ผมควรทำอย่างไรกับกรณีนี้ดีครับ

สวัสดีครับ   ผมเป็นผู้พิการทางสายตา    ปัจจุบัน   ผมเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   ผมเริ่มทำงานที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มาตั้งแต่ปี  2551  จากนั้น   ผมสอบได้ทุนรัฐบาลไปเรียนต่อปริญญาเอกต่างประเทศในปี  2556  หลังจากส่งวิทยานิพนธ์เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว   และอยู่ระหว่างรอผลสอบนั้น   ผมได้รายงานตัวกลับเข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยตามเดิม    ตอนแรกรู้สึกดีใจที่ได้กลับมาทำงาน   เพราะห่างเหินจากการสอนไปนาน   อีกทั้งคิดว่าน่าจะแบ่งเบาภาระของอาจารย์ในคณะได้บ้าง   แต่สิ่งที่คิดไว้กับสิ่งที่ได้เจอช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง    โดยผมจะมาถ่ายทอดประสพการร์ดังกล่าว    ดังต่อไปนี้    ทั้งนี้   ผมไม่ทันให้ใครช่วยตรวจพิสูจน์อักษรให้ก่อน   จึงอาจมีการพิมพ์ผิดหรือสะกดผิดให้เห็นบ้าง   โดยต้องขออภัยมา   ณ   ที่นี้ด้วยครับ
หลังจากที่กลับมาทำงาน   ผมต้องพบกับเรื่องที่มากวนใจต่างๆนานา   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อาจารย์บางคนแสดงการกระทำเสมือนว่าผมยังเรียนไม่จบ   เรื่องที่หัวหน้าสาขาส่งอีเมลไปถามอาจารย์ที่ปรึกษาของผมเกี่ยวกับข้อมูลการทำวิทยานิพนธ์   ทั้งที่อาจารย์ที่ปรึกษาได้มีหนังสือรับรองและบอกเล่ารายละเอียดมาก่อนหน้านี้แล้ว    เรื่องที่อาจารย์ท่านหนึ่งให้ผมย้ายห้องทำงานอย่างไม่มีเหตุผล   เรื่องที่อาจารย์บางคนรวมหัวกันทำให้ผมไม่มีวิชาสอนเพียงพอ   เรื่องที่ผู้บริหารบางคนไม่พอใจที่ผมติติงการลงโทษนักศึกษาอย่างไม่ถูกต้องตามกระบวนการและได้แสดงความคิดเห็นต่อการทำหน้าที่บริหารของผู้บริหารชุดปัจจุบัน   จนถึงเรื่องการที่คณบดีและรองคณบดีฝ่ายวิชาการให้ผมไปคุมสอบนักศึกษา    เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกอึดอัด   หวาดระแวง   และรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงานในเวลาต่อมา    ถึงแม้ตอนนี้ผมยังพอรับมือได้   ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเจออะไรต่อไปบ้างในวันข้างหน้า   และยังจะอดทนต้านทานไหวต่อไปหรือไม่   เรื่องที่จะเล่าให้ฟังนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ผมยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง   เนื่องจากเป็นเรื่องที่ผู้กระทำมุ่งหมายให้กระทบความรู้สึกของผมในฐานะคนพิการ   โดยมีรายละเอียด   ดังนี้  
เรื่องมีอยู่ว่า   คณบดีและรองคณบดีฝ่ายวิชาการได้มอบหมายให้ผมไปคุมสอบนักศึกษา   ทั้งๆที่ทราบเป็นอย่างดีว่าผมมีความบกพร่องทางสายตา   โดยไม่สามารถสอดส่องดูแลในขณะที่นักศึกษากำลังทำข้อสอบได้    และผมยังไม่เคยได้คุมสอบมาก่อนด้วย   ทั้งสองท่านนี้ไม่เคยพูดคุย   ซักถาม   หรืออธิบายเหตุผลใดๆ   ทั้งที่ผมได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวไปแล้วหลายครั้ง   แม้ต่อมาทั้งสองท่านกับผมจะได้พบปะพูดคุยกัน   ท่านก็ยังไม่มีทีท่าที่จะยับยั้ง   หรือปรับเปลี่ยนหน้าที่ของผมอย่างเหมาะสม   แต่กลับปล่อยให้ผมไปคุมสอบในวันถัดไปอย่างไม่สนใจใยดี    การให้คนมองไม่เห็นไปทำหน้าที่ที่ต้องอาศัยการมองเห็นเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมความพิการทางจิตใจ   เฉกเช่นเดียวกับการออกคำสั่งให้คนที่มีความพิการทางการเคลื่อนไหว   