“ประวิทย์ ” ทิ้งหุ้นช่อง 3 ขายหมดเกลี้ยงพอร์ต เหลือ 7 พี่น้อง

https://positioningmag.com/1165960
           ตระกูลมาลีนนท์ ถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง ในยุครุ่นที่ 2  รุ่นลูกทั้ง 8 คนของ วิชัย มาลีนนท์ ผู้สร้างบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด หรือสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ต่อมาขยับขยายมาเป็น บริษัท บีอีซี เวิลด์  ที่ดูเหมือนว่าจะแตกหัก กันอย่างชัดเจนแล้ว
จากข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่บริษัท บีอีซี เวิลด์ หรือ BEC ที่แจ้งไว้ที่ของตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 23  มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ในบรรดาชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไม่มีรายชื่อของครอบครัว “ประวิทย์ มาลีนนท์” ถือหุ้นใหญ่อีกต่อไปแล้ว
               ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 กลุ่มครอบครัวประวิทย์ ถือหุ้นรวมทั้งหมด 5.88% ถือโดยลูกสาวและลูกชายทั้งหมด 4 คนได้แก่, อรอุมา , วัลลิภา , วรวรรธน์ และชฎิล ถือหุ้นคนละ 1.47% ในขณะนั้นประวิทย์ได้ลาออกจากตำแหน่งบริหารใน BEC และบริษัทในกลุ่มช่อง 3 ทั้งหมดตั้งแต่ 19 พฤศจิกายน 2559 โดยส่งไม้ต่อให้น้องชายคนเล็ก “ประชุม มาลีนนท์” เข้ามาบริหารแทนตั้งแต่ 21 มีนาคม 2560
หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มครอบครัวประวิทย์ก็เริ่มขายหุ้นออก เริ่มจากนายวรวรรธน์ มาลีนนท์ ลูกชายประวิทย์ ขายออกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ จำนวน 29.393 ล้านหุ้น โดยแจ้งผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ทำให้กลุ่มของประวิทย์ เหลือหุ้นอยู่ใน BEC ทั้งหมดในสัดส่วน 4.41 % เท่านั้น จากเดิมที่มีอยู่ 5.88%
               จนข้อมูลล่าสุดที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ไม่ปรากฏชื่อทั้ง  อรอุมา , วัลลิภา ,และชฎิล ลูกสาวและลูกชายของประวิทย์ ที่เคยถือหุ้นคนละ 1.47% อีกต่อไป ซึ่งมีรายงานข่าวว่า ทั้ง 3 คนได้ขายหุ้นทั้งหมดออกไปอย่างเงียบๆไปได้พักใหญ่แล้ว โดยไม่มีรายงานว่าขายไปเมื่อไร และราคาเท่าไร แต่คาดว่าเป็นการขายในช่วงหลังจากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ จนถึง 23 มีนาคมที่ผ่านมา
สำหรับราคาหุ้นของ BEC ปิดเมื่อปลายปี 2560  ในวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ที่ราคา 13.10 บาท เมื่อเปิดตลาดปี  2561 วันที่ 3  มกราคม 2561 ลดลงมาอยู่ที่ 13 บาท และยังลดลงเรื่อยๆ จากสถานการณ์เรตติ้งตก รายได้ลด จากการแข่งขันสูงในตลาดทีวีดิจิทัล โดยมีราคาต่ำสุดของปีนี้อยู่ที่ 10.10 บาท ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และเริ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาอยู่สูงสุดที่  13.80 บาท ในวันที่ 14 มีนาคม ในช่วงที่สถานการณ์ของช่อง 3 กำลังฟื้นกลับคืนมาจากกระแสความดังของละคร “บุพเพสันนิวาส”  โดยในวันที่ 23 มีนาคม ราคาปิดตลาดหุ้น BEC ยังอยู่ที่ราคา  13.00 บาท
7 พี่น้อง ตระกูลมาลีนนท์ ถือหุ้นรวมเหลือ 40.25%
               ข้อมูลที่ได้ตรวจสอบจากทั้งตลาดหลักทรัพย์ และกลต. ล่าสุดวันที่ 10 เมษายน พบว่า จาก 8 พี่น้องตระกูลมาลีนนท์ เหลือเพียงกลุ่มผู้ถือหุ้นจาก 7 พี่น้องมาลีนนท์ ถือหุ้นรวมกันทั้งหมด 40.25% ลดลงจากเดิม 44.56%
