หนึ่งด้าวฟ้าเดียว ยืมดาบฆ่าคน

นับจากสัปดาห์ที่แล้วถึงสัปดาห์นี้ ออกอากาศรวมทั้งหมด 3 ตอน จาก 4 ตอน ขาดไป 1 ตอน
ทำให้ชมละครไม่ติดประต่อกันดีนัก อารมณ์ผู้ชมไม่ต่อเนื่อง พาลพาโลให้บางช่วงบางตอนไม่ทันใจเท่าที่ควร

โบราณว่าไว้

สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร

อยู่ต้องเห็นคน ตายต้องเห็นศพ


เหตุการณ์ช่วงนี้ผลิกผัน ยากคาดเดา คนที่น่าตายกลับรอด ที่น่ารอดกลับตาย

แม่สุ่น ถูกไอ้กล้าแทงเข้าสีข้าง รอดตายราวปาฏิหารย์ นอนรักษาตัวอยู่

ม่วงหนีตายไปพึ่งใบบุญพระเจ้าตากสิน ทรงเมตตาตั้งเป็นทหารอาสา
ช่วยสอนเขียนอ่านภาษาอังวะ ให้ทุกคนในค่าย ไม่กี่วันนั้นเอง
พระเอกหิ้วอีเยื้อนมาที่ค่ายพระเจ้าตากสิน หวังหาทางออก เมื่อที่ประชุมสวนความแก่อีเยื้อนจนสิ้นไซร้
พระเจ้าตากสินรู้แจ้งความในพระเอก ทรงประกาศให้ทหารหาญในค่ายรับทราบ ห้ามแทะห้ามสี แลตีตรวนอีเยื้อน
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ตรวนเป็นโซ่เหล็กหนัก เดินไปมาลำบากมาก ต้องผูกเชือกยกโซ่เวลาเดิน ห่วงเหล็กจึงไม่บาดข้อเท้า
ในละครลดความรุนแรงลง เยื้อนจึงกรีดกราย ปากคอเราะร้ายได้อยู่ สมกับที่พระยาพิชัยว่า ควรเอาโซ่ครอบปากนาง
แต่เอาตะกร้อกรอบปากดีกว่าจะได้อ้าปากไม่ได้ เดี๋ยวเผลอไปกัดคนอื่น
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


แน่นเพื่อนซี้พระเอก อยากเอาใจแม่เป้าจนเปิดช่องให้ขันทีรุ่นพี่รุกฆาตได้ งานนี้แน่นต้องพลีชีพเพื่อบรรลุภารกิจ
ไหนๆต้องไปแล้วขอลากตัวแสบสองหน่อไปด้วย รายการแฉแหลกให้ตายตกตามกันจึงเกิดขึ้น
หลักฐานทนโท่ คาหลังคาเขา แถมสวมเขา แทงข้างหลังเรียบร้อย อกอีแป้นจะแตกแทบฆ่ากันตรงนั้น
เกือบได้ดูมวยขันที แต่ออกญาวังให้กุมตัวไปก่อน เสียดายลูกสวาทน่าจะขังห้องเดียวกัน
ไม่งั้นใช้อุบายแสร้งฆ่ากันตายเพราะความหึงหวง ยาแกล้งตายของออกพระราชาข่านน่าจะมีซุกหีบไว้
แล้วหามศพแน่นออกไปฝังป่าช้า สัปเหร่อคนของพระเอกทางสะดวก จากนั้นให้หัวพันมารอรับ

แน่นแม้มีโอกาสร่ำลาแม่เป้าเป็นครั้งสุดท้าย แต่จำใจแกล้งแสดงว่าหลอกใช้ น้ำตาลูกผู้ชายหลั่งมาด้วยความเจ็บแค้นยิ่งนัก

