มีความสงสัยเรื่องตำแหน่ง "ปลัด" ทั้งตำบลและอำเภอครับ ใครใหญ่กว่ากัน / หรือไม่เกี่ยว ?

ผมเข้าใจมาตลอดว่าเล็กจะเป็นลูกน้อง ใหญ่จะเป็นลูกพี่ เช่น ปลัดตำบล < ปลัดอำเภอ < ปลัดจังหวัด อะไรแบบนี้ (ปลัดจังหวัดมีไหม 555)

หรือแปลว่า จังหวัดสั่งอะไรมาก็จะหยุดพักที่อำเภอก่อน แล้วค่อยส่งไปตำบลต่างๆ ปลัด อบต.จึงต้องฟังคำสั่งจากปลัดอำเภอเสมอ
.
.
.
แต่จากที่ได้ไปคุยกับปลัด อบต.ในตำบลเล็กๆ แห่งหนึ่ง พึ่งเห็นว่ามีห้องทำงานส่วนตัวด้วย !
แถมมีเหมือนเลขาเข้าไปเรียนแจ้งก่อนอีก

ต่างจากปลัดอำเภอ อยู่ในห้องรวม ไม่มีห้องส่วนตัว แต่นั่งอยู่ด้านหลังสุด มีเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆ อยู่ข้างหน้า สามารถเดินเข้าไปคุยได้ง่ายๆ
แต่ที่ไม่ง่ายคือต้องผ่านด่านลูกกระจ๊อก ที่มักไม่ให้เข้าถึงได้ง่ายๆ (บางที่นะ โดยเฉพาะอำเภอที่ผมเจอปัญหาแล้วอยากคุยกับระดับหัวหน้า
ลูกน้องไม่ให้พบจ้า ทั้งที่นั่งอ่าน นสพ.จิบกาแฟอยู่ข้างหลัง...ซึ่งความน่ารักและน่านับถือ ช่างต่างจากปลัดใน อบต.เล็กๆ ข้างต้นโดยสิ้นเชิง ทั้งที่อยู่ในอำเภอเดียวกัน)
ปลัดอำเภอจึงดูเหมือนจะช่วยไรไม่ได้มาก เพราะกลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกับลูกน้องไปแล้ว

เลยรู้สึกว่า หรือที่ผมเข้าใจมาตลอดจะไม่ใช่แบบนั้น.....ยศหรือฐานะทางด้านการงาน อาจไม่เกี่ยวกันว่าประจำอยู่ในอำเภอหรือตำบล (รึเปล่า ?)
.
.
.
อีกเรื่องที่สงสัยคือ เทศบาล ตกลงมันแปลว่าอะไรครับ ?
ใช่วิธีเรียก อำเภอ ของคนรุ่นเก่ารึเปล่า เช่นรถเก็บขยะเทศบาล, รถเทศบาล (สูบส้วม) ก็ต้องไปแจ้งที่อำเภอ ?
ขอบคุณครับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ขอบคุณครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 13
ต้องเข้าใจภาพรวมการปกครองของประเทศไทยก่อนนะครับ ว่าปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นรัฐหนึ่งเดียว ผู้ใดจะมาแบ่งแยกไม่ได้ แบ่งการปกครองแบบแยกอำนาจ ประกอบด้วย 20กระทรวง แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ 1.การปกครองส่วนกลาง 2.การปกครองส่วนภูมิภาค และ 3.การปกครองส่วนท้องถิ่น

