[CR] ทริป บุรีรัมย์ 3 วัน 2 คืน ตอน :: เที่ยววัด....ที่นางรอง บุรีรัมย์ วัดขุนก้อง - วัดร่องมันเทศ - วัดกลาง

สิม หรือ อุโบสถวัดขุนก้อง
รถรับจ้างที่เราเรียกไว้มารอเราที่หน้าโรงแรมพนมรุ้งปุรีแต่เช้าตรู่ กินข้าวกินปลากันเรียบร้อย ก็ได้เวลาเดินทางเที่ยวต่อ ก่อนที่วันนี้จะต้องเดินทางกลับกันแล้ว ทำให้เรามีเวลาในการเที่ยวแค่เพียงในช่วงเช้าเท่านั้น
ครุฑหน้าโบสถ
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราเลยเลือกเที่ยวกันในอำเภอนางรอง เพราะเฉพาะที่อำเภอนี้อำเภอเดียวก็มีที่เที่ยวให้เราศึกษาความเป็นอยู่และอารยธรรมโบราณต่าง ๆ ได้มากมายอยู่แล้ว
วัดแรกที่เราเลือกแวะไปเยี่ยมเยียนนี้ คือ วัดขุนก้อง
วัดขุนก้อง (ชื่อเดิม “ขุนกอง” ) เป็นวัดในพุทธศาสนา และเป็นวัดราษฏร์ อันหมายถึง วัดที่ราษฏรสร้างขึ้น และมิได้ถวายให้เป็นของหลวง สร้างในสมัยอยุธยาปีพ.ศ. 2150 ครั้งสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปปราบเขมร ขุนกองซึ่งเป็นนายทหารควบเสบียงมีจิตศรัทธาสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นแล้วให้ชื่อว่า “วัดขุนกอง” ทว่าภายหลังเพี้ยนเป็น”วัดขุนก้อง” ภายในวัด มีอุโบสถและกุฎิที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามน่าชม
เสมาธรรมจักร และแนวกำแพงแก้ว
นาคห้าเศียรขนดอยู่ที่หน้าประตูทั้งสองด้านแต่ละด้านเป็นนาคที่ต่างกัน
ทั้งนี้ สร้างโดย “ขุนกอง” ซึ่งเป็นนายทหารผู้ควบคุมเสบียงตอนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ขณะที่ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ ได้ยกกองทัพไปปราบเขมร ได้มาตั้งทัพพักอยู่ในเมืองนางรองเป็นผู้สร้างขึ้นและเรียกว่า “วัดขุนกอง” เมื่อกาลเวลาล่วงมานานเข้าชื่อเรียกวัดก็เพี้ยนมาเป็น “วัดขุนก้อง” แต่บัดนั้นมา วัดนี้สร้างมาก่อนพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. 121 ประกาศใช้มีอายุยาวนานถึงปัจจุบันเป็นเวลา 405 ปี
ด้านนี้เป็นนาคหัวลิง และบางเศียรแลบลิ้นยาว
จุดเด่น : การปั้นรูปนายทหารยืนเฝ้าหน้าประตูวัด แทนที่จะเป็นยักษ์วัดแจ้ง หรือยักษ์วัดโพธิ์นั้น สืบเนื่องจากพระอุโบสถหลังเก่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2260 ซึ่งมีการสร้างกำแพงโดยรอบพระอุโบสถสูง 1.50 เมตร และที่ประตูกำแพงพระอุโบสถทางทิศใต้ได้มีการปั้นรูปทหาร 2 นาย ซึ่งเรียกว่า “เจ้าขุนซ้าย-ขวา” เป็นทหารโบราณยืนหันหน้าเข้าหากันเสมือนเป็นทหารเฝ้ายามเพื่อป้องกันเมืองจากอริราชศัตรูเนื่องจากรอบบริเวณวัดเป็นคูเมืองทั้งหมด
ผนังโบสถซึ่งทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
บรรยากาศภายในวัดค่อนข้างเงียบสงบ เหมาะแก่การมาปฏิบัติธรรม แม้นอุโบสถอายุเก่าแก่จะไม่ได้เปิดใช้งานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเปิดให้ผู้คนที่สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองได้อย่างง่ายได้
รูปนายทหารยืนเฝ้าหน้าประตูวัด เรียกว่า “เจ้าขุนซ้าย-ขวา”
เสมาธรรมจักร สิ่งที่บ่งบอกว่า ณ ที่นี่คือ โบสถ หรือสิม (คำเรียกโบสถของชาวอีสาน)
นาคที่อีกด้านหนึ่งของทางเข้า เป็นนาคที่มีหงอน มีเหนียง
อุโบสถเก่าวัดขุนก้อง
ลวดลายฉลุไม้ที่หลังคาโบสถ
