แชร์ประสบการณ์เที่ยว Iceland ช่วง 11 - 19 เมษา

เราไปเที่ยว Iceland ช่วง 10 - 21 เมษายน เลยอยากจะแชร์ประสบการณ์ที่พบ เพื่อเป็นข้อมูลให้เพื่อนๆ ที่กำลังจะไปวางแผนการเที่ยวได้ดีขึ้นนะคะ

การเช่ารถ / ขับรถ



1. ผู้ให้บริการเช่ารถระดับ Inter เช่น Avis Budget Hertz ฯลฯ ราคาจะข้างสูง ส่วนเจ้าที่เป็น Local เช่น Lotus Blue ฯลฯ ราคาจะถูกกว่า

2. ประกันภัยของระดับ inter ทุกเจ้า และระดับ Local บางเจ้าจะไม่คลอบคลุมทุกกรณี ยังไงก็ต้องมีค่าความเสียหายส่วนแรก (Dedictible, ในไทยมันคือค่า Accpet ที่เราต้องจ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ) ที่เราต้องจ่าย

3. ประกันภัยของระดับ inter ทุกเจ้า และระดับ Local บางเจ้า ไม่รับประกันเรื่องความเสียหายที่เกิดจากลมพัดประตูหัก ลมแรงจริงๆ นะ ถ้าจับประตูไม่ดีนี่ลมพัดจนหักเลยนะคะ

4. ประกันการเดินทางที่ทำเพื่อขอ Visa มีความคุ้มครองเรื่องค่าความเสียหายส่วนแรกสูงสุด 25,000 บาทขึ้นอยู่กับแผนประกันภัยที่เราเลือก

5. ถ้ามีเขามีให้เลือกว่าสามารถทำประกันเรื่องหินดีดใส่ตัวถังรถ ประกันเรื่องยาง กระจกรถ แนะนำว่าทำไปให้ครบดีกว่านะคะ เพราะถนนที่เข้าไปที่เที่ยวบางที่ หรือแม้กระทั่งสาย 1 (Ring Road) เองบางช่วงก็เป็นถนนที่สร้างจากกรวด ไม่ได้ราดยาง ขนาดเราระวังสุดๆ แล้วยังได้รอบหินดีดใส่มา 3-4 รอยเลย



6. อย่างที่บอกไว้ค่ะ ถ้ามีประกันจงทำให้คลอบคลุมที่สุด ขนาดเราจอดรถไว้เฉยๆ ยังมีคันข้างๆ เปิดประตูมาชนจนเป็นรอยเลย

7. ค่าเสียหายส่วนแรกที่เราต้องจ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ (เราเอามาจากบริษัทที่เราใช้บริการนะคะ)



CDW     : Collision Damage Waiver
SCDW    : Silver Collision Damage Waiver
GCDW    : Gold Collision Damage Waiver
PCDW    : Platinum Collision Damage Waiver
TP            : Theft Protection
GP            : Gravel Protection
SAP            : Sand and Ash Protection
TI            : Tire Insurance
RCP            : River Crossing Protection
X         : ไม่รวมในแผนประกัน

ตัวเลขในตารางคือจำนวนเงินที่เขาจะเรียกเก็บจากเราถ้าเกิดอุบัติเหตุ หน่วยเป็น isk

8. สำหรับ SAP จนท. อธิบายว่าเป็นประกันความเสียหายที่เกิดจากทรายและขี้เถ้าซึ่งเกิดจากพายุทราย แม้ว่าโอกาสเกิดน้อย แต่รถจะเสียหายเยอะมาก ถ้าซวยจัดโดยพายุทรายพอดี อาจถูกเรียกเก็บค่าซ่อมสูงถึง 1,500,000 isk

9. เราวิ่งไปทั้งหมด 2,250 กว่ากิโลเมตร รอบเกาะ รวมที่เที่ยว เติมน้ำมันไปทั้งหมด 29,000 isk หรือประมาณ 9,000 บาท

