[เกร็ดความรู้จีน] ว่าด้วยตัวนางงิ้วปักกิ่ง

ตัวนางงิ้วปักกิ่ง เรียกเป็นภาษาจีนกลางว่า “ต้าน” (旦) เป็น 1 ใน 4 บทบาทในการแสดงงิ้วปักกิ่ง อันได้แก่ ตัวพระ (เซิง : 生) , ตัวนาง (ต้าน : 旦) , ตัวหน้าลาย (จิ้ง : 净) และตัวตลก (โฉ่ว : 丑)



ประเภทของตัวนางในงิ้วปักกิ่ง

ตัวนางงิ้วปักกิ่ง สามารถแบ่งแยกย่อยออกได้อีก 7 ประเภทหลักๆ ได้แก่

(1) ตัวนางเจิ้งต้าน (正旦) คือตัวละครหญิงอายุราวๆ 20-40 ยังไม่ถึงวัยชรา โดยส่วนมากตัวละครประเภทนี้มักจะเป็นศรีภรรยาหรือไม่ก็มารดาที่ดี รวมถึงสตรีที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในจารีตอย่างเคร่งครัด ในการแสดง มักจะสวมใส่ชุดที่มีสีดำหรือน้ำเงินคราม ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า “ชิง” (青) ตัวนางประเภทนี้จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ชิงอี” (青衣) ตัวนางชิงอี เน้นหนักไปที่การร้อง เสียงที่ใช้ขับร้องและเจรจา จะใช้เสียงดัด (假嗓) ในการเจรจา จะใช้การเจรจาประเภทอวิ้นไป๋ (韵白) ซึ่งใช้สำเนียงจงโจวอวิ้น (中州韵) เป็นพื้นฐาน ไม่เหมือนการพูดในปัจจุบัน ยกตัวอย่างตัวละครที่อยู่ในประเภทนี้ เช่น ฉินเซียงเหลียน (秦香莲) ในงิ้วเรื่องจ๋าเหม่ยอั้น (铡美案) , หวางเป่าชวน (王宝钏) ในงิ้วเรื่องหงจงเลี่ยหม่า (红鬃烈马)


ตัวนางเจิ้งต้าน


(2) ตัวนางกุยเหมินต้าน (闺门旦) คือตัวละครหญิงที่ยังไม่ออกเรือน มักจะเป็นคุณหนูในตระกูลสูงศักดิ์ ด้านการแสดง อยู่กึ่งเจิ้งต้านและตัวนางฮวาต้าน การร้องและเจรจาใช้เสียงดัดเช่นเดียวกับเจิ้งต้าน ส่วนการเจรจาใช้การเจรจาประเภทอวิ้นไป๋ ตัวอย่าง เช่น เฉิงเสวี่ยเอ๋อ (程雪娥) ในงิ้วเรื่องเฟิ่งหวนเฉา (凤还巢) , อวี๋ซู่ชิว (俞素秋) ในงิ้วเรื่องคานอวี้ชวน (勘玉钏)


ตัวนางกุยเหมินต้าน


(3) ตัวนางฮวาต้าน (花旦) คือตัวละครผู้หญิงที่อยู่ในวัยสาว แรกรุ่น อุปนิสัยสดใสร่าเริง การร้องและเจรจาใช้เสียงดัดอย่างตัวนางเจิ้งต้าน แต่เสียงฟังเป็นวัยสาวมากกว่า การเจรจา ใช้การเจรจาประเภทจิงไป๋ (京白) ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาจีนปัจจุบันมากกว่า แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว ในตัวละครประเภทนี้ ส่วนมากเป็นบทสาวใช้หรือหญิงสาวชาวบ้าน เช่น หงเหนียง (红娘) ในงิ้วเรื่องหงเหนียง (红娘) และซีเซียงจี้ (西厢记) , ชุนเฉ่า (春草) ในงิ้วเรื่องชุนเฉาฉ่วงถัง (春草闯堂) ตัวนางฮวาต้าน ยังสามารถแยกย่อยลงไปได้อีก 3 ประเภท คือ


