกันให้ใส่ดินแต่น้อย ครั้นใส่แต่น้อยกำหนดจะยิงข้างน้ำข้างในก็พากันร้องวุ่นวาย เอาสำลีจุกหูไว้ กลัวหูจะแตก ก็รับสั่งให้ผ่อนดินให้น้อยลง จะยิงแล้วไม่ยิงเสีย แต่เวียนผ่อนลง ๆ ดินก็น้อยลงไปทุกที ครั้นเห็นว่าน้อยพอยิงได้แล้วก็ล่ามชนวนออกไปให้ไกลทีเดียว แต่ไกลอย่างนั้นคนยิงยังต้องเอาสำลีจุกหูไว้ กลัวหูจะแตก ครั้นยิงเข้าไปเสียงปืนก็ดังพรูดออกไป ลูกปืนก็ตกลงน้ำ หาถึงค่ายพม่าไม่

จึงตรัสถามท้าวพระกรุณา (พระยาศรีพิพัฒน์-ผู้เขียน) ว่า เปนกระไรรู้ฤๅไม่ วัดแม่นางปลื้มกับหัวรอนั้นใกล้ไกลกันเท่าไหร่นักหนา

ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ทราบอยู่แล้ว ค่ายที่วัดแม่นางปลื้มกับศีศะรอก็ตรงกันข้าม

รับสั่งต่อไปว่า สิ้นคนรู้วิชาทัพ ก็จะเป็นไปอย่างนี้นั่นเอง"



สรุปจากเนื้อความเรื่องการยิงปืนใหญ่ในกระแสพระราชดำรัสของรัชกาลที่ ๓ ก็มีเพียงว่าคนในตอนนั้นไม่มีความรู้ในเรื่องการใช้ปืนที่เหมาะสม และมีการลดดินปืนลงเพื่อไม่ให้ฝ่ายในตกใจ จนสุดท้ายก็ยิงไม่ถึงค่ายพม่า

เรื่องนี้ไม่ปรากฏบันทึกไว้ในพงศาวดาร (อาจจะเคยมีฉบับที่มีความดังกล่าวในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ปัจจุบันหาไม่พบ) สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรื่องที่เล่าขานกันมาตั้งแต่ช่วงเสียกรุง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็น่าจะทรงฟังจากผู้ใหญ่แต่ก่อนเล่าขานมาอีกต่อหนึ่ง เพราะพระองค์ทรงมีพระชนม์ไม่ทันสมัยกรุงศรีอยุทธยา ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะมีการเสริมแต่งจากการเล่าสู่กันปากต่อปากเมื่อเวลาผ่านไป


อีกเรื่องหนึ่งปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี (พระขนิษฐาของรัชกาลที่ ๑) กล่าวว่ามีการประจุปืนแต่มีคำสั่งไม่ให้ยิงสู้ นอกจากนี้มีครั้งหนึ่งพระยาตาก (สิน) ยิงปืนโดยไม่ขออนุญาตศาลาลูกขุนก่อนจึงถูกคาดโทษ

“...พลในเมืองขึ้นหน้าที่ประจำช่องเสมาเมืองถึง ๗๐๐,๐๐๐ ประจุปืนทุกหน้าที่มิให้ยิงสู้ข้าศึก แผ่นดินต้นอยู่หน้าวัดแก้ว ได้ยิงสู้พะม่าครั้งหนึ่ง ต้องคาดโทษไม่ให้ยิง ให้แจ้งสาลาก่อน”

ในจดหมายเหตุไม่ได้ระบุว่าเพราะเหตุใดถึงห้ามยิง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ว่าน่าจะเป็นเพราะอาวุธขัดสนไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและไม่มีความรู้เพียงพอ นอกจากนี้ก็คงเป็นเพราะข้างในที่ตื่นกลัวเสียงปืน

