วิสัยทัศน์หลักสูตรการศึกษาไทย ในอีก30ปีข้างหน้า โดย เพชร เหมือนพันธุ์ .. 24/5/2561 สรายุทธ กันหลง

วิสัยทัศน์หลักสูตรการศึกษาไทย ในอีก30ปีข้างหน้า
โดย เพชร เหมือนพันธุ์ .. 24/5/2561
https://ppantip.com/topic/37699049

ได้อ่านบทความท่าน "เพชร เหมือนพันธุ์" ข้างล่าง  ขอเสนอความเห็นดังนี้
1 บุคคลสามท่านที่นำมากล่าว นอกจากเขามีวิสัยทัศน์และพัฒนาตลอดแล้ว เขายังเป็นนักอ่านตัวยง และอ่านงานเขียนใหม่ๆตลอด ขอเพิ่มอีกท่านคือ Bill Gates เขาอ่านและแนะนำหนังสือผ่านบล็อกที่ผมติดตามคือ https://www.gatesnotes.com/  ผู้บริหารไทยนักวิชาการไทยติดตามอ่านหนังสือใหม่ๆตลอดไหม
  2 "สอนป้อนเด็กอยู่อีกหรือ ทำไมไม่เพิ่มเนื้อหาสาระรายวิชาใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกให้ผู้เรียนได้บริโภคบ้าง" ส่วนหนึ่งมาจากข้อหนึ่ง ผู้สอนไม่มีเวลาหรือไม่ได้ติดตามโลก บางคนเป็นด็อกแล้วก็อ้างว่าอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก  ผู้เรียนก็ชินกับการป้อนอาหาร
  3 ศึกษาธิการจังหวัด เป็นแนวคิดแบบรวมศูนย์ ประเทศที่เจริญและพัฒนาอย่างญึ่ปุ่น สหรัฐฯ และหลายๆประเทศในยุโรปเหนือเขาสร้างวัฒนธรรมการกระจายอำนาจโดยเฉพาะด้านการศึกษามานานแล้ว


วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ปีที่ 41 ฉบับที่ 14682 มติชนรายวัน
วิสัยทัศน์หลักสูตรการศึกษาไทย ในอีก30ปีข้างหน้า
โดย เพชร เหมือนพันธุ์
http://bit.ly/2s3Nuo5

โลกในวันนี้กำลังถูกคุกคามด้วยความเจริญของดิจิทัลเทคโนโลยี ประดุจ คลื่นสึนามิ (Tsunami) เข้าถล่มโลก บ้านเรือน สิ่งก่อสร้าง หรือบุคคลที่ไม่มั่นคงแข็งแรงเพียงพอจะถูกกวาดให้สูญหายไปในทะเล หลังจากคลื่นสงบ สิ่งใหม่ที่ดีกว่าจะเกิดขึ้น เพราะมนุษย์มีความสามารถอย่างมหัศจรรย์ในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ผู้นำประเทศหรือรัฐบาลใดถ้าที่ไร้วิสัยทัศน์ ขาดการวางแผนเตรียมการที่ดีเพื่อเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่กำลังก้าวเข้ามาสู่สังคมโลกอย่างเงียบๆ ในขณะนี้ จะทำให้ประเทศชาติถอยหลังอย่างไม่อาจจินตนาการได้

บุคคลต้นแบบที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลก 3 ท่านที่อยากจะยกมาอ้างเพราะเขามีความเชื่อว่า โลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะพลังของความเชื่อมโยง (Connectivity) ด้วยนวัตกรรม Digital Technology

คนแรกคือ Jack ma ผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจ Alibaba ที่มีเป้าหมายจะสร้างความเชื่อมโยง (connectivity) ให้ประเทศไทยเป็น Digital Hub ใน ASEAN เขาได้สร้างปรากฏการณ์ขายทุเรียนไทย 80,000 ลูก ภายในเวลา 1 นาที เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2561 ผ่านเว็บไซต์ TMall.com นี่คือความมหัศจรรย์ของความเชื่อมโยง (Connectivity) ทางอินเตอร์เน็ต Jack ma มหาเศรษฐีชาวจีน เคยกล่าวว่า.... "วิทยาการที่โรงเรียนสอนเด็กอยู่ในโรงเรียนทุกวันนี้จะสามารถให้เด็กนำไปใช้ประกอบการดำรงชีวิตในอีก 30 ปีข้างหน้าได้จริงหรือ"