ออกญาพลเทพไม่อยากยุ่งเรื่องชีวิตรักขันทีมากนัก จึงไม่สงสัยที่แน่นใส่ความ แต่เพ่งเล็งพระเอกมากกว่าอย่างที่แน่นกังวล
การลงพระอาญาจึงให้พระเอกคุมทั้งหมด เพื่อดูอาการพระเอกว่ารู้สึกรู้สากับแน่นรึเปล่า งานนี้บรรดาแม่ยกทั้งหลาย
ตกใจไปตามๆกัน ไม่นึกเลยว่าพ่อปันหยีจะใจไม้ไส้ระกำถึงเพียงนี้ คนสนิทกันแท้ๆ ทำได้ลงคอ พระเอกแววตาดั่งปลาตาย
ได้แต่เก็บความแค้นไว้ในใจ ด้วยหูตาเป็นสับปะรดของออกญามีชื่อ พลาดพลั่งไปหัวคงหลุดจากบ่า จำต้องหวานอมขมกลืน

นางเอกเป็นห่วงเป็นใยพระเอก ด้วยพระเอกกินข้าวไม่ลง เที่ยงประหาร บ่ายปลงศพเกลอ นางเอกจึงปลอบประโลม

ดั่งน้ำทิพย์จากฟากฟ้าสุราลัย ราดรดชโลมใจผืนดินแห้งแตกระแหง ให้แกร่งกล้าชุ่มชื่นฟื้นคืนอีกครา

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

เพลง เพราะเราเข้าใจ
ขับร้อง รวิวรรณ จินดา ค.ศ.1986


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก หรือ ผีซ้ำด้ำพลอ
ภาษาโหราศาสตร์ว่า พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก จันทร์กระแทก อาทิตย์กระทืบ

องค์ชายเชษฐ์มาทวงสัญญาที่นางเอกรับปากว่า หากช่วยแม่เป้าพบแน่นก่อนประหาร จะยอมเป็นหม่อมห้าม
นางเอกกลัวต้องทำตามสัญญา จึงตามติดกรมขุนแจ พอผู้ใหญ่ทราบเรื่องให้ร้อนไปทั้งตำหนัก หาเรื่องเลี้ยงด้วยลำแข้งซะแล้ว
คุณท้าวที่เข้มงวดกับแม่เป้า เพราะกลัวจะมีเรื่องแบบนี้เข้าสักวัน ขายหน้าไม่พอ
กลายเป็นส่งอ้อยเข้าปากช้าง ส่งเนื้อเข้าปากเสือ จะเหลือกระไร

นางเอกจากหมูเขี้ยวตัน กลายเป็น หมูไม่กลัวน้ำร้อน ขณะที่ใกล้เปื่อย เพราะชะล่าใจที่ส่งสารปลอมคืนแล้วนึกว่าเรื่องจะจบ
เจ้าจอมเพ็ญแค้นฝังหุ่น กับออกญาพลเทพกร่างคับวัง มีรึจะปล่อยให้ คนที่กล้าเหยียบจมูกเสือ ล้วงคองูเห่า ลอยนวลเสียเหลี่ยมแย่
จึงบงการองค์ชายเชษฐ์ไปจัดการแทน โดยเจ้าจอมเพ็ญวางอุบาย

ให้องค์ชายเชษฐ์ ส่งลิ่วล้อไปก่อกวนยังเรือนครอบครัวนางเอก แล้วทำทีเข้ามาห้ามปราม จากนั้นกุมตัวทุกคนมาขังในตำหนัก
บีบให้นางเอกยอมเป็นหม่อมห้าม งานนี้เจ้าสัวมิ่งรู้ทันแต่หมดปัญญาจะขัดขืด
แม้แต่กรมขุนยังสิ้นทางยื้อยุด พระเอกพอทราบความจึงแก้ทางด้วยรู้จริตของ องค์ชายเชษฐ์ ทำเสียฤกษ์เสียยามมงคล
นางเอกกลายเป็นตัวกาลกิณีกับดวงองค์ชายเชษฐ์ เรื่องหม่อมห้ามจึงยุติไป ขืนพาตัวเสนียดมาส่งคงเสื่อมไปทั้งตำหนัก