กลุ่มที่ถือหุ้นมากที่สุดคือ กลุ่ม 4 พี่น้องฝ่ายหญิงทั้งหมด รัตนา มาลีนนท์ ถือหุ้นทั้งหมด 8.98% รองลงมาคือ อัมพร และนิภา ถือหุ้นคนละ 6.46% และ ครอบครัวของรัชนี (มาลีนนท์) นิพัทธกุศล ถือหุ้น 5.88% ที่รวมกันแล้ว ถือหุ้นทั้งหมด 27.78%
ในกลุ่มผู้ชาย ครอบครัวของประสาร (เสียชีวิตแล้ว) ถือหุ้นผ่านลูกๆ ทั้ง 5 คน คนละ 1.18% รวมเป็น 5.90%
รองลงมาคือ กลุ่มครอบครัวประชุม ที่ประชุมค่อยๆขยับสัดส่วนขึ้นมาอยู่ที่ 1.5% และลูกอีก 3 คนคนละ 0.85% รวมทั้งหมด 4.05% สุดท้ายคือกลุ่มของครอบครัวประชา ที่ถือผ่านลูกสาว 3 คนรวม 2.52%
สองพี่น้อง ตระกูล “จุฬางกูร” ถือหุ้น 6.67%
                     ท่ามกลางรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ใน BEC ที่ถือในนามบุคคล นอกเหนือคนในตระกูลมาลีนนท์แล้ว ข้อมูลล่าสุด 27 มีนาคม 61  ก็กฎชื่อสองพี่น้อง “ทวีฉัตร และณัฐพล จุฬางกูร” เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน BEC โดย
ทวีฉัตร ถือหุ้น 5.02% และณัฐพล 1.65% รวมเป็น 6.67%
ทั้งสองพี่น้องมีชื่อเสียงในกลุ่มนักเล่นหุ้น ที่ชอบเข้ามาลงทุนในบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ เช่นเข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน นกแอร์ ซึ่งปัจจุบันกลาย หุ้นของทั้งสองคน เป็นหุ้นใหญ่ที่สุดในนกแอร์ สัดส่วน 42.26%
อย่างไรก็ตามการเข้ามาถือหุ้นใน BEC นี้ นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า อาจจะเป็นเพียงการเข้ามาถือหุ้นลงทุนของนักลงทุน ไม่ได้มีเจตนาเข้ามาบริหารงานแต่อย่างใด

ลือประวิทย์ ทิ้ง หลังแตกหักพี่น้อง
               เป็นที่รับรู้กันว่า ในตระกูลมาลีนนท์ ในบรรดาลูกชายลูกสาวทั้งหมด ได้รับการจัดสรรหุ้นจากวิชัย ผู้เป็นพ่อในสัดส่วนเท่าๆกัน และทุกคนจะมีสิทธิมีเสียงโหวตได้เท่าๆกัน ในช่วงแรกๆที่ ประวิทย์รับหน้าที่บริหารธุรกิจทั้งหมดมาเป็นเวลายาวนาน ในฐานะคนที่เป็นนักประสานงาน นอบน้อม เพราะในช่วงต้น การบริหารงานช่องจะต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐในเรื่องสัญญาสัมปทาน และติดต่อประสานงานหน่วยงานต่างๆ และด้วยเป็นคนที่มีบุคลิกลักษณะอ่อนน้อม ใจดี คนเข้าหาได้ตลอด ทำให้ผูกใจผู้คนได้มาก โดยเฉพาะบรรดาดารา ผู้จัด ให้ความเคารพนับถือมาก ถือเป็น "นาย" ตัวจริงของทุกคน  
               ประวิทย์รับหน้าที่บริหาร ในขณะที่ “ประชา” น้องชายไปมุ่งมั่นกับเล่นการเมือง  แต่เมื่อต่อมาประวิทย์ มีปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงส่งต่อการบริหารงานให้กับ “ประสาร” พี่ชายคนโต
เมื่อวันที่1 สิงหาคม 2555 “ประสาร” มารับตำแหน่งแทนประวิทย์ ที่ลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ แต่ประวิทย์ ก็ยังคงมีอำนาจและบารมีอยู่เบื้องหลัง โดยประสาร จะให้ประวิทย์ช่วยเหลืองานอยู่เบื้องหลังตลอด  และประวิทย์ก็เป็นคนตัดสินใจงานหลักๆ โดยเฉพาะการประมูลช่องทีวีดิจิทัลมาถึง 3 ช่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่สร้างภาระค่าใช้จ่าย และการลงทุนสูง ทำให้ช่องเริ่มประสบปัญหาการเงิน จากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่รายได้กลับไม่ได้เติบโตตามไปด้วย
ประสาร เป็นพี่ชายคนโต ที่พี่น้องทุกคนรัก และให้ความเกรงใจ  แม้ว่าจะเจอสถานการณ์การแข่งขันกันอย่างรุนแรงของวงการทีวีดิจิทัล
แต่เมื่อประสารเสียชีวิตไป เมื่อเดือนตุลาคมปี 2559 จึงเริ่มมีข่าวลือเรื่องความขัดแย้งภายในครอบครัวเกิดขึ้น
ครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับ ”ผลประโยชน์” ภายในเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตามที่มีข่าวลือว่า ผู้บริหารบางคนเข้าไปมีส่วนได้เสียในบริษัทที่รับผลิตงานให้กับช่อง โดยการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทของผู้ผลิต และผู้จัดละครหลักๆของช่อง เหมือนการมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีใครเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมด ในขณะที่ประวิทย์ ที่โดนพุ่งเป้าถึงปัญหานั้น เคยให้สัมภาษณ์ปฏิเสธว่า ไม่เคยเข้าไปถือหุ้นบริษัทที่มารับงานช่องแต่อย่างใด
แม้แต่บริษัทผู้ผลิตใหญ่ที่รับงานช่อง 3 อย่างบริษัท Search Entertainment ของ วิบูลย์ ลีรัตนขจร บอสบริษัท Search ก็เคยยืนยันว่า ประวิทย์ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัท
                     ประวิทย์ลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัทเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 มีการจัดทัพใหม่ของคนในตระกูลใหม่อีกครั้ง คราวนี้ ”ประชุม” น้องเล็กรับคุมบังเหียนธุรกิจแทน โดยได้รับการสนับสนุนจากบรรดาพี่น้องผู้หญิงทั้งหมด พร้อมๆกับการลาออกจากทุกตำแหน่งรวมถึงในบอร์ดของ”ประวิทย์” โดยมีข่าวลือว่าพี่น้องแตกหักเป็น 2 ฝ่าย
หลังจากนั้น ประวิทย์ ซึ่งไม่ได้มีบทบาทอะไรในฝ่ายบริหาร ก็ยังคงมาร่วมงานกิจกรรมกับช่องตามปกติ ทั้งงานละคร งานพบปะผู้จัดละคร และผู้ผลิต และงานแถลงข่าวต่างๆ ประวิทย์ก็ไปนั่งฟัง “ประชุม”แถลงข่าวบ่อยครั้ง
“ประชุม” กับงานที่ต้องพิสูจน์กับทีมผู้บริหารมืออาชีพ
ประชุม น้องชายคนเล็ก ที่ได้โอกาสเข้ามาบริหารงานช่องโดยมีพี่น้องฝ่ายหญิงให้การสนับสนุน ในช่วงสถานกาณ์แข่งขันรุนแรง ในฐานะที่ไม่เคยมีประสบการณ์บริหารมาก่อน จึงเลือกที่จะนำทีมผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาทำงาน นำทีมโดย “สมประสงค์ บุญยะชัย” อดีตผู้บริหารค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ เอไอเอส และสร้างทีมผู้บริหารแผงใหญ่กว่า 10 คนเต็มทีม
หลังปล่อยทีมผู้บริหารมืออาชีพบริหารงานมาได้ 1 ปี เมื่อวันที่  23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมประสงค์ก็ลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดบริหาร คงเหลือตำแหน่งบอร์ด ท่ามกลางปัญหาขาลงของช่อง 3 ที่ผลประกอบการปี 2560 มีกำไรเพียง 61 ล้านบาทเท่านั้น
แต่สถานการณ์กำลังพลิกกลับเมื่อได้ความโด่งดัง เป็นกระแสระดับประเทศของละคร “บุพเพสันนิวาส” ทำให้ดูเหมือนว่าช่อง 3 กำลังฟื้นกลับมายืนใหม่ได้อีกครั้ง เมื่อละครดัง เรตติ้งมา รายได้ก็เข้า
                  อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องรอพิสูจน์จากละครเรื่องอื่นๆ ว่าจะสร้างความนิยม และรายได้ต่อเนื่องได้อย่างไร บรรดาทีมผู้บริหารมืออาชีพ ก็ต้องพยายามพิสูจน์ฝืมืออีกครั้งเช่นกัน
เพราะหากทีมผู้บริหารมืออาชีพ รับมือไม่ไหว ครานี้คงถึงที ที่คนในตระกูลฝ่ายหญิงที่คร่ำหวอดประสบการณ์สูงในวงการทีวี ต้องเข้ามาเทคแอคชั่นจริงๆจังๆเองเสียแล้ว.
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 6
ใครถือหุ้น ใครเป็นผู้บริหารสูงสุดไม่รู้ แต่อยากทราบว่า คุณสมรักษ์ ผู้บริหารส่วนอนุมัติละครเชยๆ น้ำเน่าชอบดันคู่จิ้น จัดคิวละครแปลกๆคนนั้นน่ะ ยังอยู่ไหม เปลี่ยนคนเหอะช่อง3จะได้รุ่งๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่