🐄~มาลาริน~ของแพง...ของแพง...ของแพง...รัฐบาลไหนของถูกบ้าง ดูรัฐบาลลุงตู่แล้ว ลองดูรัฐบาลยิ่งลักษณ์บ้างค่ะ

กระทู้คำถาม

“หากได้เป็นรัฐบาลจะไม่ทำให้ผิดหวัง และสิ่งแรกที่จะทำคือ กระชากค่าครองชีพคืนมา ทำให้ราคาน้ำมันลดลง เบนซิน 95 ลดลง 7.5 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 ลดลง 6.7 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลลดลง 2.2 บาทต่อลิตร” เป็นวรรคทองออกจากปากของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน เพื่อเรียกคะแนนความเห็นใจโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. จนนำมาสู่การเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศในปีเดียวกัน

ยุทธศาสตร์คำพูดของยิ่งลักษณ์ดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อต้องการเกทับพรรคประชาธิปัตย์คู่แข่งสำคัญ พร้อมกับตอกย้ำว่าประเทศไทยในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพได้ ต้องให้พรรคเพื่อไทยเท่านั้นถึงจะมียาดีรักษาโรคของแพงได้


จนแล้วจนรอดผ่านมาจะครบขวบปีจากการสร้างวาทกรรม “กระชากค่าครองชีพลงมา” กลายเป็น “ปล่อยค่าครองชีพขึ้นไป” ไล่มาตั้งแต่ราคาน้ำมัน แม้ว่าการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในระยะแรกของการเป็นรัฐบาลจะช่วยให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างฮวบฮาบ แต่กลับทำได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น สุดท้ายต้องกลับมาจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ และราคาน้ำมันก็ยังคงแพงเหมือนเดิม


เมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง แน่นอนว่าได้สร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ เพราะราคาพลังงานถือเป็นต้นทุนของสินค้าอุปโภคและบริโภคของประชาชนทุกระดับ ทั้งมหาเศรษฐีหรือคนหาเช้ากินค่ำ เมื่อน้ำมันขึ้นหนีไม่ได้ที่ค่าขนส่งและราคาสินค้าต้องดีดตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

การแก้ปัญหาพลังงานจากรัฐบาลคือ การปรับ “พิชัย นริพทะพันธุ์” ออกจากตำแหน่ง รมว.พลังงาน พ้นวงโคจรคณะรัฐมนตรี ขณะที่การส่งสัญญาณจากรัฐบาลให้ประชาชนเห็นถึงความเอาใจใส่ต่อการแก้ปัญหาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าไร้ซึ่งรูปธรรมที่จับต้องได้


เริ่มมาตั้งแต่ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถมควบตำแหน่งเป็นแม่ทัพให้รัฐบาล ประกาศว่า “ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น...แต่ถือเป็นสภาวะความเป็นจริงที่ประชาชนต้องปรับตัวรับให้ได้...เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิด”


กระทั่งมาถึงท่าทีล่าสุดของ
"ยิ่งลักษณ์” เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ต่อปัญหานี้ ปรากฏว่าถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อรัฐบาลอย่างคาดไม่ถึง “สินค้าราคาแพงสาเหตุมาจาก 2 ส่วน คือข้อมูลที่เก็บจากข้อเท็จจริง และส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้สึกของประชาชน
ผลพวงอุทกภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา ประกอบกับช่วงเดือน เม.ย.อากาศร้อน และเป็นเดือนที่มีค่าใช้จ่ายมาก เช่น ลูกต้องเรียนหนังสือ”

ไม่ต่างอะไรกับการบอกให้ประชาชนต้องทำใจภายใต้มาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยไม่มีหลักประกันว่าการจ่ายยาของรัฐบาลจะรักษาถูกโรคทางเศรษฐกิจหรือไม่ การสื่อสารกับสังคมลักษณะนี้ ไม่ต่างอะไรกับการทำให้ประชาชนตั้งคำถามมายังรัฐบาล2 ข้อใหญ่ ได้แก่ “ลอยตัวกับปัญหาหรือไม่” และ “ปัดความรับผิดชอบหรือไม่” ปฏิเสธไม่ได้ว่าแทนที่จะช่วยแก้ปัญหาแต่เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์หนักขึ้นไปอีก ยิ่งตอกย้ำไม่สามารถทำได้ในสิ่งที่หาเสียงกับประชาชนไว้เปรียบได้กับ “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” หลังจากครั้งหนึ่งเคยบอกว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ของแพง แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลก็เป็นลักษณะ “ดีแต่พูด” เหมือนกัน

ชี้วัดได้จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เรื่อง “ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในรอบ 9 เดือน” พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลได้แค่ 3.83 คะแนน จากคะแนนเต็ม  10

การเลือกบริหารภาพลักษณ์มากกว่าการบริหารสถานการณ์ของนายกฯ กำลังเป็นจุดอ่อนสำคัญที่กัดกินความมั่นคงของรัฐบาลเอง หลังจากได้สื่อสารกับประชาชนแบบผิดๆ ถูกๆ มาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่วิกฤตมหาอุทกภัยเรื่อยมาจนถึงปัญหาเศรษฐกิจ

ถึงนายกฯ จะมีจุดแข็งตรงที่ไม่ลงมาตอบโต้กับฝ่ายค้าน และเล่นบทนางเอกผู้แสนดีแทนนางเอกนักบู๊ ใช่ว่าจะเรียกคะแนนความสงสารได้ตลอดไป ยิ่งปัญหาของแพงที่เป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนยังไม่ได้รับการเยียวยาเร็วเท่าไหร่ความเชื่อมั่นที่มีต่อนายกฯ ย่อมลดลงมากขึ้นเท่านั้น


อ่านต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/politic/analysis/152374



แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่