การค้าสมัยกรุงศรีอยุธยา

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

https://sites.google.com/a/samakkhi.ac.th/thailand-trading-history/prathesthiy-smay-kxn-prawatisastr/thailand-trading-hitory
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=moonfleet&month=03-2011&date=03&group=194&gblog=13
http://lek-prapai.org/home/view.php?id=880
http://www.naresuan.org/3610361936193603363435853634361936523611359236373609.html









การค้าสมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 1893 ตั้งแต่ปีที่พระเจ้าอู่ทอง ทรงสร้างพระนครใหม่ แล้วทำการราชาภิเษก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ขนานนามราชธานี ว่า กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา คำว่า ทวาราวดี เอามาจากชื่ออาณาจักรเดิม คือ อาณาจักรทวาราวดี




                อายุของกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ปี พ.ศ.1893 ถึง พ.ศ.2320 เป็นจำนวน 417 ปี บ้านเมืองที่มีความเจริญและความเสื่อมจนกระทั่งสิ้นสูญการค้าขายของประเทศในช่วงนี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์บ้านเมือง โดยมีชาวยุโรปเข้ามาค้าขายอันมีวิธีค้าที่ทำใกล้บ้านเมืองต้องปรับปรุงลักษณะการค้าต่าง ๆ เข้าหาเพื่อให้ทัดเทียมกันในเชิงการค้า ไม่ให้ชาวต่างชาติเอาเปรียบได้ง่าย ๆ

นอกจากนี้ ลักษณะการค้ากับชนชาวเอเชียด้วยกันเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนการค้ากับชาวยุโรปก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง นิสัยไทยรักชาติ รักศาสนา รักอิสรภาพ มองเห็นลักษณะการค้าของชนชาวยุโรปเป็นการเมืองไปบ้าง เป็นการศาสนาไปบ้าง ก็เลยทำให้การติดต่อค้าขายไม่ราบรื่น ต้องชะงักหรือขาดตอนเป็นคราว ๆ ภาวะการค้าในระยะเวลา 417 ปี ของสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงผิดแผกแตกต่างกัน และกรุงศรีอยุธยา ได้แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ

  1.ตั้งแต่สมัยพระรามาธิบดีอู่ทอง จนถึงสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 คือตั้งแต่ปี พ.ศ.1893- 2034 จัดเป็นตอนต้นของการค้าในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นการค้าแบบโบราณที่เป็นอย่างไทยแท้

  2.ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 จนถึงสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งแต่ปีพ.ศ.2034-2230จัดเป็นตอนกลางของการค้าในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นการค้าซึ่งมีอิทธิของชนชาวยุโรปเข้ามาเจือปน เริ่มต้นตั้งแต่ชนชาติโปรตุเกส เข้ามาในแผ่นดิน สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เป็นครั้งแรก

  3.ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเทพราชา จนถึง เสียกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2231 -2310 จัดเป็นตอนปลายของการค้าในสมัยศรีอยุธยา เป็นการค้าซึ่งอิทธิพลของชาวยุโรป คลายออกไป



อาณาจักรสุโขทัย





                      เมื่อพระเจ้าอู่ทอง ตั้ง กรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นอิสระ หัวเมืองฝ่ายใต้ที่เป็นราชอาณาเขตของกรุงสุโขทัยเดิม ได้เข้ามาขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด นับตั้งแต่เมืองราชบุรี เพชรบุรีลงไปจนกระทั่งเมืองยะโฮร์ สุดแหลมมลายู อาณาเขตทิศเหนืออยู่เพียงเมืองลพบุรี ติดต่อกับอาณาเขตสุโขทัย ส่วนทางตะวันออก พระเจ้าอู่ทองได้ทำสงครามขยายอาณาเขต ตีได้นครทม ซึ่งเป็นราชธานีของเขมร อาณากรุงศรีอยุธยาทางทิศตะวันออก   ในสมัยพระเจ้าอู่ทองจึงขยายออกไปประมาณเท่าที่อยู่ในเวลานี้



