จริงๆแล้ว การส่งโกษาปานไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส มีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากันครับ

เพราะดูเหมือนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีฯกับฝรั่งเศสเกิดขึ้นเพราะการจับชงของฟอลคอน ยิ่งสมเด็จพระนารายณ์นิยมวิทยาการตะวันตกแล้วการเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ดูจะไปได้ดีมาก จริงๆแล้วการที่อยุธยามีความสนิทสนมกับฝรั่งเศสมากเกินไปแบบนี้ จะมีผลดีหรือร้ายมากกว่ากันครับในระยะเวลาต่อไป เพราะดูเหมือนฝรั่งเศสจะไม่ค่อยถ่ายทอดวิทยาการอะไรให้กรุงศรีฯเลย ดูเน้นแต่เผยแพร่ศาสนา ยิ่งส่งทหารมาประจำป้อมบางกอก ยิ่งส่อเค้าว่าอยุธยาจะโดนยึดเป็นเมืองขึ้นยังไงยังงั้น
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 9
ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับอยุทธยาเริ่มมาหลายปีก่อนที่ฟอลคอนจะเข้ามามีบทบาททางราชการครับ โดยผู้บุกเบิกความสัมพันธ์คือกลุ่มบาทหลวงฝรั่งเศสอย่างที่ด้านบนกล่าวมา โดยบาทหลวงกลุ่มนี้คือ บาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งปารีส (Société des Missions étrangères de Paris; M.E.P.) ซึ่งถูกส่งเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในดินแดนตะวันออกเป็นหลัก โดยมีวาติกันและพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงสนับสนุน

พอบาทหลวงฝรั่งเศสเห็นว่าสยามเป็นดินแดนที่เหมาะในการเผยแผ่ศาสนา ก็พยายามชักจูงให้วาติกันกับพระเจ้าหลุยส์ส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ในขณะเดียวกันก็พยายามเผยแผ่ศาสนาและชักชวนให้สมเด็จพระนารายณ์ให้สนพระทัยในฝรั่งเศสและศาสนาคริสต์ จนทำให้สมเด็จพระนารายณ์จะทรงส่งขณะทูตไปตอบแทนพระสันตปาปาและพระเจ้าหลุยส์ในที่สุด รวมถึงเสนอว่าจะยกเมืองท่าพระราชทานให้พระเจ้าหลุยส์ในชื่อ Louis le Grand (หลุยส์มหาราช) ด้วย ซึ่งก็วิเคราะห์กันว่าสมเด็จพระนารายณ์ต้องการเอาฝรั่งเศสมาคานอำนาจดัตช์ที่มาบีบให้อยุทธยาทำสัญญาทางการค้าที่เสียประโยชน์

การส่งคณะทูตนั้น เดิมตั้งใจจะส่งไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๑๗ แต่ในยุโรปกำลังเกิดสงครามฝรั่งเศส-ดัตช์ (Franco-Dutch War) อยู่ เลยไม่สามารถส่งไปได้ และก็มีการวิเคราะห์ด้วยว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงรอดูท่าทีว่าฝ่ายใดจะชนะในสงครามครั้งนี้ ซึ่งในระหว่างนี้เหล่าบิชอปฝรั่งเศสก็พยายามส่งหนังสือไปถึงผู้ใหญ่ที่ฝรั่งเศสรับทราบเป็นระยะว่าสยามต้องการจะส่งทูตมา แต่ทางฝรั่งเศสก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ จนสงครามจบลงใน พ.ศ. ๒๒๒๑


แต่เดิมนั้นก็ไม่มีหลักฐานว่าฝรั่งเศสสนใจอะไรสยามมากมายนอกจากเรื่องศาสนา จนกระทั่งฝรั่งเศสมาตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกขึ้นที่เมืองพอนดิเชอรรีในอินเดีย และได้ข่าวว่าสมเด็จพระนารายณ์ต้องการส่งทูตไปฝรั่งเศส (แต่ยังไม่มีเรือจะพาไป) บริษทฝรั่งเศสเห็นเป็นช่องทางที่จะขยายการค้าไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แข่งกับบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ เลยอาสาจะพาเดินทางไปและส่งเรือเข้ามาที่อยุทธยาใน พ.ศ. ๒๒๒๓ เพื่อพาคณะทูตชุดแรกไปฝรั่งเศส แต่คณะทูตนี้หายสาบสูญไประหว่างทาง

