เงินทองฝากได้ถอนได้ เวลาก็ฝากได้ถอนได้เช่นกัน

เงินทองฝากได้ถอนได้
เวลาก็ฝากได้ถอนได้เช่นกัน
ที่นี่ “ธนาคารเวลา” แห่งสวิตเซอร์แลนด์

          *****************************

ระหว่างที่เรากำลังศึกษาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์  ห้องพักที่เราเช่านั้นมีเจ้าของบ้านเป็นหญิงวัย 67 ปี  เธอเคยเป็นครูสอนมัธยมก่อนเกษียณ  ทุกวันนี้อยู่ตัวคนเดียว  เธอได้รับบำนาญจากรัฐบาลมากพอที่จะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายไปวันๆ  แต่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้  เธอยังคงทำงานด้วยการไปดูแลผู้สูงวัยอีกคนที่มีอายุ 87 ปีอย่างสม่ำเสมอ

เราถามเธอว่าทำไมยังต้องการหารายได้เพิ่มอีกในเวลานี้  คำตอบของเธอสร้างความประหลาดใจแก่เรามาก  
"ฉันไม่ได้ทำงานเพราะต้องการเงิน  แต่ทำเพื่อสะสมเวลาไว้ใน "ธนาคารเวลา"  เผื่อไว้ตอนที่ฉันเดินเหินไม่ไหวหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้แล้ว  ฉันจะได้ไปเบิกมาใช้"

นับเป็นครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องราวของ "ธนาคารเวลา"  รู้สึกแปลกใจและน่าสนใจ  จึงได้ขอทราบรายละเอียดจากเธอ  แท้จริงแล้ว  "ธนาคารเวลา" เป็นการบริหารโดยหน่วยงานของรัฐที่คอยดูแลผู้สูงวัย  ผู้คนทั่วไปสามารถสะสมเวลาด้วยการให้บริการแก่ผู้สูงวัยทั้งหลาย  เวลาที่ไปให้บริการจะถูกบันทึกและสะสมไว้  รอจนกระทั่งเมื่อเราแก่ตัวหรือเจ็บป่วย  ยามเมื่อเราต้องการการดูแลจากผู้อื่น  ก็สามารถเบิกเวลาเหล่านั้นออกมาใช้ได้  ผู้สมัครเป็นสมาชิกต้องมีร่างกายแข็งแรง สามารถสื่อสารกับคนอื่น  มีจิตใจรักการบริการ  มีเวลาเพียงพอที่จะให้บริการแก่ผู้สูงวัยทั้งหลาย  เวลาของการให้บริการก็จะสามารถสะสมอยู่ในบัญชีส่วนตัวของตนใน "ธนาคารเวลา"

ผู้สูงวัยที่เจ้าของบ้านเราไปดูแลนั้น  เธอต้องไปหาเขาอาทิตย์ละสองครั้ง  ครั้งละสองชั่วโมง  เธอไปทำหน้าที่ช่วยซื้อข้าวซื้อของบ้าง  ทำความสะอาดบ้าน  พาเขาออกไปเจอแดดเจอลม  หรือนั่งสนทนาเป็นเพื่อน  ตามกติการของธนาคาร  หลังจากเธอให้บริการครบหนึ่งปีแล้ว  เวลาที่เธอให้บริการทั้งหมดจะถูกรวบยอดออกมาเป็นตัวเลข  และเธอก็จะได้รับการ์ดสะสมจากธนาคารมาเก็บไว้เป็นหลักฐาน

เผื่อวันใดวันหนึ่งที่เธอต้องการใช้บริการจากคนอื่น  เธอก็สามารถนำการ์ดไปติดต่อธนาคาร  เพื่อเบิก "เวลาและดอกเบี้ยของเวลา" ออกมาใช้  เมื่อการ์ดของเธอได้รับการยืนยันเรียบร้อยแล้ว  ธนาคารก็จะส่งจิตอาสาคนอื่นมาดูแลเธอ  ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลตามที่เธอต้องการ

มีอยู่วันหนึ่งระหว่างที่เรากำลังเดินทางไปมหาวิทยาลัย   เจ้าของบ้านโทรมาหาเรา  บอกเราว่าเธอหกล้มในบ้าน  ขอร้องให้เรารีบกลับไปพาเธอไปพบหมอ  เรารีบกลับไปพาเธอส่งโรงพยาบาลทันที  หลังการตรวจพบว่ากระดูกที่ขาร้าว  สงสัยต้องการเวลาพักฟื้นสักระยะหนึ่ง  

เราเตรียมตัวที่จะลาหยุดการเรียนเพื่อมาช่วยดูแลเธอ  แต่เธอบอกเราว่าไม่ต้องกังวล  เธอได้ติดต่อ "ธนาคารเวลา" ไว้เรียบร้อยแล้ว  หลังจากนั้นอีกสองชั่วโมง  ธนาคารก็ได้ส่งจิตอาสาคนหนึ่งมาดูแลเธอทันที

เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มๆ  จิตอาสาผู้นั้นมาดูแลเธอทุกวัน  ทำหน้าที่เป็นเพื่อนคุยที่ดี  ทำอาหารให้เธอ  ทำความสะอาดบ้าน  และงานจิปาถะอื่นๆ  เธอถูกดูแลอย่างใกล้ชิดและใส่ใจ  จึงฟื้นตัวได้ค่อนข้างรวดเร็ว  หลังจากหายดีแล้ว  เธอแสดงเจตน์จำนงค์กับธนาคารเพื่อขอดูแลผู้สูงวัยอีกสองคน  เธอบอกกับเราว่า  ในช่วงนี้ที่เธอยังแข็งแรงอยู่  เธออยากสะสมชั่วโมงการให้บริการของเธอให้มากขึ้นไว้ในธนาคาร   เผื่อไว้ใช้ในยามแก่ตัวเมื่อจำเป็น

เวลานี้  "ธนาคารเวลา"กลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในสวิตเซอร์แลนด์  นี่ไม่ใช่เป็นการช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการดูแลผู้สูงวัยเพียงอย่างเดียว  แต่ยังช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อีกด้วย  จากการสำรวจพบว่า  กว่าครึ่งของหนุ่มสาวแสดงเจตน์จำนงค์ที่ขอเข้าร่วมโครงการนี้  รัฐบาลถึงกับต้องตรากฏหมายอย่างเป็นกิจลักษณะเพื่อรับรองและคุ้มครองโครงการนี้อย่างเป็นทางการ

ประเทศไทยเรากำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า  ปัญหาการดูแลผู้สูงวัยจะกลายเป็นปัญหาสังคมอย่างแน่นอน  วิธีการก่อตั้ง "ธนาคารเวลา" แบบสวิตเซอร์แลนด์อาจเป็นแบบอย่างที่น่าศึกษา  หวังเป็นอย่างยิ่งว่า  บทความนี้จะจุดประกายเรียกร้องความสนใจจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของชาวไทย  ให้ลองหันมาศึกษาโครงการนี้อย่างจริงจัง  ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งในอนาคต  เราอาจได้เห็น "ธนาคารเวลา" ถูกก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย

หากคิดว่าบทความนี้น่าสนใจ  อาจนำพาสิ่งใหม่ๆที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเราในอนาคต  กรุณาช่วยกันแชร์ต่อกันไปอย่างไม่ต้องลังเล


"ขจรศักดิ์"
แปลและเรียบเรียง

ติดตามบทความอื่นๆได้จาก
www.facebook.com/Flintlibrary
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่