                         สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นสมัยรุ่งเรือง ยุคหนึ่งของของประวัติศาสตร์ไทย คนโบราณในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อพูดถึงความเจริญก็จะหมายถึง สมัยกรุงศรีอยุธยา “ครั้งบ้านเมืองดี”  การค้าขายของประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางเป็นสมัยที่มีชาวยุโรปหลายชาติมาติดต่อค้าขายกับประเทศไทยเป็นครั้งแรก ประวัติการค้าขายของไทยในระยะนี้จึงมีมาก โดยการค้าขายตั้งแต่ปี พ.ศ.2000 เป็นต้นมา มีจดหมายเหตุต่างประเทศพูดถึงมาก


                 ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา ได้กล่าวถึงการค้าภายในประเทศไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก  การค้าต่างประเทศเป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่แยกกล่าวถึงการค้าภายในไว้เป็นส่วนหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่า ไทย แต่โบราณได้ทำการค้าขายโดยวิธีใด   จะเป็นการค้าขายเหมือนในสมัยนี้หรือไม่ ซึ่งเราได้ทราบจากศิลาจารึก ว่า ไทยมีตลาดเป็นสาธารณะสำหรับการค้าขาย โดยเฉพาะตลาดของเราเรียกว่า ปสาน ซึ่งนักปราชญ์ว่ามาจากคำ Bazaar  ในภาษาเปอร์เซีย   ถ้าเรานึกภาพอย่างแขกไม่ออก ก็ให้คิดไปถึงตลาดสำเพ็งหรือสภาพตลาดสดที่หัวลำโพง



ในสมัยโบราณไทยมีตลาดจัดไว้เป็นประจำโดยเฉพาะมาแล้ว และเราได้ทราบจากจดหมายเก่า ๆ ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ว่าการค้าขายของไทยมีชนิดทุนเดียว มีหุ้นส่วน มีบัญชี มีขายเงินสด เงินเชื่อ มีลูกจ้าง ฯลฯ อย่างสมัยนี้แทบทุกอย่าง สรุปความว่า ไทยมีวัฒนธรรมในการค้ามาแล้วตั้งแต่ สมัยโบราณดึกดำบรรพ์อย่างพร้อมมูล   ไทยไม่ได้ค้าแบบแลกเปลี่ยน Barter อันเป็นวิธีของมนุษย์ที่เพิ่งเริ่มเจริญนั้นอย่างเดียว ไทยเป็นชาติมีวัฒนธรรมในการค้า โดยมีบทบัญญัติเป็นกฎหมายมาแล้วร่วม 700 ปี ลักษณะการค้าขายภายในคงเป็นอย่างที่กล่าวมานี้ตลอดไป และก็การค้าภายในนั้นเมื่อมีการค้าต่างประเทศมากขึ้น ย่อมติดต่อเกี่ยวโยงกับการค้าต่างประเทศแน่นเข้าทุกที ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางมีชาวต่างประเทศเข้ามาทำการค้าขายหลายชาติ หลายภาษา ต่างชาติได้นำสินค้าของประเทศตนเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกับสินค้าพื้นเมืองไทย ทำให้การค้าภายในต้องหมุนอนุโลมตามการค้าต่างประเทศยิ่งขึ้นทุกที




               ผ่านมาถึงช่วงที่การค้าของสมัยกรุงศรีอยุธยา ซบเซา ปรากฏว่าการค้าที่เมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรภาคใต้ยิ่งดำเนินไปเป็นปกติบางเมืองยิ่งมีการค้ามากขึ้นกว่าแต่ก่อน ชาวต่างประเทศยังคงเดินทางมาค้าขายเป็นปกติ บันทึกของชาวต่างประเทศและเอกสารของฝ่ายไทยกล่าวตรงกันว่าภาคใต้ของไทยเป็นทำเลการค้ากับต่างประเทศดีที่สุดในเอเชีย หากได้มีการพัฒนาเส้นทางผ่านคาบสมุทรและมีท่าเรือที่ดี ก็จะเป็นทำเลการค้าของโลก ดังที่ได้กล่าวถึงในหนังสือประวัติการค้าของไทยจัดพิมพ์โดยกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี พ.ศ.2486 ความตอนหนึ่งว่า

