☆ บาลีวันละคำ : เจติย ☆

ขอกราบไหว้พระรัตนตรัยด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

----------------------


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒
ทีฆนิกาย มหาวรรค



มหาปรินิพพานสูตร
(บางส่วน)



[๑๓๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน พวกภิกษุผู้อยู่จำพรรษาในทิศทั้งหลายย่อมมาเพื่อเฝ้าพระตถาคต

พวกข้าพระองค์ย่อมได้เห็น ได้เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุเหล่านั้นผู้ให้เจริญใจ

ก็โดยกาลล่วงไปแห่งพระผู้มีพระภาค พวกข้าพระองค์จักไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้ พวกภิกษุผู้ให้เจริญใจ ฯ



ดูกรอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเหล่านี้ เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา

สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง เป็นไฉน คือ

๑. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตามระลึกว่า
พระตถาคตประสูติในที่นี้ ฯ

๒. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตามระลึกว่า
พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ ฯ

๓. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตามระลึกว่า
พระตถาคตทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ ฯ

๔. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตามระลึกว่า
พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในที่นี้

สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้แล เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ฯ


ดูกรอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่า

พระตถาคตประสูติในที่นี้ก็ดี

พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ก็ดี

พระตถาคตทรงยังอนุตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ก็ดี

พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ก็ดี

ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง
ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ




เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐  บรรทัดที่ ๑๘๘๘ - ๓๙๑๕.  หน้าที่  ๗๘ - ๑๕๙.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=1888&Z=3915&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=67
ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย ได้ที่ :-
[67-162] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali.php?B=10&A=67&Z=162




อรรถกถา


จตุสํเวชนียฏฺฐานวณฺณนา
      
        
               บทว่า วสฺสํ วุฎฺฐา ความว่า ได้ยินว่า ครั้งพุทธกาล ภิกษุประชุมกัน ๒ เวลา คือ
               จวนเข้าพรรษาเพื่อรับกัมมัฏฐาน ๑
               ออกพรรษาแล้วเพื่อบอกกล่าวคุณวิเศษที่บังเกิดเพราะการประกอบเนืองๆ ซึ่งพระกัมมัฏฐานที่รับมาแล้ว ๑.

               ครั้งพระพุทธกาลฉันใด แม้ในเกาะสีหลก็ฉันนั้น. ภิกษุที่อยู่ฝั่งแม่น้ำคงคาข้างโน้นประชุมกันที่โลหประสาท ภิกษุที่อยู่ฝั่งแม่น้ำคงคาอีกฝั่งหนึ่ง ก็ประชุมกันที่ติสสมหาวิหาร. ในภิกษุ ๒ พวกนั้น ภิกษุพวกที่อยู่ฝั่งแม่น้ำคงคาฝั่งโน้น ถือเอาไม้กวาดสำหรับกวาดขยะทิ้งแล้วประชุมกันที่มหาวิหาร โบกปูนพระเจดีย์ ออกพรรษาแล้วก็มาประชุมกันที่โลหประสาท ทำวัตรอยู่ในที่อันผาสุก ออกพรรษาแล้วก็มาสวดบาลีและอรรถกถาที่ตนช่ำชองแล้วที่โรงเรียนนิกายทั้ง ๕ ในโลหปราสาท. พิจารณาถึงภิกษุที่เรียนบาลีหรืออรรถกถาผิดพลาดว่าท่านเรียนในสำนักใครให้ยึดถือไว้ให้ตรง. ฝ่ายภิกษุที่อยู่ในแม่น้ำคงคาอีกฝ่ายหนึ่งก็ประชุมกันในติสสมหาวิหาร.

               บรรดาภิกษุที่ประชุม ๒ เวลาอย่างนี้ ภิกษุเหล่าใดเรียนกัมมัฏฐานก่อนเข้าพรรษาไปแล้วกลับมาบอกคุณวิเศษ
               ท่านหมายเอาภิกษุเห็นปานนั้นจึงกล่าวว่า ปุพฺเพ ภนฺเต วสฺสํ วุตฺถา เป็นต้น.