คนที่สอง ที่เราจะต้องทำความเข้าใจคือ Mark Zuckerberg

ผู้มีอุดมการณ์จะใช้ Face book สร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ให้โลกเป็นชุมชนเดียวกัน (Building Global Community) โดยสร้างความเชื่อมโยงด้วย Face book ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.สร้างโดยให้การสนับสนุนชุมชนในโลก 2.สร้างความปลอดภัยให้กับชุมชนโลก 3.สร้างข้อมูลข่าวสารให้แก่ชุมชนโลก 4.สร้างความผูกพันระหว่างชุมชน และ 5.สร้างองค์รวมให้ครอบคลุมชุมชนทั้งโลก

คนที่สาม คือ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ที่วางแผนเชื่อมโยง (Connectivity) ประเทศไทยกับชุมชนโลกผ่านเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง การขนส่งระบบราง และแผนวางระบบรถไฟชานเมือง ซึ่งบัดนี้ความฝันดังกล่าว รัฐบาล คสช. ท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังดำเนินการเชื่อมต่อทางรถไฟความเร็วสูงจากจีนเข้ามาจ่ออยู่ฝั่งประเทศลาวแล้ว คาดว่าจะทะลุถึงไทยภายในสามปีนี้

นี่คือต้นแบบของบุคคลที่เข้าใจระบบการเชื่อมโยง (connectivity) ที่กำลังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ตามมาในอนาคต



โลกในวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลก่อให้เกิดการเชื่อมโยง (connectivity) ทะลุทะลวงเส้นเขตแดนของแต่ละประเทศได้อย่างไร้ขีดจำกัด รถไฟความเร็วสูงจะสามารถขนถ่ายสินค้าข้ามชายแดนได้ในเวลาที่รวดเร็ว Face book, Google, Twitter, Internet, Smart Phone, et. จะเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้จะทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative disruption)

กลับมามองภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทยในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดวิกฤตคุณภาพการศึกษาตกต่ำมาอย่าง

ต่อเนื่อง ลำดับคะแนนผลการสอบวัดประเมินผลระหว่างประเทศ PISA ลดลงอยู่ลำดับรั้งท้ายในอาเซียน ความสามารถทางการแข่งขันของประชาชนลดลง งบประมาณที่รัฐบาลจัดให้กระทรวงศึกษา

เพิ่มขึ้นทุกปี เหมือนเทน้ำใส่ตุ่ม ใส่ลงไปเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม หาสาเหตุก็ยังไม่พบ

ผู้เขียนมีญาติทำฟาร์มเลี้ยงสุกร (หมู) เลี้ยงทีคราวละหมื่นตัว เลี้ยงครบสี่เดือนถึงวันกำหนดขายก็จะชั่งน้ำหนักหมูที่น้ำหนักได้ตัวละ 100 กิโลกรัมเศษ ตามที่บริษัทที่ทำสัญญากันไว้กำหนด ครบกำหนดเวลาเลี้ยงตามโปรแกรมต้องจับส่งตลาด ถ้าให้เลี้ยงต่อไปก็มีแต่ขาดทุน เพราะค่าอาหารหมูเพิ่ม ตลาดต้องการหมูในน้ำหนักขนาดนี้ อาหารที่ให้หมูขุนต้องมีคุณภาพมีมาตรฐานรับรอง ซึ่งบริษัทได้กำหนดไว้อย่างเหมาะสมตามโปรแกรมแล้ว หมูขุนก็จะมีน้ำหนักโตตามโปรแกรม

ปัญหาที่พบในฟาร์มหมูขุน คือถ้าให้อาหารผิดโปรแกรมหมูก็จะไม่โต น้ำหนักจะไม่ได้ หมูจะเจ็บป่วยตามมา ถ้าจะมีการเปลี่ยนอาหารหมูขึ้นจะต้องมีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญมาดำเนินการให้

หันมาดูการจัดการศึกษาไทย เราสอนอะไรหรือสอนอย่างไรให้แก่เด็ก เราผสมสูตรอาหารการศึกษาได้มีคุณภาพมีมาตรฐานหรือไม่ มีอะไรมารองรับว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่อย่างไร เรามีสูตรสำเร็จที่ตั้งโปรแกรมเหมือนให้อาหารหมูขุนหรือไม่ ความล้มเหลวของการศึกษาไทยต้องตรวจสอบทั้งระบบ ตั้งแต่หลักสูตร มีความเหมาะสมทันสมัยเพียงพอหรือไม่ วิธีการเรียนหรือกิจกรรมการเรียนของครูนักเรียนเหมาะสมกับเนื้อหารายวิชาหรือไม่ ครูออกแบบแผนการสอนได้เหมาะสมหรือไม่ ครูสอนให้เด็กมีกิจกรรมออกไปฝึกปฏิบัติภาคสนามเพื่อสร้างทักษะหรือแสวงหาความรู้ประสบการณ์ได้ด้วยตัวเองเพียงใด การวัดผลการศึกษาเหมาะสมกับลักษณะรายวิชาหรือไม่ หรือยังใช้แบบเดิมๆ ก ข ค ง เท่านั้นหรือ

