ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ถามคำถามที่สังคมต้องตอบก่อนก้าวไปข้างหน้า โดย ธนกร จ๋วงพานิช 30/4/2561 สรายุทธ กันหลง


ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ถามคำถามที่สังคมต้องตอบก่อนก้าวไปข้างหน้า โดย ธนกร จ๋วงพานิช  30/4/2561
Cr: Orathai Ard-am และ Tawe Nop
https://ppantip.com/topic/37618514

ได้แง่คิดเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ของไทย ยาวหน่อยแต่คุ้มกับการอ่าน..


ภิญโญ ไตรสุริยะธรรมา นักคิด นักเขียน นักอ่าน นักประวัติศาสตร์ระบบความคิดคนรุ่นใหม่แห่งยุคสมัย เขาตั้งคำถามสำคัญ และเฉียบคมต่อสังคมไทย อยากให้คนรุ่นใหม่ ความหวังของสังคมไทยร่วมกันตอบ ถ้าไม่ช่วยกันขบคิด ไม่ติดตาม ไม่อ่านก็เหมือนตกบันไดทางประวัติศาสตร์ อาจหลงทางหรือวนอยู่ในเขาวงกฎ หาทางออกไม่เจอ ..Orathai Ard-am

http://optimise.kiatnakinphatra.com/cover_story_12.php


Soul-Searching Questions

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ถามคำถามที่สังคมต้องตอบก่อนก้าวไปข้างหน้า
ธนกร จ๋วงพานิช

ท่ามกลางการลงทุนอย่างครึกโครมจากเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐไม่ว่าโครงการอีอีซีหรือรถไฟทางคู่ ความคึกคักของตลาดหุ้นที่พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ตลอดจนห้างสรรพสินค้าและคอนโดหรูที่แข่งกันผุดขึ้นพร้อมๆ กับสารพัดร้านขนมหวานและกาแฟ กล่าวได้ว่าไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกว่าปัจจุบันคือช่วงเวลาแห่งความคับขัน กระทั่งฝุ่น PM 2.5 ที่บ่อยครั้งอำพรางเมืองอยู่ในหมอกและพร้อมสร้างปัญหาทางเดินหายใจ ก็กำลังค่อยๆ กลายเป็นปกติใหม่ที่ทุกคนคุ้นชิน

กระนั้น สำหรับภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักเขียนและบรรณาธิการผู้ก่อตั้ง นิตยสาร OPEN ซึ่งนิตยสารสารคดีเคยยกย่องว่า “เป็นสื่อทางด้านความคิด ด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอันแหลมคมของหนุ่มสาว” ในช่วงปี 2540 และนักสัมภาษณ์คำถามเสียดแทงผู้เคยคาดคั้นเอาคำขอโทษจากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเกี่ยวกับกรณีตากใบ และอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม และหาญกล้าชวนทั้งสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลและสุลักษณ์ ศิวลักษณ์มาถกเกี่ยวกับมาตรา 112 ณ รายการ ‘ตอบโจทย์’ ในช่วงที่การเมืองเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังโหมแรง อีกทั้งนักคิดผู้มั่นใจพอจะใช้ คำว่าปัญญานำชื่อหนังสือที่เขียนแทบทุกเล่ม ไม่ว่าจะเป็น ‘ปัญญาญี่ปุ่น’ ‘ปัญญาอิตาลี’ ‘ปัญญาอดีต’ ‘ปัญญาอนาคต’ และล่าสุด ‘ปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น’

เขาเห็นว่าภาวะที่บ้านเมืองกำลังเผชิญอยู่ แท้จริงเข้าขั้นวิกฤตหลังชนฝาในระดับเดียวกับที่เคยบังคับให้พระเจ้าตากฯ ตีฝ่าออกจากกรุงศรีอยุธยา และทางรอดของผู้คนไม่อาจมีเพียงการถ่ายรูปกาแฟลงอินสตาแกรมแล้วแคปชันด้วยคำคมจากอินเทอร์เน็ต หากต้องเด็ดเดี่ยวทุ่มเทขนาด “ต่อยหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น ในเพลากลางคืนวันนี้ตีเอาเมืองจันทบูรให้ได้ ไปหาข้าวเช้ากินเอาในเมือง ถ้ามิได้ ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด” ดังที่บรรยายไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

