เสือขุนทองใน "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว" เป็นคนเดียวกับเพลงกล่อมเด็กและมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์หรือเปล่าครับ

คงเคยฟังเพลงกล่อมเด็กบทหนึ่งมีเนื้อความว่า

วัดเอ๋ย . . . วัดโบสถ์ . . .
มีตาลตะโหนด อยู่เจ็ดต้น
เจ้าขุนทอง ไปปล้น
ป่านฉะนี้ ไม่เห็นมา . . .

คดข้าว ใส่ห่อ
ถ่อเรือ ไปหา
เขา ก ร่ำฦๅมา
ว่าเจ้าขุนทอง ตายแล้ว . . .

เหลือแต่ โกศแก้ว
เมียรัก จักมาปลง
จักถ่อพาย ท้ายเรือหงส์
ไปปลงศพ . . . อุแม่นา . . .


ว่ากันว่าเพลงกล่อมเด็กเพลงนี้แต่งขึ้นมาจากเหตุการณ์จริงก่อนเสียกรุง ไม่ทราบว่ามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือหรือไม่ บันทึกไว้ในพงศาวดารฉบับไหน (ใครพอทราบบ้าง) แต่สำหรับชาวบ้านแล้วเรื่องคงเป็นที่โจทย์จันทร์กันในยุคนั้น มิฉะนั้นคงไม่แต่งเป็นเพลงกล่อมเด็ก นับวิธีอันแยบคายในการปลูกฝังให้คนไทยรักชาติมาแต่เด็ก

มาเห็นในละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว" เลยไม่แน่ใจว่า อ.วรรณวรรธน์ ได้แรงบันดาลใจจากเพลงกล่อมเด็กบทนี้หรือเปล่า แต่ดูเหมือนไม่ตรงอยู่อย่างคือเมียรัก "ไม่ได้จักถ่อพาย ท้ายเรือหงส์" ไปปลงศพ เพราะตายไปก่อนแล้ว และไม่เห็น "โกศแก้ว" ที่เจ้าหลวงพระราชทานมาให้ใส่กระดูกเพื่อสดุดี

ในละครให้พระเอกซึ่งเป็นลูกเสือขุนทองเป็นคนเล่าเรื่องนี้ให้นางเอกฟัง เพื่อกล่อมนอนด้วย ช่างคิดจริงๆ เลย (ไม่แน่ใจว่าเป็นฝีมือผู้ประพันธ์หรือผู้เขียนบท)
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 13
คุณวรรณวรรธน์บอกไว้ว่า...
ตอนเขียนเปิดเรื่อง "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว" นั้น ได้ลงมือเขียนฉากกลางเรื่องไปนานแล้ว แต่มีความรู้สึกตอนฉากเปิดเรื่องนั้นยังไม่เป็นที่ถูกใจ ตัวเองนั้นอยากเล่าเรื่องความเป็นมาของพ่อแม่พระเอกให้เป็นเรื่องหลักอีกหนึ่งเรื่อง จึงได้หาเนื้อเพลงกล่อมเด็กเก่าๆมาฟังเกี่ยวกับ "เสือขุนทอง" ซึ่งเป็นนิทานเกี่ยวกับเสือขุนทองที่มีอาชีพโจรเป็นที่เลื่องลือ แล้วได้อาสาออกไปรบจนตัวตาย และหาศพไม่เจอ

เพลงกล่อมเด็กเพลงนี้มีความซับซ้อนอยู่มากพอสมควร เพราะการร้องเพลงกล่อม ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาร้องต่อๆกันได้ในทันที แต่เหมือนจะเริ่มจากการบอกเล่า การอธิบายความคับแค้นใจของชนชั้นล่างที่อยากให้เสียงนั้นไปถึงชนชั้นสูงผ่านการแสดงออกทางด้านเสียงเพลง หรือ ขับร้องกันในกลุ่มชนพื้นบ้านและค่อยๆขยายตัวต่อไป มีเรื่องราวที่กระทบจิตใจในระดับ "สังคม" หรืออาจะมีลักษณะแบบ "ต่อต้าน" หรือ "เรียกร้อง" อยู่เป็นนัยๆ จึงเป็นที่แพร่หลายและกลายมาเป็นเพลงกล่อมเด็กในทุกบ้านทุกย่านเรือนจนถึงทุกวันนี้

การเล่าเรื่องผ่านเพลงกล่อมเด็ก เป็นวัฒนธรรมอีกประเภทหนึ่งที่ควรจะได้รับการดูแลรักษากัน ทั้งในรูปแบบการแสดง และ เนื้อเรื่องของเพลงกล่อมเด็กแต่ละเรื่อง ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นต่อไป

ความคิดเห็นที่ 16
ขอตอบจขกทเรื่องหลักฐานทางประวัติศาสต์เกี่ยวกับ เสือขุนทอง ดังนี้
เรื่อง เสือขุนทอง นี้ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันแน่ชัด เป็นตำนานเล่าต่อๆกันมา มีหลายกระแส

บ้างก็ว่าเจ้าขุนทองเป็นเสือปล้นแถบภาคกลาง อารมณ์ประมาณผู้ร้ายผู้ดีปล้นคนรวยขุนนางขี้ฉ้อมาเจือจุนคนจน พอตายลงเลยกลายเป็นตำนานบอกเล่ากันปากต่อปากแบบมุขปาถะและกลายเป็นเพลงกล่อมเด็กแพร่หลาย

ก็อาจเป็นได้ แต่ถ้าเป็นโจรจริงทำไมงานปลงศพเจ้าขุนทองถึงจัดเสียใหญ่โต มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถือฉัตรถือธงมีขบวนเรือหงส์มาช่วยปลงศพเสียด้วย

บางกระแสว่าเรื่องเจ้าขุนทองเป็นตำนานคนกล้าสมัยอยุธยา มีอาชีพปาดตาล ทำน้ำตาล บางคนว่าเนื้อที่ถูกต้องของเพลงกล่อมจริงๆคือเจ้าขุนทองไปปรน(มาจากสำนวนเก่า "ปรนงวงตาล " คือไปบำรุงรักษาตัดแต่งงวงตาลเพื่อให้ได้น้ำตาลมาก) วันหนึ่งขณะเจ้าขุนทองจะออกไปปรนตาลปาดตาล ได้พบกลุ่มชายไทยซ่องสุมกำลังกันเตรียมไปปล้นค่ายพม่า เจ้าขุนทองเลยอาสาไปด้วยแต่ก็เสียชีวิตในขณะเข้าปล้นค่าย ความทราบถึงกษัตริย์จึงเสด็จมาในกระบวนเรือจัดงานศพเสียใหญ่โตเป็นที่ร่ำลือในวีรกรรมสืบมา

อีกกระแสบอกว่าบทร้องเพลงนี้เป็นบทกวีของพระสังฆราชสมัยปลายอยุธยา รจนาสดุดีวีรกรรมปล้นค่ายพม่าของเจ้าขุนทอง ตามที่เล่าไว้ในตำนานข้างต้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่