อาจารย์ชีปะขาว จากละคร บุพเพสันนิวาส มีตัวตนจริงตามประวัติศาสตร์ไหมครับ

ตามหัวข้อเลยครับอธิบายให้ฟังที
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 4

ชีปะขาว ได้เค้าโครงมาจาก "นักเลงสุรา" ในพงศาวดารตอนโกษาปานไปฝรั่งเศสซึ่งมีความน่าเชื่อถือต่ำ เพราะเพิ่งมีปรากฏครั้งแรกเป็นความที่ถูกเขียนแทรกในพระราชพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเนื้อหาหลายเรื่องก็ไม่สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยของทั้งไทยและฝรั่งเศสครับ

เชื่อว่าเอกสารเกี่ยวกับการส่งทูตไปฝรั่งเศสของไทยที่มีความค่อนข้างละเอียดครบถ้วนในสมัยกรุงศรีอยุทธยาคงมีอยู่ แต่ว่ามอดไหม้เป็นผงไปหมดตอนเสียกรุงครั้งที่สอง ทำให้ประวัติศาสตร์ขาดวิ่นมาแต่นั้น ต่อมามีการชำระพงศาวดารขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ฉบับที่มีความตั้งแต่สถาปนากรุงจนเสียกรุงครั้งที่ ๒ ที่เก่าที่สุดที่ค้นพบคือพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ชำระใน จ.ศ.๑๑๕๗ (พ.ศ.๒๒๓๘) สมัยรัชกาลที่ ๑

พงศาวดารฉบับนี้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกรัชกาลที่ ๑ ทรงชำระด้วยพระองค์เอง เข้าใจว่าเป็นการอิงจากเอกสารเก่าที่เหลืออยู่หรืออาจมีการชำระมาก่อนหน้า ระบุเหตุการณ์ตั้งแต่สถาปนากรุงศรีอยุทธยา มาจบลงใน จ.ศ.๑๐๖๐ (พ.ศ.๒๒๔๑) สมัยพระเจ้าเสือ (ศักราชผิด)

ส่วนที่สองชำระใหม่โดยเจ้าพระยาพิพิธพิชัย โดยชำระตั้งแต่ปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ใหม่จนถึงเสียกรุงครั้งที่ ๒ โดยมีข้อความในบานแพนกระบุว่า 'เพียงนี้เรื่องพระเพทราชากับพระเจ้าเสือทำไว้แต่ก่อน บัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่ง ให้เจ้าพระยาพิพิธพิชัยกระทำเรื่องพระนารายณ์เป็นเจ้า กับพระเพทราชาพระเจ้าเสือ พระบรมโกศ พระเจ้าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ทำศักราชถัดกันไป'

แต่ชำระมา เมื่อปัจจุบันมาสอบกับหลักฐานร่วมสมัยหลายเรื่องก็ไม่ตรง รวมถึงศักราชด้วย (มีพงศาวดารฉบับความเก่าสมัยธนบุรีเหลือบางส่วน ยังคงมีศักราชถูกอยู่ แต่พอชำระใหม่กลับผิดไปเป็นรอบ ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด)

ในพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ส่วนแรก เขียนต่อเนื่องมาถึงสมัยพระนารายณ์ตอนพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก)ไปตีเมืองไทรโยค แล้วมีข้อความระบุต่อจากนั้นว่า 'ยังขาดอยู่ ๒ สมุด แต่ศักราช ๑๐๓๐ เศษ' ซึ่งก็คือพงศาวดารหายไป ๒ เล่ม ข้อความที่ปรากฏต่อมาคือสมเด็จพระนารายณ์ก็สวรรคตแล้ว ทำให้ประวัติศาสตร์ตอนนี้ขาดตอนไป

พงศาวดารฉบับที่เก่าแก่ลำดับถัดมาคือพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน ซึ่งก็ชำระในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยรัชกาลที่ ๒ ทรงทูลเกล้าถวาย พงศาวดารฉบับนี้มีการรวมเนื้อหาที่เคยแยกเป็น ๒ ส่วนของฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ให้ต่อเนื่องไป แล้วมีการเพิ่มเติมเรื่องราวต่างๆเข้ามามาก และในส่วน ๒ เล่มที่ขาดไปก็มีการเพิ่มเรื่องราวเข้ามาเช่นกัน เรื่องของโกษาปานก็ถูกเพิ่มมาในตอนนี้เอง เนื่องจากชำระโดยการลอกของเก่าๆมาทำให้เนื้อหาในพงศาวดารฉบับต่อๆมาไม่ค่อยต่างจากฉบับนี้มากนัก

