วัน “ศรีบูรพา” ครบรอบชาตกาล ๑๑๓ ปี



เมื่อวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2561ที่ผ่านมาเป็นวันศรีบูรพา  โดยปีนี้ครบรอบชาตกาล 113 ปี ทางกองทุนศรีบูรพาและสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจึงได้จัดงานรำลึกถึงศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ขึ้นมา  โดยจัดขึ้นที่บ้านศรีบูรพา (บ้านเลขที่ 35 ซอยราชวิถี 4) กรุงเทพมหานคร    









โดยในงานกิจกรรมภาคเช้าทางคณะกรรมการจัดงานได้นิมนต์พระครูสังฆกิจพิมล (พระสุรศักดิ์ สุรญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชลประทาน  แสดงธรรมเทศนา  และถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์  หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมงานได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน














สำหรับบ้านศรีบูรพาหลังนี้  เป็นพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียนหลังแรก จากจำนวนทั้งหมด 2 หลังที่มีอยู่ในประเทศไทย  (พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียนหลังที่ 2 คือบ้านของเสาว์ บุญเสนอ ผู้มอบที่ดินเพื่อทำเป็นที่ทำการของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  ที่ซอยกรุงเทพ-นนท์ 31 บางซื่อ)

บ้านศรีบูรพานี้เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของนักเขียน  เป็นที่อยู่ของศรีบูรพาเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่  โดยที่ดินแปลงนี้ได้รับประทานจากพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร  ซึ่งถือว่าเป็นเจ้านายของศรีบูรพาเมื่อครั้งที่ได้ร่วมงานทำหนังสือพิมพ์ด้วยกัน   โดยพระองค์วรรณฯ มอบบ้านพร้อมที่ดินหลังนี้ให้สำหรับเป็นเรือนหอของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) กับจูเลียต (คุณชนิด สายประดิษฐ์)  ภายในส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์นักเขียนจะจัดแสดงหนังสือของศรีบูรพา  รวมทั้งหนังสือต่างๆ ที่ศรีบูรพาเก็บสะสมไว้  มีโต๊ะทำงานของศรีบูรพา มีรูปภาพของศรีบูรพาจัดแสดงไว้  สำหรับท่านใดที่สนใจศึกษางานของศรีบูรพาก็สามารถเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของศรีบูรพาได้  แต่ตัวพิพิธภัณฑ์นี้ไม่ได้เปิดทุกวัน  จะเปิดเฉพาะวันที่มีการจัดงาน  หรือการเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะที่มีการนัดหมายล่วงหน้าเท่านั้น





















อาจารย์ชมัยภร  แสงกระจ่าง เล่าให้ฟังว่า

-ศรีบูรพาเป็นนักเขียนคนแรกที่พูดถึงความเป็นสุภาพบุรุษในงานเขียน  โดยเขียนถึงเป็นครั้งแรกในนวนิยายเรื่อง “เล่นกับไฟ” โดยกล่าวว่า “ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น”

-ช่วงที่ศรีบูรพาทำงานหนังสือพิมพ์เป็นช่วงที่ศรีบูรพารังสรรค์ผลงานออกมาเยอะที่สุด  โดยงานของศรีบูรพาส่วนใหญ่เป็นงานที่มีลักษณะก้าวหน้าที่แสดงถึงความเสียสละ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งมีทั้งงานสารคดี เรื่องสั้น และนวนิยาย  

-ภาพของศรีบูรพาจึงเป็นภาพของนักคิดนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ที่ต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสังคมมาโดยตลอด











@@@@@@@@@@@



สำหรับกิจกรรมในช่วงบ่ายเป็นการอ่านบทกวีรำลึกถึงศรีบูรพาโดยผู้เข้าร่วมงาน  เป็นบทกวีที่มีความหมายลึกซึ้งและทำให้ต้องคิดคำนึงถึงผลงานของศรีบูรพา

























สำหรับการเสวนาในหัวข้อ “ความเป็นสุภาพบุรุษในงานของศรีบูรพา”  มีผู้ร่วมเสวนาคือ อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ , อาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ , ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ 2 ท่าน , นักเรียนเก่าของเทพศิรินทร์ 1 ท่าน (ต้องขออภัยด้วยที่ผมไม่ทันได้จดชื่อจริงของคนรุ่นใหม่ทั้ง 3 ท่านนี้) โดยมีอาจารย์วโรบล ไทยภักดี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

โดยรายละเอีดยของการเสวนามีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

(รายละเอียดจากการเสวนา  ผมจดเป็นบันทึกช่วยจำย่อ (จดเลคเชอร์) แล้วจึงนำมาเรียบเรียงใหม่  โดยมีการคัดสรรตัดย่อเพื่อเขียนสรุปเป็นประเด็น  ดังนั้นถ้ามีรายละเอียดประการใดที่ผิดพลาด  หรือคาดเคลื่อนไปจากที่ท่านวิทยากรพูด  ผมก็ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)



อาจารย์ชมัยภร  แสงกระจ่าง

-ศรีบูรพาให้ความหมายของคำว่า “สุภาพบุรุษ” หมายถึงคนดี  โดยอธิบายว่าเป็นคนดีที่มีบริบททางสังคม  คือในสมัยก่อนเวลาที่พูดถึงผู้ดีหรือสุภาพบุรุษ  คนทั่วไปจะหมายถึงคนชั้นสูง คนที่มีเกิดในตระกูลสูงศักดิ์  แต่ศรีบูรพาต้องการให้คำว่า ”ผู้ดี” เป็นคนดี  ไม่ใช่คนชั้นสูงในสังคม ศรีบูรพาจึงสร้างคำว่า “สุภาพบุรุษ” ขึ้นมา  เพื่อให้คนคิดดีและปฏิบัติดี

