ทุกท่านมีความเห็นกับ "ภาษาวิบัติ" อย่างไรบ้างครับ...

ตามหัวข้อที่ว่าเลยครับ ผมจะมาให้ความเห็นกับภาษาวิบัติในความคิดส่วนตัวและกรองความคิดคนอื่นมา ไม่ใช่เชิงวิชาการแต่อย่างใดครับ
.
ผมเป็นเด็ก ม.5 คนนึงที่เล่นโซเชียลเป็นปกติ ยิ่งFacebook จะเจอกับภาษาไทยที่มากหน้าหลายตาเลยทีเดียว ไม่ว่าจะใช้เป็นภาษาไทยที่ถูกต้อง หรือเป็นภาษาที่นิยมใช้กันแบบเร่งรีบ คุ้นเคย อ่านยากบ้างง่ายบ้าง แต่ก็เข้าใจ
- ภาษาที่คุ้นเคยและถูกต้องก็เช่น ต้องรีบทำงานส่งพรุ่งนี้แล้ว เดี๋ยวส่งช้าเพื่อนมันแซ็วเอาอีก ว่าเป็นเต่า
- ซึ่งถ้าเห็นในปัจจุบันก็อาจเป็น ต้องรีบทำงานส่งพุ่งนี้แล้ว เดี๋ยวส่งช้าเพื่อนมันแซวเอาอีก ว่าเปนเต่า

ข้างบนนี้จะเห็นได้เลยว่า ถ้ารีบๆ พรุ่งก็กลายเป็นพุ่ง แซ็วก็อาจเป็นแซวได้ หรือเป็นก็กลายร่างได้ว่า เปน
อันนี้ผมยอมรับได้ว่าไม่ได้เป็นภาษาวิบัติ ถ้า!!!! ผู้เขียนหรือผู้ส่งสารรู้พื้นเพเดิมของคำ ว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่ก็ต้องให้อยู่ในกาลเทศะด้วย ไม่ใช่ว่านึกจะพิมพ์ก็พิมพ์นะครับ

หรือจะเป็นในเชิงหางเสียง คำว่า ครับ จะเป็น งับ ฮับ ค้าบ คร้าบ คับ ก็ได้แล้วแต่ประสงค์ที่จะใช้ให้ดูหวานๆแบ๊วๆ เช่นหวัดดีงับ นะฮับ โอเคค้าบ
อีกคำนึงก็คือ ค่ะ คะ จะใช้ ค่า ขา ค้า ก็ได้ เช่น ป๋าขาหนูคิดถึงป๋าจังเลยค่ะ โอเคค่า อะไรค้าาาาา (เพิ่มสระอาให้แทนเสียงที่ยาวขึ้น) ก็ไม่ผิด ผมถือว่าไม่วิบัติด้วยนะ แต่ที่สำคัญคือกาลเทศะ และต้องรู้พื้นเพเดิมของคำ ไม่ใช่ว่า สวัสดีคะ  โอเคคะ  อะไรค่ะ ยังไงค่ะ น้องๆค่าาาาา ว่าไงค้ะ ได้ค๊ะ อันนี้แสดงชัดเจนเลยว่า ผู้สื่อไม่มีพื้นเพด้านภาษา ซึ่งเราจะเรียกว่าวิบัติได้เลย
ซึ่งคำเหล่านี้ ต้องดูเลยว่า ผู้ใช้ตั้งใจให้เป็นแบบนี้มั้ย ถ้าตั้งใจก็ไม่วิบัตินะครับ เพราะเขารู้พื้นฐานของคำเดิมมาแล้ว ว่า งับคือครับ ค่าคือค่ะ

แต่ถ้ามามองในมุมที่ผมคิดว่า เมื่อคนคนนั้นใช้แล้ว ดูรู้เลยว่า พื้นฐานภาษายังไม่แน่นพอ ทำให้คำวิบัติได้ เพราะจุดประสงค์เขาไม่ต้องการให้ออกเสียงแบบการเขียนนั้นๆ เช่น
เป้น...เป็น (คนละวรรณยุกต์เลย)
รุ้....รู้ (รุ ไม่ต้องเติมไม้โท จะได้เสียงเดียวกับ รู้ และเป็นคำตาย)
ม่...ไม่ (อันนี้ไปกันใหญ่เลย จะให้อ่ะว่าไม่ แต่พิมพ์ว่าม่อ?? เทียบจากคำว่า บ่...บ่อ ของภาษาอีสาน)
เด่ว เด๋ว เด้ว....เดี๋ยว (อันนี้ไม่ต้องอธิบายให้มากความครับ5555)
ก้อ...ก็ (อันนี้มองได้สองมุมว่า คนสื่อต้องการลากเสียงยาว หรือเสียงสั้น ถ้าลากเสียงยาว พิมพ์ว่า ก้อ ก็ได้ครับ แต่ถ้าลากเสียงสั้นผิดนะครับ ก็(เก๊าะ)
จร๊ จร๊ะ (คำนี้ปวดหัวสุดครับ)
และอีกมากมาย เช่น อัลไล(อะไร) ไช่(ใช่) หมูหยอง(หมูหย็อง)(คำนี้ความนิยมเป็นส่วนใหญ่ด้วย) เก่ว(เกี่ยว) ต่อมตง(ตอบตรงๆ)
นี่ผมยกตัวอย่างร่างความคร่าวๆ ตามความเห็นส่วนตัวผมนะครับ