“เรื่องยิงปืนไม่เป็นในปลายกรุงเก่านี้ ดูเล่าต้องกันมากนัก เครื่องสาตราวุธเห็นจะขัดสนมาก อย่างไขว้เขวกัน มีปืนไม่มีลูก มีลูกไม่มีปืน อาวุธที่แจกจ่ายออกมาก็ชำรุดทรุดโทรม ปืนจะเอาไปยิงก็เกิดอันตรายเนือง ๆ แตกบ้าง ตกรางบ้าง ยิงไปออกบ้าง ยิงไม่ได้บ้าง เข็ดขยาดเห็นการยิงปืนยากเสียเต็มที คราวนี้ก็เลยกลัวไม่ใคร่จะมีใครกล้ายิงเองอยู่แล้ว ซ้ำเจ้านายและผู้ดีก็พากันสวิงสวายกลัวอะไรต่ออะไร ตั้งแต่ฟ้าร้องเป็นต้นไป เป็นปรกติของผู้ดีชั้นนั้น”


บางคนก็นำเรื่องนี้ไปโยงกับเรื่องในจดหมายหลวงอุดมสมบัติว่าเหตุที่ต้องขออนุญาตก่อนเพราะต้องรอนางสนมอุดหู ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานชัดเจน และในทางปฏิบัตินั้นดูเป็นไปได้ยาก เพราะว่าพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยาอยู่เป็นแรมปี มีการระดมยิงปืนใหญ่ไปมาแทบทุกวัน แม้แต่ผู้หญิงฝ่ายในที่ตื่นกลัวเสียงปืน พอนานวันเข้าก็ควรจะมีความชินขึ้นบ้าง


เมื่อนำหลักฐานฝั่งไทยมาเทียบกับหลักฐานฝั่งพม่าแล้วพบว่ามีความแตกต่างกันมาก โดยพระราชพงศาวดารพม่าระบุว่ากองทัพพม่าได้รับความยากลำบากในการบุกเข้าตีพระนครมาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมีการระดมยิงปืนใหญ่จากกำแพงเมืองมาตลอดจนกระทั่งใกล้ฤดูฝนกองทัพพม่าก็ยังเข้าถึงเชิงกำแพงกรุงไม่ได้

“หลายครั้งก็ตีเข้าไปไม่ได้เพราะคูกรุงศรีอยุทธยาน้ำลึกแลกว้าง ต้องข้ามน้ำไปเปนที่ลำบาก กำแพงเมืองก็สูงแน่นหนา แล้วผู้ที่รักษาน่าที่เชีงเทีนก็เอาปืนใหญ่น้อยยิงลงมาดุจฝนแสนห่า เพราะฉนั้นพลทหารเข้าไม่เถีงเชีงกำแพงเมืองได้เลย”

แม่ทัพนายกองพม่าหลายคนเสนอให้ถอนทัพกลับเพื่อหนีน้ำ แต่มหานรทาแม่ทัพใหญ่ปฏิเสธ และยังตั้งมั่นอยู่ได้จนกระทั่งน้ำลดด้วยการย้ายไปตั้งค่ายบนที่ดอน ต่อเรือรบจำนวนมาก รวมถึงให้ลำเลียงเสบียงอาหารลงมาอย่างต่อเนื่องเพื่อทำศึกระยะยาว จนกระทั่งเสียกรุงรวมเวลาทั้งสิ้น ๑๔ เดือน

ซึ่งเมื่อเทียบกับสงครามที่ข้าศึกประชิดถึงกำแพงเมืองแล้ว ครั้งนี้กลับเป็นครั้งที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้นานที่สุด แสดงให้เห็นว่าการอาศัยปราการธรรมชาติในการป้องกันพระนครของอยุทธยานั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าครั้งก่อนๆ เลย

และในพงศาวดารพม่าระบุว่าพม่าใช้ยุทธวิธีขุดอุโมงค์ไปเผารากกำแพงพระนครเพื่อให้กำแพงพังทลาย ด้วยเหตุผลหนึ่งอยุทธยามีปืนใหญ่ที่ยิงมาจากกำแพงพระนครและหอรบ ตามที่เนมโยสีหปเต๊ะแม่ทัพใหญ่ให้เหตุผลไว้ว่า