1.การปกครองส่วนกลาง=กระทรวง , กรม ในกระทรวงจะประกอบด้วยกรมหลายกรม ทำงานตามอำนาจหน้าที่เฉพาะด้าน โดยจะส่งหัวหน้างานไปนั่งทำงานในทุกจังหวัดและทุกอำเภอตามอัตราตำแหน่ง ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมของสังคม การส่งเสริมและพัฒนาการเมืองการปกครอง การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองท้องที่ การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและพัฒนาชุมชน การทะเบียนราษฎร ความมั่นคงภายใน กิจการสาธารณภัย และการพัฒนาเมืองและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าข้าราชการของกระทรวง โดยในปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 8 กรม (เทียบเท่ากรม)
                                    1.สำนักงานรัฐมนตรี (สร.มท)
                                    2.สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.)
                                    3.กรมการปกครอง (ปค.)
                                    4.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)
                                    5.กรมที่ดิน (ทด.)
                                    6.กรมการพัฒนาชุมชน (พช.)
                                    7.กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.)
                                    8.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
และมีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการดูแล 5แห่ง(ที่กระทบกับการเป็นอยู่ของประชาชน)
                                    1.การไฟฟ้านครหลวง
                                    2.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
                                    3.การประปานครหลวง
                                    4.การประปาส่วนภูมิภาค
                                    5.องค์การตลาด
                                    6.องค์การจัดการน้ำเสีย
                                    
2.การปกครองส่วนภูมิภาค= จังหวัด,อำเภอ (มี76จังหวัด 878อำเภอ ไม่รวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง)
การปกครองส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ซึ่งได้แบ่งแยกออกไปดำเนินการจัดทำตามเขตการปกครอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางราชการส่วนกลาง ซึ่งได้รับแต่งตั้งออกไปประจำตามจังหวัดหรืออำเภอ เพื่อทำงานตามนโยบายของส่วนกลาง
                         2.1จังหวัดเป็นหน่วยราชการที่ปกครองส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด มีฐานะเป็นนิติบุคคลประกอบขึ้นด้วยอำเภอหลายอำเภอ ในจังหวัดหนึ่ง ๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าในการบริหารงาน รับนโยบายและคำสั่งจาก กระทรวง กรม  มาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชนและเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดที่รับผิดชอบ โดยมีหัวหน้างานจากกระทรวง ต่างๆทั้ง 20กระทรวงมาเป็นผู้ช่วย กลั่นกรองงานในหน้าที่ เช่น เกษตรจังหวัด พัฒนาการจังหวัด สัสดีจังหวัด เป็นต้น
                         2.2อำเภอ เป็นหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาครองจากจังหวัด มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอ และมีปลัดอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอซึ่งกระทรวงต่าง ๆ ส่งมาประจำให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือ เช่น เกษตรอำเภอ พัฒนาการอำเภอ สัสดีอำเภอ เป็นต้น

3.การปกครองส่วนท้องถิ่น คือหน่วยงานปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดรูปแบบหนึ่ง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนในเขตท้องถิ่นนั้น ๆ เลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่น หรือเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นเพื่อเลือกผู้บริหารท้องถิ่นอีกทีหนึ่ง มีอำนาจอิสระในการบริหารตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
          ราชการส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย มี 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ
                     1.การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป เป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศทุกจังหวัด มี 3 ประเภท
                          3.1.1 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
                          3.1.2 เทศบาล (ทต.)
                          3.1.3 องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
                      2.การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีการบริหารจัดการไม่เหมือนกับรูปแบบทั่วไป จะมีขึ้นเป็นกรณีๆ ไป ส่วนใหญ่จะเป็นเขตเมืองใหญ่ เช่น เมืองหลวงหรือเมืองท่องเที่ยว ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะใช้รูปแบบทั่วไปมาใช้ในการปกครอง
                         3.2.1 กรุงเทพมหานคร
                         3.2.2 เมืองพัทยา

****เข้าเรื่อง****
ไม่ว่าท่านจะไปยืนอยู่ที่ใดของประเทศนี้ ที่ที่ท่านยืนจะต้องอยู่ในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแบบไม่มีข้อยกเว้น คือ