-ในงานเขียนของศรีบูรพา ตัวละครและพฤติกรรมของตัวละครจึงปรากฎว่าทำดีในทุกเรื่อง เป็นคนดีในสังคมที่ทำแต่ความดี  เพราะต้องการบอกว่าคนที่ทำดีคือสุภาพบุรุษ   เป็นแนวคิดที่อยู่ในใจของศรีบูรพามาตลอด

-งานของศรีบูรพาจึงทำให้เห็นบทบาทของคนดีในสังคมชัดเจนขึ้น  โดยจะชูบทบาทของคนดี  ให้ความคิดของการเป็นคนดี  สร้างพลังของคนดีผ่านอะไรหลายๆ อย่างที่ออกมาจากพฤติกรรมของตัวละคร

-จึงกล่าวได้ว่า  ตลอดชีวิตของศรีบูรพาจะเขียนแต่เรื่องการทำความดี  เพราะว่าศรีบูรพาเป็นคนดีที่เป็นสุภาพบุรุษคนหนึ่งของสังคมไทย



อาจารย์ธีรภาพ  โลหิตกุล

-ช่วงชีวิตของศรีบูรพาเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายมาก  ในสมัยนั้นคำว่า “ผู้ดี” มีอยู่มากมาย  ศรีบูรพาจึงพยายามทำให้เห็นว่า “ผู้ดี” กับ “คนดี” นั้นต่างกัน

-จากในเรื่อง “ปราบพยศ” ของศรีบูรพา ผู้ดีจึงไม่ได้หมายถึงคนดีเสมอไป

-ศรีบูรพาเรียนจบจากโรงเรียนเทพศิรินทร์  เช่นเดียวกับอาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล ที่เป็นนักเรียนเทพศิรินทร์รุ่นน้องศรีบูรพา  โดยคำขวัญของโรงเรียนเทพศิรินทร์กล่าวไว้ว่า “อย่าเป็นคนรกโลก”  ซึ่งเป็นคำขวัญที่ความหมายมาก

-คำว่า “สุภาพบุรุษ” จึงหมายถึงคนที่ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น  สุภาพบุรุษที่แท้จริงคือผู้ที่ดำรงตนอยู่เพื่อผู้อื่น



ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ (ผมขออนุญาตเขียนสรุปคำพูดของนักเรียนทั้ง 3 ท่านออกมาเป็นประเด็นเดียวกัน)

-ในสมัยก่อนคิดว่าคนที่เป็นสุภาพบุรุษคือคนที่เรียบร้อย แต่งตัวดี พูดจาสุภาพ  แต่เมื่อได้มาอ่านงานของศรีบูรพาความคิดก็เปลี่ยนแปลงไป  คือเริ่มเห็นว่าคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ดี  แต่ในใจเขาอาจจะไม่เคยคิดทำอะไรให้แก่คนอื่นเลยก็ได้

-หลังจากที่อ่านงานของศรีบูรพาแล้วจึงเข้าใจว่า  ผู้ที่มีจิตใจช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอคือสุภาพบุรุษ  และความหมายของสุภาพบุรุษกลายเป็นความหมายของนักเรียนเทพศิรินทร์ด้วย

-ดังนั้นจึงเข้าใจว่าความหมายของคำว่า “สุภาพบุรุษ” คือผู้ที่เสียสละเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง



อาจารย์ชมัยภร  แสงกระจ่าง

-ส่วนใหญ่เวลาคนคิดถึงศรีบูรพาคนจะนึกถึงเรื่อง “ข้างหลังภาพ” เป็นหลัก  แต่จริงๆ แล้วมีเรื่องที่ดีๆ อีกหลายเรื่องที่ศรีบูรพาเขียนไว้  อย่างเช่นเรื่อง “ป่าในชีวิต” ที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยได้อ่านกัน เรื่องนี้เขียนถึงนักบินหนุ่มคนหนึ่งที่โดนทางการจับกุม ที่เป็นเรื่องของ มรว.นิมิตรมงคล นวรัตน ผู้ที่เขียนเรื่อง “เมืองนิมิตร”  

-และรวมเรื่องสั้นชุด “รับใช้ชีวิต” ที่สะท้อนถึงความเป็นสุภาพบุรุษ  และสะท้อนความเห็นแก่ตัวของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี




อาจารย์ธีรภาพ  โลหิตกุล

-อยากให้คนรุ่นใหม่ได้อ่านงานของศรีบูรพาด้วย เพราะในยุคนี้คนในสังคมเอาแต่คิดถึงประโยชน์ส่วนตน  ไม่ค่อยจะคิดถึงคนอื่นเลย

-นวนิยายเรื่อง “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ในเรื่องนี้มีวรรณทองที่บอกว่า “ชีวิตที่ดีงามย่อมมีอยู่  และถูกใช้ไปเพื่อคนอื่นด้วย”

-เรื่องสั้น “ขอแรงหน่อยเถอะ” เป็นเรื่องของตัวละครที่ยากจนแต่รักศักดิ์ศรี  เป็นสุภาพบุรุษที่ทำอะไรเพื่อผู้อื่นเสมอ

-ดังนั้นคำว่า “สุภาพบุรุษ” จึงมีความสำคัญต่อสังคมในยุคนี้มาก  เพราะสมัยนี้คนต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างมีโลกส่วนตัวของตัวเอง  ไม่คอยจะมีใครยอมเสียสละตนเพื่อผู้อื่นเลย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่