SCC เผยกลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ตั้งงบวิจัยปีนี้กว่า 3.6 พันลบ.รุกพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำคาดสรุปโมเดลธุรกิจปีนี้

*SCC เผยกลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ตั้งงบวิจัยปีนี้กว่า 3.6 พันลบ.รุกพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำคาดสรุปโมเดลธุรกิจปีนี้
NEWS Alert


นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอซีจี เคมิคอลส์ ในกลุ่มบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจี เคมิคอลส์ อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (Floating Solar Farm) ซึ่งจะเป็นรูปแบบโซลูชั่นครบวงจรรายแรกของประเทศไทย หลังจากได้ทดลองทำต้นแบบขนาด 1 เมกะวัตต์ (MW) ในพื้นที่บ่อกักเก็บน้ำภายในพื้นที่โรงงานของกลุ่มเคมิคอลส์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง สามารถทำต้นทุนได้ต่ำกว่าการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
ทั้งนี้ คาดว่าจะสรุปรูปแบบธุรกิจได้ภายในปีนี้ โดยปัจจุบันมีลูกค้าให้ความสนใจแล้ว 4-5 ราย ขณะที่ไทยนับว่ามีศักยภาพติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำได้ราว 500 เมกะวัตต์ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจร ประกอบด้วย การออกแบบและผลิตทุ่น, การติดตั้ง ,ระบบยึดโยงทุ่น และการดูแลรักษา ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ของเอสซีจี เคมิคอลส์ นอกเหนือจากธุรกิจปัจจุบันที่เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติก

"โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำเป็นไอเดียที่แปลกจากคนอื่น ผิวน้ำไม่ได้ใช้ประโยชน์เราก็นำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า ตัวแผงโซลาร์เซลล์เราซื้อจากในตลาด ที่เราเป็นเจ้าของคือภูมิปัญญาคือทุ่นที่ทำด้วยพลาสติกชนิดพิเศษ และทุ่นอยู่ได้ 25 ปีมีอายุการใช้งานใกล้เคียงกับตัวแผง...เรากำลังศึกษาว่าจะหมุนนวัตกรรมตรงนี้เป็นโซลูชั่นเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่"นายชลณัฐ กล่าว

นายชลณัฐ กล่าวว่า ในปีนี้กลุ่มเคมิคอลส์ ตั้งงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 3.6 พันล้านบาทในปีนี้ เพื่อผลักดันงานวิจัยสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคอาเซียน และระดับโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีการวิจัยและพัฒนาที่หลากหลายทั้งนวัตกรรมพลาสติก และ Non-Petrochemicals เช่น การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยการนำเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) ชนิดเกรดพิเศษ มาออกแบบและพัฒนาเป็นทุ่นลอยสำหรับใช้กับแผงโซลาร์ ซึ่งติดตั้งง่าย รวดเร็ว และประหยัดพื้นที่ได้ถึง 10% เมื่อเทียบกับการติดตั้งโซลาร์แบบลอยน้ำชนิดอื่นๆ

ขณะที่ข้อดีของโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำจะมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าดีกว่า 5-20% เมื่อเทียบกับโซลาร์รูฟท็อป หรือโซลาร์ฟาร์มบนดิน เนื่องจากด้านหลังของแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งอยู่ใกล้กับผืนน้ำจะทำให้มีความเย็นกว่าโซลาร์รูฟท็อปและโซลาร์ฟาร์มบนดิน ซึ่งด้านหลังของแผงจะมีความร้อนเช่นเดียวกับแผ่นหน้าของแผง ทำให้เกิดแรงต้านกระแสไฟฟ้าก็จะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าด้อยลง

นายชลณัฐ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มเอสซีจีมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เพื่อใช้เองรวม 30 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปี เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า โดยใช้เงินลงทุนราว 30-35 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการผลิตในหลายรูปแบบทั้งโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ และโซลาร์ฟาร์มบนดิน โดยปัจจุบันมีการผลิตโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในพื้นที่โรงงานปูนซีเมนต์ไทยที่กัมพูชา,สระบุรี และทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช แต่รูปแบบยังเป็นโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบเดิม

สำหรับพื้นที่โรงงานกลุ่มเคมิคอลส์ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนี้มีทั้งรูปแบบของโซลาร์รูฟท็อปและโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่ใช้นวัตกรรมทุ่นลอยน้ำแบบใหม่ ซึ่งเตรียมจะพัฒนาในเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในพื้นที่แห่งนี้มีขนาด 1 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 7 ไร่ ใช้เงินลงทุน 40 ล้านบาท สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 5 ล้านบาท/ปี มีระยะเวลาคืนทุน 8 ปี ขณะที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ 2.50 บาท/หน่วย ถูกกว่าการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้ส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่อยู่ราว 3.5 บาท/หน่วย

นอกจากนี้ กลุ่มเคมิคอลส์ ยังอยู่ระหว่างติดตั้งโซลาร์ฟาร์มบนดิน ซึ่งจะอยู่ตามแนวท่อบริเวณโรงงานปิโตรเคมีของกลุ่มในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มเอสซีจี ในจ.ระยอง โดยมีขนาดกำลังผลิต 4.5 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 183 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ค.61 เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์และโรงงานอื่นๆในบริเวณใกล้เคียง



[ที่มา : InfoQuest]
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่