       “..........แม้นฮอลันดากับอังกฤษตลอดจน โปรตุเกส และ สเปญ ต่างพากันหยุดการค้าขายในกรุงศรีอยุธยาไปชั่วคราวก็ตาม แต่ชนชาติเหล่านั้นยังดำเนินการค้าขายในภาคตะวันออกไม่ทอดทิ้ง อังกฤษแม้นจะถอนการค้าขาย   จาก กรุงศรีอยุธยา แต่ยังขอสิทธิการค้าในเมืองละคร(นครศรีธรรมราช) ซึ่งฮอลันดาก็มีอยู่ตลอดจนเมืองสงขลา และปัตตานี ต่อไปอีก แม้การค้าของไทยจะชงัก ซึ่งเป็นไปตามการผันแปรเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์บ้านเมืองแต่ทำเลของไทยยังคงเป็นทำเลที่ดีที่สุด และเหมาะกับการค้าขายของโลกเสมอไปโดยประเทศไทยมีเมืองเรียงรายอยู่ตามชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตก ตะวันออกหน้านอกหน้าใน เป็นเมืองท่าเหมาะที่ทำการค้าขายได้ทั้งสองฝั่งสมุทร อนึ่งฝั่งทะเลทั้งสองนี้ เชื่อมกันได้มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว เมืองตกโกลา (ตะกั่วป่า) ทางฝั่งตะวันตกทะเลหน้านอกเคยเชื่อมกับเมืองครหิ(ไชยา) ตลอดลงมาถึงบ้านดอน (สุราษฎร์ธานี ) ทางฝั่งตะวันออกทะเลหน้าใน เมืองตรังทะเลหน้านอกเคยเชื่อมกับทะเลหน้าใน เช่น นครศรีธรรมราช และสงขลา เมืองมะริด เคยเชื่อมกับเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ตามที่พวกพ่อค้าแขกฝรั่งไทยเคยขนสินค้าผ่านแต่โบราณเสมอมา”



แผนที่จากเอกสารของสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ปรากฏเวลาในแผนที่คือ พ.ศ.๒๓๙๗ แสดงให้เห็นตำแหน่งของ “ยี่สาร” ซึ่งเขียนไว้ว่า “Isan” โดยใช้สัญลักษณ์ของเมืองขนาดเล็ก [Petiles Villes] จาก Description du royaume Thai ou Siam: presente et adapte par M. Dasse




ผนที่แสดงเส้นทางเดินทางข้ามคาบสมุทรตอนบน มะริด-ตะนาวศรี-เพชรบุรี และเส้นทางเดินเรือเลียบชายฝั่ง ซึ่งทั้งสองเส้นทางนี้เป็นหัวใจของเส้นทางเดินทางแบบโบราณข้ามภูมิภาคที่เข้าถึงกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ ตอนต้น จนสามารถอธิบายถึงความสำคัญของเมืองเพชรบุรีและเส้นทางการค้าภายในที่ต้องผ่าน “บ้านยี่สาร” เป็นเหตุผลว่าทำไมหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ึงสำคัญไม่น้อยในสมัยโบราณ




ตัวอย่างการขนสินค้าและการเดินทางบกจากฟากทะเลหนึ่งตัดข้ามคาบสมุทรไปยังอีกฟากหนึ่ง เพื่อความรวดเร็วสะดวกมีมาแล้วเช่นนี้ ถ้าไทยพยายามให้ตะวันตกกับตะวันออก ของไทยมาพบกัน เชื่อมกันได้หลาย ๆ แห่งให้สะดวกและรวดเร็วดั่งเช่นถนนสายตรัง-พัทลุงในปัจจุบัน และทำเมืองท่าสองฝั่งให้ดีก็จะเป็นประโยชน์แก่การค้าของประเทศอย่างยิ่งใหญ่