หรือขาพิการ   เดินขึ้นบันได    อีกทั้งการมอบหมายให้ผมไปคุมสอบไม่ได้ทำให้เกิดผลดีต่อผมและผู้อื่นด้วย   ทั้งนี้เป็นเพราะ   ประการแรก   ความบกพร่องทางสายตาของผมอาจก่อให้เกิดความหละหลวมในการคุมสอบ   ซึ่งจะทำให้มีการทุจริตในระหว่างการสอบของนักศึกษาได้   ประการที่สอง   การที่ผมไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างเต็มที่จะส่งผลให้ผู้ที่ร่วมคุมสอบกับผมต้องรับภาระหนัก   และอาจสอดส่องดูแลการสอบได้อย่างไม่ทั่วถึง   และประการสุดท้าย   อาจทำให้นักศึกษาหรือผู้ที่ผ่านมาพบเห็นเกิดความรู้สึกขบขัน   หรือนำไปล้อเลียน   หรือเกิดความรู้สึกสมเภชเวทนากับผมได้    ด้วยเหตุนี้   ผมจึงเชื่อว่าคณบดีและรองคณบดีฝ่ายวิชาการมิได้มุ่งหมายให้ผมทำหน้าที่คุมสอบอย่างสุจจริตใจมาตั้งแต่ต้น   แต่เป็นความจงใจกั่นแกล้งให้เกิดความอับอาย   ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผมอย่างตั้งใจ  
อย่างไรก็ตาม   คณบดีและรองคณบดีฝ่ายวิชาการมาชี้แจงกับผมในภายหลังว่าการทำหน้าที่คุมสอบเป็นภาระงานที่อาจารย์ทุกคนต้องทำ   ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย     การไม่มอบหมายให้ผมคุมสอบจะทำให้คณบดีมีความผิดฐานละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่    แต่เมื่อศึกษาจากกฎระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัยแล้ว   ผมไม่พบหลักเกณฒ์ดังกล่าวแต่อย่างใด    และหากเป็นดังที่คณบดีได้ชี้แจง   ผมไม่น่าที่จะผ่านการประเมินการปฏิบัติงานตั้งแต่เมื่อเกือบ  10  ปีที่แล้วมาได้    ยิ่งไปกว่านั้น   ทั้งสองท่านนี้ยังละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผมในฐานะคนพิการโดยการอธิบายเหตุผลที่ให้ผมไปคุมสอบที่บิดเบือนจากหลักการอันเป็นที่ยอมรับ   และเป็นสิ่งที่อยู่ในวิศัยของคนปกติวั่วไป    ทั้งสองท่านอธิบายว่า   การมอบหมายให้ผมไปคุมสอบเป็นการคุ้มครองสิทธิในการทำงานของผม   และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผม    หากละเว้นไม่ให้ผมคุมสอบ    หรือแจ้งไปทางมหาวิทยาลัยว่าผมไม่สามารถคุมสอบได้   จะเป็นการตัดสิทธิของผม   และเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผม   นัยว่าผมไม่มีโอกาสได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วนเท่าเทียมกับอาจารย์ท่านอื่น    คณบดียังกล่าวอีกว่า   การที่ไม่ได้พูดคุยปรึกษาหารือกับผมก่อนเป็นเพราะท่านเห็นว่าผมไม่มีความแตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่น    หนำซ้ำยังไม่ต้องการปฏิบัติกับผมให้ดูแตกต่าง    และไม่ต้องการให้ผมรู้สึกแตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่นด้วย    จึงเสนอคำสั่งให้ผมทำหน้าที่คุมสอบ    คณบดียังย้ำด้วยว่า   ท่านต้องการให้ผมรู้สึกมีคุณค่า   และต้องการให้คนอื่นเห็นในคุณค่าของผม   นัยว่าผมตาบอด   ก็ยังคุมสอบได้   การมอบหมายให้ผมไปคุมสอบจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างที่ผมเข้าใจไปเองแต่อย่างใด    ถึงตรงนี้   ผู้อ่านอาจมองว่าคณบดีก็มีเหตุผลที่รับฟังได้ไม่ใช่หรือ    แต่ผมอยากให้ผู้อ่านตั้งข้อสังเกตว่า   ถ้าคณบดีมีเจตนาเช่นนั้นจริงๆ   ผมจะยกคำอธิบายเหล่านี้มาให้ตัวเองถูกวิจารณ์ไปเพื่ออะไร   โดยจะได้อธิบายถึงเหตุผลต่อไป
