…."บุพเพสันนิวาส" กับการสร้าง "พื้นที่" ให้สามัญชนเข้าไปโลดแล่นบนหน้าประวัติศาสตร์..../วัชรานนท์

กระทู้สนทนา
กำลังเตรียมงานสงกรานต์ไทยเฟสติวัลในเขตใต้ของอังกฤษ   ตกลงกันในที่ประชุมว่าตีมชุดที่จะใช้ใส่ในงานคือชุดไทยโบราณ   กลุ่มแม่บ้านบอกว่าเพราะตอนนี้กระแส "บุพเพสันนิวาส" กำลังมาแรง   และกว่าผมจะถึงบางอ้อว่า "บุพเพสันนิวาส" คือละครไทยที่ดังเป็นพลุแตกในตอนนี้ก็เสียเวลาซึกไซ้ไล่เรียงไปสักพัก     กลัวตกเทรนด์.....เลยกลับมาอ่านเรื่องย่อเอาแบบลวกๆ  ก็ทราบว่าเป็นละครไทยย้อนยุคไปสมัยพระนารายณ์ฯ   ประจวบเหมาะที่พึ่งจะอ่านประชุมพงศาวดาร "คำให้การของขุนหลวงหาวัด" (ฉบับหลวง) เหตุการณ์ในรัชสมัยพระนารายณ์จวนเจียนจะเสร็จ  ก็ทำให้พอจะโยงเข้าหาละคร “บุพเพสันนิวาส” ได้   ผมก็ยังไม่ได้มีโอกาสดูละครนะครับ    แต่ออกจะมั่นใจว่าแม้จะเป็น "ละครอิงประวัติศาสตร์"    ยังไงๆ เสีย...ละครไทยก็ยังคือละครไทย  คือจะต้องมีการสอดแทรกฉากประเภท ตบจูบ รัก ริษยา ตาเขียวปั๊ดในเนื้อหาแน่ๆ (เพื่อเรียกเรตติ้งเอาใจคอละครไทย)


ผมสังเกตุว่าละครไทยอิงประวัติศาสตร์เกือบทุกเรื่องมักจะดังเปรี้ยงปร้าง     ดูอย่าง "พันท้ายนรสิงห์" "บางระจัน" จับขึ้นมาทำละครหรือหนังทีไรก็ไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับทั้งผู้สร้าง(ด้านการเงิน)และผู้ชม(ด้านความบันเทิง)  แม้จะเป็นละครประเภท "ผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า" คือถูกสร้างเป็นละครตั้งแต่หลายๆ คนในที่นี้ยังไม่เกิดด้วยซ้ำหลายเวอร์ชั่นหลายตอนก็ยังเป็นที่นิยมอยู่  ทำไม?


ในการพยายามมองสาเหตุว่าทำไมละครไทยอิงประวัติศาสตร์มักจะได้รับความนิยมสูงนั้น   ผมมองว่า (คหสต)โครงร่างประวัติศาสตร์ไทยมีส่วนไม่น้อยเลย   ตำราเรียนหรือหนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกนำและชำระมาจาก "พงศาวดาร"   ซึ่งจะว่าไปแล้ว..... พงศาวดารเหล่านั้นก็คือบันทึกเหตุการณ์และกิจกรรมเกี่ยวกับและในราชสำนัก   และถ้าจะพูดแบบให้เคร่งครัดขึ้นไปอีก   "พงศาวดาร" ก็ถือว่าเป็นสมบัติส่วนตัวของพระเจ้าแผ่นดินของแต่ละพระองค์ก็ว่าได้      ก็ต่อมาในภายหลังได้มีการพยายามรวบรวมพงศาวดารฉบับต่างๆ,  บันทึกเหตุการณ์, ตำนาน, และรวมไปถึงจดหมายเหตุของชาวต่างชาติแล้วประมวลขึ้นเป็น "ประวัติศาสตร์ไทย" โดยที่ยึดพงศาวดารเป็นแกน(core)     อีกด้านหนึ่งถือว่าเป็นการ "สร้างความทรงจำร่วม" ในหมู่คนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและอีกประการหนึ่งที่สำคัญอย่างมองข้ามไม่ได้  ก็คือท่วงทำนองและสถานะของประวัติศาสตร์ไทย (ที่ถือพงศาวดารเป็นแกน) มักจะเป็นไปในลักษณะ มีความศักดิ์สิทธิ์  มีบุญญาภินิหารและกรุณาธิคุณ  ซึ่งตรงนี้มักจะสร้างความลำบากใจต่อผู้สนใจและศึกษา  ในกรณีที่เกิดมีความเห็นแย้งหรือต้องการเสนอมุมมอง/ทฤษฏีที่แผกไป   อย่างเช่นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีกลุ่มทหารชั้นนายพลเอกต้องการจะยื่นศาลฟ้องข้อหมิ่นฯ (ม.๑๑๒) ต่อนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ข้อหมิ่นฯ สมเด็จพระณเรศวรฯ ???