               บทว่า มโนภาวนีเย ได้แก่ ให้เจริญแล้วอบรมแล้วด้วยใจ.
               อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดเจริญเพิ่มพูนมโนมนะ ลอยกิเลสดุจธุลีมีราคะเป็นต้นเสีย ภิกษุเห็นปานนั้น.
               ได้ยินว่า พระเถระถึงพร้อมด้วยวัตรพบภิกษุแก่ก็แข็ง ไม่ยอมนั่งออกไปต้อนรับ รับร่มบาตรจีวรและเคาะตั่งถวาย เมื่อท่านนั่งในที่นั้นแล้วก็ทำวัตรจัดเสนาสนะถวาย พบภิกษุใหม่ก็นิ่งยังไม่นั่ง เข้าไปหาใกล้ๆ พระเถระนั้นปราศจากความไม่เสื่อมแห่งวัตรปฏิบัตินั้น จึงได้กล่าวอย่างนี้.

               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า
               อานนท์คิดว่าเราจักไม่ได้พบภิกษุที่น่าเจริญใจ เอาเถอะ เราจักบอกสถานที่จะพบภิกษุผู้น่าเจริญใจแก่เธอ ที่เธออยู่ไม่ต้องเทียวไปเทียวมา ก็จักได้พบเหล่าภิกษุที่น่าเจริญใจได้ ดังนี้ แล้วจึงตรัสว่า จตฺตาริมานิ เป็นต้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺธสฺส ความว่า
               วัตรทั้งหมดมีเจติยังคณวัตรเป็นต้นที่เธอทำตั้งแต่เช้า ย่อมปรากฏแก่กุลบุตรผู้มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้สมบูรณ์ด้วยวัตร.

               บทว่า ทสฺสนียานิ ได้แก่ ควรจะเห็น คือควรไปเพื่อจะเห็น.

               บทว่า สํเวชนียานิ ได้แก่ ให้เกิดสลดใจ.

               บทว่า ฐานานิ ได้แก่ เหตุหรือถิ่นสถาน.

               คำว่า เย หิ เกจิ นี้ ท่านกล่าวเพื่อแสดงถึงการจาริกไปในเจดีย์มีประโยชน์.

               บรรดาบทเหล่านั้นด้วยบทว่า เจติยจาริกํ อาหิณฺฑนฺตา ท่านแสดงว่า
               ก่อนอื่น ภิกษุเหล่าใดกวาดลานพระเจดีย์ในที่นั้นๆ ชำระอาสนะ รดน้ำที่ต้นโพธิ์แล้วเที่ยวไป ในภิกษุเหล่านั้นไม่จำต้องกล่าวถึงเลย. เหล่าภิกษุที่ออกไปจากวัดด้วยคิดว่า จักไปไหว้พระเจดีย์ในวัดโน้น มีจิตเลื่อมใส แม้กระทำกาละในระหว่างๆ ก็จักบังเกิดในสวรรค์โดยไม่มีอันตรายเลย.









☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆


เจดีย์
อ่านว่า เจ-ดี

บาลีเป็น “เจติย” อ่านว่า เจ-ติ-ยะ


“เจติย” รากศัพท์มาจาก :

(1) จิตฺ (ธาตุ = บูชา) + ณฺย ปัจจัย, ลง อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ-(ต) เป็น เอ (จิ > เจ)
: จิตฺ + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลบูชา”

(2) จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + ณฺย ปัจจัย, ลง ต อาคม และ อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ เป็น เอ (จิ > เจ)
: จิ + ต + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาก่อด้วยอิฐเป็นต้น”

(3) จิตฺต (จิต, ใจ) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต
: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลทำไว้ในจิต”

(4) จิตฺต (วิจิตร, สวยงาม) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต
: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลสร้างอย่างวิจิตร”


“เจติย” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “เจดีย์”

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้



พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า -

เจดีย์ : ที่เคารพนับถือ, บุคคล สถานที่ หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา,

เจดีย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามี 4 อย่างคือ
1. ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
2. บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย
3. ธรรมเจดีย์ บรรจุพระธรรม คือ พุทธพจน์
4. อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป;

http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=เจดีย์



ในทางศิลปกรรมไทยหมายถึงสิ่งที่ก่อเป็นยอดแหลมเป็นที่บรรจุสิ่งที่เคารพนับถือ เช่น พระธาตุและอัฐิบรรพบุรุษ เป็นต้น


เป็นอันว่า “เจดีย์” มีความหมายกว้างกว่าที่เรามักเข้าใจกัน

แต่จะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรียกว่า “เจดีย์” นั้นจะต้องสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์ที่มีคุณค่าควรแก่การจดจำรำลึกเสมอ


ที่มา
บาลีวันละคำ (นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่