จะเห็นได้ว่าการอธิบายของคณบดีมีลักษณะบิดเบือนต่อหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างจงใจ    ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ   การคุ้มครองสิทธิการทำงานหรือสิทธิการมีงานทำของคนพิการ   หมายถึง  “ การคุ้มครองสิทธิของคนพิการบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น   ภายใต้เงื่อนไขการทำงานที่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อคนพิการ ”  เป็นต้น    นอกจากนั้น   ตามแนวคิดของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงอย่าง  John Rawls  การคุ้มครองสิทธิและความเสมอภาคของบุคคลนั้น   จะต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย   มิฉะนั้นแล้ว   ผลที่ออกมาอาจจะไม่เป็นธรรม    เช่น   ทุกคนมีสิทธิได้รับเสื้อกันหนาวคนละหนึ่งตัว   ซึ่งแต่ละตัวมีขนาดเท่ากัน   แต่รูปร่างของแต่ละคนแตกต่างกัน   การให้ทุกคนที่มีรูปร่างแตกต่างกันมีสิทธิได้รับเสื้อกันหนาวหนึ่งตัวที่มีขนาดเท่ากันถือว่าไม่ยุติธรรม   เพราะคนที่ตัวเล็กเกินไปก็จะได้เสื้อที่หลวมเกินไป   ขณะที่คนตัวใหญ่เกินไปก็จะได้เสื้อที่คับเกินไป    คนที่มีรูปร่างพอดีกับเสื้อเท่านั้นจะสามารถใส่เสื้อได้อย่างสบาย    เพราะฉะนั้น   การให้ทุกคนได้รับสิทธิมีเสื้อกันหนาวไว้สวมใส่จึงต้องคำนึงถึงรูปร่างที่แตกต่างของผู้ใส่ด้วย    ยิ่งไปกว่านั้น   การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการ   จากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชายถึง  “ การสร้างความแตกต่าง   การกีดกัน   หรือการจำกัดบนพื้นฐานของความพิการ   ซึ่งมีความมุ่งประสงค์   หรือส่งผลให้เป็นการเสื่อมเสีย ”  เป็นต้น    ตัวอย่างเช่น   ถ้าชายไทยที่มีอายุตั้งแต่  21  ปีบริบูรณ์ทุกคนต้องเข้าเป็นทหารเกน    แต่การฝึกทหารเกนไม่ได้ถูกออกแบบไว้ให้มีความเหมาะสมสำหรับชายไทยทุกคนที่ต้องเข้ารับการเกนทหาร   เนื่องจากอาจมีชายไทยที่สุขภาพไม่สู้ดี   หรือมีร่างกายพิการ    จึงไม่ใช่ชายไทยทุกคนที่ผ่านการเกนทหารจะสามารถฝึกทหารได้    ดังนั้น   กระบวนการการเกนทหารจึงต้องคัดเลือกชายไทยที่สามารถฝึกทหารได้ให้เข้าเป็นทหารเกนเท่านั้น   และต้องคัดผู้ที่ไม่สามารถรับการฝึกทหารได้ออกไป   ทั้งนี้   การกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ   เพราะผู้ที่ถูกคัดออก   เช่นคนพิการ   ไม่ได้รับความเสียหายจากการไม่ได้ถูกคัดเลือกให้เข้ารับการฝึกทหาร
เมื่อพิจารณาการกระทำของคณบดีและรองคณบดีตามหลักการสิทธิมนุษยชน   หรือแม้แต่ตามสามัญสำนึกของคนธรรมดาทั่วไป   การที่คณบดีให้ผมไปคุมสอบ   โดยไม่พิจารณาว่าผมมองไม่เห็น   และไม่พิจารณาว่าผมจะทำหน้าที่ได้หรือไม่นั้น   ไม่ได้เป็นการคุ้มครองสิทธิและความเสมอภาคในการทำงานของผมแต่อย่างใด    เนื่องด้วยปราศจากเงื่อนไขของการทำงานที่เป็นธรรม    และหากคณบดีไม่ให้ผมคุมสอบ   หรือแจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบว่าผมไม่สามารถคุมสอบได้   ก็ไม่ใช่เป็นการเลือกปฏิบัติกับผมด้วย    เพราะการที่คณบดีไม่มอบหมายให้ผมคุมสอบ   แต่เปลี่ยนให้ผมไปทำหน้าที่อื่นแทน   ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อทั้งตัวผมและกับคณะ    นอกจากนี้   การที่คณบดีให้ผมไปคุมสอบก็ไม่ได้ทำให้ผมดูมีคุณค่าเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด    เนื่องจากผมต้องนั่งอยู่กับที่เฉยๆ   ไม่สามารถเดินตรวจในระหว่างที่นักศึกษาทำข้อสอบ   