เรายังนำหลักสูตรการศึกษาเมื่อสมัย 4 ทศวรรษ หรือเมื่อยุค 40 ปีที่แล้วมาสอนป้อนเด็กอยู่อีกหรือ ทำไมไม่เพิ่มเนื้อหาสาระรายวิชาใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกให้ผู้เรียนได้บริโภคบ้าง ถ้าต้องการสร้างอนาคตเยาวชนพันธุ์ใหม่ แต่ยังคิดอย่างเก่าทำอย่างเก่าแล้วมันจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ถามว่าสิ่งที่สอนอยู่ในสถาบันการศึกษามันสามารถเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตตอบโจทย์ของคนบนโลกในยุค 3 ทศวรรษข้างหน้าได้หรือ

การศึกษาไทยแม้จะใช้ครูเก่งครูดีขนาดไหนมาสอนเด็กแต่ถ้าหลักสูตรยังเหมือนเดิม ให้กินอาหารเหมือนเดิม แล้วเด็กจะฉลาดขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร "กินอะไรก็เป็นอย่างนั้น You are what you eat" เป้าหมายที่ตรงตัวก็คือ ต้องเปลี่ยนหรือปฏิวัติหลักสูตรให้ทันโลก



เรามีนักวิชาการทางหลักสูตรอยู่ทุกสถาบัน เช่นอดีตครูที่ประสบผลสำเร็จในการสอนหรือครูที่เคยสอนมานานและเข้าใจเรื่องหลักสูตร หรือผู้ที่เรียนจบหลักสูตรและการสอนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาปฏิวัติหลักสูตรการศึกษาไทยได้

ในหลักสูตรการศึกษานั้น ในพิมพ์เขียวของหลักสูตรไม่ได้หมายถึงเฉพาะรายวิชาเท่านั้น แต่มันคือกระบวนการของหลักสูตรซึ่งจะประกอบด้วย 1.วัตถุประสงค์ 2.โครงสร้างเนื้อหาหรือสาระของแต่ละรายวิชา 3.กิจกรรมการเรียนของนักเรียนในการสร้างทักษะการเรียนรู้ 4.การสอนการออกแบบแผนการสอน (Lesson Plan) ของครู 5.กิจกรรมภาคสนามการฝึกลงมือหรือออกฝึกปฏิบัติงานจริง 6.การวัดผลประเมินผล

ส่วนรายวิชาที่จัดไว้ในหลักสูตรจะประกอบด้วยรายวิชาแกนหรือรายวิชาพื้นฐาน ซึ่งทุกคนทั่วโลกต้องเรียนเพราะวิชาเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตและเป็นพื้นฐานของการเรียนในระดับที่สูงขึ้น เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เป็นรายวิชาบังคับแกนตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน และรายวิชาเลือก

แต่ในโลกยุคนี้วิชาแกนน่าจะจัดเพิ่มขึ้นเป็นวิชาแกนบังคับเข้ามา เพราะเป็นศาสตร์ที่จำเป็น เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลก เช่น วิชาการเงินการบัญชีหรือเศรษฐศาสตร์ วิชาเทคโนโลยีดิจิทัลฯ วิชาทักษะช่างเบื้องต้นฯ เป็นต้น

เราไม่จำเป็นจะต้องนำเอาบรรดาศาสตร์ทุกๆ ศาสตร์ในโลกนี้เข้ามาบรรจุไว้ในหลักสูตร เพราะความรู้หรือศาสตร์ต่างๆ ในโลกยุคนี้มันเกิดขึ้นทุกวัน และยังล่องลอยอยู่ทั่วไปในอากาศ สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองนอกโรงเรียนอยู่แล้ว และไม่มีใครคนใดรู้ทั้งหมด ดังนั้นหลักสูตรที่ดีต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียนทั้งในปัจจุบันและอนาคต

โลกในยุคหน้า เขามองข้ามเส้นเขตแดนของประเทศออกไปแล้ว ความเป็นสากลต้องเกิดขึ้น เพราะความเชื่อมโยง (Connectivity) เป็นกระแสบังคับ ภาษาพูด ภาษาเขียน จะมีภาษาที่เป็นภาษาสากล ที่เป็นภาษากลางสามารถสื่อสารให้เข้าใจกันได้ทั่วโลก