ตั้งแต่ต้นมานี้ ฟอลคอนยังไม่มีบทบาทอะไรเลย

และเพราะคณะทูตไปไม่ถึงฝรั่งเศส บวกกับได้ข่าวลือผิดๆ มาจากดัตช์ว่าสยามจะไม่ส่งทูตมาจริง ทำให้ทางฝรั่งเศสเลิกสนใจสยามไป จนอยุทธยาต้องส่งคณะทูตชุดที่สองไปสืบข่าวและแจ้งให้ทางฝรั่งเศสทราบ ทำให้ฝรั่งเศสส่งคณะทูตนำโดยเชอวาลิเยร์ เดอ โชมงต์ (Chevalier de Chaumont) เข้ามาถึงอยุทธยาใน พ.ศ. ๒๒๒๘ โดยมีจุดประสงค์หลักให้สมเด็จพระนารายณ์เปลี่ยนศาสนา (เพราะได้ข่าวมาจากบาทหลวงมาว่าสมเด็จพระนารายณ์สนพระทัยศาสนาคริสต์) แต่ยังไม่มีเรื่องปฏิบัติการทางการทหารหรือการขอเมืองท่าที่ชัดเจน


ฟอลคอนเริ่มเข้ามามีส่วนในการเจรจาผลประโยชน์กับฝรั่งเศสในช่วงนี้ ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสสนใจขยายอำนาจเข้ามาในสยามมากขึ้น

ในช่วงนั้น บาทหลวงนิกายเยซูอิตมีอิทธิพลในราชสำนักฝรั่งเศสสูงมาก พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงละเลยกิจการของคณะมิสซังต่างประเทศที่ทรงสนับสนุนอยู่แต่ก่อนไป นอกจากนี้บาทหลวงมิสซังก็ทำให้คนพื้นเมืองมาเข้ารีตได้น้อย ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร โดยเน้นแต่การเผยแผ่ศาสนาและช่วยเหลือคนระดับล่างเป็นหลัก (ซึ่งน่าจะเป็นเหตุหนึ่งที่ฝรั่งเศสรีบส่งทูตมาชวนให้สมเด็จพระนารายณ์เข้ารีต โดยหวังผลว่าประชาชนทั่วไปจะเปลี่ยนตาม)

ฟอลคอนได้เริ่มวางแผนให้ฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซงการปกครองกรุงศรีอยุทธยาในแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยได้ร่างแผนกับบาทหลวงเยซูอิตเชื้อสายฟลาม็องด์ที่มีความสนิทสนมอย่างบาทหลวงมัลโดนาโด (Jean-Baptiste Maldonado) แต่เมื่อคณะทูตฝรั่งเศสเข้ามาถึง เขาเลยไปผูกสัมพันธ์กับบาทหลวงกีย์ ตาชารด์ (Guy Tachard) ที่มาในคณะทูตด้วย และได้ร่วมปรับปรุงแผนการใหม่ โดยที่ฟอลคอนอาจเป็นคนกุมอำนาจโดยเอาเชื้อพระวงศ์ขึ้นมาเป็นหุ่นเชิดซึ่งเป็นคนที่จะมีนโยบายสนองผลประโยชน์ให้ฝรั่งเศสได้หลังสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต (ซึ่งมักกล่าวกันว่าคือพระปีย์) แล้วจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะเปลี่ยนไทยให้เป็นดินแดนของคริสต์อย่างค่อยเป็นค่อยไป

แผนฉบับปรับปรุงใหม่ที่คิดร่วมกับตาชาร์ดคือให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ส่งข้าราชสำนัก ๗๐ คนที่มีคุณภาพเก็บความลับได้ดี มีบาทหลวงเยซูอิตที่ปลอมตัวมาให้ดูเหมือนคนธรรมดา พอคนกลุ่มนี้เรียนรู้ภาษาไทยได้แล้ว ฟอลคอนจะให้คนพวกนี้ได้ทำงานในระบบราชการที่สำคัญเช่นเป็นเจ้าเมืองคุมเมืองท่าบ้าง แม่ทัพบ้าง และให้คนกลุ่มนี้คอยสร้างสัมพันธ์อันดีกับคนไทยแล้วพยายามชักนำให้เข้ารีต โดยคนกลุ่มนี้จะต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาของฟอลคอน นอกจากนี้ยังเสนอให้นำคนฝรั่งเศสระดับชาวบ้านเพื่อมาก่อตั้งชุมชนเล็กๆขึ้นโดยจะมีการจัดสรรที่ดิน อาคารและปศุสัตว์ให้เพื่อให้ใช้เป็นฐานสำหรับชาวคริสต์เวลาเกิดความวุ่นวายทางการเมือง รวมถึงเสนอเมืองสงขลาให้ฝรั่งเศสเป็นที่จอดเรือ ถ้ามีความจำเป็นก็นำเรือไปปิดปากน้ำเจ้าพระยาได้ ให้บาทหลวงไปสอนศาสนาแถวนั้นก็ได้ นอกจากนี้สงขลายังสามารถปลูกข้าวได้ปีละสองครั้ง