หรือช่วยผู้คุมสอบท่านอื่นเก็บข้อสอบได้    แม้ภายหลังจะบอกให้ผมทำหน้าที่ประกาศเรื่องต่างๆแทนในระหว่างคุมสอบ   ในความเป็นจริง   ผมใช้เวลาประกาศเกี่ยวกับระเบียบการสอบ   และเวลาสอบ   เริ่มและสิ้นสุดการสอบไม่เกิน  10  นาที    ก็ต้องนั่งอยู่กับที่เฉยๆอีก  2  ชั่วโมงกว่า   ฟังนักศึกษาพิกข้อสอบไปมา   และฟังอาจารย์ที่คุมสอบท่านอื่นเดินกลับไปกลับมา    ผมดูมีคุณค่ามากขึ้นอย่างไร   เมื่อเปรียบเทียบกับการที่ให้ผมไปทำหน้าที่อื่นที่ผมสามารถทำได้เต็มศักยภาพมากกว่านี้    ที่เลวร้ายกว่านั้น   คณบดีพยายาม  Discredit  หรือ  Bluff  ผมกับคนอื่น   นัยว่าผมรู้สึกและเข้าใจผิดไปเองว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   หาได้เป็นสิ่งที่คณบดีตั้งใจกระทำไม่    ผมไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจประเด็นเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน   แต่ผมเรียนได้ว่า   ผมสามารถแยกแยะได้ว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากความบริสุทธิ์ใจหรือไม่อย่างไร   เมื่อพิจารณาบริบทที่เกิดขึ้นตามที่ผมได้ยกตัวอย่างไว้ในย่อหน้าที่สอง
ทั้งนี้   คณบดี   หรือแม้แต่รองคณบดี   ไม่มีทางที่จะเข้าใจประเด็นเหล่านี้ผิดเพี้ยนไปได้    คณบดีได้สำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดในสาขาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ   ขณะที่รองคณบดีก็สำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดในด้านนี้เช่นกัน    คณบดียังทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร   ในโครงการด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย    คณบดีและรองคณบดีจึงมีความรู้ความเข้าใจหลักการสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นอย่างดี   การบิดเบือนต่อหลักการดังกล่าวเป็นเพียงการหาคำอธิบายเพื่อใช้ปกป้องตัวเอง   ซึ่งส่อให้เห็นถึงความไม่บริสุทธิ์ใจ   และจงใจกั่นแกล้ง   ตลอดจนละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผมอย่างตั้งใจ
คำถามคือ   เราควรจะปล่อยให้คนเหล่านี้ไปเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับชาวบ้านและผู้นำชุมชนต่อไปหรือไม่    เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนเหล่านี้จะไม่เผยแพร่คำอธิบายที่บิดเบือนออกไป    และหากเป็นเช่นนั้น   ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน   โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสเพียงใด    ที่สำคัญ   เราจะแน่ใจได้แค่ไหนว่าคนเหล่านี้จะไม่ใช้อำนาจไปละเมิดสิทธิมนุษยชน   และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของใครอีก   เพียงเพราะมานะทิถิ   และอคติที่หยั่งลึกอยู่ในใจ    ผมจึงต้องขอฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้อ่านเพิ่มเติม   เพื่อดำเนินการไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นในอนาคตต่อไป   
สุดท้าย   ผมหวังว่าเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนสำหรับภาคส่วนต่างๆของสังคมให้ตระหนักถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการหรือไม่พิการ   โดยสร้างการยอมรับซึ่งกันและกัน   อันจะนำไปสู่สังคมที่คนปกติและคนพิการสามารถอยู่ร่วมกันได้ในทุกมิติต่อไปครับ     ขอบคุณมากครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่