ตัวนางฮวาต้าน


- หวานเซี่ยวต้าน (玩笑旦) คือตัวนางฮวาต้านที่อยู่ในงิ้วสุขนาฏกรรม ที่เน้นความสนุกสนาน รื่นเริง ตัวนางฮวาต้านประเภทนี้ จะไม่ร้องทำนอง “ซีผี” (西皮) และ “เอ้อร์หวง” (二黄) แบบตัวละครงิ้วปักกิ่งทั่วไป แต่จะร้องด้วยทำนองเพลงพื้นบ้าน เช่น ทำนองหนานหลัว (南锣) , ทำนองชุยเชียง (吹腔) เป็นต้น ตัวละครประเภทนี้ ตัวอย่าง ชุนกู (村姑) ในงิ้วเรื่องเสี่ยวฟั่งหนิว (小放牛) , เซียวซู่เจิน (萧素贞) ในงิ้วเรื่องเสี่ยวซ่างเฝิน (小上坟)


ตัวนางหวานเซี่ยวต้าน


- โพล่าต้าน (泼辣旦) คือตัวนางฮวาต้านที่เป็นตัวนางร้าย มีเล่ห์เหลี่ยม เช่น พานเฉี่ยวอวิ๋น (潘巧云) ในงิ้วเรื่องชุ่ยผิงซาน (翠屏山) , เหยียนซีเจียว (闫惜姣) ในงิ้วเรื่องอูหลงย่วน (乌龙院)


ตัวนางโพล่าต้าน


- ชื่อซาต้าน (刺杀旦) มีสองลักษณะคือ หนึ่ง เป็นตัวนางฮวาต้านที่ฆ่าคนอื่น สอง เป็นตัวนางที่ถูกคนอื่นฆ่า เช่น โจวซื่อ (邹氏) ในเรื่องจ้านหว่านเฉิง (战宛城) , สวีซื่อ (徐氏)ในงิ้วเรื่องซาจื่อเป้า (杀子报)


ตัวนางชื่อซาต้าน


(4) ตัวนางไฉ่ต้าน (彩旦) คือตัวนางตลก เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “โฉ่วต้าน” (丑旦) หรือ “โฉ่วผอจึ” (丑婆子) มีทั้งที่เป็นหญิงแก่อารมณ์ร้าย หรือตลกขบขัน ในการแสดงจะใช้ตัวโฉ่ว (ตัวตลก) ชายมาแสดง การแต่งหน้าจะแต่งให้เกินไปจากที่แต่งหน้าผู้หญิงปกติ เพื่อให้ดูตลกขบขัน ใช้เสียงจริง (真嗓) ในการแสดง เช่น เฉิงเสวี่ยเยี่ยน (程雪雁) ในงิ้วเรื่องเฟิ่งหวนเฉา (凤还巢) , เหมยเซียง (梅香) ในงิ้วเรื่องสั่วหลินหนาง (锁麟囊) ซึ่งตัวละครเหมยเซียงนี้ บางทีก็ใช้ตัวนางฮวาต้าน


ตัวนางไฉ่ต้าน


(5) ตัวนางอู่ต้าน (武旦) ตัวละครหญิงที่เชี่ยวชาญการต่อสู้ การแต่งกายมักจะเป็นชุดกระชับตัว ไม่ได้สวมชุดเกราะ บทบู๊ของตัวนางประเภทนี้ เน้นการกระโดด ตีลังกา ใช้ท่าทางมากกว่าการร้อง เสียงร้องและเจรจาใช้เสียงดัด (假嗓) เช่น หยางไผเฟิง (杨排风) ในงิ้วเรื่องต่าเจียวจ้าน (打焦赞) , เสี่ยวชิง (小青) ในงิ้วเรื่องไป๋เสอจ้วน (白蛇传) ตัวนางเอกอู่ต้าน หรือนางเอกบู๊นี้ ยังแบ่งย่อยได้อีกประเภท คือ เตาหม่าต้าน (刀马旦)


ตัวนางอู่ต้าน


- เตาหม่าต้าน เป็นตัวนางเอกบู๊สวมชุดเกราะอย่างแม่ทัพนายพล เน้นทั้งการร้องและการทำบทบาท บทบู๊ ใช้เสียงดัด (假嗓) ในการแสดง เช่น มู่กุ้ยอิง (穆桂英) ในงิ้วเรื่องมู่เคอไจ้ (穆柯寨) , เสอไซ่ฮวา (佘赛花) ในงิ้วเรื่องฉีผานซาน (棋盘山)