10. ไม่ต้องตกใจนะคะว่าทำไมค่าน้ำมันเยอะจัง น้ำมันที่นี่ถ้าเป็นเบนซิน 95 ราคาจะอยู่ที่ลิตรละ 70 กว่าบาท ส่วนดีเซลจะอยู่ที่ลิตรละ 60 บาท มีน้ำมันให้เลือกอยู่ 2 ชนิดตามที่กล่าวไปค่ะ

11. การเติมน้ำเป็นแบบบริการตัวเอง ก่อนเติมต้องไปที่ตู้เก็บเงินข้างๆ หัวจ่ายก่อน ตู้จะให้เราเลือกหมายเลขหัวจ่าย จากนั้นก็ให้เราใส่บัตรเครดิต กด pin code หรือบัตร prepaid N1 (สำหรับเติมน้ำมันโดยเฉพาะ) รับบัตรคืน แล้วค่อยเติมน้ำมัน หัวจ่ายจะตัดอัตโนมัติเมื่อน้ำมันเต็ม เงินในบัตรก็จะถูกตัดตามจำนวนที่เติม



12. บัตรเครดิตในไทยทุกใบที่เรามีไม่สามารถใช้กับตู้เก็บเงินในปั๊ม N1 ได้ เนื่องจากเป็นบัตรแบบไม่มี Pin Code รหัส ATM ที่มาพร้อมกับบัตรก็ใช้ไม่ได้ (Visa Master และ Amex) เราลองมาหมดล่ะ แต่ปั๊มยี่ห้ออื่น (ซึ่งก็มีสาขาน้อยมาก) ใช้ได้หรือเปล่าอันนี้ไม่รู้

13. เรื่องบัตรเครดิตที่ใช้ไม่ได้นี่ ย้ำว่าใช้ไม่ได้เฉพาะการเติมน้ำมันเท่านั้นนะคะ ส่วนการซื้อของใน supermarket หรือการใช้จ่ายอื่นสามารถใช้ได้ตามปกติค่ะ เครื่องรูดจะแสดงยอดที่เรารูดให้ดู ถ้าถูกต้องก็กด ok จากนั้นเครื่องจะพิมพ์สลิปมาให้เซ็นเหมือนที่ไทยค่ะ บางเครื่องแม้ว่าเครื่องจะแสดงยอดที่เราต้องจ่ายให้ดูแต่เราต้องกดตัวเลขที่เราจ่ายเพื่อยืนยันอีกครั้งก่อนกด ok ค่ะ

14. สะดวกที่สุดคือให้ซื้อบัตร prepaid N1 ไว้ใช้ สะดวกที่สุด หาซื้อได้ตามร้านในปั๊ม แต่ปั๊มที่อยู่ไกลๆ จากตัวเมืองมากๆ จะไม่มีร้านนะคะ ร้านบางที่ก็ไม่ได้เปิด 24 ช.ม. ยังไงเผื่อไว้หน่อยก็ดีนะคะ

15. ถนนนอกเมืองเป็นถนน 2 เลนวิ่งสวนกัน เวลามีรถบรรทุกวิ่งสวนมาจับพวงมาลัยให้มั่นๆ นะคะ วิ่งสวนทีรถแถบส่ายเลย ยิ่งที่ตอนฝนตกเห็นรถบรรทุกนี่เปิดที่ปัดน้ำฝนระดับสูงสุดรอไว้ได้เลย ทั้งน้ำทั้งลมมาเต็มๆ

16. ความเร็วสูงสุด ถ้าเป็นถนนในเขตชุมชนก็ 30 ถนนนอกชุมชนก็ 50 บางช่วงก็ให้ได้ถึง 70 ถนนนอกเมืองก็ 90 ถ้าเป็นถนนราดยาง แต่ถ้าเป็นถนนกรวดก็ 80 แต่ให้ตายเหอะเราไม่เห็นใครเขาขับกันตามความเร็วที่กำหนดเลย ขับเร็วกว่าเกือบทุกคัน