นับแต่นี้ฝ่ายในแบ่งเป็นสองก๊ก แบ่งพรรคแบ่งพวกอย่างชัดเจน นอกวังชาวบ้านในเกาะเมืองหากินฝืดเคือง
ข้าวยากหมากแพง ขนาดปิ่นปักผมทอง ๑ ตำลึงยังต้องคิด ไม่แปลกที่คนมากโขถูกรังแก เอาเปรียบไม่พอใจ
จนแปรพักตร์ไปเข้ากับอังวะ หนึ่งในนั้นคือ

สุกี้พระนายกอง ชาวรามัญ ปรากฏในพงศาวดารฉบับ พระพนรัตน์วัดพระเชตุพน(น่าจะชำระปลายสมัยรัชกาลที่ ๑) ความว่า

ขณะนั้นรามัญคนหนึ่งเปนมอญเก่าอยู่เมืองนี้ เข้าเกลี้ยกล่อมพม่า มีฝีมือรบพุ่งเข้มแขง แม่ทับพม่าตั้งให้เปนพระนายกอง

มอญเก่า หมายถึง ชาวมอญที่อพยพมาตั้งรกรากในไทยเป็นเวลานานแล้ว

มอญใหม่  หมายถึง มอญที่เข้ามาภายหลัง อย่าง กลุ่มมอญของพระยาเจ่งที่เข้ามาในไทยเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๗

ชาวมอญอพยพเข้ามาในไทยหลายระลอก เช่น
หลังหงสาวดีถูกพระเจ้าอลองพญาตีแตกใน พ.ศ.๒๒๙๘
มีชาวมอญจำนวนมากอพยพเข้ามา แล้วตั้งรกรากอยู่แถบโพธิ์สามต้น
สำหรับพระนายกองเข้ามาอยู่เมืองไทยสมัยใด ไม่ปรากฏหลักฐาน อาจเป็นมอญเกิดในไทย หรืออพยพมาก็ได้

ในจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี ระบุว่า

พระนายกองมีนามว่า นายทองสุก ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับที่ว่า เป็นชาวมอญ
เพราะคนมอญหรือเชื้อมอญในไทย มักเปลี่ยนชื่อมอญของตนเป็นไทย เช่น
มอญที่มีชื่อต้นว่าว่า ทอ (แปลว่า ทอง) มักเปลี่ยนเป็น ทอง

คำว่า สุกี้ (พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์สะกด สูกี้) ภาษาพม่า แปลว่า นายกอง
กรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่า มาจากคำว่า ชุกคยี แปลว่า นายกองใหญ่
แต่จริงๆแล้วตามตัวอักษรภาษาพม่าสะกดว่า สูกรี (Thugyi ออกเสียง ตู่จี)
ซึ่งใกล้กับ สูกี้อยู่ ยศนี้ภาษาอังกฤษแปลว่า headman


อุบายไทยฆ่าไทย ที่สองแม่ทัพใหญ่อังวะเห็นดีเห็นงาม
อุบายแน่น ใส่ความสองขันที จนตายตกตามกัน
อุบายเจ้าจอมเพ็ญ บงการองค์ชายเชษฐ์ บังคับนางเอกไปเป็นหม่อมห้าม

ตรงกับ ๓๖ กลยุทธ์จีนโบราณว่า

ยืมดาบฆ่าคน (借刀杀人 เจี้ยเตาซาเหริน)

การกำจัดศัตรูที่แข็งแกร่งนั้น หาได้ต้องลงมือเองไม่
พึงยืมกำลังและไพร่พลผู้อื่น กำจัดศัตรูโดยมิต้องออกแรง
เพื่อออมกำลัง และไพร่พลของตน ไว้เพื่อการอื่น


ปรากฏใน นิยายสามก๊ก
จิวยี่วางอุบายให้ โจโฉระแวงสั่งประหาร ซัวมอและเตียวอุ๋น สองแม่ทัพเรือฝีมือดีที่เพิ่งสวามิภักดิ์
เป็นเหตุให้ทัพเรือเสียกระบวน ถูกวางเพลิงเผาวอดทั้งกองเรือ พ่ายแพ้ย่อยยับชั่วข้ามคืนในศึกเซ็กเพ็ก


ท้ายนี้ผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ขอบคุณครับ



อ้างอิง
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่