ทำไม "คนอยุธยา" (คนในยุคกรุงศรีอยุธยา) จึงไม่มีใครรู้จัก "แผ่นดินไทย" "ประเทศไทย" "คนไทย" "ภาษาไทย"




คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ



(ภาษาโบราณ) สบายใจกงไหนก็กงนั้น = เอาที่สบายใจ​    

(ภาษาสวรรค์) ออเดอร์ = เมนู = รายการ​ อาหาร    

(ภาษาไทย) ไพร่คนนี้พูดไม่ได้...ไพร่คนนี้พูดได้คนเดียว = กูก็ไพร่ xึงก็ไพร่

(ภาษา...การะเกดวันละคำ) กูก็ลูกพระยานาหมื่น xึงจะให้กูเงียบปากรึ?

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

-------------------------------------------------------------------------------------------------------

ละคร เรื่อง “พรหมลิขิต” ใน EP 13 มีฉากหนึ่งที่ "พุดตาน" กับ "แม่กลิ่น" ปะทะกัน โดยมี "ยายกุย" ยืนอยู่ด้วย 


แล้ว "พุดตาน" (เบลล่า ราณี) พูดขึ้นว่า "...ที่นี่คือผืนแผ่นดินไทย คือประเทศไทย แล้วฉันก็เป็นคนไทยเหมือนกับเธอ..." 

"แม่กลิ่น" (น้ำตาล พิจักขณา) ถามกลับว่า "...#แผ่นดินไทย #คนไทย...ที่นี่แผ่นดินอยุธยา xึงเอาแผ่นดินไทยมาจากไหน หรือxึงไม่ใช่คนอยุธยา..." 

"ยายกุย" (ต๊งเหน่ง รัดเกล้า) พูดเสริมว่า "...ว่าอย่างไร แม่พุดตาน...ออเจ้าไม่ใช่คนอยุธยาฤา..." 


-------------------------------------------------------------------------------------------------------


จึงสงสัยว่า ในละคร เรื่อง “พรหมลิขิต” 


ทำไม "คนอยุธยา" (คนในยุคกรุงศรีอยุธยา) จึงไม่มีใครรู้จัก "แผ่นดินไทย" "ประเทศไทย" "คนไทย" "ภาษาไทย"

ทั้งที่ คุณหญิงผ่อง (มิ้งค์ ณัฏฐริณีย์) แม่ของแม่หญิงแพรจีน (น้ำฟ้า ธัญญภัสร์) พูดกับ ออกญาโกษาธิบดีจีน (ชาย ชาตโยดม) ว่าตัวเองเป็น "คนไทย"

แม้แต่ในละครเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ในยุคกรุงศรีอยุธยา เช่น "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว" หรือแม้แต่ ละคร เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ก็มีพูดถึง "คนไทย" 


แล้วชื่อ "แผ่นดินไทย" "ประเทศไทย" "คนไทย" "ภาษาไทย" มีมาตั้งแต่สมัยใด
 
 
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 13
บทละครค่อนข้างสับสนพอสมควรครับ เพราะในละครบุพเพสันนิวาสก็ใช้คำว่าไทยแบบชัดเจนหลายตอน   คุณหญิงภรรยาของพระยาโกษาธิบดีจีนก็บอกว่าตัวเองเป็นคนไทย


ในหลักฐานสมัยอยุทธยาถึงรัตนโกสินทร์มีการใช้งานคำว่า "ไทย" หรือ "ไท" มาโดยตลอดครับ  และเป็นคำที่มีหลักฐานชัดเจนว่าใช้งานแพร่หลายโดยทั่วไป คนไทยเรียกตนเองว่า "ไทย" มาตั้งแต่สมัยอยุทธยา

รายละเอียดอ่านได้ที่ "คำว่า ไท-ไทย ในสมัยอยุทธยา"
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/3357211281008985/



ในที่นี้ขอนำเสนอหลักฐานที่กล่าวถึงการใช้งานคำว่า "ไทย" ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์และยุคใกล้เคียงครับ

จดหมายเหตุราชอาณาจักรสยาม (Du Royaume de Siam) ของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินเข้ามาในสยามเมื่อ ค.ศ. 1687 (พ.ศ. 2230) รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ระบุว่า