“ซึ่งเราจะให้พลทหารเข้าตีกรุงศรีอยุทธยาโดยกำลังเล่าพลทหาร เราก็จะได้รับความเจ็บปวดล้มตายมากนัก เพราะกรุงศรีอยุทธยานี้เปนกรุงใหญ่โตมั่นคง แลคูเมืองกว้างน้ำก็ลึกกับได้ก่อสร้าง ๕๐ ป้อม ค่ายคูประตูหอรบขึ้นไว้ใหม่ แล้วได้เอาปืนใหญ่น้อยสาตราอาวุธขึ้นรักษาไว้โดยหลายซับหลายซ้อนแน่นหนามั่นคงนักจะกระทำการมิถนัด เพราะฉนั้นเราเห็นว่า ให้พลทหารทั้งปวงขนฟืนเข้าไว้ในอุโมงค์ที่เราสั่งให้ขุดไว้ ๒ ทางริมกำแพงกรุงศรีอยุทธยานั้นให้เต็ม แล้วเอาไฟเผารากกำแพงเมืองๆ ก็จะซุดแตกร้าว ฝ่ายเราก็จัดให้พลช้างพลม้าพลทหารทั้งปวงตีเข้าไปให้พร้อมเพรียง”


ภาพที่พงศาวดารพม่าให้คือพม่าบาดเจ็บล้มตายด้วยปืนของอยุทธยามาก ดูขัดแย้งกับหลักฐานฝั่งไทยว่ามีการห้ามยิงปืนหรือยิงไม่ถึงอยู่บ่อยครั้ง

ในความเป็นจริงเรื่องที่ว่ามีการให้ลดดินปืนหรือเวลายิงต้องขออนุญาตศาลาลูกขุนก่อนนั้นพิจารณาแล้วมีความเป็นไปได้ แต่ไม่น่าจะเกี่ยวกับเพราะนางสนมตกใจอย่างที่กล่าวกัน แต่จะขอวิเคราะห์ดังต่อไปนี้ครับ

อย่างที่กล่าวไปมามีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ากรุงศรีอยุทธยาสามารถอาศัยปราการธรรมชาติป้องกันพระนครได้อย่างเข้มแข็งมาจนพ้นช่วงเวลาน้ำหลาก ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าการป้องกันตนเองของอยุทธยานั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าสงครามครั้งก่อน

แต่ด้วยเหตุที่กองทัพพม่าไม่ได้ถอยหนีน้ำไปเหมือนศึกที่ผ่านๆ มาทำให้อยุทธยาตกอยู่ในสภาพถูกปิดล้อมอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถลำเลียงเสบียงหรือยุทธปัจจัยต่างๆ เข้ามาเสริมได้ ซึ่งก็มีหลักฐานร่วมสมัยของบาทหลวงฝรั่งเศสรายงานถึงในระยะต้นของการปิดล้อมว่า “เมื่อปี ค.ศ.๑๗๖๖ (พ.ศ. ๒๓๐๙) พม่า ได้สร้างป้อมล้อมกรุงไว้ ๓ แห่ง แต่ถึงดังนั้นเสบียงอาหารในกรุงก็ยังบริบูรณ์ จะมีคนตายด้วยอดอาหารก็เพียงคนขอทานเท่านั้น”

แต่หลังจากผ่านช่วงน้ำลดแล้วพบว่าในพระนครเกิดภาวะขาดแคลนเสบียงอาหารอย่างหนัก มีผู้คนอดอาหารจนตายจำนวนมาก และมีคนในพระนครที่ลอบหนีออกจากเมืองไปที่ค่ายพม่าจำนวนมากเพื่อขออาหารกิน โดยในพงศาวดารพม่าระบุว่าในช่วงท้ายของสงครามมีพลเมืองอยุทธยาหนีมาเข้ากับพม่าทุกวัน