ตามแผนนี้บริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสจะได้ผลประโชน์คือได้ไทยเป็นฐานทำการค้าและท่าจอดเรือสำคัญที่จะสามารถแข่งกับดัตช์ได้ คริสตจักรทั้งที่ฝรั่งเศสและวาติกันจะได้ประโยชน์ในการเผยแผ่ศาสนา (โดยวางเป้าหมายในสเกลใหญ่ซึ่งหวังผลมากกว่าวิธีที่คณะมิสซังต่างประเทศใช้ คือการสอนคนระดับล่าง) ส่วนฟอลคอนก็กลายเป็นผู้กุมอำนาจหลักในราชสำนักไทย

แผนนี้เขียนเป็นภาษาโปรตุเกสส่งไปถวายพระสันตปาปาอินโนเซนต์ที่ ๑๑ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระอธิการเดอ ลาแชส (Confessor พระไถ่บาปของพระเจ้าหลุยส์) และบาทหลวงเดอ นัวแยล เจ้าอธิการใหญ่คณะเยซูอิตประจำกรุงโรม ส่วนแผนภาษาฝรั่งเศสส่งให้เฉพาะพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กับพระอธิกรณ์เดอ ลาแชส โดยมีบาทหลวงตาชารด์ซึ่งติดตามคณะทูตของออกพระวิสุทสุนธร (ปาน) กลับไปฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการในฐานะ "ราชทูต" ตัวจริง ในขณะที่ออกพระวิสุทสุนธรนั้นแทบไม่ได้มีบทบาทอะไรเลย และได้ใช้ส่วนใหญ่ไปกับการถูกพาไปท่องเที่ยวในฝรั่งเศส


ตั้งแต่ตาชาร์ดยังไม่กลับไปฝรั่งเศส ฟอลคอนก็เริ่มดำเนินตามแผน ดึงคนในคณะทูตฝรั่งเศสของโชมงต์ไว้ในกรุงไทยหลายคนเช่นเชอวาลิเยร์ เดอ ฟอร์แบ็ง (Clade de Forbin) ส่งไปเป็นเจ้าเมืองธนบุรีในบรรดาศักดิ์ออกพระศักดิสงคราม  บิลลี (Billy) ผู้ดูแลส่วนตัวราชทูตส่งไปเป็นเจ้าเมืองถลาง (ภูเก็ต) Rivals เป็นเจ้าเมืองบางคลี โบเรอการด์ไปเป็นเจ้าเมืองมะริด

แต่ทางฝรั่งเศสกลับหวังจะได้ผลประโยชน์มากกว่าแผนที่ฟอลคอนกับตาชาร์ดวางไว้ จึงได้มีการเจรจาระหว่างมาร์กีส์ เดอ เซนเญอเลย์ (Jean-Baptiste Antoine Colbert, Marquis de Seignelay) เสนาบดีกระทรวงทหารเรือฝรั่งเศสกับออกพระวิสุทสุนธร ทางฝรั่งเศสอ้างว่าสงขลามีแต่ซากปรักหักพังใช้การไม่ได้จะขอเมืองบางกอกกับเมืองมะริดซึ่งเป็นเมืองสำคัญของอยุทธยาแทน ซึ่งถ้าฝรั่งเศสสามารถครอบครองป้อมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางกอกไปก็สามารถถึงโซ่ปิดแม่น้ำเจ้าพระยาเลยเท่ากับคุมเส้นทางหลักสู่อยุทธยา มะริดก็เป็นเมืองท่าทางทะเลที่สำคัญมากเช่นกัน นอกจากนี้จะส่งกำลังทหารไปด้วยอ้างว่า "นายทหารเหล่านี้จะช่วยฝึกสอนชาวสยาม" เรื่องนี้ทำให้ขุนนางไทยจำนวนมากไม่พอใจโดยเฉพาะออกพระเพทราชาที่คัดค้านการให้ทหารฝรั่งเศสเข้ามาประจำการในป้อมเมืองธนบุรีแต่ไม่สำเร็จ