             หน่วยงาน                            ผู้บังคับบัญชา(มาจากนักการเมือง)                         ข้าราชการ(รัฐส่งมาเป็นผู้ช่วยเหลือ)
    องค์การบริหารส่วนตำบล                    นายกองค์การบริหารส่วนตำบล                                ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล
            เทศบาล                                          นายกเทศมนตรี                                                     ปลัดเทศบาล
องค์การบริหารส่วนจังหวัด                      นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด                             ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด
      กรุงเทพมหานคร                              ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร                                     ปลัดกรุงเทพมหานคร
          เมืองพัทยา                                         นายกเมืองพัทยา                                               ปลัดเมืองพัทยา

****คำตอบ****
        "หัวหมากับหางราชสีห์" คำนี้เปรียบได้กับที่มีสมาชิกถามว่า ปลัดอำเภอ กับ ปลัด อบต.(หรือท้องถิ่นอื่น)ใครใหญ่ใครดีกว่ากัน ปลัดอำเภอทำงานในส่วนภูมิภาคเน้นการปกครอง มีผู้บังคับเป็นข้าราชการคือ นายอำเภอ สายงานเติบโตยาวกว่า จากปลัดอำเภอ ไปสอบเป็นนายอำเภอได้ และขยับเป็นปลัดจังหวัด(หัวหน้านายอำเภอทั้งจังหวัด)เมื่ออาวุโสหรือพรรษาถึง ลูกน้องดันเจ้านายดึงก็อาจได้เป็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดและเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในบั้นปลายชีวิต ทั้งนี้จะทำงานดี หรือ เก่ง ขยัน ไม่มีกฎตายตัว ขึ้นอยู่กับ"วาสนา"ด้วยเป็นสำคัญ
        