ตัวนางเตาหม่าต้าน


(6) ตัวนางฮวาซาน (花衫) เป็นตัวนางที่เกิดจากการดึงเอาจุดเด่นของตัวนางชิงอี , ตัวนางฮวาต้าน และตัวนางเตาหม่าต้านมารวมกัน จุดเริ่มต้นมาจากอาจารย์หวางเหยาชิง (王瑶卿) ตัวนางแห่งสำนักหวางไพ่ และต่อยอดโดยสี่ยอดนางเอกงิ้วปักกิ่ง คือ เหมยหลานฟาง (梅兰芳) , ซ่างเสี่ยวอวิ๋น (尚小云) , เฉิงเยี่ยนชิว (程砚秋) และสวินฮุ่ยเซิง (荀慧生) จนเกิดรูปแบบการแสดงตัวนางแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเน้นการใช้ทักษะ 4 ของงิ้วปักกิ่ง ได้แก่ การขับร้อง , การเจรจา , ท่าทาง , บทบู๊ ตัวนางประเภทนี้ ใช้เสียงดัด (假嗓) ในการร้องและเจรจา มักจะใช้การะเจรจาประเภทอวิ้นไป๋ (韵白) เช่นเดียวกับตัวนางชิงอี ตัวอย่างตัวละคร เช่น อวี๋จี (虞姬) ในงิ้วเรื่องป้าหวางเปี๋ยจี (霸王别姬) ของเหมยไพ่ , หวางเจาจวิน (王昭君) ในงิ้วเรื่องฮั่นหมิงเฟย (汉明妃) ของซ่างไพ่ , เซวียเซียงหลิง (薛湘灵) ในงิ้วเรื่องสั่วหลินหนาง (锁麟囊) ของเฉิงไพ่ , โหยวซานเจี่ย (尤三姐) ในงิ้วเรื่องหงโหลวเอ้อร์โหยว (红楼二尤) ของสวินไพ่ ซึ่งในตัวนางประเภทนี้ ยังมีตัวนางอีกประเภทหนึ่ง ชื่อ “ฉีจวงต้าน” (旗装旦) คือตัวนางที่เป็นหญิงต่างเมือง ไม่ใช่ชาวฮั่น (จีน) โดยการแต่งกายจะสวมชุดของแมนจู ศีรษะทำผมและใส่เครื่องประดับอย่างสตรีแมนจู ใช้เสียงดัดในการร้องและเจรจา แต่ใช้การเจรจาประเภทจิงไป๋ (京白) อย่างตัวนางฮวาต้าน เช่น เถี่ยจิ้งกงจู่ (铁镜公主) ในงิ้วเรื่องซื่อหลางทั่นหมู่ (四郎探母) , หูอาอวิ๋น (胡阿云) ในงิ้วเรื่องซูอู่มู่หยาง (苏武牧羊)


ตัวนางฮวาซาน



ตัวนางฉีจวงต้าน


(7) ตัวนางเหล่าต้าน (老旦) คือตัวละครหญิงชรา ผมสีดอกเลาหรือขาวโพลนทั้งศีรษะ การร้องและเจรจา ใช้เสียงจริง (真嗓) และใช้การเจรจาประเภทอวิ้นไป๋ (韵白) สมัยโบราณ มักจะใช้นักแสดงประเภทเหล่าเซิงหรือตัวโฉ่ว (ตัวตลก) มารับบทตัวนางเหล่าต้าน แต่ในปัจจุบันมีนักแสดงที่แสดงบทบาทเหล่าต้านโดยเฉพาะ ตัวอย่างตัวละคร เช่น อู๋เมี่ยวเจิน (吴妙贞) ในงิ้วเรื่องชื่อซางเจิ้น (赤桑镇) , หลี่โฮ่ว (李 后) ในงิ้วเรื่องต่าหลงเผา (打龙袍) , เสอไท่จวิน (佘太君) ในงิ้วเรื่องเยี่ยนเหมินกวน (雁门关)


ตัวนางเหล่าต้าน


การเรียนการสอนตัวนางงิ้วปักกิ่งจึงมีการแบ่งแยกกันสอนตามลักษณะประเภท ซึ่งในงิ้วแต่ละเรื่อง ได้กำหนดไว้ตายตัวว่าตัวละครสตรีนางใดใช้ตัวรูปแบบการแสดงของตัวนางประเภทใด นักแสดงที่มีความสามารถบางคน อาจจะแสดงตัวนางได้มากกว่าหนึ่งประเภท ขึ้นอยู่กับการถ่ายทอดและขีดความสามารถของนักแสดงคนนั้นๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่