การค้าระหว่างประเทศสมัยอยุธยา

การค้ากับต่างประเทศในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นการค้ากับประเทศในเอเชีย ที่สำคัญได้แก่ การค้ากับจีน อาณาจักรในแหลมมลายู หมู่เกาะชวา และประเทศทางมหาสมุทรอินเดีย เช่น อินเดีย ลังกา เปอร์เซีย และอาหรับ



จิ้มก้อง หมายถึง การเจริญทางพระราชไมตรีด้วยการถวายเครื่องราชบรรณาการ จิ้มก้อง เป็นคำจากภาษาจีน จิ้ม แปลว่า ให้, ก้อง แปลว่า ของกำนัล ในการทำการค้ากับจีนในสมัยโบราณ พ่อค้ามักจะนำของกำนัลไปให้เพื่อขอความสะดวกในการทำมาค้าขาย แต่จีนมักถือว่า ผู้ที่มาจิ้มก้อง เป็นผู้ที่มาสวามิภักดิ์ขอเป็นเมืองขึ้น เมื่อมีของกำนัลมาให้ นอกจากจีนจะให้ความสะดวกในการค้าแล้ว พระเจ้ากรุงจีนยังตอบแทนด้วยของกำนัลอย่างมากมายด้วย พ่อค้าไทยจึงนิยมไปจิ้มก้อง




ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง การค้าทางตะวันออกได้ขยายจากจีนไปเกาหลี ญี่ปุ่น ทางทะเลจีนใต้ขยายจากหมู่เกาะอินโดนีเซียไปยังหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และเวียดนาม การค้าส่วนใหญ่เป็นการค้าทางเรือ ใช้เรือสำเภาเป็นพาหนะ เมืองท่าที่สำคัญ คือ กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี มะริด ทวาย ตะนาวศรี และไทรบุรี ส่วนการขนส่งสินค้าจากเมืองท่าทางตะวันตกมายังกรุงศรีอยุธยา และจากกรุงศรีอยุธยาไปเมืองท่าทางตะวันตกใช้เส้นทางบก เพื่อจะได้ไม่ต้องอ้อมแหลมมลายู



การค้ากับชาติตะวันตก

ชาติตะวันตกเริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2060) โดยโปรตุเกสเป็นชาติแรก แต่การค้ากับชาติตะวันตกเริ่มขึ้นอย่างจริงจังและกว้างขวางในรัชสมัยสมเด็จพระเอกทศรถเป็นต้นไป และถือว่าเจริญถึงขีดสุดในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เมื่อพ่อค้าชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงให้การต้อนรับชาวตะวันตกอย่างดี กล่าวคือ ทรงอนุญาตให้โปรตุเกสตั้งบ้านเรือน ห้างร้าน ค้าขายและเผยแพร่คริสต์ศาสนาได้ ซึ่งโปรตุเกสก็ตอบแทนโดยช่วยจัดหาปืน กระสุนดินดำให้ และยังเข้ารับราชการในกองอาสาปืนไฟถึง 300 คน



นอกจากชาวโปรตุเกสแล้วชาวตะวันตกชาติอื่นที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ สเปน ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส

พ่อค้าชาวยุโรปที่เข้ามาติดต่อในครั้งนั้น เข้าในรูปของบริษัทการค้า เช่น บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ บริษัทอินเดียตะวันออกของ ฝรั่งเศส เป็นต้น

ชาวตะวันตกเหล่านี้เข้ามาตั้งห้างค้าขายทั้งในเขตกรุงศรีอยุธยา และเมืองท่าชายทะเลอื่น ๆ ของไทย เช่น นครศรีธรรมราช ปัตตานี สงขลา และมะริด เป็นต้น

ในบรรดาพ่อค้าตะวันตกที่เข้ามาติดต่อ ค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาในช่วงนั้น พ่อค้าฮอลันดามีอิทธิพลมากที่สุด การค้าของชาติตะวันตกเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับจนถึงรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2165) จึงซบเซาลง ห้างของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา และบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษถึงกับปิดกิจการลงในปี พ.ศ. 2165 และ พ.ศ. 2167 ตามลำดับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่