เรื่องนี้ผิดไปจากแผนที่ฟอลคอนกับตาชาร์ดวางไว้มาก ตัวตาชาร์ดเองคิดว่าเป็นการเร่งรีบเกินไป (แม้กระทั่งเรื่องการยกสงขลาให้ฝรั่งเศสตามแผนด้วย) จะก่อให้เกิดความไม่วางใจจากคนไทย ควรดำเนินตามแผนอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า แต่ทางฝรั่งเศสไม่เอาด้วย

ผลคือคณะทูตชุดใหม่นำโดยลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ให้มาเจรจาเรื่องเมืองบางกอกกับมะริด ทางฝรั่งเศสส่งทหารมา ๖๓๖ นายภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลเดส์ฟาร์ฌส์ (le général Desfarges) แต่ตายเสียกลางทางเหลือ ๔๙๓ บรรจุปืนใหญ่ปืนครกมาเต็มอัตราโดยนายพลเดส์ฟาร์ฌส์ได้รับคำสั่งลับมาว่าหากการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จให้ "โจมตีป้อมบางกอกและใช้กำลังยึดไว้ให้ได้"

แม้ไม่มีการปฏิบัติตามแผนของฟอลคอน แต่ทางฝรั่งเศสก็ยังให้ฟอลคอนเป็นตัวดำเนินการในไทยอยู่ นอกจากนี้ยังมอบสิทธิประโยชน์มากมายให้เช่นให้ยศชั้นกงต์ (comte-เคานท์) พระราชทางเครื่องราชชั้นแซงต์มิเชลให้ พระราชทานสิทธิในการตั้งถิ่นฐานในฝรั่งเศส รวมถึงเสนอให้ร่วมหุ้นในบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสด้วย

แต่การนำทหารฝรั่งเศสเจ้ามาประจำการที่ธนบุรีทำให้ฟอลคอนโดนคนไทยเพ่งเล็งมากขึ้น ประกอบด้วยหลายปัจจัยจึงนำไปสู่การรัฐประหารสมเด็จพระนารายณ์โดยการนำของออกพระเพทราชา และการปฏิวัติขับไล่ทหารฝรั่งเศสใน พ.ศ.๒๒๓๑


สรุปคือผลของการส่งทูตไปฝรั่งเศสครั้งโกษาปาน (ซึ่งมีบาทหลวงตาชารด์เป็น 'ราชทูตเงา') นั้น มีส่วนชักนำให้ฝรั่งเศสยกกองทหารและพยายามจะครองครองเมืองท่าที่สำคัญของอยุทธยา ซึ่งความทะเยอทะยานของฝรั่งเศสเอง แม้อาจไม่ได้ประสงค์จะถึงกับยึดอยุทธยาเป็นเมืองขึ้น แต่ในสายตาของขุนนางอยุทธยาน่าจะมองว่าทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงมาก และมีโอกาสที่ฝรั่งเศสจะอาศัยกองทหารยึดครองหัวเมืองต่างๆ ไว้โดยอาศัยกำลังจากภายนอกเข้ามาได้ ออกจากนี้ยังมีทีท่าจะแทรกแซงการเมืองในราชสำนักโดยอาศัยฟอลคอนด้วย สุดท้ายแล้วก็นำมาสู่ความวุ่นวายทางการเมืองอย่างรุนแรงในภายหลัง

ส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าถ้าแค่เจรจาเจริญสัมพันธไมตรีธรรมดาก็คงไม่มีปัญหาอะไร หากไม่ใช่มีฟอลคอนเป็นตัวชักนำและฝรั่งเศสที่ใจเร็วอยากได้มากกว่าที่ฟอลคอนเสนอ ก็อาจจะไม่เกิดความวุ่นวายขึ้นก็ได้ครับ

ส่วนไทยได้อะไรจากการเจริญสัมพันธไมตรีบ้าง ก็พบว่าได้ชาวต่างประเทศไว้ช่วยในราชการ เช่น การสร้างป้อมปราการอย่างฝรั่ง การฝึกทหาร และได้เป็นที่รู้จักของประเทศในยุโรปครับ ซึ่งพบว่าการที่ราชทูตสยามไปฝรั่งเศสในคราวนั้นทำให้กระแสการแต่งตัวอย่างราชทูตฟีเวอร์ในปารีสพอสมควรครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่