        ในส่วนปลัด อบต. - ปลัดเทศบาล - ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีที่มาหลายแห่งด้วยกัน เริ่มจากเมื่อ22ปีที่ผ่านพ้นมา(พ.ศ.2539)เริ่มมี อบต.ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งยกฐานะมาจากสภาตำบล กรมการปกครองสมัยนั้นได้เปิดรับสมัครสอบเป็นปลัดอำเภอ ร่วม 5000กว่าตำแหน่งในปีเดียวกัน ใครสอบได้อันดับต้นๆก็เลือกเอาว่าจะเป็นปลัดอำเภอหรือปลัด อบต. ใครได้ที่โหล่ๆก็ลงบรรจุเป็นปลัด อบต.ทั้งหมด ทั่วประเทศไทย เพราะฉะนั้นในตำแหน่งปลัดอำเภอและ ปลัด อบต.ในช่วงนี้ ใครเส้นดี มีคอกดี มีสังกัดดี เมื่อเห็นว่าอนาคตไม่รุ่ง ไม่ใช่ตัวกู ร่างหนังสือไม่เป็น พูดต่อหน้าชุมชนไม่ได้หรือ เป็นลูกคุณหนู ลำบากไม่ได้ ก็ย้ายสลับไปมาระหว่างปลัดอำเภอ กับ ปลัด อบต.ได้ หรือจะแยกไปตำแหน่งอื่น กระทรวงอื่นที่คุณสมบัติตำแหน่งเกื้อกูลกัน อันนี้ก็มีเยอะ คนทำงานไม่เป็นหรือคนนามสกุลใหญ่ ได้ดิบได้ดีมีเยอะแยะ เพราะช่วงนั้นไม่มีสื่อโซเซียส ไม่มีมือถือดังปัจจุบัน จึงเป็นช่องทางของคนขาดคุณธรรมมากมายเยอะแยะ
         ท่านใดที่เป็น ปลัด อบต. - ปลัดเทศบาล - ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด บั้นท้ายของชีวิตก็จะตายอยู่กับตำแหน่งนี้ ถ้าไม่เวียนว่ายไปกระทรวงอื่นหรือกรมอื่น(ตามระบบอุปถัมย์) จะได้ดีก็มีเพียงขั้นตำแหน่งที่ขยับไปเรื่อยๆ จาก ซี6 ไป ซี7 ไป ซี8 และที่โชคดีหน่อยได้ไปซี 9 (สมัยก่อน สมัยนี้เป็นระบบแท่งแล้ว เป็นระบบที่เด็กตีเสมอผู้ใหญ่ได้ รองรับนิสัยก้าวร้าวของเด็กปัจจุบัน)ซึ่งจะเสียเปรียบคนที่เลือกไปเป็นปลัดอำเภอคือ อนาคตที่งดงามกว่า แต่สิ่งที่เห็นความแตกต่าง ที่ ปลัด อบต. - ปลัดเทศบาล - ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้รับคือ..เงิน เงิน...เงิน เพราะตำแหน่งของท่านพวกนี้ ถ้าไม่หลงผิด ไม่เพลินกับอบายมุข ก็จะมีอนาคตดี มีครอบครัวที่มีความสุข เพราะทำงานท่ามกลางผลประโยชน์ จะต้องเป็นคนที่สามารถประสานสิบทิศเพราะทำงานกับนักการเมืองที่เบื้องหลังอาจจะ สีดำหรือเทาๆหรือมีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ถ้ารักษาตัวรอดได้ ก็ดีไป แต่ถ้าไปคลุกวงในมากอนาคตก็จะดับวูบ เพราะฉะนั้นท่านที่ดำรงตำแหน่งนี้จะต้องมีวิทยายุทธ์ มีความสามารถเกินกว่าท่านปลัดอำเภอที่รู้เรื่องแค่กรมๆเดียว เพราะต้องศึกษากฎหมาย ต้องรู้หนังสือหลายฉบับ แทบทุกกระทรวง แทบทุกกรม ไม่งั้น ตายน้ำตื้นได้ทุกเมื่อ ยิ่งเดียวนี้สื่อและหน่วยตรวจสอบมีทุกหนทุกแห่ง
         ปลัด อบต. - ปลัดเทศบาล - ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด จึงมีเงินประจำตำแหน่งนอกเหนือเงินเดือนๆละไม่ต่ำกว่า 14,000บาท ทุกคนไป ในขณะที่ปลัดอำเภอ ได้รับแค่ 3500 บาท ผมงี้ยังอิจฉา จะมีเท่ารัยมันก็ไม่เพียงพอสำหรับท่านที่ทำงานในท้องถิ่น งานราช งานหลวงมันเยอะเกิน ใส่ซอง 500 บาท ยังมีเคือง
         ที่เขียนมา ไมีมีเจตนาใดๆ เพียงแค่เป็นวิทยาทานแค่หางอึ่ง เท่าที่รู้กัน ทุกวันนี้สังคมอยู่ยาก ปัญหาคอรับชั่น เข้าถึงทุกวงการไม่เว้นแม้แต่วัดวาอาราม โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก หากคุณยังมีคุณธรรมก็ช่วยกันจรรโลงสังคม ที่คอรับชั่นอยู่ก็เพลาๆกันบ้าง คนที่กำลังคิดก็เลิกคิดสะ ใช้เวลาที่มีให้มีความสุข มีครอบครัว มีคนที่รัก มีวงษาคณาญาติ มีมิตรแท้ห่วงใย จะไปที่ใหนก็ได้ไป อยากทานอะไรก็ได้กิน นอนเป็นสุข ตื่นเป็นสุข  ทำบุญบ้างถ้ามีโอกาส แค่นี้ใจและกาย ก็มีความสุข..แหระครับ สาธุ





ปลัด แปลว่าผู้ช่วย
ปลัดอำเภอ แปลว่า ผู้ช่วยนายอำเภอ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ปลัด อบต.แปลว่า ผู้ช่วยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล ขึ้นกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปลัดเทศบาล แปลว่า ผู้ช่วยนายกเทศมนตรี สังกัดเทศบาล ขึ้นกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปลัด อบจ. แปลว่า ผู้ช่วยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ขึ้นกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่