        "ชาวสยามเรียกตนว่า ไทย (Tàï) แปลว่า อิสระ อันเป็นความหมายตามศัพท์ในภาษาของพวกเขาอยู่ในปัจจุบัน พวกเขาภูมิใจที่ใช้นามว่า ฟรังซ์ (Franc) อันเป็นนามที่บรรพบุรุษของพวกเราได้ถือใช้เมื่อสลัดแอกชาติโกลออกจากอำนาจปกครองของจักรวรรดิโรมัน. ผู้ที่รู้ภาษาพะโคยืนยันว่า สยาม แปลว่า อิสระ ในภาษานั้นเหมือนกัน ฉะนั้นพวกปอรตุเกสจึงน่า จะนำเอาคำๆ นี้มาใช้เรียกสยามก็เป็นได้ เพราะได้รู้จักรชาวสยามจากปากคำของชาวพะโค (มอญ)

       อนึ่ง นาวาร์แรต (Navarrete) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ พงศาวดารแห่งราชอาณาจักรจีน ตอนที่ ๑ บทที่ ๕ ว่า คำว่า สยาม ที่เขียน เสียน (Sian) นั้น มาจากคำสองคำ คือ เสียนโล้ (Sien Lô) แต่มิได้บอกไว้ว่าคำสองคำนี้หมายความว่ากระไร และมาจากภาษาไหน แม้จะได้สรุปเอาว่าเป็นคำที่ชาวจีนใช้เรียก  เมืองไทย (Meüang Tàï) จึงเป็นนามที่ชาวสยามใช้เรียกราชอาณาจักรสยาม (เพราะคำว่า เมือง แปลว่า ราชอาณาจักร) และคำ ๆ นี้ เขียนอย่างง่าย ๆ ว่า Muantay ปรากฏอยู่ในหนังสือของ แว็งซังต์ เลอะ บลังก์ (Vincent le Blanc) และในแผนที่ภูมิศาสตร์หลายแห่ง ว่าเป็นราชอาณาจักรหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกับพะโค แต่ แว็งซังต์ เลอะ บลังก์ คงไม่ทราบว่านั่นแล้วคือราชอาณาจักรสยาม เพราะคงมิได้เฉลียวใจว่าคำว่าสยามกับไทยนั้น เป็นคำสองคำที่มีความแตกต่างกัน แต่หมายถึงพลเมืองของประเทศเดียวกัน."




ลา ลูแบร์ กล่าวต่อว่า “อนึ่ง ชาวสยามที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนี้ เรียกตนเองว่า ไทยน้อย (Tàï-nôë, Siams-Petits) และตามที่ข้าพเจ้าได้ยินมา ก็ยังมีชนอีกจำพวกหนึ่งซึ่งยังป่าเถื่อนอยู่มาก เรียกกันว่า ไทยใหญ่ (Tàï-yàï, Siams-grands) และตั้งสำนักหลักแหล่งอยู่ตามภูเขาทางภาคเหนือ”





ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (Histoire naturelle et politique du Siam) ของ นิโกลาส์ แฌร์แวส (Nicolas Gervaise) มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในสยามในช่วง ค.ศ. 1681-1685 (พ.ศ. 2224-2228) ให้ข้อมูลไว้สอดคล้องกันว่า

        "นครหลวงนั้นคนสยามเรียกว่า เมืองศรีอยุธยา (Meüang Sijouthia) และชาวต่างประเทศเรียกว่า ยุธยา (Juthia) หรือ โอเดีย (Odiaa) อันเป็นนามที่คนจีนตั้งให้  ชาวต่างประเทศเรียก สยาม (Siam) เป็นนามราชอาณาจักร แต่คนพื้นเมืองรู้จักแต่คำว่า เมืองไทย (Meüang-Thây) หรือไม่ก็เมืองกรุงเทพมหานคร (Meüang-Croung-Thêp-Maanacone)"




หนังสือสัญญาไทย-ฝรั่งเศส รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ปีเถาะ พ.ศ. 2231 (ตามปฏิทินปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2230) ต้นฉบับอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กระทรวงอาณานิคม ประเทศฝรั่งเศส เนื้อหากล่าวถึงการทำหนังสือสัญญาว่า