แต่เรื่องราวที่ถูกเพิ่มมานั้นเนื้อหานั้นเมื่อเทียบกับพงศาวดารเก่าที่มีอยู่ก่อนเนื้อความนั้นผิดแผกไปมาก ส่วนใหญ่ไม่มีการระบุศักราช เนื้อหามีการเพิ่มประวัติของปัจจเจกบุคคลมามากทั้งพระเจ้าเสือ พระยาวิไชเยนทร์ โกษาเหล็ก โกษาปานไปฝรั่งเศสซึ่งผิดกับคติการเขียนพงศาวดารเดิมซึ่งเขียนเรื่องพระมหากษัตริย์หรือเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง เนื้อหาหลายเรื่องดูเหมือนเรื่องเล่า หลายเรื่องดูเหนือจริงและไม่น่าเชื่อถือเช่น พระยาช้างที่รู้ภาษามนุษย์ พระยาสีหราชเดโชหายตัวไล่ฆ่าพม่า และเรื่องของโกษาปานที่ความพิสดารมาก ซึ่งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิจารณ์ไว้ว่า

"ข้าพเจ้าได้ตรวจพิเคราะห์ดูในหนังสือพระราชพงศาวดารทั้งฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม และฉบับพระราชหัตถเลขา เห็นว่าเรื่องพระราชพงศาวดารที่ได้แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ จะมาจบลงเพียงกองทัพเจ้าพระยาโกษา (ขุนเหล็ก) ชนะพม่าที่เมืองไทรโยคแล้วกลับมาพระนคร ความต่อนั้นที่กล่าวขึ้นเรื่องวิชเยนทร์ดูต่อไม่สนิท และข้อความในพระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ต่อนั้นมา ก็อยู่ข้างจะคลาดเคลื่อน วันคืนก็ไม่ใคร่มี ดูเป็นแต่เอาเรื่องที่เขาเล่ามาเรียงลง เช่น เรื่องเจ้าพระยาวิชเยนทร์ เรื่องหลวงสรศักดิ์ ตลอดจนเรื่องเจ้าพระยาโกษา (ปาน) ไปเมืองฝรั่งเศส เรื่องราวแม้เท่าที่เรารู้ในเวลานี้ยังถ้วนถี่ถูกต้องกว่าที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร จึงเห็นว่าจะเป็นผู้ที่เกิดทีหลังแต่งหนังสือพระราชพงศาวดารตอนนั้นเป็นแน่ จึงเลยผิดถึงปีสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตได้เป็น ๖ ปี"


Voyage des ambassadeurs de Siam en France โดย Jean Donneau de Visé
พิมพ์ใน ค.ศ.๑๖๘๖ ปีเดียวกับตอนคณะทูตกลับอยุทธยา


เรื่องพิสดารก็เช่น เปลี่ยนการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศกลายเป็นจัดแจงเดินทางหาเรือกันไปเองเพื่อดูว่าที่ฟอลคอนพูดเป็นความจริง โกษาเหล็กเองก็ตายไปก่อนหน้าแล้ว เรือถูกพายุจมเหลือลำเดียว ทั้งที่ๆหลักฐานร่วมสมัยของไทยและฝรั่งเศสระบุว่ามีพายุแต่ไม่มีเรือจม  เรื่องของนักเลงสุราช่วยให้พ้นจากพายุก็ไม่มีระบุในนิราศ 'ตนทางฝรงงเสษ' ซึ่งแต่งโดยกวีที่เดินทางไปด้วยได้บรรยายช่วงพายุอย่างละเอียด แต่ไม่มีปรากฏว่าได้ทำพิธีอะไร(มีแต่กวีอ้อนวอนเทวดาดาวนพเคราะห์ พระรัตนตรัย)  คณะทูตเดินทางด้วยเรือไม่ใช่รถม้าตามหลักฐานร่วมสมัย (การจัดขบวนเรือมาแห่รับพระราชสาส์นเป็นธรรมเนียมของไทย) และเรื่องเอาอาจารย์นักเลงสุราไปโชว์อาคมที่ฝรั่งเศส ซึ่งส่วนใหญ่แล้วขัดต่อหลักฐานร่วมสมัยจำนวนมากอย่างจดหมายเหตุแบบวันต่อวันว่าคณะทูตทำอะไรที่ไหนบ้างและได้ตีพิมพ์ที่ฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ.๑๖๘๖(พ.ศ.๒๒๒๙) ซึ่งเป็นปีที่คณะทูตเดินทางกลับอยุทธยา

นอกจากนี้บันทึกของโกษาปานที่เหลืออยู่ก็แสดงให้เห็นว่าท่านจดทุกสิ่งตามท่านเห็นอย่างละเอียดตามความเป็นจริง ไม่มีข้อความใดที่พิสดาร บันทึกโกษาปานถูกเก็บอยู่ที่กรุงศรีอยุธยามาตลอด ยังมีหลักฐานฝรั่งเศสระบุว่าเจ้าศรีสังข์โอรสเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงเคยเอามาอ่าน แต่ก็คงหายไปแล้วตอนเสียกรุง ทำให้เกิดเรื่องพิสดารเหนือจริงที่ผ่านการเล่าแบบปากต่อปากจนเนื้อความฟั่นเฝือไปหมดครับ


เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ผู้แต่งตำรา 'ดรุณศึกษา'


เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ผู้แปลจดหมายเหตุเรื่องคณะทูตไทยที่ไปฝรั่งเศส (Voyage des ambassadeurs de Siam en France) ของฌ็อง ด็องโน เดอ วีเซ (Jean Donneau de Visé) เป็นภาษาไทยในชื่อ 'โกศาปานไปฝรั่งเศส' ก็ได้แสดงความเห็นถึงเรื่องโกษาปานให้นักเลงสุราแสดงอาคมในพงศาวดารของไทยไว้ว่า

"โท่ ช่างเขียนเล่นให้คนเซอะหลงเชื่อได้ ถ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ยังอยู่และทรงทราบเรื่องนี้คงทรงพระศรวลก๊ากใหญ่เป็นแน่ เพราะเป็นเรื่องน่าหัวเราะมิใช่น้อย แต่นึกไปนึกมาการที่จับปดเล่นในเรื่องพงศาวดารได้ถึงเพียงนี้ดูเป็นที่น่าสลดใจนัก เพราะทำให้นักเรียนเสื่อมศรัทธา คลายความเลื่อมใสในคำให้การแห่งพงศาวดาร ด้วยว่าเมื่อตนกำลังอ่านพงศาวดารนั้น ใช่จะมีพระครูยืนกำกับคอยตักเตือนอยู่เสมอว่า ข้อนี้จริง เชื่อได้ ข้อนี้เขียนเล่น ข้ามไปเถอะ  

จริงอยู่การเขียนพงศาวดารเป็นของยาก เพราะบางข้อจับความจริงไม่ค่อยจะได้ แต่สิ่งที่รู้จริงๆ ทำไมยังเปลี่ยนรูปให้เป็นอื่นไปได้เล่า? ไม่มีหิริโอตตัปปะแลหรือ? ทุกวันนี้ลวงกันยากกว่าก่อนหน่อย แต่กระนั้นก็ยังต้องระวังเมื่ออ่านเหมือนกัน เพราะยังอาจพบคนที่เขียนลวงให้ผู้ไม่รู้เท่าเชื่อถืออยู่บ้าง เช่น ข้อความใดเกี่ยวข้องกับผู้ที่ตนชอบ ข้อความเรื่องนั้นอาจกลายเป็นเรื่องงามไปหมด แต่ถ้าเกี่ยวกับผู้อื่นซึ่งตนไม่สู้จะชอบ ความดีของเขาอาจศูนย์หายไปหมดไม่ปรากฎให้คนเห็น หรือว่ากล่าวบ้างแต่พอสังเขป เพื่อกันมิให้มีข้อครหาว่าแกล้งปิดบังเท่านั้น ทุกวันนี้การที่จะปั้นลมปั้นน้ำให้เป็นตัวเหมือนสมัยก่อนค่อนข้างยากๆ อยู่ เพราะนักรู้ออกจะหนาแผ่นดินอยู่แล้ว แต่พิเคราะห์ดูอาการพวกนักเขียนชะนิดนั้น หากว่าโอกาสให้ดูเหมือนคนจำพวกนี้ จะยังไม่สิ้นความพยายามที่จะลวงให้ผู้อื่นซึ่งไม่รู้เท่า หลงเข้าใจความผิดๆ ถูกๆ อยู่เสมอ"



จิตร ภูมิศักดิ์ก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "ตัวพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขาเองในตอนกลาง ๆ ก็มีเรื่องอภินิหารพิลึกกึกกือเมื่อคราวโกษาปานไปฝรั่งเศสอยู่ทั้งท่อน. ซึ่งเป็นการจดด้วยความอัศจรรย์ที่คนไทยไปไกลถึงเมืองฝรั่งเศสได้ มากกว่าจะเป็นบันทึกเรื่องการติดต่อสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างสองประเทศ, จนนักศึกษาทางการทูตบางท่านถึงกับกล่าวว่า เมื่อเทียบกับจดหมายเหตุและเอกสารทางฝรั่งเศสแล้ว พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนนี้นับว่าจดอย่างน่าขายหน้าเป็นที่สุด ! แต่ถึงอย่างไรก็ดี นั่นมิได้ทำให้พงศาวดารทั้งเล่มสูญค่าไปทั้งหมด เพราะตอนที่จดจากความจริงตามลำดับยุคสมัยลงมาก็ยังมีเป็นส่วนมากของพงศาวดารนั้นอยู่, อาศัยแต่ว่าเราต้องศึกษาโดยยึดพื้นฐาทางสังคมไว้ให้มั่นคงแลัวสอบทานกับหลักฐานอื่น ๆ ให้รอบด้านโดยระมัดระวังเท่านั้น."
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่