สรุปเลยคือ "ภาษาจะวิบัติหรือไม่วิบัติ ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ กาลเทศะ พื้นฐานความรู้ของคำที่เรามีอยู่แล้วมาพิมพ์ให้เป็นภาษาปาก และอยู่ที่สังคมตัดสินว่าภาษานั้นจะวิบัติหรือไม่ หรือจะควรบัญญัติไว้ เช่น โคมลอยที่สมัยก่อนแทนเรื่องไร้สาระ แต่ปัจจุบันเราเอามาแทนโคมไฟที่คล้ายบอลลูน , มโน ที่แปลว่าคิดไปเอง ซึ่งจะเจอในภาษาธรรมเช่น มโนจิต โดยคำคำนี้อาจนำไปใช้ได้ในอนาคตก็เป็นได้ เป็นต้นครับ"

ปล. ย้ำนะครับว่านี่เป็นความเห็นส่วนตัว และฟังมาจากคนอื่นๆแล้วมากรองความคิดอีกรอบนะครับ ไม่ได้เป็นเชิงวิชาการใดๆ
ปล.2 ภาษาวิบัติ มันมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ ไม่ต้องกลัวว่าภาษาไทยจะเสื่อมเสียหรอก ถ้าเรายังคงพื้นฐานและใช้ให้ถูกกาลเทศะครับ ยิ่งใช้คำผิดความหมายนี่ผมว่ายิ่งวิบัติเลยครับ
ปล.3 ถ้าภาษาไม่พัฒนา ป่านนี้พี่หมื่นคงคุยกับแม่เกศสุรางค์รู้เรื่องแล้วละครับ5555

ปล.4 รัชกาลที่6ท่านเคยทรงพระราชนิพนธ์ ไว้เกี่ยวกับภาษาในยุคนนั้นว่า...
เงียบเหงาเปล่าอกหมอง  คิดถึงน้องหมองวิญญา
จึ่งหยิบหนังสือมา  แก้รำคาญอ่านเรื่อยไป
อ่านอ่านรำคาญฮือ  แบบหนังสือสมัยใหม่
อย่างเราไม่เข้าใจ  ภาษาไทยเขาไม่เขียน
ภาษาสมัยใหม่  ของถูกใจพวกนักเรียน
อ่านนักชักวิงเวียน  เขาชังเพียรเสียจริงจัง
แบบเก๋เขวภาษา  สมมุติว่าแบบฝรั่ง
อ่านเบื่อเหลือกำลัง  ฟังไม่ได้คลื่นไส้เหลือ
อ่านไปไม่ได้เรื่อง  ชักชวนเคืองเครื่องให้เบื่อ
แต่งกันแสนฟั่นเฝือ  อย่างภาษาบ้าน้ำลาย
โอ้ว่าภาษาไทย  ช่างกระไรชวนยิ้ม
คนไทยไพล่กลับกลาย  เป็นโซ้ดบ้าน่าบัดสี
หนังสือหรือหวังอ่าน แก้รำคาญได้สักที
ยิ่งอ่านดาลฤดี  เลยต้องขว้างกลางสาคร

สมัยนั้นมันมีพวกที่เอาคำฝรั่งมาใส่ในหนังสือไทย อ่านไปงงไป ไม่เข้าพวก ท่านเลยต้องประพันธ์ไว้เช่นนี้ ในกาพย์เห่เรือ ชมหนังสือครับ

ว่าแต่เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ มีความเห็นอย่างไรกับภาษาวิบัติบ้างครับ ผมอยากรู้ ถึงความคิดคนในปัจจุบันจริงๆครับ เป็นปัญหาวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ในปัจจุบัน เลยก็ว่าได้ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่