ขอเชิญรับฟังว่า อะไรบีบคั้นให้บุคคลคนหนึ่ง    มีภาพที่ดุดันอย่างยิ่งเกี่ยวกับบ้านเมือง และอะไรจะเป็น ‘ปัญญา’ สำหรับปัจจุบันอันเร่งด่วนนี้

ปัญญาที่ยังไม่เลือนลับไปกับอดีต ทั้งไม่ลอยเลื่อนอยู่ในอนาคต

สายน้ำที่ผันเปลี่ยน

การเขียนหนังสือโดยยกคำสูงอย่าง ‘ปัญญา’ ไม่ใช่ของง่าย เพราะเป็นคำที่ยั่วยุให้เกิดการท้าทายทดสอบ แต่หากการ ‘เอาตัวให้รอด’ คือหนึ่งในเกณฑ์ทดสอบคุณภาพของปัญญาท่วมท้นดังในสำนวน ชีวิตของภิญโญ ที่ได้เผชิญภาวะให้ต้องเอาตัวรอดอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ทำให้เขาต้องมาริเริ่มเปิดนิตยสาร OPEN เป็นของตัวเองเมื่อปี 2542 จนกระทั่งวิกฤตการเมืองปี 2552 ที่เรื้อรังยาวนานจนในที่สุดทำให้เขาต้องยุติรายการ ‘ตอบโจทย์’ ในปี 2556 และหันมาเขียนหนังสือเบสต์เซลเลอร์ต่อเนื่องแทน กล่าวได้ว่าภิญโญผ่านบททดสอบมาแล้วมากกว่าหนึ่งครั้ง

“มันคือความขมขื่น เพราะว่าผมดันเริ่มต้นอาชีพในช่วงประวัติศาสตร์ของวิกฤตประเทศไทย และประวัติศาสตร์ของวิกฤตโลก ตอนเริ่มต้นอาชีพทำหนังสือพิมพ์ใหม่ๆ ปี 2535 หลังจากเกิดพฤษภาทมิฬ ก็นึกว่าจะมีความสุขในอาชีพไปได้ยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด แต่แค่ถึงปี 2540 ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว นั่นคือครั้งแรกที่ต้องเริ่มใหม่ มันไม่มีทางเลือก มันไม่ได้หอมหวาน แต่คุณต้องกลืนมัน คนไทยบอกหวานอมขมกลืน หวานอมไว้ ขมก็ต้องกลืนไปเพื่อที่จะเริ่มให้ได้ ทีนี้ผมทำนิตยสารมาได้พักหนึ่ง ทำสำนักพิมพ์แล้วก็ไปทำโทรทัศน์ แต่ทำโทรทัศน์ ก็ดันเจอ Digital Disruption ขึ้นมาอีก อย่างที่พวกเรากำลังเจอนี่แหละ