      “ในี้ ภาษาไทยสามชบับ ภาษาฝรังเสดสามชบับ ภาษาบ์ตุกกรรสามช่บับ แลผูมีชือทังสองผ์ายนั้น ฃีดแกงไดปีดตรา เบ์นสำคันทุกช่บับ เขียนในเมีองลพบุรีย ในวันพระหัดเดีอนอ้ายฃึ้นแบ์ดค่ำ พุท่สักราชสองพันสองร้อยสามสีบเบดปีเถาะนพศก”




คำว่า “ไทยภาษา” ใน “ไตร่ยภูม พระมาไลย” สมัยอยุทธยาตอนปลาย เอกสารจากหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส   



คำว่า อีงบาศโดรไทย และ ราช่ทูตไทย ในบันทึกออกพระวิสุทสุนธร (ปาน) ค.ศ. 1686 (พ.ศ. 2229) รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ต้นฉบับเก็บรักษาที่หอสมุดคณะมิสซังต่างประเทศ กรุงปารีส (Missions étrangères de Paris)   ที่มาภาพ : ประชุมจดหมายเหตุออกพระวิสุทสุนทร (โกษาปาน)



หลักฐานสมัยพระเพทราชา มีการใช้คำว่า "ชาวไทย"  "กรุงไทย" "พระมหากษัตราธิราชเจ้ากรุงไทย"  พบในจดหมายของเจ้าพระญาศรีธรรมราช (ปาน) ที่ส่งไปถึงฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1693 (พ.ศ. 2236)

จดหมายเจ้าพระญาศรีธรรมราชปานถึงพระอธิกรณ์ เดอ ลา แชส (François de la Chaise) พระไถ่บาป (confessor) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14



จดหมายเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ส่งถึง มองซิเออร์ เดอ ปงต์ชาร์แตรง (Louis Phélypeaux, comte de Pontchartrain) เสนาบดีกระทรวงทหารเรือฝรั่งเศส



วรรณกรรมเก่าๆของสมัยอยุทธยาก็ใช้คำว่า "ไทย"  เช่น วรรณคดียุคตันอยุทธยาอย่างลิลิตพระลอ "...ฝ่ายข้างยวนแพ้พ่าย ฝ่ายข้างลาวประลัย ฝ่ายข้างไทยไชเยศ คืนยังประเทศพิศาล..."


นิราศ "ตนทางฝรังงเสษ" ที่เขียนโดยกวีที่ตามคณะทูตไปฝรั่งเศสกับออกพระวิสุทสุนธร (ปาน)

'เมื่อจากบันตัม    ใจพี่กระสัน    รัญจวนกวนใจ
เห็นเมืองนี้เอย    ดุจเห็นเมืองไทย    แต่นี้จากไป    ไกลเมืองแลนา'



หลักฐานร่วมสมัยของยุโรปให้ข้อมูลว่า ไท-ไทย เป็น คือชื่อที่คนพื้นเมืองใช้เรียกตนเอง (endonym) ในขณะที่ สยาม เป็นชื่อที่คนนอกประเทศเรียก (exonym) ซึ่งไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนไทย  สอดคล้องกับจดหมายของเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ถึงเมอซิเออร์ ปงต์ชาร์แตรง ซึ่งมีทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส  แปลคำว่า “ชาวไทย” เป็น les Siamois      แปลคำว่า “สํมเดจ่พระม่หากร่ษัตราธีราช่เจ้ากรุงไทย่” เป็น le Grand Roi de Siam   หรือในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ที่แปลคำว่า ไทยน้อย (Tàï-nôë) เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Siams-Petits


เมื่อตรวจสอบหลักฐานประวัติศาสตร์ของอยุทธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนรัชกาลที่ 4 ที่ใช้ภาษาไทย พบการใช้งานคำว่า ไท-ไทย อย่างแพร่หลาย ในขณะที่คำว่า สฺยาม/สาม ส่วนใหญ่ปรากฏในวรรณกรรมทางศาสนาที่ใช้ภาษาบาลี-สันสฤตเป็นหลัก ไม่ค่อยปรากฏในเอกสารราชการหรือใช้งานโดยทั่วไปในเอกสารภาษาไทยมากนัก  เพิ่งมาใช้เรียกชื่ออาณาจักรอย่างเป็นทางการในภาษาไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ครับ