ย้อนกลับมาที่ละคร “บุพเพสันนิวาส” ผมมองว่าเป็นความ “แยบยล” และฉลาดของนักประพันธ์ที่ใช้ได้ “สร้างพื้นที่” ให้ “สามัญชน” ได้เข้าไปโลดแล่นในประวัติศาสตร์ผ่านบทละคร   อย่างที่ผมได้เรียนไปแล้วว่าสมัญชนแทบจะไม่ได้มีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทยมากมายนัก   สามัญชนอย่าง “ ไอ้เสมา” จากละครเรื่อง “ขุนศึก” ที่ได้มีโอกาสไปโลดแล่นในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ยุคพระณเรศวรถือว่าน่าติดตามทีเดียว  หรือแม้แต่ “ชาวบ้านบางระจัน” ที่ว่ากันว่า มีการกล่าวถึงจริงๆ ไม่กี่บรรทัดในพงศาวดาร  แต่ต่อมาเรื่องราวของชาวบ้านบางระจันถูกมาขยายความในพงศาวดาวฉบับพระราชหัตฯ ไม่กี่ร้อยปีมานี้เองจนถูกขยายทำเป็นละครปลุกใจและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในภายหลัง   ตัวอย่างตรงนี้ก็น่าจะเป็นที่เข้าใจได้ว่า  สามัญชนอย่างเราๆ ท่านๆ มักจะภูมิใจ,ดีใจ และตื่นเต้นที่ได้เห็นสามัญชนด้วยกันเข้าไปโลดแล่นในประวัติศาสตร์ (แม้จะเป็นการ “อิง” ประวัติศาสตร์ก็ตาม)


ยิ่งสามัญชนในยุคดิจิตอลอย่างเกศสุรางค์(ทางที่ถูกควรจะเรียกว่าวิญญาณของเกศสุรางค์) ถูกเขียนให้ได้มีโอกาสเข้าไปโลดแล่นในประวัติศาสตร์ยุคพระนารายณ์แล้วก็ยิ่งชวนตื่นเต้นและติดตาม    ในทำนองคล้ายๆ กับสาวสมัยใหม่อย่าง “มณีจันทร์” ในเรื่อง “ทวิภพ” ที่เข้าไปโลดแล่นในหน้าประวัติศาสตร์ไทยยุคสมัยร.๕   หรือจะรวมเอาขวัญใจสามัญชนอย่าง “แม่พลอย”  จาก “สี่แผ่นดิน” ก็น่าจะพออธิบายได้ว่าเหตุใดละครอิงประวัติศาตร์ไทยที่มีสามัญชนมีบทบาทจึงได้รับความนิยมสูง



มีข้อที่น่าสังเกตุที่ชวนให้ขบคิดก็คือ   บทบาทจริงและเหตุการณ์จริงของ “สามัญชน” ที่เป็นชาวต่างชาติอย่าง เจ้าพระยาวิไชยเยน (แสตนติน ฟอลคอล), ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ), ท้าวทองกีบม้า (มากีร์ กีมาร์), หรือแม้แต่แหม่มแอนนนา  บุคคลเหล่านี้ได้โลดแล่นและสร้างสีสันให้กับประวัติศาสตร์ไทยอย่างตื่นเต้นและชวนติดตาม   ในขณะที่ “สามัญชนไทย” มีโอกาสเข้าไปโลดแล่นในพื้นที่ประวัติศาสตร์ไทยเพียงแค่ผ่านบทละครในลักษณะที่ต้อง “อิง”


เครดิต: https://maanow.com
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่