สำหรับของที่ต้องใช้เป็นประจำอย่างดินปืน ในสภาวะที่ถูกปิดล้อมอยู่เช่นนั้นยิ่งยิงใช้ยิงข้าศึกก็มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ โดยในระยะแรกของช่วงปิดล้อมน่าจะมีในปริมาณที่เพียงพอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็อัตคัดลง จึงน่าจะเป็นด้วยเหตุนี้ที่มีการให้จำกัดจำนวนดินปืนลง หรือมีการให้ขออนุญาตศาลาลูกขุนก่อน เพราะมีดินปืนจำกัดจึงไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ โดยเหตุการณ์ให้ลดดินปืนหรือให้ขออนุญาตควรจะปรากฏในช่วงหลังน้ำลดเป็นต้นมา

อีกประการหนึ่ง พบหลักฐานว่ามีการใช้ปืนและดินปืนอย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก อย่างในพงศาวดารไทยที่ระบุถึงการยิงปืนในช่วงน้ำหลากว่า “วันนั้นพม่าตั้งค่ายณะวัดภูเขาทอง พระสุริยภาซึ่งเปนนายปอ้มซัดกบให้ประจุปืนมฤษยูราชสองซัดลูกยีงไปนัดหนึ่งปืนก็ราวราล”

อีกตอนกล่าวถึงการยิงปืนในช่วงก่อนเสียกรุงไม่นานว่า “ฝ่ายข้างในกรุงให้ชักปืนปราบหงษาออกไปตั้งรีมท่าทรายกระสุนแรกประจุดินน้อยต่ำไปถูกตะลิ่ง ครั้นประจุะดีนมากขึ้นโดงข้ามวัดศรีโพไป”

ทั้งสองครั้งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าแม่ทัพนายกองในขณะนั้นไม่มีความรู้เพียงพอในการคำนวณดินปืนอย่างเหมาะสม ซึ่งก็สอดคล้องกับที่รัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๕ ทรงวินิจฉัยไว้ว่า “จะหาคนรู้ยิงปืนเป็นสู้รบกับพม่าก็ไม่มี” และ “ยิงปืนไม่เป็น” ซึ่งการใช้ดินปืนอย่างไม่เหมาะสมทำให้เสียดินปืนไปโดยเปล่าประโยชน์ และควรจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีการให้ขออนุญาตศาลาลูกขุนก่อนยิงปืน เพื่อไม่ให้ใช้ดินปืนที่มีจำกัดอย่างพร่ำเพรื่อ


การที่กรุงศรีอยุทธยา “จะหาคนรู้ยิงปืนเป็นสู้รบกับพม่าก็ไม่มี” จนทำให้เกิดการใช้ดินปืนพร่ำเพรื่อก็มีความเป็นไปได้มาก เพราะอยุทธยาว่างศึกมาเป็นเวลานาน มีสงครามใหญ่ครั้งสุดท้ายก็ในสมัยพระเจ้าท้ายสระที่ยกทัพเข้าไปในกัมพูชาเมื่อ พ.ศ.๒๒๕๔ ก่อนเสียกรุงประมาณ ๕๖ ปีนอกจากนั้นมีการรบเพียงประปรายเท่านั้น จึงอาจไม่ได้มีการเตรียมพร้อมในการทำศึกสงครามมากเท่าที่ควร นอกจากนี้ในช่วงปลายกรุงศรีอยุทธยาเกิดการรบกันระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ มาก มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้รู้วิชาการศึกจะล้มตายไป


สรุปแล้ว การขออนุญาตศาลาลูกขุนก่อนยิงปืนใหญ่ รวมไปถึงการให้ลดดินปืนลง น่าจะเป็นเพราะกรุงศรีอยุทธยาถูกปิดล้อมต่อเนื่องยาวนานมาจนหลังฤดูน้ำหลาก ทำให้ยุทธปัจจัยที่ใช้ป้องกันพระนครน้อยลงเรื่อยและไม่อาจหามาเพิ่มเติมได้ จึงต้องป้องกันไม่ให้ใช้กระสุนดินปืนที่มีจำกัดอย่างพร่ำเพรื่อมากกว่าเพราะกลัวฝ่ายในตื่นตกใจครับ

https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1233710870025714:0
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่