ในอดีตจะเรียกขานกษัตริย์ก็เรียกว่า "พระเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุทธยา" "พระมหากษัตราธิราชเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา" หรือ "พระมหากษัตรยาธิราชเจ้ากรุงไทย" ไม่เคยเรียกว่า "พระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม" ในภาษาไทยก่อนรัชกาลที่ 4



แม้ว่าคนอยุทธยาจะใช้คำว่า ไทย ที่สะท้อนว่าคนไทยสมัยโบราณมีสำนึกรับรู้ความเป็นชนชาติอยู่ในระดับหนึ่งว่ากลุ่มคนที่ใช้ภาษาเดียวกันมีวัฒนธรรมเหมือนกันเป็นชนชาติเดียวกัน (ในแง่วัฒนธรรม ไม่ใช่พันธุกรรม)    แต่ความเป็น "รัฐชาติไทย" (Thai nation-state) หรือ "ประเทศไทย" ตามแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่ที่ทุกคนในชาติมีสำนึกรับรู้ว่าประชากรในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันเป็นคนชาติไทยร่วมเลือดเนื้อเดียวกัน  ยังไม่ปรากฏในสังคมสมัยอยุทธยาครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
เมื่อก่อนเราไม่ได้ชื่อประเทศไทยนี่
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 29
เท่าที่ศึกษาหลักฐานก่อนรัชกาลที่ 4 มักใช้คำว่า  "กรุงไทย/กรุงไท"  "เมืองไทย/เมืองไท"    เหรียญเบี้ยทองแดงที่ทดลองทำใช้เป็นเงินตราสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ จ.ศ. 1197 (พ.ศ. 2378) ประทับคำว่า "เมืองไท"





คำว่า "ประเทศไทย" เก่าแก่สุดเท่าที่ผมเจอในตอนนี้คือในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) สมัยรัชกาลที่ 4 ครับ



ประกาศเรื่องราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 4 มีคำว่า  "ครั้งหนึ่งพวกจีนเมืองกวางตุ้งเข้ามาค้าขายในประเทศญวน แล้วก็เลยแวะเข้ามาขายของที่ประเทศไทย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินโง่ เสนาบดีเซอะ ราษฎรโซ ชวนกันยินดีซื้อสินค้าของจีนในสำเภานั้นไว้ใช้สรอยชมเชย จีนหลอกขายได้แพงมีกำไรมาก จีนในสำเภามีความยินดีที่สุด ฝ่ายไทยในเวลาก่อนนั้น ก็มีความยินดีลุ่มหลงซื้อของจีนรับไว้ใช้ในบ้านในเมืองไทยนี้ ครั้นภายหลังจีนทั้งหลายในเมืองต่างๆ ก็มาค้าขายในแผ่นดินประเทศไทยเนืองๆ"
https://vajirayana.org/ประชุมประกาศรัชกาลที่-๔-ภาคปกิรณกะ-ส่วนที่-๑/๓๐๗-ประกาศเรื่องราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี

เพลงยาวคุณพุ่มแต่งเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 4  มีคำว่า "พระนั่งเกล้าเจ้าสุธาประเทศไทย"
https://vajirayana.org/เพลงยาวเฉลิมพระเกียรดิ์/เพลงยาวคุณพุ่มแต่งเฉลิมพระเกียรดิ



คำว่า "ภาษาไทย" แบบตรงๆ ผมเจอในหลักฐานสมัยอยุทธยา  แต่ทั้งนี้ในจารึกของรัฐโบราณที่ใช้ภาษาไทยอย่างสุโขทัย ล้านนา ก็มีการใช้คำว่า "ไทย/ไท"  ในการระบุภาษาและการนับปีของตน แยกจากการนับปีแบบสิบสองนักษัตรที่ใช้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่ถูกนับว่าเป็นการนับปีแบบ "ขอม" หรือ "กัมโพช"

คัมภีร์ทางศาสนาของล้านนาหลายฉบับระบุว่าใช้ "คำไทย/คำไท" เมื่อใช้เรียกภาษาของตน
https://www.facebook.com/photo?fbid=866841130176082&set=pcb.866841246842737
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่