17. ถ้าขับเร็วกว่าที่เขากำหนดแล้วโดนจับอาจถึงขั้นหมดตัวได้ ว่ากันว่าค่าปรับที่นี่โหดมาก ดังนั้นเราจึงขับตามความเร็วที่เขากำหนด แต่คนที่นี่ดีนะคะ ถึงเราจะขับช้า คันข้างหลังก็ไม่บีบแตรไล่ เขาจะรอจนกว่าเราจะจอดหลีกให้เขาไปก่อนหรือจนกว่าเขาจะมีจังหวะแซง

18. ถ้าจะให้ดีควรเช่ารถ 4WD รถเก๋งก็พอได้ค่ะ เพราะสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ตอนนี้เขาบังคับให้จอดรถตรงจุดจอดที่เขาเตรียมไว้ให้ จากนั้นก็ต้องเดินเท้าเข้าไป

19. จุดจอดรถบางจุดยังทำไว้ไม่ค่อยดีนัก (ช่วงที่เราไปบางที่กำลังปรับปรุงที่จอด) ก่อนเลี้ยวเข้าไปอยากให้สังเกตุนิดนึงก่อนว่าจอดแล้วล้อจะจมโคลนหรือทรายไหม ตอนเราไปมีเก๋งคันนึงเลี้ยวเจ้าที่จอดแบบไม่ได้ดูพื้นให้ดี ล้อเลยจมทรายต้องเรียกรถมายก

20. เราเช่ารถจาก Lotus Car Rent เช่า Subaru Forester 4x4 ในราคาประมาณ 95,000 isk ค่าเช่ารถอย่างเดียว 55,000 isk ที่เหลือเป็นค่าประกัน

21. เราเลือกทำประกันแบบ Platinum ซึ่งรับประกันแบบครอบจักรวาล ไม่ว่าจะชนเขา เขาชนเรา ลมพัดประตูหัก ขับรถข้ามแม่น้ำจนช่วงล่างเสีย ยางรั่ว กระจกร้าว ริ้วรอยต่างๆ ตามตัวถัง รับประกันหมด ยกเว้นการเติมน้ำมันผิดประเภทและห้ามดื่มสุราขณะขับขี่

22. จากประสบการณ์ตรง การจองรถของ Iceland ไม่ต้องรีบจองค่ะ ราคาจะลงเรื่อยๆ ลงทีเยอะด้วย ทั้ง Lotus และ Blue แต่อย่าจองช้ากว่า 1 เดือนก่อนวันเดินทางเพราะราคาจะขยับขึ้น

23. การจอดรถที่ Iceland จะนิยมเอาหัวเข้า เวลาออกก็ถอยออก เวลาเห็นใครกำลังจะถอบรถออกจากที่จอด รถคันที่กำลังวิ่งมาจะหยุดให้

24. เวลาขับรถในเขตชุมชน เช่น ในโซนที่เป็นที่อยู่อาศัย ตามแยกต่างๆ มักจะไม่มีไฟแดง ต้องระวังให้ดีๆ นะคะ เพราะเวลาขับถึงแยกต้องหยุดรถเพื่อดูว่ามีรถกำลังวิ่งมาหรือมีคนกำลังข้ามถนนหรือเปล่า

25. ที่ Iceland คนข้ามถนนมี Priority เหนือกว่ารถ เมื่อนขับรถมาถึงทางม้าลาย ถ้าเห็นว่ามีคนกำลังจะข้ามต้องหยุดรถให้คนข้ามถนนก่อนเสมอ


เรื่องเช่ารถ / ขับรถ ตอนนี้นึกได้เท่านี้นะคะ ถ้านึกอะไรได้เพิ่มเติมจะมาบอกเพิ่มค่ะ ผิดพลาดประการใด ช่วยบอกเราด้วยนะคะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่