ที่รัฐบาลกำลังปฏิรูปการศึกษาทุกวันนี้ มันเกิดข้อผิดพลาดมาโดยตลอด ทำให้เราเสียเวลาเสียโอกาส เราควรตัดตอนหรือเปลี่ยนวิธีปฏิรูปให้เร็ว การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปทีละก้าว เปลี่ยนทีละชั้นปีไป จะเปลี่ยนพร้อมกันหมดทันทีไม่ได้ เพราะหลักสูตรมันมีความต่อเนื่องกัน หากจัดลงพร้อมกันทันทีมันจะเกิดภาวะช็อก (Shock) ทั้งกับผู้เรียนและผู้จัดหลักสูตร

ในปี พ.ศ.2505 ขณะที่ผู้เขียนกำลังเรียนอยู่ในชั้น ม.3 ( ป.7) พอเรียนจบชั้น ม.3 ต้องเรียนต่อชั้น ม.4 แต่ปรากฏว่าปีนั้นรัฐบาลเปลี่ยนโครงสร้างหลักสูตรพอดี ผู้เขียนจึงไม่ได้เรียนชั้น ม.4 แต่ต้องไปเรียนชั้น ม.ศ.1 ผู้เขียนจึงเป็นนักเรียนรุ่นแรกที่ได้เรียนชั้น ม.ศ.1 บุคคลที่อยู่ในช่วงอายุ 69 ปีจะเจอทุกคน ส่วนผู้ที่เข้าเรียนรุ่นพี่ก่อนผู้เขียนหนึ่งปี เขาก็ยังเรียนชั้น ม.5 และ ม.6 ต่อไปจนจบ แต่ผู้เขียนเรียนจบชั้น ม.ศ.3 เท่านั้น คราวนั้นรัฐบาลต้องใช้เวลา 3 ปีในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร การปฏิรูปการศึกษาไทย ปัจจุบันก็จะใช้เวลาเพียง 3 ปีเหมือนกัน ไม่ต้องใช้เวลาเป็นทศวรรษ

ส่วนโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการคือเหยื่อที่ถูกผู้บริหารระดับประเทศกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุทำให้การศึกษาไทยล้มเหลว จึงถูกสั่งรื้อสั่งเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่มีการปฏิรูปการศึกษา การออกแบบมาใหม่แต่ละครั้งมีแต่สร้างปัญหาเพิ่มขึ้น ตอบโจทย์ไม่ได้ การเอาบุคคลภายนอกที่คิดว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ซึ่งโดยแท้จริงแล้วหลายท่านไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียเลย แต่ให้เข้ามาดูแลกำกับการจัดการศึกษา จึงเกิดความผิดพลาดมาโดยตลอด เช่น เอาบุคคลที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงานในองค์กรมาเป็นประธานคณะกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. หรือการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดให้มาเป็นประธานคณะกรรมการ กศจ. อย่ามโนว่าท่านที่มาเป็นประธานจะเข้าใจอุดมการณ์ขององค์กร งานของท่านกับงานของการศึกษาไม่เหมือนกัน

ไม่มีประเทศใดในโลกที่เอาคนนอกที่ไม่มีส่วนได้เสียเข้ามาบังคับบัญชา ศึกษาธิการจังหวัดต่างหากที่จะต้องรองรับผลความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นศึกษาธิการจังหวัดจึงควรเป็นประธานของคณะกรรมการ กศจ. หรือให้ ผอ.เขตเป็นประธาน อ.ก.ค.ศ. การปฏิรูปโครงสร้างที่ขาดความเข้าใจในเขตอำนาจความรับผิดชอบ จึงทำให้โครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการมีปัญหามาจนทุกวันนี้

กรณีการทุจริตการสอบบรรจุ ย้ายครู ย้ายผู้บริหาร การทำงานของ อ.ก.ค.ศ.ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต เพราะมีบุคคลภายนอกที่เลือกตั้งกันเข้ามาแทรกแซงอำนาจการบริหารจัดการของบุคคลในตำแหน่ง ใช้ตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ บุคคลเหล่านี้ไม่มีส่วนเสียเมื่อผิดพลาด มีแต่ส่วนได้ ปัญหาจึงตามมาไม่หยุด เพราะผู้บังคับบัญชาระดับสูงไม่ไว้วางใจบุคคลที่ตนเองสอบคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา หรือ CEO ขององค์กร ความย่อยยับจึงเกิดขึ้น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่