…ดังนั้น ทุกๆ ครั้งที่เริ่ม สถานการณ์บังคับให้คุณเริ่ม พระเจ้าตากฯ คงไม่อยากสร้างกรุงธนบุรี ถ้าอยุธยายังดีอยู่ คุณก็อยู่กันไปสิ จะย้ายออกมาทำไม ยิ่งรอบนี้มันคือวิกฤตการ disrupt ครั้งใหญ่ในทุกๆ มิติ ไม่ใช่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่มีมิติทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ คำถามคือเทคโนโลยีเปลี่ยน หากคุณไม่เปลี่ยนวิถีชีวิต ไม่เปลี่ยนวิธีคิด ไม่ยอมเปลี่ยนอะไรสักอย่าง แล้วคุณจะไปต่อยังไง สมัยก่อนถ้าคุณสามารถ disrupt ตัวเอง 1 ครั้งคุณก็อยู่ไปได้ยาวชั่วชีวิต อย่างพี่บูลย์ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม)แกรมมี่ disrupt ตัวเองสำเร็จ 1 ที แกก็เอ็นจอยมาตั้ง 30 ปี ช่วงหนึ่งแทบไม่ต้องทำงานเลย ตื่นบ่าย ใช้ชีวิตดีงามมากจนกระทั่งมาถูก disrupt อีกทีตอนทำเริ่มทำทีวีดิจิทัลนี่แหละ ความหรูหราของการค่อยๆ ปรับตัวมันหายไปหมดแล้ว ขนาดคนที่เก่งที่สุด ฉลาดที่สุด  ประสบความสำเร็จที่สุดยังต้องปรับตัวในระดับรายเดือน ไม่ใช่รายปี

คนรวยบอก ‘เศรษฐกิจดีไม่มีปัญหา’ ไปถามคนจน คนจนบอก ‘อดอยากปากแห้ง’ ไม่มีใครพูดโกหก พูดถูกทั้งคู่ มันสะท้อนว่าตอนนี้ หนึ่งประเทศสองระบบ ระบบที่คุณได้เปรียบ ได้ทุกอย่าง กับระบบที่คุณไม่ได้อะไรเลย
 
…พวกเราก็เหมือนปลาตัวหนึ่งที่ว่ายอยู่ในกระแสน้ำ และกระแสน้ำมันเปลี่ยนทิศทาง ความหนา ความลึก ความตื้น มันเปลี่ยนหมด คุณต้องถามตัวเองว่าจะว่ายในแม่น้ำนี้อย่างไร เมื่อก่อนบอก “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” เดี๋ยวนี้ทำเป็นซ่าส์ บอก “ปลาเร็วกินปลาช้า” แล้วเรื่องทีวีดิจิทัลล่ะ ก็เห็นปลาเร็วตายกันหมด ดังนั้นมันไม่ใช่เร็ว-ช้า ไม่ใช่ใหญ่-เล็ก มันคือความเหมาะสมบางอย่างกับจังหวะและเวลา ขอประทานโทษ สื่อบางหัวรอด เพราะไม่ทำอะไรเลย ปรับตัวช้า ไม่ประมูลทีวี เลยรอด ในขณะที่สื่ออื่นที่ประมูลทีวีดิจิทัล เจ๊งหมด

…แม้กระทั่งแบงก์ก็ตาม เราเห็นแจ็ค หม่าทำ Alipay เห็นเขาจับมือกับ Starbucks เห็นเขาจับมือกับ Renault เห็นเขาจับมือกับทุกคนแล้ว แบงก์จะอยู่ไปได้สักกี่ปี ธุรกิจที่มั่นคงที่สุด แข็งแรงที่สุด มีกำไรดีที่สุด วันดีคืนดีคุณโดน disrupt แล้วมันจะพิสูจน์ฝีมือว่า ไอ้ที่คุณบอกว่าเก่งมาทั้งชีวิต คุณเก่งจริง หรือคุณเก่งเพราะคุณผูกขาด เหมือนโทรทัศน์ไทย ช่อง 3 5 7 9 12 Thai PBS ถ้ามี 6 ช่อง ทำยังไงก็มีคนดู เพราะคุณเปลี่ยนรีโมทได้แค่ 6 ช่อง วันนี้ใส่ไปอีก 24 ช่องเป็นอย่างไร ทำไมคนเก่งไม่เก่งแล้ว แสดงว่าที่ผ่านมาคุณไม่ได้เก่งจริงหรือเปล่า คุณเก่งด้วยการผูกขาดหรือเปล่า บอร์ดแบงก์ทั้งหลาย เคยประชุมกันพูดอะไรก็ถูกหมด ใน 5 ปีต่อจากนี้ พูดแล้วอาจจะไม่ถูกอีกต่อไป และมันจะถูกแสดงให้เห็น ใครรอดคือคนเก่งจริง ใครไม่รอดแสดงว่าที่ผ่านมาราคาคุย” 