นอกจากโบสถเก่าแล้ว ภายในวัดขุนก้องยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งรูปจำลองเกจิอาจารย์ต่าง ๆ หรือกระทั้งบ่อน้ำด้านหลังวัดที่มีขนาดใหญ่และสวยงาม แต่เนื่องจากเรามีเวลาไม่มากนัก เลยต้องจากวัดขุนก้องไปก่อนในโอกาสนี้ เพื่อมุ่งหน้าสู่วัดร่องมันเทศต่อไป
บ่อน้ำหลังวัดขุนก้อง
วัดถัดมาที่เราแวะไปเยี่ยมเยือนคือ วัดร่องมันเทศ เป็นวัดเก่านางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ (อยู่ติดกับตลาดสดเช้านางรอง) เมื่อย้อนประวัติศาสตร์ขึ้นไปจนถึง ปี พ.ศ.1895 ภายหลังจากขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งต่อมาภายหลังได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาที่ 1 ได้ทรงมีชัยชนะต่อขอมที่เป็นกบฏและแผ่ขยายอาณาเขตไทย ขับไล่ขอมให้ออกไปจากดินแดนแว่นแคว้นต่าง ๆ ในเขตอีสานตอนใต้
วัดร่องมันเทศ
ทรงตั้งเมืองนางรองให้ถือกำเนิดขึ้น อยู่ในขอบขัณฑสีมาแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พร้อมทั้งได้ทรงก่อตั้ง วัดให้เป็นวัดคู่เมืองนางรองขึ้นวัดหนึ่งให้ชื่อว่า “วัดอารามสามัคคี” ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า”วัดร่องมันเทศ” แต่ก่อสร้างยังไม่ทันเสร็จ พระองค์ก็ทรงยกทัพกลับคืนกรุงศรีอยุธยา เพราะมีข้าศึกมอญมาประชิดเมืองทางด้านประจิมทิศ
พระประธานศักดิ์สิทธ์คู่เมืองนางรอง
เหล่าชาวประชาผู้คนชาวเมืองนางรอง ก็ได้สืบสานก่อสร้างและทำนุบำรุงรักษากันต่อ ๆ มา แม้บางช่วงบางตอนจะถูกทอดทิ้งรกร้างไปบ้าง อาจจะเป็นด้วยเหตุผลจากการบ้านการเมืองก็ตาม แต่ในปัจจุบันก็เป็นวัดที่สมบูรณ์ไปด้วยศาสนสถานต่าง ๆ และเป็นศูนย์รวมแห่งชาวพุทธที่อยู่ในบริเวณนั้น และยังเป็นความภาคภูมิใจ และรำรึกถึงในพระมหากรุณาธิคุณขององค์ขุนหลวงพะงั่ว พระผู้ให้กำเนิดบ้านเมืองนี้ให้อยู่ในจิตใจของผู้คนพลเมืองนางรองตลอดไปและมีพระประธานศักดิ์สิทธ์คู่เมืองนางรองอีกด้วย
พระประธานองค์นี้มีมาก่อนโบสถ จึงเป็นการสร้างโบสถครอบองค์พระอีกที
ภาพหลักฐานเก่า ๆ แสดงว่าพระประธานนั้นมีมาก่อนการสร้างโบสถ
บริเวณรอบ ๆ อุโบสถวัดร่องมันเทศ
ถัดจากวัดร่องมันเทศไปไม่ไกลนัก มีอีกวัดหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ วัดกลาง ๆ แห่งนี้เรียกได้ว่าอยู่กลางตลาดเลยก็ว่าได้ และน่าเสียดายที่ภายในอุโบสถนั่นปิด ไม่สามารถเข้าไปชมด้านในได้ แต่กระนั้น เราก็ยังสามารถมองเห็นบานหน้าต่าง บานประตูที่ทำจากไม้และแกะสลักลวดลายสวยงาม รวมถึงสถาปัตยกรรมที่งดงามอื่น ๆ โดยเฉพาะหอระฆังสูงที่ตั้งอยู่ข้างโบสถ ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังรูปนางฟ้าร่ายรำให้พร
วิหารวัดกลาง
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของวัดกลางคือ วิหารหลังสีขาวที่มีผนังลอย ตกแต่งเป็นรูปนูนต่ำของรามสูรกับเมฆขลาที่ด้านบน และนรสิงห์ นรสีห์กับต้นมัคนารีผลที่ด้านล่าง
พระอุโบสถวัดกลางที่ปิดอยู่ กับบานหน้าต่างประตูไม้แกะสลัก
เนื่องจากอุโบสถวัดกลางปิด เราเลยพอมีเวลาเหลืออีกเล็กน้อย ทำให้เรานึกถึงสถานที่อีกแห่งที่น่าสนใจไม่แพ้ัน นั่นคือ "ภูม่านฟ้า" ว่าแล้วก็ไปกันค่ะ
ชื่อสินค้า:   วัดขุนก้อง - วัดร่องมันเทศ - วัดกลาง
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่