เพราะผูกจึงขาด

กาน้ำรูปร่างสะโอดสะองที่ภิญโญได้ติดไฟต้มเพื่อชงชารับแขกนั้นเงียบเสียงลงไปนานแล้ว แต่บทสนทนาที่แตะมาถึงเรื่องภาวะผูกขาดของธุรกิจในประเทศไทย กลับดูจะปะทุประเด็นให้ผุดพรายด้วยความร้อนขึ้นมาแทนที่

“คนที่สามารถแก้กฎหมายที่สร้างภาวะผูกขาดอย่างนี้ได้ก็คือคนที่มีอำนาจ แต่ปรากฏว่าผู้มีอำนาจ ก็คือตัวแทนของคนที่ได้ประโยชน์จากภาวะอย่างนี้นี่แหละ แล้วใครจะมาแก้กฎหมายเฉือนเนื้อตัวเองไปให้คนอื่นกิน นี่คือเหตุผลว่าทำไมความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยถึงสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก คนส่วนใหญ่ของประเทศรู้สึกว่ากูไม่มีส่วนร่วมเลย ไม่รู้จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองยังไงเพื่อจะขยับตรงนี้ได้ แล้วพอขยับไม่ได้ สิ่งต่างๆ ก็ขบกันแน่นมากและพร้อมที่จะหักออกมา เพราะอย่างนี้ ประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ จึงเห็นว่าต้องทำลาย monopoly และนั่นคือครั้งแรกที่มีการเพิ่มอำนาจรัฐบาลกลางเข้าไปจัดการกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1

…แต่บ้านเรา จนทุกวันนี้กลับไม่เคยคิดว่ามันเป็นปัญหา สภาพเมืองไทยตอนนี้เลยสะท้อนความจริงออกมา ทำไมตลาดหลักทรัพย์ถึงมีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำไมหุ้นขึ้นไป 1,800 จุด แต่ตลาดนัด ตลาดชนชั้นล่างกลับไม่มีกำลังซื้อ ทำไมตลาดคนรวย รวยมาก ตลาดคนจน จนมาก มันเป็นไปได้ยังไง ไปถามคนรวย คนรวยบอก ‘เศรษฐกิจดีไม่มีปัญหา’ ไปถามคนจน คนจนบอก ‘อดอยากปากแห้ง’ ถามว่าใครพูดจริง ใครพูดโกหก ไม่มีใครพูดจริง ไม่มีใครพูดโกหก พูดถูกทั้งคู่ มันสะท้อนว่าตอนนี้ หนึ่งประเทศสองระบบ ระบบที่คุณได้เปรียบ ได้ทุกอย่าง กับระบบที่คุณไม่ได้อะไรเลย ปัญหาคือ คุณจะรักษาหนึ่งประเทศสองระบบนี้ไว้ได้อย่างไรโดยไม่ให้คนในสองระบบตีกัน เพราะมันไม่มีใครทนความอยุติธรรมได้นาน 

…คนจนเรียกไม่ถูกหรอกความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำเป็นศัพท์ที่เพิ่งเกิดมาไม่กี่ปีนี้เอง แต่ถึงเรียกไม่ถูก ความรู้สึกของเขาก็แสดงออกมาเป็นความโกรธเกรี้ยวที่มีต่อคนรวยและผู้มีอำนาจ ทำไมคุณเปรมชัยถูกโกรธขนาดนี้ ลองเปลี่ยนคุณเปรมชัยเป็นลุงเก็บเห็ดแล้วไปยิงเสือสิ เสือตัวเดียวกัน ปืนเดียวกัน ถามว่าคนจะโกรธลุงที่เป็นคนจนเท่ากับที่โกรธคุณเปรมชัยไหม เปล่า---เขาโกรธเพราะเขารู้สึกว่าคุณรวย คุณมีทุกอย่างแล้ว ทำไมยังทำแบบนี้ ยิ่งถ้าอำนาจรัฐ ตำรวจ กระบวนการยุติธรรมไปเข้าข้างคุณ เขาก็จะโกรธพวกคุณทั้งหมด นี่คือความโกรธมวลรวมของสังคม ที่สะสมอยู่ในจิตใต้สำนึกโดยเจ้าตัวเองยังไม่รู้เลย ถ้าผู้มีอำนาจและผู้มีฐานะไม่ระวังตรงนี้ โอกาสพังสูงมาก เพราะคุณไปยืนขวางทางความโกรธที่เป็นจิตใต้สำนึกมวลรวมของสังคม เป็นใครคุณก็ตาย

ในระหว่างที่คุณแก้ปัญหาทางการเมืองไม่ได้ ถ้ามัวแต่คิดว่าต้องใช้การเมืองแก้ปัญหาอย่างเดียว คุณจะอยู่กันอย่างไร


….ในหนังสือ ‘ปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น’ ผมจะพาไปเวียนนา เมืองหลวงของอาณาจักรฮับสบูร์กในปี 1900 ซึ่งเป็นช่วงที่เวียนนารุ่งเรืองที่สุด เป็นช่วงที่ให้กำเนิดซิกมันด์ ฟรอยด์ กุสตาฟ คลิมท์ และปัญญาชนคนสำคัญทั้งหมด ก่อนหน้ายุคนี้มีการปฎิวัติทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่การปฎิวัติทางอุตสาหกรรม ทำให้คนมีความคิดว่าทุกอย่างบนโลกตอบได้ด้วยวิทยาศาสตร์และการใช้เหตุผล แต่นักคิดสำนักเวียนนาปี 1900 ตั้งคำถามว่า ถ้ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลจริงๆ ทำไมถึงได้ทำสิ่งไร้เหตุผลเยอะขนาดนี้ เขาจึงได้ค้นพบว่ามนุษย์ไม่ได้มีเหตุผลอย่างเดียว แต่มีอารมณ์ความรู้สึก หรือเรียกรวมๆ ว่า subconscious จิตใต้สำนึกที่ขับเคลื่อนมนุษย์อยู่ แต่เราไม่เคยให้ค่ามัน มันจึงนำไปสู่ความป่วยไข้ของผู้คน หรือเหนือไปกว่านั้น ความป่วยไข้ของสังคมที่นำไปสู่ความเลวร้าย แล้วก็เป็นจริงเลยเพราะหลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 จากเรื่องเล็กนิดเดียว คือกาฟรีโล พรินซิป ยิงปืนนัดเดียวฆ่าอาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันด์ตายที่ซาราเยโว

…ถามว่าคนตาย 1 คน เราจะไปรบกันทั้งยุโรปได้ไง ถ้าไม่มีความโกรธมวลรวมที่พร้อมจะรบกันอยู่แล้ว สงครามมันไม่ได้เกิดจากปืน มันเกิดมาจาก context ของสังคมที่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาเป็นไฟ ใครยิงก็ได้ ยิงใครก็ได้ แล้วคุณไม่คิดหรือว่าประเทศไทยตอนนี้จุดที่ติดไฟมันเต็มไปหมดเลย มันจึงอันตรายมาก เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะพลิกไปทางไหนก็ได้ ลึกที่สุดมันกลับไปที่จิตใต้สำนึก สงครามอยู่ในใจ ถ้าคุณเปลี่ยนได้ คุณก็จะพลิกพลังทั้งหมดไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ แต่ถ้าคุณไม่เปลี่ยน มันจะนำไปสู่การทำลายล้าง ซึ่งระดับการทำลายล้างอาจสูงระดับสงครามโลก เพราะความโกรธมวลรวมมันสูงขนาดนี้ ทุกวันนี้ คุณคิดว่าเราฝังระเบิดไว้กี่ลูกในผืนแผ่นดินไทย และในแต่ละปีเราเคยถอดสลักระเบิดบ้างไหม หรือเราฝังมันทุกวัน”
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่